มาตรฐาน ของการเป็น ‘วิทยากร’ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง

ธงทอง จันทรางศุ

 

มาตรฐาน ‘วิทยากร’

 

วันศุกร์-เสาร์และอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสพาคณะซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจำนวนราว 50 คนเดินทางไปจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดสุโขทัย เพื่อเยี่ยมชมโบราณสถานและเป็นการท่องเที่ยวเปิดหูเปิดตาไปในตัว

สองจังหวัดนี้ถึงแม้ผมจะเคยเดินทางไปแวะเวียนบ่อยครั้งแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่เคยรู้สึกเบื่อหน่าย เพราะได้รู้จักหรือค้นพบอะไรที่เป็นของแปลกใหม่อยู่เสมอ

เช่น คราวนี้ผมได้มีโอกาสแวะไปเยี่ยมชมศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ ซึ่งตั้งอยู่คนละฟากฝั่งแม่น้ำน่าน เยื้องกันกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือที่รู้จักกันทั่วไปในฐานะวัดหลวงพ่อพระพุทธชินราช

ศูนย์ที่ว่านี้เพิ่งสร้างเสร็จมาได้ไม่กี่ปี และนี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้เหยียบย่างเข้าไปชม

ส่วนที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวซ้ำเดิมก็มีนะครับ ได้แก่ วัดต่างๆ ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง และอีกหลายที่

แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่ได้ออกนามมาข้างต้น นอกจากจะมีข้อมูลที่จัดทำคำอธิบายเป็นป้ายใหญ่บ้างเล็กบ้างติดประจำอยู่กับข้าวของหรือสถานที่แล้ว เนื่องจากการเดินทางครั้งนี้ผมไปเป็นหมู่คณะ และมีการประสานงานล่วงหน้า ตามสถานที่ต่างๆ จึงมีวิทยากรหรือมัคคุเทศก์เป็นผู้นำชมเพื่อเพิ่มพูนอรรถรสให้กับการเยี่ยมชมของคณะเราด้วย

เวลาวิทยากรมีทีเผลอ ผมก็แทรกแซงใช้ช่องว่างนั้นให้เป็นประโยชน์ โดยการพูดอะไรเพ้อเจ้อไปในประเด็นที่ผมเห็นว่าเป็นเรื่องน่ารู้เพิ่มเติมขึ้นต่อท้ายจากวิทยากรด้วย

 

เคยสังเกตไหมครับว่า เวลาที่เราเดินทางไปท่องเที่ยวหรือเยี่ยมชมที่ไหนก็ตาม ถ้ามีวิทยากรมาเล่าอะไรต่อมิอะไรให้ฟัง ความสนุกสนานและซาบซึ้งกับสถานที่แห่งนั้นก็ย่อมมีเพิ่มพูนขึ้นมากกว่าการเดินชมแบบสะเปะสะปะตามยถากรรม

การที่เราไปเที่ยวที่ไหนแล้วได้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับสถานที่นั้นมากไปกว่าการอ่านป้ายที่เขาติดแสดงไว้ ย่อมเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับการเดินทางทริปนั้นอย่างแน่นอน

ยิ่งถ้าได้วิทยากรเป็นผู้มีความสามารถในด้านการพูด ไม่ถึงขนาดต้องได้รางวัลเป็นนักโต้วาทีเหรียญทองมาหรอกครับ

เอาแต่แค่พูดจาชัดเจน เสียงดังฟังชัด ลำดับความไม่สับสน

รู้จักย่อความขยายความให้พอเหมาะกับเวลา

ขณะเดียวกันก็มีความแม่นยำชัดเจนในข้อมูล ถามอะไรพอตอบได้ ไม่มั่วไม่ดำน้ำ

แบบนี้ทั้งคนดูทั้งผู้นำชมก็จะสนุกสนานไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย

ทั้งหมดนี้ พูดง่ายแต่ทำยากครับ

 

