2503 สงครามลับ สงครามลาว (19) / สัญญาณจากหลังม่านเหล็ก/ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (19)

 

สัญญาณจากหลังม่านเหล็ก

สหภาพโซเวียตเห็นด้วยกับนโยบายให้ลาวเป็นกลางของเคนเนดี้ และตอบรับให้มีการจัดการประชุมขึ้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2504 รวมทั้งยอมรับข้อเสนอให้มีการหยุดยิงในลาวและจัดการประชุมนานาชาติทั้ง 14 ชาติที่เคยประชุมกันเมื่อ พ.ศ.2497 ว่าด้วยการแก้ปัญหาในอินโดจีนที่นครเจนีวา อีกครั้งหนึ่ง

ช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนการประชุมในพฤษภาคม พ.ศ.2504 ลาวทั้งสองฝ่ายก็เปิดฉากการรุกต่อกันหวังครอบครองพื้นที่ให้มากที่สุดเพื่อความได้เปรียบในการเจรจา

คราวนี้ทหารเวียดนามเหนือได้เคลื่อนพลพร้อมอาวุธหนักเข้าสนับสนุนลาวฝ่ายซ้ายเต็มที่

ส่งผลให้ลาวฝ่ายขวาตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในทุกพื้นที่การรบ

 

ขอให้ไทยช่วยอีกครั้ง

ครั้งที่ ร.อ.กองแลก่อการปฏิวัติเมื่อ สิงหาคม พ.ศ.2503 พล.ต.พูมี หน่อสวรรค์ ผู้ญาติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เคยร้องขอความช่วยเหลือจากไทยจนสามารถยึดคืนกรุงเวียงจันทน์และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เป็นผลสำเร็จ เมื่อเผชิญกับความคับขันครั้งใหม่ จึงตัดสินใจขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยอีกครั้ง

วันที่ 5 เมษายน 2504 พล.ต.พูมี หน่อสวรรค์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย ขอให้ส่งกำลังทหารปืนใหญ่ไปช่วยเหลือรัฐบาลลาวฝ่ายขวาในพื้นที่สุวรรณเขตตอนใต้ของลาวซึ่งกำลังถูกกดดันอย่างหนักจากฝ่ายซ้ายที่ได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังเวียดนามเหนือ

ไม่เพียงแต่เท่านั้น อีก 12วันต่อมา พล.ต.จอห์นสัน หัวหน้าคณะที่ปรึกษาความช่วยเหลือทางทหารสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้เข้าพบ พล.อ.จิตติ นาวีเสถียร เสนาธิการทหารบก ในวันที่ 17 เมษายน 2504 ยืนยันขอให้ไทยรีบส่งกองร้อยทหารปืนใหญ่สนามไปช่วยแก้ไขสถานการณ์ในลาว

โดยแจ้งให้ทราบว่าลาวฝ่ายซ้ายผสมกับกองกำลังเวียดนามเหนือได้เข้าแย่งยึดพื้นที่บริเวณเมืองยมราชไว้แล้ว และกำลังรุกเข้าหาเมืองท่าแขก ตรงข้ามจังหวัดนครพนมของไทย

 

“ราชาแห่งสนามรบ” จากไทย

วันรุ่งขึ้นหลังการเข้าพบของ พล.ต.จอห์นสัน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2504 ให้กองทัพบกจัดกำลัง 2 กองร้อยทหารปืนใหญ่ จำนวนกำลังพลกองร้อยละ 152 นาย จากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 11 และกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 จากจังหวัดลพบุรี เพื่อให้ความช่วยเหลือราชอาณาจักรลาวตามคำขอ

กำหนดชื่อรหัสในการปฏิบัติการนี้ว่า “Star Shine (SS)” กองร้อยทหารปืนใหญ่จากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 11 ใช้รหัสหน่วย SS 1 มี ร.ท.ประจวบ วิไลเนตร เป็นผู้บังคับกองร้อย ปฏิบัติการในพื้นที่เมืองสุวรรณเขต กองร้อยทหารปืนใหญ่จากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 ใช้รหัสหน่วย SS 2 มี ร.ท.วัฒนชัย วุฒิศิริ เป็นผู้บังคับกองร้อย ปฏิบัติการในเมืองท่าแขก

วันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2504 กำลังพลหน่วย SS 1 และ SS 2 เคลื่อนย้ายด้วยการขนส่งทางอากาศจาก สนามบินโคกกระเทียม ลพบุรี ไปลงที่เมืองสุวรรณเขต 2 เที่ยวบิน เที่ยวบินละ 1 กองร้อย แล้วเดินทางเข้าพักแรมในกรมทหารปืนใหญ่ กองทัพแห่งชาติลาว (ทชล.) ที่ดงลำดวน

ส่วนปืนใหญ่ทั้ง 8 กระบอก (กองร้อยละ 4 กระบอก) ลำเลียงทางพื้นดินข้ามแม่น้ำโขงบริเวณมุกดาหารไปยังสุวรรณเขต

 

เข้าที่ตั้ง

หน่วย SS 1 เคลื่อนย้ายกำลังทางรถยนต์เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2504 เข้าที่ตั้งปฏิบัติการที่เมืองท่าแขก มี “หัวน้านพ” (พ.ท.จวน วรรณรัตน์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาทางทหาร) และ “หัวหน้านัย” (พ.ท.ศิริ เทศะภู รองหัวหน้าคณะที่ปรึกษา) ร่วมเดินทางไปด้วย

