ปริศนาโบราณคดี : ไฉนบริเวณด้านหน้า ‘เวียงแก้วเชียงใหม่’ จึงมี ‘ศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก’? (จบ)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

ไฉนบริเวณด้านหน้า ‘เวียงแก้วเชียงใหม่’

จึงมี ‘ศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก’? (จบ)

 

สองตอนที่ผ่านมานั้นเป็นการกล่าวถึงที่มาของความเชื่อเรื่องการนับถือ “เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก/เจ้าพ่อพญาแขนเหล็ก” ว่าเป็นวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ใด? ลัวะ เม็ง ลื้อ ม่าน ไทขึน ไทลื้อ ไทยอง ไทยวน?

ได้คำตอบว่า แทบจะทุกกลุ่มชนในดินแดนล้านนา ต่างก็มีคติการนับถือ “เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก” กันอย่างถ้วนหน้า สืบสาวตำนานเก่าแก่สุดพบว่ามีมานานแล้วตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี แห่งนครหริภุญไชย

สืบต่อมาจนถึงสมัยล้านนาแห่งราชวงศ์มังราย ความนิยมนี้ยังกระจายขึ้นไปสู่เชียงตุง และตีกลับมายังล้านนาอีกครั้งในช่วงที่ล้านนาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม

โดยเมืองเชียงใหม่ได้นำความเชื่อเรื่อง “เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก” เข้ามาสวมทับหรือแทนที่เรื่องราวของ “เจ้าพ่อเจตคุปต์” ผู้ทำหน้าที่ควบคุมนักโทษ อันเป็นคติของทางภาคกลางที่รับมาจากเขมร

ดังนั้น ในเมื่อมีการนำพื้นที่ “เวียงแก้ว” (ร้าง) ไปสร้างเรือนจำกลางเชียงใหม่ช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ทางฝ่ายปกครองก็ได้นำเอา “มณฑปโขงพระเจ้า” ร้างซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก นำมาใช้เป็นอาคาร “ศาลเจ้าพ่อเจตคุปต์” ภายใต้ชื่อ “ศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก” ด้วยเช่นกัน

ความร้างของอาคารที่ถูกเรียกว่าศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็กนั้น ถือว่าร้างมานานเนิ่นเสียยิ่งกว่าระยะเวลาที่เวียงแก้วถูกทิ้งร้างเสียอีก

เพราะเวียงแก้วร้างก่อนสร้างทัณฑสถานแค่ไม่กี่สิบปี แต่มณฑปโขงพระเจ้าร้างมาตั้งแต่สมัยพม่ายึดล้านนาแล้ว

 

มณฑปโขงพระเจ้า

สมัยล้านนาต้น กลาง หรือปลาย?

มณฑปโขงพระเจ้าปัจจุบันที่เราเห็นนั้น อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างหนัก การถ่ายภาพให้เห็นรายละเอียดชัดๆ ถึงโครงสร้างสถาปัตยกรรมทั้ง 4 ด้าน เครื่องยอดของหลังคา รวมทั้งลวดลายปูนปั้นว่าเป็นรูปอะไรบ้าง สื่อถึงสัญลักษณ์ใดไหม มีทั้งหมดกี่แห่ง เป็นไปได้ยากยิ่ง

ปูนปั้นที่ยังคงเหลืออยู่ ณ ศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก พบว่ามีลายรูปสัตว์หิมพานต์เดินวนรอบอาคาร กับเห็นร่องรอยของบัวหัวเสาในกรอบสามเหลี่ยมหัวคว่ำ (ที่เรียกว่า “บัวคอเสื้อ”) อยู่บ้างบางจุด

เหตุที่ถูกปกคลุมด้วยรากไทรรอบด้าน ทุกวันนี้ตัวอาคารยืนหยัดอยู่ได้ด้วยไม้ค้ำยันพยุงไว้รอบทิศมิให้กองอิฐถล่มล้มลงมา ดังนั้น จึงขออภัยผู้อ่านมา ณ ที่นี้ด้วยหากภาพประกอบไม่ค่อยคมชัดเท่าใดนัก

ลักษณะของอิฐที่ใช้ก่อสร้างเป็นอิฐสมัยล้านนาอย่างเด่นชัด หาใช่อิฐยุคหลังที่จงใจสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงที่สร้างเรือนจำกลางเชียงใหม่แต่อย่างใดไม่

อาคารมีร่องรอยของการประดับซุ้มวงโค้งที่เรียกกันว่า “ซุ้มจระนำ” ด้วยการเจาะผนังด้านเดียวทางทิศตะวันออก ทำเป็นคูหาหรือห้องมณฑปประดิษฐานพระพุทธรูปองค์สำคัญ ซึ่งทางล้านนาเรียก “โขงพระเจ้า” “หอพระไหว้”

