วัคซีนโควิดปลุกเศรษฐกิจคึก ห้าง-ค้าปลีก กระหน่ำแคมเปญ เอกชนลุ้นรัฐไฟเขียวนำเข้าวัคซีน / บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

วัคซีนโควิดปลุกเศรษฐกิจคึก

ห้าง-ค้าปลีก กระหน่ำแคมเปญ

เอกชนลุ้นรัฐไฟเขียวนำเข้าวัคซีน

 

แม้จะมีการดีเลย์ไปบ้าง แต่ที่สุดแล้ววัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกจำนวน 2 แสนโดส ของซิโนแวคจากประเทศจีน ก็ถูกส่งมอบมาถึงประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีเซอร์ไพรส์แถมพ่วงมาด้วย โดยมีวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า จากอังกฤษ พ่วงมาอีก 1.6 แสนโดส

ถัดมาอีก 4 วัน วัคซีนเข็มแรกถูกฉีดให้กับ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นการเอาฤกษ์เอาชัย ก่อนจะกระจายไปฉีดยังพื้นที่เสี่ยงตามเป้าหมาย

แม้ประเทศไทยจะได้รับการจัดอันดับว่า เป็นประเทศท้ายๆ ในอาเซียนที่ได้รับการฉีดวัคซีน คือ ประเทศที่ 6 จากจำนวน 8 ประเทศ

แต่ถึงนาทีนี้คงไม่มีใครปฏิเสธว่า “วัคซีน” เป็นจุดเริ่มต้นของความหวังทางธุรกิจครั้งใหม่ หลังจากถูกพิษร้ายของโควิด-19 กระหน่ำอย่างหนัก และตกอยู่ในภาวะวิกฤตมานานนับปี

 

“มยุรี ชัยพรหมประสิทธิ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่สายส่งเสริมการตลาด และองค์กรสัมพันธ์ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้ากลุ่มวันสยาม (สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่) แสดงความเห็นว่า การมีวัคซีนเข้ามา นอกจากจะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว ยังช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ รวมทั้งเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่จะต้องเร่งพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เข้าสู่โหมดการฟื้นฟูธุรกิจอย่างเร่งด่วนต่อไป

“มาตรการรัฐที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะทำให้บรรยากาศการจับจ่ายโดยรวมดีขึ้น ขณะที่การฉีดวัคซีนเป็นปัจจัยที่จะช่วยสร้างมู้ดการออกมาใช้ชีวิตข้างนอกให้คึกคักขึ้น คาดว่าทราฟฟิกจะค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นและไต่ระดับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 2-3 เดือน”

สอดคล้องกับ “ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น ผู้บริหารศูนย์การค้า เซ็นทรัล กล่าวในเรื่องนี้ว่า ในระยะถัดไปหากมีการกระจายวัคซีนสู่ประชาชนได้อย่างทั่วถึง จะทำให้คนกล้าออกมาใช้ชีวิตตามปกติ ธุรกิจค้าปลีก สินค้าอุปโภค-บริโภค จะค่อยฟื้นตัว ศูนย์การค้าจะเริ่มมีทราฟฟิกกลับมามากขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

ขณะที่ “วรลักษณ์ ตุลาภรณ์” ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าเดอะมอลล์ ระบุว่า ที่ผ่านมา โควิด-19 กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจกำลังซื้อมาก ทำให้ผู้ประกอบการปรับตัวมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจรีเทล ที่แม้จะมีการจัดแคมเปญโปรโมชั่นบ่อยอยู่แล้ว แต่จากจำนวนทราฟฟิกที่ลดลงตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาทำให้ต้องมีการจัดแคมเปญ โปรโมชั่นถี่ขึ้น และหนักขึ้นกว่าหลายปีที่ผ่านมา

และปีนี้บริษัทจึงมีการจัดแคมเปญโปรโมชั่นถี่ขึ้นและแรงขึ้น คาดว่าปีนี้จะมีแคมเปญใหญ่ไม่ต่ำกว่า 30 ครั้ง เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อตลอดทั้งปี

 

และทันทีที่ย่างเข้าสู่เดือนใหม่มีนาคม หลังจากแคมเปญในเดือนกุมภาพันธ์สิ้นสุดสง ผู้ประกอบการค้าปลีก ทั้งห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ต่างก็มีการจัดโปรโมขั่นที่แรงขึ้นทั้งในส่วนของช่องทางออฟไลน์ที่เป็นช่องทางที่สร้างรายได้หลัก และช่องทางที่เป็นออนไลน์ เพื่อเพิ่มทราฟฟิกและกระตุ้นการจับจ่ายอย่างหวังผล

ภาพการลดราคาสินค้าทุกกลุ่มตั้งแต่ 50-80% มีให้เห็นทุกที่ทุกสาขา เท่านั้นยังไม่พอ ณ จุดขายของสินค้านานาชนิด จะมีการจูงใจด้วยป้ายแสดงราคาที่มีการลดราคาเห็นอย่างชัดเจน รวมถึงการกระตุ้นการจับจ่ายด้วยการลดราคาเพิ่มมากขึ้น สำหรับการซื้อสินค้าชิ้นที่ 2 ชิ้นที่ 3 ตามมา นอกจากนี้ ยังมีการแจกกิฟต์การ์ด เพื่อให้ลูกค้านำกลับมาซื้อสินค้าครั้งต่อไป การร่วมกับบัตรเงินผ่อน-บัตรเครดิต ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถใช้บริการเงิน 0% ได้ด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น หลายค่ายยังร่วมมือกับบัตรเครดิต จัดรายการแคชแบ็ก รับเงินคืนสูงสุดถึง 9,000 บาท สำหรับลูกค้ากระเป๋าหนักที่จับจ่ายครั้งละเรือนหมื่นเรือนแสน

