เจ้าแหวกขนบ : หม่อมเจ้าสกลวรรณากร กับฉายา ‘the socialist prince’ | ณัฐพล ใจจริง

“เรามีบางอย่างคล้ายกับฟิวดะลิสต์ เรามีเลก เรามีไพร่ มีนา เรามีศักดินา มีประเพณีต่างๆ …ประเพณีนิยม หลักอันนี้ยังครอบงำเราอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งข้าพเจ้าอยากจะเรียกว่า หลักชายกระเบน คือ การอ้างเอาประเพณีมาเที่ยวข่มคนอื่น… การที่พวกเลก พวกไพร่ถูกผูกติดอยู่กับที่ดินนั้น ไม่ใช่ล่ามโซ่ไว้จริงๆ หรอก เขาเอาประเพณีนี่แหละข่มไว้ ตัวประเพณีนี่แหละที่อาจฆ่าคนได้ถึงเจ็ดชั่วโคตร…”

(สกลวรรณากร วรวรรณ,
“ปาฐกถา เรื่อง นักศึกษากับสังคม,” 2494, 17-18)

เมื่อ 70 ปีที่แล้วหม่อมเจ้าสกลวรรณากรทรงเผยความลับแห่งการปกครองแบบโบราณให้สังคมไทยทราบ

 

เจ้าแหวกขนบ

นอกจากหม่อมเจ้าสกลฯ ทรงเป็นสมาชิกในราชสกุลวรวรรณในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์แล้ว

ทรงยังเป็นเจ้านายที่มีความคิดก้าวหน้า แหวกขนบ ล้ำยุคอย่างยิ่ง

เคยทรงงานด้านการปกครองหลากหลายตั้งแต่ในระบอบเก่า เป็นข้าราชการในกรมการปกครอง อธิบดีกรมสาธารณสุข

หลังการปฏิวัติ 2475 ทรงเป็นเจ้านายไม่กี่พระองค์ที่ร่วมมือกับคณะราษฎรในการสร้างสังคมใหม่

ทรงเป็นที่ปรึกษาทางการเมืองของรัฐบาลคณะราษฎร อีกทั้งทรงมีส่วนสำคัญในการร่างกฎหมายเทศบาลแบบประชาธิปไตย (2476) ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกด้วย

ภายหลังสงครามโลก ท่านลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคสหชีพ อันมีนโยบายไปทางสังคมนิยม

ทรงเสนอแนวคิดร่างรัฐธรรมนูญที่ให้มีสภามีอำนาจสูงสุด (Parliamentary Supremacy) เป็นสภาเดี่ยว สมาชิกทั้งหมดมาจากการเลือกตั้ง และให้สภามีอำนาจควบคุมรัฐบาลและตุลาการ

แม้กระทั่งทรงเป็นผู้นำขบวนการกรรมกร และทรงเข้าร่วมการประชุมองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

ตลอดจนทรงเป็นราชบัณฑิตสาขาปรัชญา สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นนักวิชาการ ผู้สอนและเขียนตำราเกี่ยวกับวิชาการเทศบาลให้กับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง อย่างยาวนาน เป็นต้น

 

ด้วยเหตุที่ท่านทรงสนใจความสุขสมบูรณ์และความเป็นธรรมทางสังคม จนกระทั่งท่านมีฐานะเป็นผู้นำคนหนึ่งของขบวนการแรงงานสมาคมสหอาชีวกรรมกรแห่งประเทศไทย (Central Union of Labour) อันเป็นองค์กรกรรมกรไทยแรกที่เกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องความยุติรรมให้กับผู้ยากไร้

จนนักการทูตสหรัฐเรียกท่านว่า “the socialist prince”

ทรงสนพระทัยในปัญหาความทุกข์ยาก ตั้งแต่ทรงงานที่มหาดไทย กรมประชาภิบาล กรมสาธารณสุข ภายหลังปฏิวัติ 2475 ทรงเป็นกรรมาธิการพิจารณาว่า เค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ ว่าเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่

หากมองจากฐานันดรแล้ว แทนที่ท่านจะทรงเล่นงานผู้เสนอการรวมที่ดินของเจ้าที่ดินให้เป็นของรัฐ แต่กลับทรงเสนอแนะนำว่า แนวคิดของนายปรีดียังทำน้อยเกินไป

