ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | เมียนมามีโอกาสชนะเผด็จการก่อนไทย

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

แม้ทหารพม่าจะล้มผลการเลือกตั้งและรัฐประหารก่อนสภาเปิดประชุมครั้งแรกในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ แต่อำนาจที่ได้มาด้วยกระบอกปืนกลับประสบความสำเร็จในการควบคุมประเทศน้อยมาก เพราะเดือนครึ่งหลังยึดอำนาจ คือเดือนครึ่งที่ประชาชนต่อต้านรัฐประหารต่อเนื่องทุกจุดโดยไม่มีวี่แววลดลงเลย

ภาพคนเมียนมาเดินขบวนหรือชุมนุมต่อต้านรัฐประหารตามสถานที่สำคัญของเมืองหลักเป็นภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจ ยิ่งไปกว่านั้นก็คือภาพคนกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าหมอ วิศวกร อัยการ คนงาน ทหาร ตำรวจ นักศึกษา ฯลฯ ที่แสดงตัวต่อต้านรัฐประหารอย่างเปิดเผยและโดยพร้อมเพรียง

น่าสนใจว่าคนเมียนมาเรียกปฏิบัติการต่อต้านรัฐประหารของตัวเองช่วงแรกว่า CDM หรือ Civil Disobedience Movement หรือ “อารยะขัดขืน” ซึ่งเฮนรี่ เดวิด ธอโร ใช้ในเรียงความที่เขียนใน ค.ศ.1849 ชื่อ “Civil Disobedience” ว่าประชาชนมิสิทธิต่อต้านและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งรัฐที่อยุติธรรม

นอกจากประชาชนจะต้านรัฐประหารโดยพร้อมเพรียง ปฏิบัติการนี้ก็ยังเดินหน้าบนแนวคิดประท้วงโดยสันติวิธีด้วย

คนชาติพันธุ์ให้ผมส่งเอกสาร “198 วิธีเพื่อการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรง” (198 Methods of Nonviolent Action) ของจีน ชาร์ป ไปให้

และรูปแบบการประท้วงก็เกิดคล้ายหนังสือนี้จริงๆ

ไม่ว่าคนไทยและคนทั้งโลกจะรู้ตัวหรือไม่ ขบวนการต้านรัฐประหารในพม่าคือปฏิบัติการอารยะขัดขืนครั้งใหญ่ที่มีมวลชนเข้าร่วมกว้างขวางที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

ซ้ำยังเป็นปฏิบัติการอารยะขัดขืนที่เผชิญหน้ากับอำนาจเผด็จการซึ่งอำมหิตที่สุดครั้งหนึ่งด้วยเช่นกัน

ผู้มีอำนาจในสังคมไทยเชื่อว่าอำนาจทำให้คนสยบยอม การจะทำให้คนจำนนจึงต้องใช้อำนาจให้มากที่สุด

ประเทศไทยหลังรัฐประหาร 2557 จึงเดินหน้าสู่ระบอบที่กระบอกปืนและอำนาจเถื่อนจ่อหัวประชาชนรูปแบบต่างๆ

แต่สถานการณ์เมียนมาบอกว่าผู้มีอำนาจในสังคมไทยคิดผิดอย่างสิ้นเชิง

นับตั้งแต่ทหารยึดอำนาจแล้วตั้งตัวเป็นองค์อธิปัตย์ของประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เมียนมาได้เข้าสู่สถานการณ์ที่รัฐปกครองประชาชนไม่ได้

การรวมตัวในนาม CDM หรือ “อารยะขัดขืน” ไม่ได้มีความหมายแค่การชุมนุม แต่หมายถึงสภาวะที่เจ้าหน้าที่รัฐและเอกชนไม่ไปทำงานให้ต้นสังกัดเลย

กระบอกปืนและรถถังทำให้เผด็จการยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนได้แน่ๆ ไม่ใช่แค่คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือมิน อ่อง ลาย แต่ต่อให้ลิงกังมีปืนก็ยึดอำนาจได้ทั้งนั้น เพียงแต่หกสัปดาห์หลังยึดอำนาจสำเร็จ สิ่งที่มิน อ่อง ลาย ได้ไปคืออำนาจบังคับบัญชาให้ทหาร-ตำรวจยิงประชาชนตามใจชอบเท่านั้นเอง

พูดให้ถึงที่สุด อำนาจของมิน อ่อง ลาย จบแค่ในรั้วกองบัญชาการคณะรัฐประหาร

ขณะที่อำนาจเหนือกลไกรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยงานอื่นๆ เป็นแค่ลมที่ถูกผายออกมาจากปาก สั่งใครทำอะไรไม่ได้แม้แต่นิดเดียว

เพราะคนส่วนใหญ่ต่อต้านอำนาจ ต่อให้อำนาจจะอ้างว่าเป็นไปตามกฎหมายก็ตาม

ตรงข้ามกับเผด็จการไทยที่เมื่อยึดอำนาจเสร็จก็มีการรับรองอำนาจอย่างรวดเร็ว การยึดอำนาจของมิน อ่อง ลาย ดำเนินไปโดยไม่มีใครในโลกรับรองทั้งนั้น ศาลพม่าไม่มีวัฒนธรรมรับรองอำนาจที่ได้มาด้วยกระบอกปืนอย่างศาลไทย และนอกพม่าก็ไม่มีใครรับรองแม้แต่แหล่งเดียว

