‘ไอ้เสือ’ ของ ‘ศรีบูรพา’ จาก ‘คุก’ สู่ ‘อิสรภาพ’ / บทความพิเศษ อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ

บทความพิเศษ

อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ

 

‘ไอ้เสือ’ ของ ‘ศรีบูรพา’

จาก ‘คุก’ สู่ ‘อิสรภาพ’

 

เดือนมีนาคมของทุกปี มักจะแว่วยินการเอ่ยนามของ ‘ศรีบูรพา’ หรือกุหลาบ สายประดิษฐ์ ขึ้นมาเสมอๆ นั่นเพราะเขามีวันเกิดตรงกับ 31 มีนาคม สำหรับปี พ.ศ.2564 นี้ ถือว่าครบรอบ 116 ปีชาตกาล

หลายปีก่อน เพื่อนหลายคนของผมเรียกขานตัวเองว่า ‘ฮิปสเตอร์’ ลองสังเกตดูก็พบว่ามิตรสหายชาวฮิปๆ เหล่านี้มักจะมีเจ้าแมวเอ๋ยแมวเหมียวเป็นสัตว์เลี้ยงตัวโปรด

อย่างสงสัย ผมเลยออกปากเอ่ยถาม ไฉนชาวฮิปสเตอร์จึงชอบเลี้ยงแมว?

“ความโดดเดี่ยว ณ พื้นที่เปลี่ยวเหงาทำให้เราอยากมีแมวเป็นเพื่อน” คำตอบหล่นจากริมฝีปากมิตรสหายหลายคน

ฟังแล้ว รู้สึกราวตัวลอยขึ้นไปหยอกเล่นกับฟองเมฆ แบบนี้หรือเปล่านะ อาการ ‘ฟิน’

ฉับพลันนั้น ผมหวนระลึกถึงเรื่องราวของนักเขียนเลื่องชื่อแห่งวันวาน เขาเคยมีเพื่อนเป็นแมวระหว่างการถูกจำกัดพื้นที่

ครับ นักเขียนคนที่ผุดพรายในความนึกของผมคือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เจ้าของนามปากกาลือลั่น ‘ศรีบูรพา’

ภาพถ่ายหนึ่งของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่ค่อนข้างคุ้นสายตานักอ่าน ได้แก่ ภาพตอนเขาเดินถือชะลอมออกจากคุกเมื่อวันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 หลังจากได้ประกันตัวและหลุดพ้นคดีกบฏสันติภาพ เฉกเช่นภาพหน้าปกนิตยสาร ปิยมิตรวันจันทร์ ประจำวันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2500

เย็นวันนั้น ญาติและผองเพื่อนนักหนังสือพิมพ์ไม่น้อยรายมารอรับกุหลาบบริเวณหน้าเรือนจำบางขวาง ไม่ว่าจะเป็นอิศรา อมันตกุล นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์, สมัย เรืองไกร นายกสมาคมหนังสือพิมพ์, นักหนังสือพิมพ์คนอื่นๆ อย่างวิมล พลกุล, ลมูล อติพยัคฆ์, ทวี เกตะวันดี, สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ เพื่อนเคยร่วมคุก รวมทั้งทนายความกระเดื่องดังเยี่ยงนายฟัก ณ สงขลา

พอกุหลาบย่างก้าวพ้นประตูคุก อิศรา อมันตกุล ปราดเข้าสวมพวงมาลัยคล้องคอเป็นขวัญกำลังใจ พร้อมแสดงความยินดีผ่านรอยยิ้มผ่องใส

 

ตลอดชั่วชีวิต กุหลาบ สายประดิษฐ์ ต้องคดีความจนถูกจับกุมคุมขังนานๆ สองครั้งสองครา

ครั้งแรกสุดโดนข้อหากบฏเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ.2485 เนื่องจากสวมบทบาทนักหนังสือพิมพ์ผู้ตั้งตนคัดค้านรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยถูกคุมขังอยู่ 84 วันในห้องขังสถานีตำรวจพระราชวัง จึงได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2485

