คุยกับทูต : “อูล์ปาจ์นา ลามา” รู้จักคอซอวอ ประเทศมุสลิมน้องใหม่ของยุโรป

“ดิฉันเดินทางมาจากปารีสเดือนกุมภาพันธ์ ตรงกับช่วงเวลาที่ประเทศไทยประกาศล็อกดาวน์พอดีในปี 2020 เพื่อรับหน้าที่เป็นอุปทูตแห่งสถานเอกอัครราชทูตคอซอวอ (Kosovo) ประจำประเทศไทย ในปัจจุบันดิฉันเป็นอุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา เมื่ออดีตเอกอัครราชทูตท่านแรกได้กลับไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศที่คอซอวอ”

เว็บไซต์ของราชบัณฑิตยสถานได้ระบุชื่อ Kosovo ในภาษาไทยไว้เป็น “คอซอวอ” ซึ่งเป็นภูมิภาคหนึ่งในคาบสมุทรบอลข่าน ติดกับประเทศเซอร์เบียทางทิศเหนือ มอนเตเนโกรทางตะวันตก แอลเบเนียและนอร์ธมาซิโดเนียทางใต้ ไม่มีทางออกสู่ทะเล

คอซอวอได้ประกาศเป็นรัฐเอกราชแบบเอกภาคีในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2008 ใช้ชื่อว่า สาธารณรัฐคอซอวอ (Republic of Kosovo) ประชากรประมาณ 1.8 ล้านคน ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 32 ปี และเป็นหนึ่งในสามประเทศในยุโรปที่มีประชากรจำนวนมากนับถือศาสนาอิสลาม (นอกเหนือจากแอลเบเนีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวินา) อุตสาหกรรมหลัก อาทิ เหมืองแร่ วัสดุก่อสร้าง และแร่โลหะ ใช้เงินสกุลยูโรเป็นเงินสกุลหลักของประเทศ

“ในเดือนกันยายนนี้ ก็จะเป็นวันครบรอบปีแรกของการเปิดสถานทูตคอซอวอในกรุงเทพฯ นอกจากเป็นสถานทูตแห่งแรกของคอซอวอในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นแห่งแรกที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย”

นางอูล์ปาจ์นา ลามา (Mrs. Ulpiana Lama) อุปทูตแห่งสถานเอกอัครราชทูตคอซอวอประจำประเทศไทย เล่าประวัติความเป็นมา

“เมื่อตอนเป็นเด็กดิฉันเรียนไวโอลินระยะหนึ่ง เมื่อโตขึ้นก็รักหนังสือและวรรณกรรมด้วยความหวังว่าจะได้เป็นนักเขียน แต่ต้องยอมรับว่าดิฉันอาจธรรมดาเกินไปที่จะเก่งในเรื่องนั้น ดิฉันเรียนแพทย์ สังคมวิทยา ปรัชญาการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งในกรุงทีรานา ปารีส และวอชิงตัน ดี.ซี. และเข้าทำงานทางการทูตเมื่อ 6 ปีก่อน ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่า งานทางการทูตของคอซอวอเพิ่งครบรอบ 13 ปีในปีนี้ อย่างที่ทราบกันดีว่า คอซอวอเป็นรัฐที่อายุน้อยที่สุดและเป็นประชาธิปไตยที่อายุน้อยที่สุดในยุโรป นอกจากนี้ เรายังมีกลุ่มประชากรที่อายุน้อยที่สุด โดย 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรของเรามีอายุต่ำกว่า 32 ปี”

แม้ว่าคอซอวอ หรือสาธารณรัฐคอซอวอ เป็นประเทศมุสลิมน้องใหม่ของยุโรป ก่อตั้งเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2008 แต่จิตวิญญาณของผู้คนในคอซอวอต่างยอมรับว่าตัวเองเป็นประเทศเสมอมา รัฐบาลคอซอวอจึงมีความพยายามสร้างการยอมรับและการได้รับความเคารพในอธิปไตยของคอซอวอในประชาคมระหว่างประเทศมาโดยตลอด”

“กระทรวงต่างประเทศคอซอวอจึงตระหนักถึงความสำคัญในการใช้ประโยชน์จากสื่อสังคมออนไลน์โดยใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารด้านการทูตและได้จัดทำยุทธศาสตร์ด้านการทูตดิจิตอล (Digital Diplomacy) ขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2012 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหราชอาณาจักรและรัฐบาลนอร์เวย์ เพื่อใช้เป็นกรอบในการดำเนินนโยบายการทูตดิจิตอลของคอซอวอ เป็นการดำเนินการทางการทูตที่ส่งเสริมบทบาทและการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ของภาครัฐและภาคประชาชน”