ศัพท์ทางโบราณคดีเรียกว่า “คันธกุฎี” หมายถึงการจำลองห้องปฏิบัติธรรมแคบๆ เล็กๆ ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นสัญลักษณ์ของการประดิษฐานพระพุทธรูปองค์สำคัญ ที่ควรมีห้องหับเฉพาะเป็นเรือนธาตุขนาดเล็ก แคบ ตั้งบนฐานสูง

ความนิยมในการสร้าง “คันธกุฎี” เล็กแคบในลักษณะหอสูงไว้ตอนท้ายวิหารเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปนั้น เป็นคติที่พบอย่างแพร่หลายในสมัยล้านนาตั้งแต่ยุคต้น (โดยได้รับอิทธิพลมาจากสมัยหริภุญไชย) และทำสืบต่อมาจนถึงยุคล้านนาตอนปลาย

คำถามที่ในที่นี้จึงมีอยู่ 2 ข้อหลักๆ คือ

1. สรุปแล้ว มณฑปโขงพระเจ้านี้เก่าถึงสมัยล้านนาตอนต้น พร้อมการสร้างเวียงแก้วของพระญามังรายปี 1839 หรือไม่

2. มณฑปโขงพระเจ้าแห่งนี้ ควรเป็นหออะไรมาก่อน เพราะพบคำว่า “หอพระแก้ว” ควรหมายถึง พระแก้วขาว หรือพระแก้วมรกต? นอกจากนี้ ยังพบคำว่า “หอ (พระ) นางไหว้” อีกด้วย

ซึ่งตอนนี้เรายังไม่ได้คำตอบที่แน่ชัดนักว่า รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของมณฑปโขงแห่งนี้ เก่าแก่ไปถึงสมัยล้านนาตอนต้น ด้วยเหตุว่า พื้นที่เวียงแก้วมีความทับซ้อนกัน มีสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้นใหม่เรื่อยๆ หลายยุคหลายสมัย

เนื่องจากยังไม่ได้มีการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณนี้ อย่างไรก็ดี คุณสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ กล่าวว่า พบการบันทึกเอกสารในสมัยพระเมกุฏิ (กษัตริย์เชียงใหม่องค์สุดท้ายก่อนเสียกรุงให้พม่าปี 2101) ว่ามีการบูรณะซ่อมแซม “หอนางไหว้”

 

จากหอพระแก้วขาว

สู่หอพระแก้วมรกต

และหอ (พระ) นางไหว้

จากการสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับเรื่อง “เวียงแก้วเชียงใหม่” หลายต่อหลายเวที นับแต่ปี 2554 เป็นต้นมาจวบปัจจุบัน ครบรอบ 1 ทศวรรษพอดี ที่ดิฉันได้เข้าไปร่วมมีบทบาทรับฟังข้อคิดเห็นจากนักวิชาการฝ่ายต่างๆ

เราได้มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับมณฑปโขงพระเจ้าแห่งนี้ ว่าควรจะเป็น “หอ” อะไรได้บ้างที่มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ล้านนา กว่าจะได้คำตอบที่ตกผลึก

สรุปได้ว่าครั้งหนึ่งเคยทำหน้าที่สำคัญ เป็นถึง “หอพระแก้วมรกต” พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร องค์สำคัญ โดยพระเจ้าติโลกราชโปรดให้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาจากวัดพระแก้วดอนเต้า เมืองลำปาง ราวปี พ.ศ.2022-2025

คนทั่วไปมักเข้าใจว่า สถานที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตในเชียงใหม่นั้น คือที่ซุ้มจระนำด้านทิศตะวันออกขององค์พระมหาธาตุเจดีย์หลวง เพียงแห่งเดียว

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ก่อนจะอัญเชิญพระแก้วมรกตขึ้นสู่ซุ้มจระนำพระเจดีย์หลวง พระเจ้าติโลกราชเคยนำพระแก้วมรกตมาประดิษฐาน ณ “หอพระแก้ว” บริเวณเวียงแก้วเขตพระราชฐานมาก่อน

อาจารย์ภูเดช แสนสา นักประวัติศาสตร์ล้านนา อธิบายเพิ่มเติมว่า พระเจ้าติโลกราชโปรดให้ย้าย “พระแก้วขาวเสตังคมณี” ซึ่งเคยประดิษฐานใน “หอพระแก้ว” ของเวียงแก้ว ไปไว้ในสถานที่แห่งใหม่ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของเวียงแก้ว โดยมอบหมายให้นายช่างเอก “หมื่นด้ำพร้าคต” เป็นแม่กองออกแบบก่อสร้าง

