สุรชาติ บำรุงสุข : 40 ปี รัฐประหาร 26 มีนาคม (8) วันเวลาแห่งการรอคอย!

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ชีวิตของพวกเรามีแต่ฟังข่าว หาข่าว ใครมาเยี่ยม ญาติมาเยี่ยม เราก็จะถามแต่เรื่องข่าว เหมือนเป็นอาหารอย่างไรอย่างนั้น”

พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์

ล้วนเป็นผมลิขิตชีวิตเอง (2545)

พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์

 

ชีวิตความเป็นอยู่ของนักโทษการเมืองในแดนพิเศษได้รับการพัฒนามากขึ้น อาจจะด้วยความเป็น “ผู้หลักผู้ใหญ่” ของหลายท่านในกลุ่ม 26 มีนาฯ

เรือนขังของแดนพิเศษก็ได้รับการปรับปรุงมากขึ้น ซึ่งก็ส่งผลให้พวกเราชาว 6 ตุลาฯ ได้รับอานิสงส์ตามไปด้วยในบางกรณี

เช่น ด้วยความเป็นนักโทษจะไม่ได้รับอนุญาตให้มีหมอนหนุนศีรษะนอนแต่อย่างใด นักโทษทุกคนจะมีเพียงเสื่อและผ้าห่มเท่านั้น เพราะหมอนถูกมองว่าเป็นที่ใช้หลบซ่อนสิ่งผิดกฎหมาย เช่น ยาเสพติด อาวุธ หรือของอื่นๆ ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเรือนจำ

เมื่อเวลาทอดออกไปสักระยะและยังไม่มีแนวโน้มว่าจะได้ออกสู่อิสรภาพภายนอก ความจำเป็นในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่จึงเป็นปัจจัยในเบื้องต้น

นับว่าเป็นความโชคดีที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ขณะนั้นเป็นศิษย์เก่าจุฬาฯ (คณะรัฐศาสตร์ แต่ไม่มีนัยอะไรกับผมครับ!) และก็รู้จักกับอาจารย์พิชัย อันทำให้เกิดการปรับปรุงห้องคุมขัง

เช่น มีการต่อเตียงนอน มีการทำห้องน้ำภายใน เพราะปกติแล้วในห้องขังจะไม่อนุญาตให้มีห้องน้ำเป็นอันขาด

ซึ่งการปรับปรุงเช่นนี้เมื่อพวกพี่ 26 มีนาฯ ออกไปแล้ว ก็เลยเป็นผลพลอยได้สำหรับพวกเราไปด้วย คือได้มีโอกาสนอนเตียงในเรือนจำกับเขาบ้าง เพราะปกติแล้วนักโทษจะต้องนอนพื้นเท่านั้น

แน่นอนว่าแม้ชีวิตความเป็นอยู่โดยทั่วไปจะสุขสบายขึ้น แต่จิตใจของนักโทษทุกคนไม่แตกต่างกันก็คือ

อาการถวิลหาอิสรภาพ… เราอาจจะไม่เคยรู้สึกถึงคุณค่าของอิสรภาพเลยจนกว่าเราจะสูญเสียสิ่งนี้ไป

และสำหรับการต้องถูกคุมขังในเรือนจำแล้ว อิสรภาพเป็นความฝันที่มีแต่การรอคอย!

ปรับตัว-ปรับใจ

แน่นอนว่าวันเวลาแห่งการรอคอยอิสรภาพนั้นเป็นความปวดร้าวใจเสมอ ซึ่งสำหรับพวกเราชาว 6 ตุลาฯ อาจจะปรับตัวได้มาก อาจจะเพราะโดยอายุอานาม หรืออาจจะเพราะอีกส่วนพวกเราไม่ได้มีภาระครอบครัวที่ต้องแบกรับเหมือนพวกพี่ๆ หลายคน

และขณะเดียวกัน พวกเราก็ดูจะยอมรับความเป็นจริงทางการเมืองในขณะนั้นว่าโอกาสจะออกไปหาอิสรภาพของโลกภายนอกโดยเร็ววันเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะเป็นจริงได้