มิน อ่อง ลาย พยายามใช้การมาเยือนไทยเป็นข้ออ้างว่าโลกรับรอง และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เชิญตัวแทน พล.อ.มิน อ่อง ลาย มาไทยก็เปิดทางให้อ่อง ลาย อ้างเช่นนั้นได้ด้วย แต่หลังจากที่โดนวิจารณ์ยับถึงการกำหนดนโยบายแบบเซ่อๆ ซ่าๆ คุณประยุทธ์ก็ไม่กล้าออกหน้ารับรองมิน อ่อง ลาย อีกต่อไป

ถ้ารัฐบาลประยุทธ์ไม่กล้ารับรองเผด็จการมิน อ่อง ลาย ทั้งที่มีพฤติกรรมและภูมิหลังคล้ายกันที่สุดในโลก ทั้งโลกคงหารัฐบาลไหนรับรองอ่อง ลาย ไม่ได้อีก สถานทูตเมียนมาในหลายประเทศจึงไม่มีทูต หรือไม่ก็คือมีทูตที่เผด็จการเมียนมาไม่รับรอง แต่ประเทศที่สถานทูตตั้งอยู่รับรองสถานะทูตต่อไป

หนึ่งเดือนครึ่งของรัฐประหารทำให้มิน อ่อง ลาย คุมทหาร-ตำรวจได้ แต่คุมรัฐไม่ได้ มิหนำซ้ำยังปกครองประชาชนไม่ได้โดยสิ้นเชิง

หรือถึงที่สุดแล้วจึงเป็นรัฐประหารที่ล้มเหลวในแง่ความเป็นรัฐ (Statecraft) และล้มเหลวในแง่การใช้อำนาจปกครองประชาชน (Governmentability)

ตรงข้ามกับความเชื่อของเผด็จการไทยว่าอำนาจทำให้คนสยบยอม

สถานการณ์รัฐประหารพม่าบอกว่าอำนาจที่ไม่มีใครรับรองคืออำนาจที่ปราศจากความชอบธรรม หรือต่อให้มีใครพยายามจะรับรองอย่างรัฐบาลไทย ผลที่ได้ก็คือการถูกต่อต้านอย่างกว้างขวางจนต้องหนีเอาตัวรอดไปในที่สุด

ในกรณีพม่า การมีอำนาจที่เด็ดขาดภายใต้สังคมที่อารยะขัดขืนส่งผลให้รัฐใช้อำนาจกับใครไม่ได้ ขณะที่การสูญเสียความสามารถในการปกครองส่งผลให้อำนาจรัฐทยอยถูกปฏิเสธจากองคาพยพที่เคยอยู่ใต้ปกครอง

หลังทหารรัฐประหารได้ไม่กี่วัน นักเขียนไทยซึ่งไม่ดังพยายามสร้างกระแสว่าคนชาติพันธุ์ต่างๆ ไม่ยอมรับรัฐบาลจากการเลือกตั้งจนไม่ต่อต้านรัฐประหาร

จากนั้นสื่อและ “โซเชียล” ของคนกลุ่มที่เรียกว่า “สลิ่ม” ก็ปั่นความเห็นนี้

โดยปั้นว่านักเขียนคนนี้เป็น “นักเขียนดัง” เพื่อเพิ่มน้ำหนักประเด็น

อย่างไรก็ดี เดือนครึ่งของรัฐประหารชี้ว่าคนชาติพันธุ์ต่างๆ ต่อต้านรัฐประหาร เจ้ายอดศึกนำกองกำลังสิบชาติพันธุ์แถลงไม่ยอมรับเผด็จการ กองทัพกะเหรี่ยงห้ามทหารพม่าจับคนต้านเผด็จการในพื้นที่กะเหรี่ยง ส่วนการชุมนุมต้านรัฐประหารก็เกิดอย่างกว้างขวางที่คะฉิ่น, เมียวดี, ฉาน ฯลฯ

เท่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ กองทัพคะฉิ่นเพิ่งตีค่ายทหารพม่าแตกเมื่อ 11 มีนาคม ขณะ ส.ส.และสมาชิกพรรค NLD ซึ่งรวมตัวเป็น “คณะกรรมาธิการตัวแทนรัฐสภาพม่า” (Committee Reptrsenting Pyidaungsu Hluttaw : CRPH) ก็เสนอว่าพม่าต้องเปลี่ยนระบอบสู่ประชาธิปไตยสหพันธรัฐอย่างเต็มตัว

รัฐประหารเมียนมาไม่เพียงทำให้คนเมียนมาอารยะขัดขืนต่อต้านอำนาจเผด็จการอย่างกว้างขวาง หากยังส่งผลให้อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐเมียนมาระดับ “ระบอบ” หรือรูปแบบรัฐ (Form of State) ซึ่งถือว่าเป็นผลที่อยู่เหนือความคาดหมายของทหารที่รัฐประหารเพื่อรวบอำนาจอย่างสิ้นเชิง