ครั้งที่สองโดนข้อหากระทำผิดต่อความมั่นคงต่อรัฐจากกรณีกบฏสันติภาพ โดยถูกจับกุมเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2495 คราวหลังนี้ กุหลาบประจำคุกกินเวลานาน 4 ปี 3 เดือน 10 วัน กว่าจะได้ประกันตัวเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 ก่อนจะถึงวันนิรโทษกรรมคือ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2500

ชีวิตกุหลาบ สายประดิษฐ์ ในคุกตะรางนับเป็นห้วงยามสำคัญยิ่ง น่าสนใจศึกษาว่าเขาทำอะไรบ้างขณะปราศจากอิสรภาพ

 

แน่นอนล่ะ กุหลาบย่อมอ่านหนังสือและเขียนหนังสือ โดยเฉพาะการเขียนบันทึกในแต่ละวัน สำหรับบันทึกช่วงที่ติดคุกครั้งแรกปีพุทธศักราช 2485 ต่อมาได้นำมาตีพิมพ์รวมเป็นเล่มชื่อว่า ทินกรณ์ของผู้ต้องคุมขังโดยข้อหาว่าเป็นกบฏ

หรือช่วงที่ติดคุกครั้งหลังก็พบบันทึกที่เริ่มเขียนวันจันทร์ที่ 10 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2495 จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2496 กุหลาบยังเขียนบทกวี ‘อาชญากรผู้ปล่อยนกพิราบ’ ใช้นามปากกา ดอกประทุม เพื่อสะท้อนอารมณ์ของการตกอยู่ภายใต้พันธนาการ

คุกเอย, จงเงี่ยโสตสดับคำของข้าไว้

วันหนึ่งทั่วท้องคัคนานต์แห่งสันติ

จะคลาคล่ำไปด้วยฝูงพิราบที่ร่าเริง

วันนั้น ประชาชนจะเป็นเจ้าของคุก

ทั่วทุกสถาบันจะดำรงอยู่เพื่อประชาธรรม

ด้วยความภาคภูมิใจ

ด้วยการเปล่งสีหนาทว่า

“เป็นของประชาชน”

กุหลาบหมั่นแนะนำด้านการเขียนให้กับผองเพื่อนร่วมเรือนจำคนอื่นๆ

ไพศาล มาลาพันธ์ (นามปากกาของไสว มาลยเวช) ยืนยันได้ชัดเจน เพราะสบโอกาสฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษากลวิธีการเขียนจาก ‘ศรีบูรพา’ อย่างใกล้ชิด ตามคำบอกเล่าของไพศาล กุหลาบเคยปลอบประโลมเขาทำนอง “…เมื่อใดคุณสำนึกว่าคุกคือมหาวิทยาลัย เมื่อนั้นคุณก็ชนะ”

และเคยชี้แนะการเขียนหนังสือว่า “…เรื่องยาวเหมือนกาแฟแก้วนึง เรื่องสั้นก็คือกาแฟช้อนนึง (ที่ตักมาจากแก้วนั้น) มันหอมหวานอร่อยเหมือนกับกาแฟทั้งแก้วนั่นแหละ แต่มันนิดเดียว แง่มุมเดียว”

ไพศาลเป็นคนหนุ่มที่คลุกคลีกับกุหลาบมาตั้งแต่ที่เรือนจำชั่วคราวปทุมวัน เรือนจำลหุโทษคลองเปรม เรื่องจำประจำจังหวัดนนทบุรี และเรือนจำมหันตโทษบางขวาง ดังที่ภายหลังเขาถ่ายทอดชีวิตของกุหลาบในคุกไว้ผ่านข้อเขียน ‘ศรีบูรพา : อาชญากรผู้ปล่อยนกพิราบ’ เผยให้เห็นสารพัดเรื่องราว ทั้งอาหารการกิน ข้าวของเครื่องใช้ วิถีประจำวัน เป็นต้นว่า กุหลาบชอบสูบบุหรี่ตราพระจันทร์ และกุหลาบกลัวผีสุดๆ จนไม่กล้านอนคนเดียว