ต่อมาทรงมีบทบาทสำคัญในการผลักดัน พ.ร.บ.เทศบาล (2476) เพื่อกระจายอำนาจการปกครองให้กับประชาชนในท้องถิ่นเพื่อแก้ปัญหาความทุกข์ยากให้กับคนไทยร่วมกับคณะราษฎรอีกด้วย

ตลอดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ท่านทรงอำพรางอุดมคติแบบสังคมนิยมมาตลอด ต่อมาในปลายพระชนม์ชีพ เมื่อท่านทรงมีพระชนม์ได้ 63 ชันษา ทรงเปิดเผยอุดมคติของท่านในช่วงที่กระแสปัญญาชนไทยเกิดความตื่นตัวในความคิดสังคมนิยมในช่วงทศวรรษ 2490

หม่อมเจ้าสกลฯ ทรงประกาศแก่นักศึกษาธรรมศาสตร์ว่า ท่านทรงเป็นนักสังคมนิยมเฟเบียน (Fabian Socialism) มาเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้ว กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ทรงสนพระทัยและเข้าร่วมทำกิจกรรมการปฏิรูปตามแนวทางสังคมนิยมในอังกฤษมาตั้งแต่ที่ท่านศึกษาในอังกฤษช่วง 2450 แล้ว

การประกาศอุดมคติดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่ปกตินักสำหรับเจ้านายชั้นสูงที่ทรงแถลงกับสาธารณชนว่า ท่านเป็นผู้สนับสนุนเสรีภาพทางการเมืองและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ

หม่อมเจ้าสกลฯ ช่วงปัจฉิมวัยกับแววตาเด็ดเดี่ยว

พระประวัติ

หม่อมเจ้าสกลวรรณากร (9 มิถุนายน 2431-20 มิถุนายน 2496) เป็นโอรสใหญ่ของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กับหม่อมผัน จากชาติกำเนิดของท่านแล้วทรงอยู่ในฐานันดรกลุ่มเจ้านาย ซึ่งเป็นกลุ่มชนชั้นนำที่มีบทบาทสำคัญและมีแบบแผนการดำเนินชีวิตที่สูงส่งแตกต่างจากคนไทยส่วนใหญ่ในสังคม

ในช่วงวัยเยาว์ ท่านทรงเรียนภาษาไทยและภาษาอังกฤษภายในวังวรวรรณโดยมีพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เตชะคุปต์) เป็นครูภาษาไทยคนแรก

ต่อมา เมื่อถึงพระชันษา ทรงเข้าเรียนในโรงเรียนราชวิทยาลัย และสอบจบการศึกษา และได้รับ “สกอลาชิป” ไปศึกษาต่อที่อังกฤษ

ในปี 2448 ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนปับลิกสกูล มอลเวิน (Malvern) ในปี 2451 ทรงเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สอบไล่ได้ออนเนอร์ดีกรีชั้น 3 ทรงนิพนธ์ตำราอีโคโนมิกส์ หรือรัฏฐนิติ (Economics) เพื่อรับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตเมื่อ 2453 ในสาขาประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจ เกียรตินิยม (History and Economics Tripos Cambridge)

และทรงศึกษาวิชากฎหมายต่อที่อินเนอร์เต็มเปิล จวบจนถึงปี 2457 จึงได้เสด็จกลับ

ชกมวยสากล คือกีฬาที่ทรงโปรดปราน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพระอุปนิสัยใจคอความเป็นนักสู้ เด็ดเดี่ยว ไม่ยอมคน

ทรงเคยเป็นตัวแทนแข่งขันกีฬาชกมวยของมหาวิทยาลัย และทรงมีประวัติการแข่งขันดีเด่นจนได้รับ “สี” (Colour) ซึ่งเป็นเครื่องหมายเกียรติยศ

อีกทั้งเป็นนักกรรเชียงเรือของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ที่แข่งขันกับออกซ์ฟอร์ดด้วย ความเป็นนักสู้ทำให้ทรงได้สี Blue เช่นกัน แม้กลับไทยแล้ว ทรงเคยเปิดค่ายมวยฝึกฝนให้แก่สังคมด้วย

 

สําหรับที่มาแห่งความคิดแหวกขนบของท่านนั้น หากพิจารณาบรรยากาศของสังคมอังกฤษช่วงเวลาที่ท่านทรงใช้ชีวิตอยู่ในอังกฤษนั้น สังคมอังกฤษในช่วงสมัยเอ็ดเวิร์ด ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 อันมีส่วนสำคัญต่อการหล่อหลอมความคิดของท่านไม่น้อย