สถานที่ตั้ง “หอพระแก้วขาว” แห่งนั้น ปัจจุบันคือบริเวณที่สร้าง “หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่” ทับ อยู่ในรั้วเดียวกันกับหอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ ที่เทศบาลนครเชียงใหม่ดูแล (มักเรียกกันว่า “หอศิลป์สามกษัตริย์”)

สะท้อนให้เห็นว่า “หอพระแก้ว” ของเวียงแก้ว ที่กษัตริย์ราชวงศ์มังรายเคารพบูชาให้ความสำคัญเป็นหนึ่ง ก่อนหน้าที่จะอัญเชิญพระแก้วมรกตมานั้น เคยประดิษฐานพระแก้วขาวเสตังคมณีของพระนางจามเทวีมาก่อน ซึ่งพระญามังรายเป็นผู้นำมาจากลำพูนสู่เชียงใหม่

จึงเป็นไปได้ว่า “หอพระแก้ว” ที่เวียงแก้ว สร้างมาแล้วตั้งแต่สมัยพระญามังราย

ต่อมาพระเจ้าติโลกราชได้ย้ายพระแก้วมรกตไปประดิษฐานบนซุ้มจระนำของพระมหาธาตุเจดีย์หลวงด้านทิศตะวันออก ครั้นต่อมา สมัยพระเมืองแก้วได้มีการสร้างโลหะปราสาทในบริเวณวัดเจดีย์หลวง เพื่อประดิษฐานพระแก้วมรกตอีก

นอกจากนี้ ยังปรากฏคำว่า “หอพระนางไหว้” ที่ตั้งอยู่ในเวียงแก้ว ในสมัยพระเมืองแก้ว กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 11 ผู้เป็นเหลนของพระเจ้าติโลกราชอีกด้วย

“หอพระนางไหว้” หมายถึงหอพระที่พระมเหสีของกษัตริย์ หรือพระมหาเทวี ผู้เป็นพระราชมารดาของกษัตริย์ เข้าไปกราบไหว้พระพุทธรูปสำคัญ ในกรณีนี้หมายถึงพระนางโป่งน้อย พระราชมารดาของพระเมืองแก้ว

โดยที่ยุคพระเมืองแก้วนั้น เราไม่ทราบว่า “หอพระนางไหว้” หลังดังกล่าวใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญองค์ใดอีก เนื่องจากทั้งพระแก้วขาวและพระแก้วมรกตต่างก็ถูกนำไปประดิษฐานที่อื่นแล้ว

“หอพระนางไหว้” ยังปรากฏชื่อต่อมาอีกในสมัยพระเมกุฏิ โดยเรียกว่า “หอนางไหว้” พระเมกุฏิได้ทำการบูรณะหอหลังนี้

 

กล่าวโดยสรุปคือ จุดที่สร้าง “ศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก” เดิมมีพัฒนาการดังนี้

1. เป็น “หอพระแก้วขาว” สมัยพระญามังราย

2. เปลี่ยนเป็น “หอพระแก้วมรกต” สมัยพระเจ้าติโลกราช

3. ในสมัยพระเมืองแก้วเรียก “หอพระนางไหว้”

4. กระทั่งสมัยพระเมกุฏิเรียก “หอนางไหว้”

สิ่งที่เราไม่ทราบคือ ในสมัยพระเจ้ากาวิละ ยุคฟื้นเมืองเชียงใหม่นั้น หอหลังนี้มีการใช้งานหรือไม่? นับแต่ พ.ศ.2339 จนถึง พ.ศ.2446 ที่มีการเปลี่ยนสถานภาพของเวียงแก้วให้สร้างเป็นคุก

ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการขุดตรวจศึกษาทางด้านโบราณคดีอย่างละเอียด เพื่อค้นหาซากปูนปั้น ซึ่งครั้งหนึ่งเคยใช้ประดับรายรอบอาคาร แต่เกือบทั้งหมดหลุดร่วงและถูกกลบฝังอยู่ใต้ชั้นดิน ปะปนกับโบราณวัตถุอื่นๆ

คงอีกมิช้ามินาน เราจะได้พบหลักฐานสำคัญทางโบราณคดีของศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก หรือหอพระแก้วขาว-หอพระแก้วมรกต-หอ (พระ) นางไหว้แห่งนี้ ซึ่งน่าจะเป็น “สลัก” ชิ้นสำคัญที่ช่วยตอบโจทย์อายุสมัยเรื่อง “เวียงแก้ว” ว่ามีความเก่าแก่ถึงสมัยพระญามังรายจริงหรือไม่