เป็นการสร้างบรรยากาศและกระตุ้นการจับจ่ายให้คึกคัก โดยมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การพยายามตีตื้นยอดขายให้กลับคืนมามากที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

เช่นเดียวกับฝากฝั่งของโรงพยาบาลเอกชน เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไฟเขียวให้เอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ได้ โดยให้ยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนวัคซีนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ถูกต้อง

ล่าสุด โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่เริ่มมีความเคลื่อนไหวในการยื่นขอเป็นบริษัทผู้นำเข้ายาต่อ อย. เพื่อเปิดประตูด่านแรกที่จะนำไปสู่การขอขึ้นทะเบียนและนำเข้าวัคซีนโควิด-19 เพื่อรองรับดีมานด์จากกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อ โดยก่อนหน้านี้ โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งได้มีการติดต่อทาบทามไปยังบริษัทผู้ผลิตวัคซีนค่ายต่างๆ มาแล้วระยะหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นจอห์นสัน, โมเดอร์นา, ซิโนฟาร์ม, สปุตนิก, ซิโนฟาร์ม รวมถึงไฟเซอร์

ตอนนี้ รอเพียงขั้นตอนการดำเนินงานและการอนุญาตของ อย.เท่านั้น หลังโรงพยาบาลใดได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้ายาแล้ว สเต็ปถัดไปก็จะเป็นเรื่องของการนำวัคซีนที่ได้ทาบทามไว้แล้วมาขอขึ้นทะเบียน

เมื่อ อย.รับขึ้นทะเบียน ทุกอย่างก็ลงตัว และเริ่มการนำเข้าวัคซีนได้อย่างถูกต้อง

โรงพยาบาลหนึ่งอาจจะมีวัคซีนมากกว่า 1 ยี่ห้อก็เป็นได้ เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า

ผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่รายหนึ่งระบุว่า “การที่รัฐบาลอนุญาตให้เอกชนนำเข้าวัคซีนโควิดได้ เป็นการเพิ่มหรือเปิดทางเลือกให้กับกลุ่มประชาชนที่มีกำลังซื้อและไม่ต้องการรอรัฐบาลฉีดให้ฟรี โดยส่วนตัวเชื่อว่า ดีมานด์หรือความต้องการวัคซีนโควิคมีเป็นจำนวนมาก ส่วนโรงพยาบาลที่ไม่ได้นำเข้าก็สามารถที่จะไปขอซื้อจากโรงพยาบาลหรือบริษัทที่เป็นผู้นำเข้าได้”

 

ผู้บริหารระดับสูงโรงพยาบาลเอกชนยืนยันว่า ที่ผ่านมามีโรงพยาบาลค่ายใหญ่ 3-4 ราย อาทิ กลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี, บีดีเอ็มเอส หรือกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลรามคำแหง และกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ที่ยื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้ายา เพื่อจะต่อยอดไปยังการนำวัคซีนโควิคมาขึ้นทะเบียนและนำเข้ามา และขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาและตรวจสอบของ อย. ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นานนัก

“นายแพทย์บุญ วนาสิน” ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี ระบุว่า ขณะนี้บริษัทในเครือ คือ บริษัท ทันตสยาม จำกัด ที่เปิดดำเนินการมา 7-8 ปี และเป็นบริษัทได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นบริษัทนำเข้ายาและวัคซีนจาก อย. ได้ยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนเพื่อนำเข้าวัคซีนโควิด-19 แล้ว เบื้องต้นได้ติดต่อบริษัทผู้ผลิตวัคซีน 3 บริษัท ใน 2 ประเทศ ได้แก่ สปุตนิกไฟฟ์ (Sputnik-V) ของประเทศรัสเซีย ส่วนอีก 2 บริษัทอยู่ในประเทศจีน ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอเจรจาเพื่อตกลงรายละเอียด

“ราคาวัคซีนจะอยู่ที่ประมาณ 17-40 ดอลลาร์สหรัฐ/โดส หากรวมค่าขนส่ง-บริการ ราคาอาจจะอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาท/โดส ที่ผ่านมามีเอกชนหลายรายที่สนใจและติดต่อเข้ามา อาทิ สมาคมที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว”

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของราคาวัคซีน ที่เปิดเผยในตลาดแต่ละค่ายอาจจะมีราคาแตกต่าง อาทิ ไฟเซอร์ 20 ดอลลาร์สหรัฐ/โดส, โมเดอร์นา 37 ดอลลาร์สหรัฐ/โดส แอสตร้าเซนเนก้า 4 ดอลลาร์สหรัฐ/โดส, จอห์นสัน 10 ดอลลาร์สหรัฐ/โดส, สปุตนิก 10 ดอลลาร์สหรัฐ/โดส, ซิโนแวค 30 ดอลลาร์สหรัฐ/โดส, ซิโนฟาร์ม 30 ดอลลาร์สหรัฐ/โดส เป็นต้น

โรงพยาบาลไหนจะเคาะราคามากน้อยเท่าไหร่ต้องติดตาม