สังคมอังกฤษในช่วงนั้นเป็นสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการเคลื่อนไหวทางสังคมของอังกฤษ โดยเฉพาะพัฒนาการของชนชั้นกรรมาชีพในอังกฤษที่แต่เดิมเป็นเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกรัฐสภาเปลี่ยนไปสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองในระบบรัฐสภา

จนในที่สุดนำไปสู่การตั้งพรรคแรงงาน (the Labour Party) ขึ้นเพื่อชิงชัยการครองอำนาจรัฐเพื่อปฏิรูปทางสังคมผ่านการเลือกตั้ง การเคลื่อนไหวเหล่านี้อยู่ภายใต้อิทธิพลแนวคิดสังคมนิยมเฟเบียน (Fabian Socialism) อันเป็นแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตยที่ถือกำเนิดขึ้นในอังกฤษ

ท่ามกลางบรรยากาศของการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบสังคมนิยมเฟเบียนนี้ มีส่วนสำคัญที่ดึงดูดหม่อมเจ้าสกลวรรณากรที่ทรงศึกษาประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจ ให้ความสนใจแนวคิดจนเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของสมาคมเฟเบียน

ทรงเข้าร่วมและติดตามการประชุมหารือเกี่ยวกับปัญหาสังคมและเศรษฐกิจของสมาคมตลอดช่วงเวลาที่ทรงอยู่ในอังกฤษ

เมื่อครั้งที่ท่านทรงรับราชการในระบอบเก่านั้น ท่านอำพรางความคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยไว้อย่างสงบเงียบและรับราชการไปตามปกติอย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยการปรับอุดมคติเข้าไปในงานมหาดไทยที่ทรงรับผิดชอบเท่าที่ทำได้ ทรงทุ่มเทพระสติปัญญาในการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนอย่างเต็มพระกำลังผ่านกรมสาธารณสุข

ต่อมาท่านถูกมอบหมายให้ยกร่างกฎหมายเทศบาล (2473) แต่กฎหมายดังกล่าวมิได้ถูกประกาศใช้ เนื่องจากมีข้อท้วงติงและความกังวลอย่างมากในกลุ่มชนชั้นนำ

 

เมื่อเกิดการปฏิวัติ 2475 แล้ว ท่านร่วมมือรัฐบาลคณะราษฎรอย่างเต็มพระกำลังผลักดันอุดมคติที่ยึดถือนั้นให้เป็นจริงผ่านการจัดตั้งเทศบาลเพื่อกระจายอำนาจจากรัฐออกไปสู่ท้องถิ่น

ความรู้ความสามารถของท่านทำให้รัฐบาลคณะราษฎรไว้วางใจแต่งตั้งให้ท่านยกร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบเทศบาล 2476 จนสำเร็จ ทั้งนี้ ท่านเคยทรงเปรียบเทียบร่างกฎหมายเทศบาลทั้ง 2 ฉบับว่า ร่างกฎหมายเทศบาลของระบอบเก่าเป็นเพียงกฎหมายที่รัฐบาลสร้างองค์กรท้องถิ่นให้ทำหน้าที่ “บำรุง” ประชาชนโดยปราศจาการให้อำนาจประชาชนปกครองตนเอง

ในขณะที่กฎหมายเทศบาลของระบอบประชาธิปไตยนั้นมีความสมบูรณ์ทั้ง 2 ด้าน คือ มีการ “บำรุง” ความสุขสมบูรณ์ให้ประชาชน พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมใน “ปกครอง” ตนเอง นอกจากนี้ ด้วยความสามารถของท่านภายใต้ระบอบใหม่ สภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งให้ทรงเป็นกรรมธิการพิจารณากฎหมายที่หลายชุดอีกด้วย เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป หม่อมเจ้าสกลฯ ทรงเป็นเจ้านายที่ต้องการสร้างความเป็นธรรมทางสังคมและความสุขสมบูรณ์ให้กับประชาชนตามแนวทางของสังคมนิยมเฟเบียนที่ทรงยึดถือ ด้วยคติที่แหวกขนบนี้ท่านจึงอำพรางอุดมคตินั้นไว้ภายใต้ระบอบเก่า อย่างไรก็ตาม ความรู้ความสามารถนั้นทรงฉายแววมาตั้งแต่ครั้งระบอบเก่า แต่อุดมคติของท่านนั้นเปล่งประกายวาววับในระบอบใหม่