 

“ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ช่วยส่งเสริมให้การดำเนินนโยบายการทูตดิจิตอล (Digital Diplomacy) ของคอซอวอประสบความสำเร็จ คือ การมีส่วนรวมของภาคประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ประมาณร้อยละ 70 เป็นคนรุ่นใหม่ มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการใช้สื่อสังคมออนไลน์อยู่แล้ว”

“ตั้งแต่ที่เปิดตัวโครงการ/เว็บไซต์ Digital Kosovo เมื่อปี ค.ศ.2013 ขณะนี้มีประชาชนเข้าร่วมกว่าแปดพันคน ส่งผลให้เกิดการยอมรับคอซอวอใน digital platforms ต่างๆ มากขึ้น และยังเป็นการยกระดับสถานะและการยอมรับคอซอวอในประชาคมระหว่างประเทศ ปัจจุบันมีประเทศที่ให้การรับรองอธิปไตยของคอซอวอแล้ว จำนวนกว่า 114 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับคอซอวออย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ.2013”

“ภารกิจที่สำคัญของเราคือ การทำให้ประเทศไทยและคอซอวอมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น ขั้นแรกคือ การทำความรู้จักและเข้าใจซึ่งกันและกัน ดิฉันจึงพยายามที่จะเป็นแกนนำให้มากที่สุด งานแรกคือ Kosovo Movie Night ในช่วงเวลาสั้นๆ อันน่าประทับใจ นำเสนอภาพยนตร์เกี่ยวกับช่วงปีก่อนสงครามที่มีชื่อเรื่องว่า Drums of Resistance และเรื่อง The Flying Circus ซึ่งนำมาจากเรื่องจริง ที่สมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 มีนาคมศกนี้”

“เป้าหมายในการทำงานคือ การทำความเข้าใจ โดยให้มีการสื่อสาร การเสริมสร้างความสัมพันธ์ การเยือนระหว่างกันในระดับสูง มีข้อตกลงทวิภาคี มีการส่งเสริมการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวร่วมกัน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เหล่านี้ เป็นองค์ประกอบหลักตามแนวทางปฏิบัติของดิฉัน”

“การสร้างทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่เริ่มต้นก่อตั้งสถานทูต ถือเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ดิฉันต้องเผชิญตั้งแต่เป็นนักการทูตประจำประเทศไทย แต่ทุกอย่างก็ดำเนินไปด้วยดี”

“ดิฉันขอแนะนำประเทศของเราในด้านการท่องเที่ยว ด้วยภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ในคาบสมุทรบอลข่าน คอซอวอมีเทือกเขาอยู่มากมาย ซึ่งเหมาะแก่การเล่นสกีอย่างที่สุด มีจุดเล่นสกีที่สวยงามเป็นกิจกรรมไฮไลต์ขึ้นชื่อของที่นี่ หรือแม้แต่การไต่เขา และเรายังมีโรงแรมที่ทันสมัยในราคาที่ไม่สูง”

“คอซอวอมีหุบเขาที่แสนสวยงามและอุดมสมบูรณ์มากๆ ที่นี่จึงมีการผลิตไวน์มานานกว่าสองพันปีแล้ว มีการผลิตไวน์ใน Rahovec ไวน์ชั้นเลิศ ไม่ว่าจะเป็น Stone Castel, Bodrumi Vjeter, Suhareka Wine, Sefa Wine หรือ Rakia บรั่นดีที่ผลิตจากผลไม้พื้นเมือง นอกจากนี้ เรามีเครื่องประดับแสนสวยจากเมือง Prizren, Gjakova และ Peja ที่ขึ้นชื่อเรื่องงานฝีมือ”

“ในประวัติศาสตร์ ดินแดนแห่งนี้ผ่านยุคสมัยของอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ตั้งแต่ Illyrian Dardania ไปจนถึงอาณาจักรโรมัน Byzantine, Serbian, Bulgarian และ Ottoman ซึ่งทำให้สถานที่แห่งนี้เต็มไปด้วยสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งของคริสเตียนและอิสลาม มีสถาปัตยกรรมเก่าแก่อย่าง Kullas พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ อย่าง Sufi หรือการแต่งหน้าในงานวิวาห์ในแบบของ Goranis”