ยิ่งเผชิญการต่อต้าน เผด็จการพม่ายิ่งเดินหน้าใช้กำลัง แต่ยิ่งทหารยกระดับใช้กำลัง ประชาชนยิ่งยกระดับการต่อต้านเผด็จการตามไปด้วย

สถานการณ์ในพม่าที่ถึงขั้นยิงคนท้อง-ยิงรถพยาบาล-ยิงคนมือเปล่า-ยิงหัวคนที่กระสุนเจาะหัวตายแล้ว ฯลฯ จึงไม่ส่งผลให้ประชาชนต่อต้านทหารลดลงเลย

ในสถานการณ์ล่าสุด การชุมนุมของประชาชนหลายพื้นที่ได้พัฒนาเป็นการตั้งด่าน, การเผายาง และการใช้เครื่องทุ่นแรงต่างๆ เพื่อป้องกันตัวจากกระสุนของเผด็จการทหาร ย่างกุ้งและเมืองใหญ่อื่นๆ มีสภาพไม่ต่างจากแยกราชประสงค์ช่วงคนเสื้อแดงชุมนุมปี 2553 หรือแทบเข้าใกล้สงครามกลางเมือง

ตรงข้ามกับคนเสื้อแดงที่กองหนุนเผด็จการจับผิดในปี 2553 จนทำอะไรก็ผิดทุกกรณี คนเมียนมาไม่ตำหนิการตั้งด่าน, เผายาง และใช้เครื่องทุ่นแรงตอบโต้ทหารแม้แต่น้อย ความเข้าใจเรื่องสันติวิธีในเมียนมามีมากถึงจุดที่ตระหนักว่าสันติวิธีไม่ใช่การงอมืองอเท้า และการป้องกันตัวเองก็เป็นสันติวิธี

คนเมียนมาควรถูกยกย่องเรื่องความมุ่งมั่นในการต่อต้านเผด็จการ เพราะถึงแม้สัปดาห์นี้จะถูกเผด็จการทหารใช้อาวุธปราบหนักจนมีคนตายรายวันสูงถึง 60 กว่าๆ

และมีคนถูกเผด็จการฆ่าตั้งแต่ยึดอำนาจเกือบ 200

การต่อต้านเผด็จการยังไม่มีวี่แววยุติ มีแต่การพลิกแพลงยุทธวิธีต่อต้านตลอดเวลา

ด้วยสภาพของการต่อต้านเผด็จการเมียนมาในปัจจุบัน การต่อสู้ของประชาชนยังคงเดินหน้าไม่มีถอย

เมืองใหญ่ที่เคยถูกปราบทุกเมืองยังชุมนุมต่อเนื่อง

ยิ่งกว่านั้นคือการชุมนุมมีการปรับเปลี่ยนเวลาเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับตำรวจทหาร บางครั้งเช้า บางครั้งบ่าย บางครั้งดึก บางครั้งเย็น

แม้ความรุนแรงที่เผด็จการพม่าฆ่าประชาชนจะมาก เช่นเดียวกับความอำมหิตของ พล.อ.มิน อ่อง ลาย ที่ไม่เหลือความเป็นคน แต่ด้วยแรงต้านของประชาชนและกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ต้องการสร้างระบอบ “ประชาธิปไตยสหพันธรัฐ”

เผด็จการพม่ายังห่างไกลจากชัยชนะในการปกครองประชาชน

ขณะที่ประเทศไทยในปี 2564 ยังมีคนที่งมงายกับระบอบเผด็จการจนโจมตีประชาชนด้วยกัน ต่อให้จะเป็นคนทุกข์อย่างชาวบ้างบางกลอยหรือพีมูฟก็ตาม

คนเมียนมาในปี 2564 เข้าใจประชาธิปไตยจนกลายเป็นฉันทานุมัติไปแล้วว่าระบอบนี้คือเส้นทางเดียวของประเทศ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม

การไม่มี “สลิ่ม” หรือ “ฝูงชนที่คลั่งเผด็จการจนขาดสติ” คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนเมียนมาชนะในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพราะคนทุกฝ่ายในประเทศมีศัตรูร่วมกันอย่างแจ่มชัด และทุกฝ่ายตระหนักว่าตราบใดที่ศัตรูรายนี้ยังดำรงอยู่ ทุกฝ่ายก็ไม่มีทางมีชีวิตที่ดีขึ้น เป็นได้แค่ทาสเผด็จการ

เมียนมากำลังเข้าสู่เส้นทางประวัติศาสตร์ของการสร้างประชาธิปไตยที่จะมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์มนุษยชาติระดับเดียวกับความเปลี่ยนแปลงในแอฟริกาใต้และอินเดีย ขณะที่ไทยยังหาจุดกลับตัวสู่ขาขึ้นของการสร้างประชาธิปไตยไม่ได้ ถึงแม้เผด็จการยังเป็นขาลงอยู่ก็ตาม

เมียนมาโชคดีที่ไม่มีสลิ่มทำลายประชาธิปไตยอย่างประเทศไทย