เรื่องกุหลาบกลัวผีนั้น ก็สืบเนื่องจากตอนอยู่แดนหก เรือนจำมหันตโทษบางขวาง ห้องหมายเลข 13 ที่กุหลาบอยู่ เป็นห้องเดียวกันกับที่ร้อยโท ณ เณร ตาละลักษมณ์ นักโทษการเมืองในข้อหากบฏเมื่อปี พ.ศ.2482 เคยอยู่

หลังร้อยโท ณ เณรถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าไปแล้ว ร่ำลือในหมู่ผู้คุมว่าผี ณ เณรเฮี้ยน กุหลาบจึงชวนไพศาลไปนอนเป็นเพื่อน 3 คืน โดยให้เหตุผลว่า

“ในที่ที่ผมไม่เคยนอนมาก่อน เวลานอนผมมีอุปาทานอย่างหนึ่ง คือเมื่อผมเป็นเด็ก ผมนอนในห้องคนเดียว คืนหนึ่งผมเห็นอะไรวูบหนึ่งตัวดำๆ กระโดดลงมาคร่อมผม ผมตกใจตัวสั่นร้องลั่น! ตั้งแต่นั้นมา ผมนอนในที่ใหม่มักเห็นเสมอ…”

 

อีกกิจกรรมที่กุหลาบทำระหว่างถูกจองจำคือ การเลี้ยงแมว

“ความโดดเดี่ยว ณ พื้นที่เปลี่ยวเหงาทำให้เราอยากมีแมวเป็นเพื่อน” น้ำคำของมิตรสหายฮิปสเตอร์กึกก้องความนึก

กุหลาบคงจะรู้สึกเปลี่ยวเหงา ณ พื้นที่จำกัด

กุหลาบเดินถือชะลอมออกจากคุก ผมเองเจนตาภาพนี้ และบังเกิดความใคร่ทราบเนืองๆ ว่า ในชะลอมนั้นมีอะไร? จวบจนราวๆ ปี พ.ศ.2557 บังเอิญอ่านพบพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับเก่าๆ

‘กุหลาบ สายประดิษฐ์ หิ้วแมวออกจากคุก’

 

คว้าจับภาพมาเพ่งสายตามองเข้าไปในชะลอม นั่นปะไร กำลังสานสบดวงตาลุกวาวอีกคู่หนึ่ง ใช่สิ! มันคือแมวจริงๆ ด้วย

หนังสือพิมพ์ ไท รายวัน ปีที่ 2 ฉบับที่ 535 ประจำวันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 หน้า 1 และหน้า 7 แจกแจงรายละเอียดว่า

“เวลาประมาณ 18 น. ผลแห่งการประกันตัวโดยมีพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเปนรากฐานนั้น กระทำให้ ‘ชีวิต’ อีกชีวิตมีโอกาศหลุดพ้นมาสู่โลกภายนอกด้วย นั่นคือแมวตัวหนึ่งซึ่งนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ เลี้ยงไว้ในเรือนจำ มีชื่อว่า ‘ไอ้เสือ’ อันเปนที่รักใคร่และโปรดปรานแก่จำเลยทุกคน และนายกุหลาบเปนผู้เลี้ยงด้วยความเอ็นดู เมื่อนายกุหลาบออกจากคุก ‘ไอ้เสือ’ ก็พลอยได้รับกลิ่นไอแห่งอิสรภาพด้วย เมื่อนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ หิ้วมันออกจากคุก เขากล่าวอย่างยิ้มย่องว่า ‘มันเรียบร้อยมาก’ และว่า ‘มันสามารถนั่งได้ด้วย'”

‘ไอ้เสือ’ ในชะลอมที่กุหลาบหิ้วออกมา เป็นอีกชีวิตที่หลุดพ้นมาสู่โลกภายนอก หลังจากเจ้านายของมันหลุดพ้นการจองจำ

แม้จะมิได้เป็นชาวฮิปสเตอร์ หากการมีเพื่อนร่วมชะตากรรมเฉกเช่น ‘ไอ้เสือ’ ก็อาจบันดาลความแช่มชื่นหัวใจ บางที เสียงร้อง เมี้ยว เมี้ยวของมันคงทำให้กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” พอจะเบิกบานได้บ้างในห้วงยามทุกข์ยากแห่งทัณฑกาล