“ประเทศของเรามีความหลากหลายทางศาสนาที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข วิถีชีวิตแบบนี้อยู่ในรากเหง้าแห่งวัฒนธรรมของคอซอวอมานานแล้ว มีโบสถ์และมัสยิดตั้งอยู่ใกล้ชิดสนิทสนมเป็นบ้านใกล้เรือนเคียงจนแทบจะเรียกได้ว่าใช้สวนหลังบ้านเดียวกันเลยก็ว่าได้ เช่นใน Ferizaj หรือ Gjakova เราสามารถแวะชมโบสถ์ของนิกาย Orthodox มัสยิด Imperial หรือจะเริ่มเดินทางตามเส้นทางแสวงบุญจากโบสถ์ของแม่ชีเทเรซา และไปสิ้นสุดที่โบสถ์แบล็กมาดอนน่าในเมือง Letnice ก็ยังได้”

“วัฒนธรรมในการดื่มกาแฟของคอซอวอ นับว่ามีชื่อเสียง เพราะการดื่มกาแฟเป็นที่นิยมมากในคอซอวอ จึงควรถือคติเข้าเมืองตาหลิ่วให้หลิ่วตาตาม สัมผัสความ kadal-kadal หรือภาษาไทยคือ สบาย สบาย ด้วยการจิบกาแฟ Macchiato ตามร้านหนังสือ หรือคาเฟ่ที่มีผู้คนเดินผ่านไปมา และสนทนากับชาวพื้นเมืองที่ส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษได้”

“คอซอวอยังเป็นแหล่งของเทศกาลต่างๆ มากมาย เช่น Dokufest, PriFilmFest เป็นต้น ส่วน Sunny Hill เป็นเทศกาลดนตรีที่จัดโดย Dua Lipa ซูเปอร์สตาร์ที่ชาวคอซอวอภาคภูมิใจ”

“โดยส่วนตัวแล้วดิฉันขอแนะนำให้ชมการแสดงคอซอวอบัลเล่ต์ เพื่อเพลิดเพลินกับผลงานคลาสสิคชิ้นเอกหรือความมหัศจรรย์ร่วมสมัยในราคาเพียง 150 บาท (5 ยูโร) และหาเวลาในการสำรวจคาบสมุทรบอลข่านตะวันตกด้วยทางหลวงที่สะดวกสบาย ช่วยลดระยะเวลาในการขับรถไปยังเมืองหลวงของประเทศเพื่อนบ้าน ไปมาซิโดเนียตอนเหนือในเวลาเพียงแค่หนึ่งชั่วโมง และแอลเบเนียเพียงแค่สามชั่วโมงเท่านั้น”

 

สําหรับการลงทุน อุตสาหกรรมอาหารนั้นสามารถเป็นจุดเริ่มต้นของการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ เนื่องจากคอซอวอมีความต้องการที่จะนำเข้าสินค้าอาหารจากประเทศไทย อีกทั้งยังได้เปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศซึ่งรัฐบาลพร้อมให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ที่ดิน และสาธารณูปโภคพื้นฐานสำหรับนักลงทุนต่างชาติอีกด้วย

“เรามีแรงงานอายุน้อยที่มีทักษะ สามารถพูดได้หลายภาษา มีระบบการจัดเก็บภาษีที่ดีและเรียบง่าย มีค่าธรรมเนียมคงที่ 10% จากกำไร ภาษี 10% จากเงินเดือน/ผลประโยชน์ของพนักงาน และภาษีมูลค่าเพิ่ม 0% สำหรับบริการส่งออก ค่าครองชีพในคอซอวอที่ไม่สูง ค่าเช่าอพาร์ตเมนต์โดยเฉลี่ยที่มี 1 ห้องนอนจะอยู่ที่ประมาณ 250 ยูโร (8,700 บาท) / เดือน และในพื้นที่ห่างไกลออกไปจากใจกลางเมืองราคาก็จะยิ่งถูกกว่ามาก”

“ค่าอาหารกลางวันนั้นแตกต่างกันไปตั้งแต่ 3 ยูโร – 7 ยูโร ความง่ายในการทำธุรกิจ ตามดัชนีของธนาคารโลก คอซอวออยู่ในอันดับที่ 57 จาก 190 ประเทศในด้านความสะดวกในการทำธุรกิจ มีอินเตอร์เน็ตที่เร็วและราคาถูก ปัจจุบัน 96% ของครัวเรือนในคอซอวอ เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต คอซอวอยังเป็นที่ตั้งของสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในภูมิภาค (ตัวอย่างใน Gjirafa.com)