ในการเคลื่อนย้ายครั้งนี้กองทัพแห่งชาติลาวได้จัดหน่วยระวังป้องกันให้ โดยจัดรถถังคุ้มกันขบวน 2 คัน พร้อมกับจัดชุดเฝ้าตรวจรักษาการณ์ตามจุดสำคัญๆ จนถึงที่รวมพลบริเวณทิศใต้ของเมืองท่าแขก ประมาณ 3 กิโลเมตร

หน่วย SS 2 เคลื่อนย้ายกำลังทางรถยนต์เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2504 เข้าที่ปฏิบัติการบริเวณพื้นที่ทางทิศตะวันออกของเมืองท่าแขก ประมาณ 15 กิโลเมตร

วันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2504 นายพลบุนปอน มากเทพารักษ์ ได้ขอกำลังหน่วย SS 1 ไปยิงสนับสนุนการปฏิบัติการทางด้านเมืองเซโปนใกล้ชายแดนเวียดนาม หน่วย SS 1 จึงได้เคลื่อนย้ายไป แต่เดินทางไปถึงแค่เมืองพิน ในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2504 ก็ได้รับคำสั่งให้เคลื่อนที่กลับสุวรรณเขต เข้าที่ตั้งกรมทหารปืนใหญ่ ดงลำดวนตามเดิม

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เป็นผลดีต่อการประชุมแก้ปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นในเจนีวา ดังนั้น ในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2504 กองทัพบกไทยได้มีคำสั่งให้หน่วย SS ทั้งหมดถอนกำลังกลับโดยให้เหลือครูฝึกการใช้ปืนใหญ่ไว้เพียง 14 คน

วันรุ่งขึ้นที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2504 หน่วย SS 1 และSS 2 จึงเดินทางกลับประเทศไทย แต่ยังคงตั้งอยู่ที่อำเภอมุกดาหาร และอำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เพื่อรอดูสถานการณ์

จนกระทั่งวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2504 จึงได้รับคำสั่งกลับเข้าที่ตั้งปกติที่ลพบุรี

 

ฝ่ายซ้ายรุกหนัก

ก่อนการประชุมนานาชาติในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2504 จะเริ่มขึ้น ลาวฝ่ายซ้ายโดยการสนับสนุนของเวียดนามทุ่มเทกำลังเข้าแย่งยึดพื้นที่เพื่อครองความได้เปรียบในการเจรจาบนโต๊ะประชุม โดยมีทุ่งไหหินเป็นเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญสูงสุด

ที่ผ่านมา นับแต่บิลล์ แลร์ และตำรวจพลร่มไทย “พารู” ได้ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการ “โมเมนตัม” จนสามารถยกระดับขีดความสามารถในการสู้รบของชาวพื้นเมือง ทำให้ลาวฝ่ายซ้ายตกเป็นรองกองกำลังของวังเปาซึ่งใช้ยุทธวิธีสงครามกองโจร

แต่การรุกใหญ่ครั้งนี้ลาวฝ่ายซ้ายสามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการสนับสนุนจากเวียดนามเหนือทั้งกำลังทหารและอาวุธหนัก

ที่มั่นของวังเปาซึ่งได้รับการฝึกและจัดตั้งตามคำแนะนำจากที่ปรึกษา “พารู” ตั้งกระจัดกระจายอยู่ตามจุดสำคัญของพื้นที่ทุ่งไหหินถูกตีแตกแห่งแล้วแห่งเล่า…

 

พารูร่วมสู้

ค่ายนเรศวรบันทึกเหตุการณ์สำคัญของเหล่าพารูซึ่งเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกำลังชาวเขาวังเปา ไว้ดังนี้

เนื่องจากการปฏิบัติภารกิจในลาว ตำรวจพลร่มทุกคนต้องลาออกจากทางราชการ

ดังนั้น ในบันทึกของค่ายนเรศวรต่อไปนี้ จึงใช้คำนำหน้าว่า “พารู” แทนที่ยศตำรวจ

 

พารู ทีมบี

ปลาย พ.ศ.2503 พารู ทีมบี ซึ่งมีพารู เจิดจำรัส การุณราษฎร์ เป็นหัวหน้า พารู ประเสริฐ เดชดวงจันทร์ พารู ธีรพล คำภา พารู สงวน แสงชัยราช พนักงานวิทยุ RS-1 และพารู สมนึก เอกฐิน ทีมบีได้ติดตามไปกับกองพันที่ 26 ของนายพลภูมี หน่อสวรรค์ และเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ เพื่อยึดเมืองเวียงจันทน์คืนจาก ร.อ.กองแล

เป็นผลให้กำลังพลของ ร.อ.กองแลหนีเตลิดไป แต่บางส่วนก็เข้าสวามิภักดิ์กับผู้นำลาวฝ่ายขวา เมื่อกองพันที่ 26 หยุดการติดตาม ทีมบีจึงได้กลับไปเข้าที่รวมพลชั่วคราวจังหวัดอุดรธานีเพื่อรอคำสั่งต่อไป

ต่อมาทีมบีก็ได้ออกปฏิบัติการในลักษณะต่างๆ อีกหลายครั้งในพื้นที่หลวงพระบาง กิ่วกระจำ ภูคูน

และโดยเฉพาะที่เมืองงาด ซึ่งพารูจะประสบความสูญเสียเป็นครั้งแรก