ความสัมพันธ์สามเส้า ‘จีน-สหรัฐ-ฟิลิปปินส์’ / บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

 

ความสัมพันธ์สามเส้า

‘จีน-สหรัฐ-ฟิลิปปินส์’

 

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-ฟิลิปปินส์ มีร่วมกันทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และการทูตมาหลายร้อยปี จวบจนมาเป็นพันธมิตรทางทหารที่สหรัฐใช้ฟิลิปปินส์เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการสกัดกั้นการแผ่ขยายของคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น (ร่วมกับไทย) จนถึงยุคศตวรรษที่ 21

อย่างไรก็ตาม จีนหลังยุคสงครามเย็นก็ได้ก้าวกระโดดกลายเป็นประเทศมหาอำนาจในแถบเอเชีย และมุ่งมั่นแผ่ขยายอิทธิพลพร้อมกับผูกมิตรกับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสหรัฐมีอิทธิพลอยู่

ฟิลิปปินส์จึงเป็นประเทศที่จีนหมายมั่นให้หันมาผูกมิตรแทนสหรัฐ

เพื่อเป็นหลักประกันในทางยุทธศาสตร์และรักษาอิทธิพลในทะเลจีนใต้

 

จีนในยุคสีจิ้นผิง ซึ่งมีทูตเบอร์หนึ่งอย่างหวัง ยี่ รัฐมนตรีต่างประเทศเป็นผู้กรุยทางให้จีนเป็นพันธมิตร จีนกระชับความสัมพันธ์กับฟิลิปปินส์มากขึ้นในยุคของโรดริโก ดูแตร์เต ซึ่งมีนโยบายแบบชาตินิยมที่ต้องมีระยะห่างกับสหรัฐ

จนกระทั่งสหรัฐในยุคของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดูแตร์เตได้ฉีกข้อตกลงความร่วมมือทางทหาร เปิดโอกาสให้จีนเข้ามาใกล้ชิดมากขึ้น แต่ฟิลิปปินส์ก็ไม่ได้ทิ้งสหรัฐไปเสียทีเดียว เพราะได้รับของขวัญจากสหรัฐคือ ยุทโธปกรณ์ประเภทมิสไซส์

หรืออีกกรณีที่สะท้อนความสัมพันธ์ที่ฟิลิปปินส์เคียงข้างคือ การระบาดของโควิด-19 สหรัฐออกมาโจมตีจีนในฐานะต้นเหตุที่ทำให้เกิดการระบาด

แต่ฟิลิปปินส์ก็ออกมาปกป้องจีนเรื่องนี้พร้อมกับขอบคุณจีนที่ส่งอุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์เข้ามา

ดูแตร์เตแม้ประกาศว่าฟิลิปปินส์ดำเนินโยบายต่างประเทศเป็นอิสระ แต่ความสัมพันธ์กับจีนและสหรัฐ ดูแตร์เตพยายามก็รักษาความสัมพันธ์กับ 2 ประเทศมหาอำนาจนี้ไว้ แค่ในตอนนี้มีลักษณะ “อเมริกาน้อยลง จีนมากขึ้น”

 

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ฟิลิปปินส์มีระยะห่างกับสหรัฐ ก็หนีไม่พ้นเรื่องนโยบายปราบปรามยาเสพติดของดูแตร์เตที่ทำให้กว่า 3 พันชีวิตต้องถูกสังเวยจากการวิสามัญฆาตกรรม

ฟิลิปปินส์ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการใช้ความรุนแรงเกินเหตุ

ขณะที่จีนกลับหยิบยื่นความเป็นมิตรกับฟิลิปปินส์ด้วยการให้ความช่วยเหลือและสร้างหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจผ่านยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน เพื่อผ่อนคลายข้อพิพาททะเลจีนใต้ที่เป็นอยู่ พร้อมๆ กับจีนดำเนินยึดพื้นที่ทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ในทะเลจีนใต้แบบเงียบๆ ไปด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ดูแตร์เตจะพยายามดำเนินนโยบายเชิงต่อต้านสหรัฐผ่านวาทกรรมต่างๆ หรือนโยบายก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนความคิดฝ่ายการเมืองและชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ไปได้ พวกเขายังคงมีแนวคิดสนับสนุนสหรัฐอยู่

จากการสำรวจเมื่อเดือนมกราคมปี 2020 ผู้ดำเนินนโยบายและเจ้าหน้าที่ของฟิลิปปินส์หลายคนกังวลการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนที่เพิ่มมากขึ้น หรือในหมู่ประชาชนฟิลิปปินส์เองก็ไม่ไว้ใจชาวจีนในฟิลิปปินส์ที่หยั่งรากลึกและไม่หนีไปไหน

ถึงกระนั้น จีนที่ไม่ยอมให้มีความสัมพันธ์สามเส้าต่อไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับฟิลิปปินส์เข้าไปอีก จากข้อมูลในช่วงปี 2001-2006 มูลค่าการค้าฟิลิปปินส์-จีน โตขึ้นถึง 41% รัฐบาลจีนเองก็ยังลงทุนกับอุตสาหกรรมเหมืองและเกษตรกรรมในฟิลิปปินส์ ฟิลิปปินส์จึงต้องพึ่งพาเงินลงทุนจากจีนมากขึ้น

แต่ข้อพิพาททะลจีนใต้ เป็นสิ่งที่ฟิลิปปินส์ยังมองจีนด้วยสายตาไม่พอใจ

 

จากทั้งหมดนี้ แม้ตัวดูแตร์เตเองจะยังคงมีวาทกรรมต่อต้านสหรัฐและคงนโยบายเป็นอิสระ (แบบที่อ้างอยู่) ก็ตาม แต่ความสัมพันธ์ทางทหารกับสหรัฐก็ไม่ได้อ่อนด้อยลง

หนำซ้ำเมื่อสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนล่าสุดอย่างโจ ไบเดน ฟิลิปปินส์ยิ่งมีความจำเป็นต้องมีสหรัฐในเวลานี้อีก

เดลฟิน โลเรนโซน่า รัฐมนตรีกลาโหมของฟิลิปปินส์กล่าวกับรอยเตอร์สเมื่อปลายเดือนที่แล้วว่า “ในฐานะที่เป็นหนึ่งในพันธมิตรของอเมริกาในภูมิภาคอินโดเอเชียแปซิฟิก ฟิลิปปินส์อาจได้รับประโยชน์จากนโยบาย Pivot to Asia ของไบเดน”

แม้แต่รัฐบาลฟิลิปปินส์ก็มีท่าทีตอบรับผู้นำสหรัฐคนใหม่ด้วยไมตรีว่า เราขอแสดงความยินดีอีกครั้งกับประธานาธิบดีที่เข้ามาและเราหวังว่าจะได้มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและเป็นมิตรกับรัฐบาลไบเดน

ต้องดูว่าสหรัฐกับฟิลิปปินส์จะกลับมาใกล้ชิดได้อีกหรือไม่ แม้นักวิเคราะห์มองว่า การกลับมาของสหรัฐในยุคไบเดน บรรดานโยบายต่างๆ ของไบเดนที่จะใช้ในเวทีโลก ยังมีเรื่องการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ฟิลิปปินส์ก็จะกลับมาถูกเพ่งเล็งในเรื่องนโยบายปราบปรามยาเสพติดอีก ดูแตร์เตจะแสดงท่าทีต่อต้านนโยบายสหรัฐอีกหรือไม่

เวลาเท่านั้นที่จะให้คำตอบ