จากประสบการณ์สองสามวันที่ผ่านมา ผมอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า วิทยากรที่ทำหน้าที่ได้ดังที่ว่ามาข้างต้นนั้น ข้อแรกต้องมีใจรักที่จะทำเรื่องนั้นเสียก่อนเป็นเบื้องต้น

ถ้ามาทำเพราะหางานอื่นทำไม่ได้ คุณภาพของงานก็จะอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ถ้ามีใจรักเสียแล้ว คุณภาพจะไปโลดเลยทีเดียว

ยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ นะครับ

ที่ศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ วิทยากรผู้นำชมของเรา ชื่อคุณธงชัย เป็นอาสาสมัครอายุมากกว่าผมนิดหน่อย

เมื่อครั้งอยู่ในวัยทำงานเคยเป็นผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดพิษณุโลก

ตอนนี้เกษียณอายุแล้วก็เลยมาทำงานเป็นอาสาสมัคร โดยไม่ได้รับค่าจ้างค่าออนแต่ประการใด

พวกเราทุกคนสังเกตได้ว่าเวลาคุณธงชัยบรรยายนั้น คุณธงชัยบรรยายมาจากหัวใจและจากความรู้ที่ศึกษาค้นคว้ามาอย่างดี

ที่สำคัญยิ่งคือ คุณธงชัยบรรยายด้วยความสุขที่ได้บรรยาย ตาเป็นประกายวิบวับทีเดียว

 

ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหงก็เหมือนกัน วิทยากรผู้นำชมของเราคราวนี้เป็นเจ้าเก่าที่ผมเคยได้รับความเอื้อเฟื้อมาหลายครั้งแล้ว

คุณสิรวีย์เป็นชาวสุโขทัย การบรรยายของคุณสิรวีย์จึงใส่ความเป็นเจ้าของบ้านที่เปี่ยมไปด้วยความภาคภูมิใจในเรื่องราวและข้าวของทุกชิ้นที่นำชม มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ถ้าไม่ได้ฟังบรรยายแล้วเราก็จะมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย

ในขณะที่ผู้นำชมอีกรายหนึ่งที่ผมได้พบ เธอผู้มีอายุในราวยี่สิบปีหรือบวกลบนิดหน่อย ทำหน้าที่บรรยายไปพลางขับ “รถราง” พาเราชมโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์ไปพลาง

ได้ความว่าเธอเป็นพนักงานอัตราจ้างของบริษัทที่ได้สัมปทานมาทำงานนี้

แต่ละวันเธอต้องพูดข้อความซ้ำกันหลายรอบหรืออาจจะถึงสิบรอบ ด้วยอาการเหมือนแผ่นเสียงตกร่อง จะเป็นด้วยความเหนื่อยหรืออย่างไรไม่รู้ การนั่งรถรอบบ่ายของผมคราวนี้ ผมรู้สึกคล้ายกับว่าผู้บรรยายเป็นเครื่องจักรที่กำลังใกล้จะหมดลานแล้ว

ผมไม่รู้สึกโกรธ ไม่รู้สึกอยากจะโทษใคร

มีแต่ความเห็นใจน้องนุชสุดท้องที่ต้องทำหน้าที่รายนี้

ข้อมูลที่เธอเองคงมีอยู่จำกัด ทำให้เจ้าตัวสับสนระหว่างคำว่า “พระแท่นมนังคศิลา” ซึ่งเป็นพระแท่นของพ่อขุนรามคำแหง กับคำว่า “พระแท่นศิลาอาสน์” ซึ่งอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ไปอย่างชุลมุน

ข้อสังเกตประการที่สอง คือ นอกจากการบรรยายในส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระที่พึงคาดหวังจากวิทยากรแล้ว โวหารหรือ “มุข” ที่จะเสริมให้เรื่องราวสนุกสนานเพิ่มพูนขึ้น ก็เป็นทักษะเฉพาะตัววิทยากรแต่ละคนที่ลอกเลียนแบบกันไม่ได้

ผมสังเกตพบว่า วิทยากรที่เป็นผู้นำชมของผมระหว่างการเดินทางคราวนี้คนหนึ่ง ได้สอดแทรกข้อมูลเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์หรือเรื่องของโชคลางต่างๆ เข้าไปประกอบกับโบราณสถานทุกที่ที่ผมได้แวะชม

เช่น ผูกเรื่องจำนวนช้างที่อยู่รายรอบพระเจดีย์วัดช้างล้อมเมืองศรีสัชนาลัย เข้ากับรางวัลเลขท้ายสลากกินแบ่งงวดรัฐบาลที่แล้ว ฮา!