“การระบาดใหญ่ของ Covid-19 นี้เป็นเครื่องเตือนใจว่า ลำดับความสำคัญเปลี่ยนไปอย่างไรในช่วงเวลาของสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ เราต้องให้ความสำคัญกับการรักษา ด้วยความไว้วางใจทั้งหมดที่เราวางไว้ในกลไกพหุภาคี จึงเป็นเรื่องจริงที่อาจกล่าวได้ว่าโปรแกรม Covax ไม่ได้เป็นไปอย่าคาดหวัง มีคำเตือนถึงประเทศใหญ่ ที่ร่ำรวย และมีอำนาจ ว่าไม่มีพวกเราคนใดจะปลอดภัยตราบเท่าที่ไวรัสกำลังแพร่พันธุ์และอาจกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ ที่หาทางกลับไปสู่ประเทศร่ำรวย เศรษฐกิจจะตกต่ำ ประชากรจะต้องทนทุกข์ทรมาน บทเรียนใหญ่ของการระบาดครั้งนี้คือ ไม่มีใครปลอดภัย จนกว่า ทุกคนจะปลอดภัย”

“นอกเหนือจากนี้ เศรษฐกิจและการศึกษา ถือเป็นเรื่องสำคัญต้นๆ ของดิฉัน เราต้องจับมือกัน เพื่อช่วยให้ธุรกิจ โรงเรียน/มหาวิทยาลัยได้เชื่อมต่อกัน การแลกเปลี่ยนที่มีความหมายและมีผลเป็นแรงผลักดันในชีวิตประจำวันของดิฉัน”

“ดิฉันชอบเกือบทุกอย่างที่เกี่ยวกับประเทศไทยและโดยเฉพาะอย่างยิ่งความอบอุ่นและความใส่ใจของผู้คนที่นี่ ความท้าทายหลักของดิฉันคือการสื่อสาร เนื่องจากดิฉันไม่ได้พูดภาษาไทยและพบว่าภาษาไทยค่อนข้างยากที่จะเรียนรู้ โชคดีที่ภาษาอังกฤษใช้กันค่อนข้างแพร่หลายในประเทศไทย แต่ถึงอย่างไรดิฉันก็ยังไม่สามารถเข้าถึงคนท้องถิ่นได้อย่างที่ดิฉันต้องการ เพราะนอกเหนือจากภาษาแม่แล้ว ดิฉันพูดได้แต่ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี แต่ก็สามารถเข้าใจภาษาสเปนได้ในระดับหนึ่ง”

เรื่องที่อุปทูตอูล์ปาจ์นา ลามา อยากให้ประเทศคอซอวอเป็นที่รู้จักจดจำ

“เป็นคำถามที่ยากที่สุด แต่ดิฉันขอตอบอย่างง่ายที่สุดคือ การสร้างความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างคอซอวอและประเทศไทย ด้วยจิตวิญญาณของความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเคารพและความร่วมมือซึ่งกันและกัน ส่วนคำตอบสุดท้ายของดิฉันคือ Mirë se vini! ยินดีต้อนรับสู่คอซอวอ! เรามาดื่มกาแฟกันเถอะ!”

ประวัติ

นางอูล์ปาจ์นา ลามา

การศึกษา

ปริญญาโท สาขาปรัชญาการเมืองจาก Universit? Paris 8, ฝรั่งเศส

ปริญญาตรีสังคมศาสตร์จาก University of Tirana ประเทศแอลเบเนีย

ประสบการณ์

กุมภาพันธ์ 2020 – ปัจจุบัน : อุปทูต สถานทูตคอซอวอประจำประเทศไทย

เมษายน 2017 – มกราคม 2020 : อุปทูต สถานทูตคอซอวอประจำประเทศฝรั่งเศส

ธันวาคม 2015 – กุมภาพันธ์ 2017 : ผู้อำนวยการกรมองค์การระหว่างประเทศ

มีนาคม 2015 – พฤศจิกายน 2015 : ที่ปรึกษากระทรวงต่างประเทศคอซอวอ

เคยเป็นโฆษกหญิงของรัฐบาลคอซอวอ นักข่าววิทยุ และผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์

นักวิเคราะห์สังคมการเมืองพัฒนาการ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย นักสตรีนิยม นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและคนรักสัตว์ เขียน/ผู้เขียนร่วมในการศึกษาทางสังคมวิทยาที่แตกต่างกันเกี่ยวกับกรอบของเป้าหมายในการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติ นโยบายการศึกษาและตลาดงาน ฯลฯ ผู้เขียนเผยแพร่

ผู้รับเหรียญ “Chevalière del’Ordre du Mérite” โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศส

ภาษา

คล่องแคล่วในภาษาแอลเบเนีย อังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลี

สถานภาพ

สมรส ไม่มีบุตร-ธิดา