เพราะดูท่าทีของรัฐบาลที่ออกนโยบายแบบขวาจัดและต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างมากนั้น รัฐบาลคงไม่มีทางปล่อยพวกเรากลับสู่ห้องเรียนโดยเร็วแน่นอน

แต่สำหรับพี่ 26 มีนาฯ อาจจะมีความหวังที่แตกต่างออกไป

ด้วยความเป็นนายทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของพี่หนั่นนั้น ทำให้มีข่าวสารต่างๆ ไหลเข้ามามากมาย

ซึ่งความหวังสูงสุดก็คือรัฐบาลจะถูกโค่นล้ม และนำไปสู่การนิรโทษกรรมผู้นำทหารด้วยกัน

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การล้มรัฐบาลแม้จะไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็อาจจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว (หรือทันใจ)

การปรับตัวและเตรียมใจที่จะต้องอยู่นานจึงเป็นสิ่งที่สำคัญในทางจิตใจ

และสำหรับพวกเราชาว 6 ตุลาฯ แล้ว เราเตรียมใจที่จะอยู่นานไว้ก่อนแล้ว เพราะเป็นกรณีที่ไม่มีฐานสนับสนุนภายในกองทัพเหมือนคดี 26 มีนาฯ

ในขณะที่พี่ 26 มีนาฯ มีความหวังว่ารัฐบาลอาจจะล้มในเร็ววัน แต่ข่าวจริงออกจะเป็นตรงกันข้าม

ในบันทึกของพลตรีสนั่นเล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงนี้ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีมีการสั่งการให้กวดขันและเข้มงวดกับนักโทษกลุ่ม 26 มีนาฯ เพราะ “มีข่าวว่าพวกเรา (กลุ่ม 26 มีนาฯ) ใช้ไม่ได้ ต้องลงโทษให้หนัก” เป็นต้น

ในบันทึกยังกล่าวต่อไปว่า ข่าวเหล่านี้นำไปเล่าให้ฟังไม่ได้เลย เพราะทุกคนจะเสียกำลังใจ เนื่องจากด้วยความเป็นนายทหารคุมกำลังของหลายๆ คนนั้น ทำให้มีคำถามตรงไปตรงมาว่า “ข้างนอกจะทำปฏิวัติอีกไหม จะทำสำเร็จไหม”

แน่นอนว่าสำหรับพี่ๆ นายทหารเหล่านี้ รัฐประหารในการล้มรัฐบาลธานินทร์จะเป็นเงื่อนไขโดยตรงของการเดินทางสู่อิสรภาพ

แต่สำหรับพวกเราชาว 6 ตุลาฯ นั้น ไม่มีความชัดเจนว่าถ้ามีการล้มรัฐบาลเกิดขึ้นจริงแล้ว พวกเขาจะยอมปล่อยผู้ต้องหาในคดีนี้หรือไม่

เพราะสถานะของคดีทั้งสองแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ซึ่งก็ทำให้พวกเราเองไม่กล้าที่จะฝันว่าถ้าล้มรัฐบาลธานินทร์แล้ว รัฐบาลใหม่จะยอมปล่อยพวกเรา

นิรโทษกรรมดคี 6 ตุลาฯ ดูเป็นเรื่องที่ห่างไกลความจริง

แต่ในระหว่างที่ต้องอยู่กับความเป็นจริง รัฐประหารก็ยังมาไม่ถึง มีแต่ข่าวลือเป็น “กำลังใจ” ให้กับทุกคน

การใช้ชีวิตในแดนพิเศษจึงดำเนินไปตามครรลอง ไม่ว่าจะเป็นวงตะกร้อ วงหมากรุก สวนกล้วยไม้ และจบลงที่ “วงคุย” ถึงสถานการณ์ภายนอก

แต่ข่าวก็ยังเป็นเพียงข่าว และปฏิเสธไม่ได้ว่าข่าวลือเหล่านี้เป็นเครื่องชโลมใจอย่างดีให้เกิดความหวังถึงการล้มรัฐบาล