หรือแนะนำว่าผู้หญิงควรไปกราบไหว้อธิษฐานขอโน่นขอนี่ที่วัดนางพญา เพราะเป็นวัดที่ผู้หญิงที่มียศใหญ่สร้างขึ้น ขอแล้วผู้ขอจะได้สำเร็จตามความปรารถนา

มีน้องที่ร่วมคณะเดินทางไปกับผมแอบกระซิบผมว่า แบบนี้ผู้ชายก็ขอได้ทุกวัดสิครับ

เรื่องแบบนี้ผมไม่แน่ใจนักว่าสิ่งที่คุณวิทยากรทำมีความเหมาะสมเพียงใด เพราะว่าไปแล้ว ผมเองต่างหากอาจเป็นคนส่วนน้อยที่ไม่อยู่ในกระแสหลัก เวลาฟังคำบรรยายอย่างมีแล้วจึงรู้สึกแปร่งหูอยู่บ้าง

ในขณะที่ผู้มาเยี่ยมชมโบราณสถานอีกจำนวนไม่ใช่น้อยอาจจะสนใจประเด็นทำนองนั้นยิ่งกว่าประวัติหรือความเป็นมาของพระเจดีย์ที่เห็นอยู่ต่อหน้า

เป็นความผิดของผมเองครับ อย่าไปโทษใครอื่นเลย

เพราะแม้แต่ในคณะที่ไปด้วยกันจำนวนตั้งครึ่งร้อย ก็น่าจะมีคนสนใจเรื่องตัวเลขจำนวนช้าง หรือจำนวนเสาโคมประทีป อยู่บ้างเหมือนกันแหละน่า

 

ข้อสังเกตของผมสองข้อข้างต้นที่ว่ามาแล้วนี้ ตราบใดที่ยังใช้คนเป็นผู้บรรยาย คำวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นเสียงนกเสียงกาแบบผมก็ย่อมมีอยู่เป็นธรรมดา

การนำชมโบราณสถาน พิพิธภัณฑ์ หรือสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศจึงพัฒนาไปใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้คำบรรยายเกิดเป็นมาตรฐาน

เช่น พิพิธภัณฑ์อีกหลายแห่งของกรมศิลปากรเองได้ใช้ระบบคิวอาร์โค้ดเข้ามาช่วยทำคำอธิบายที่สนุกสนานตื่นเต้นหรือมีมิติที่หวือหวามากขึ้นกว่าแต่ก่อน มิวเซียมต่างประเทศหลายแห่งใช้ระบบหูฟัง ที่ให้ผู้ชมแต่ละคนคล้องคอแล้วกดปุ่มเลือกฟังคำอธิบายเป็นห้องเป็นตู้เป็นชิ้นไปตามความปรารถนา มีภาษาให้เลือกหลายภาษาตามต้องการ ต่างคนต่างฟังไม่รบกวนซึ่งกันและกัน

ที่พูดมาทั้งหมดนี้ถ้าไปกระทบกระเทือนท่านผู้ใดก็ขออย่าได้ถือสาเลยนะครับ

คนแก่แล้วก็พูดอะไรเหลวไหลไปเรื่อย

ถ้าใครอ่านแล้วฟังแล้วไม่พอใจ อยากจะตอบโต้

บอกแต่เพียงว่า “ที่ฝ่ายค้าน เอ๊ย! คุณธงทองพูดมาทั้งหมดเป็นเรื่องเท็จ ขอบคุณครับ”

แค่นี้ผมก็ยอมแพ้แล้วคร้าบ อิอิ