เพราะอย่างน้อยข่าวเหล่านี้มาจากแหล่งข่าวสายทหาร ซึ่งมาทราบในภายหลังว่าเป็นข่าวจากสายของ พันโทมนูญ รูปขจร หรือข่าวจากกลุ่ม “ยังเติร์ก” ซึ่งเป็นสายที่คุมกำลังโดยตรงของกองทัพบกในขณะนั้น

โครงการพิเศษ

อย่างไรก็ตาม ในชีวิตที่ต้องดำเนินไปนั้น วันหนึ่งพี่หนั่นบ่นกับผมว่าอยากดื่ม ซึ่งทุกคนทราบดีว่าเรือนจำไม่มีทางอนุญาตให้นำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเด็ดขาด

ผมจึงเริ่มปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์สนองความต้องการของพี่หนั่น มีคนเอาระกำมาฝาก ผมทดลองทำระกำให้เป็นเหมือนเชื้อเหล้าด้วยการหมักไว้ 3 วัน

แต่ด้วยความรู้แบบงูๆ ปลาๆ ของนักเรียนรัฐศาสตร์ ซึ่งก็ตอบได้ว่าเป็นไปไม่ได้เลย เพราะของจริงนั้นอาจจะต้องการ “หัวเชื้อ” ในลักษณะของเชื้อจุลินทรีย์

แม้โครงการหมักเหล้าผลไม้จะล้มเหลว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความสุขอย่างหนึ่งของชีวิต

จำได้ว่าพี่หนั่นหัวเราะอย่างสนุกสนาน ต้องยอมรับว่าสำหรับชีวิตในที่คุมขังนั้น พี่หนั่นเป็นคนร่าเริงที่คอยให้กำลังใจกับพวกพี่ๆ ทหารตำรวจทุกคน เพราะสำหรับผู้ไร้อิสรภาพแล้ว ไม่มีอะไรจะสำคัญเท่ากับการมีกำลังใจที่จะยืนหยัดสู้ต่อไป

เรื่องเล่าที่ได้ยินจากประสบการณ์ของผู้คุมก็คือ การหมดกำลังใจของคนคุกนั้น มักจะจบลงด้วยโศกนาฏกรรม…

พี่หนั่นจึงมีบทบาทอย่างสำคัญในการให้กำลังใจกับชาว 26 มีนาฯ อยู่เสมอๆ

ในขณะที่โครงการเหล้าผลไม้ล้มเหลวลง โครงการที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องก็คือ งานแปลหนังสือตำราพิชัยสงครามซุนวูของอาจารย์พิชัย อาจารย์เป็นตัวอย่างของคนขยันในการทำงานวิชาการ และอดทนทำทุกวัน

ทุกวันผมจะคอยคัดลอกต้นฉบับแปล และอาจารย์ก็จะนำไปขัดเกลาอีกครั้ง ซึ่งก็ทำให้นึกถึงพจนานุกรมของ สอ เสถบุตร ในระหว่างที่ถูกคุมขังที่เกาะตะรุเตาไม่ได้

แม้ชีวิตเราจะไม่โหดเช่นนั้นก็ตาม จนในที่สุดต้นฉบับก็เสร็จเรียบร้อย

จนเมื่ออาจารย์พิชัยออกมาสู่อิสรภาพแล้ว ต้นฉบับของหนังสือเล่มนี้จึงถูกตีพิมพ์ออกสู่ตลาด

อย่างน้อยก็คงต้องถือว่าเป็นมรดกชิ้นหนึ่งของชาว 26 มีนาฯ

อีกส่วนก็คือเรือนกล้วยไม้ที่เติบโตมากขึ้น จนเมื่อพวกพี่ๆ ออกไปแล้ว สุธรรมและอภินันท์จึงรับหน้าที่เป็นผู้ดูแลต่อ

ยามที่กล้วยไม้ออกดอกสะพรั่งครั้งใด ก็นำความน่าอภิรมย์มาสู่พวกเราเสมอ

เพราะอย่างน้อยก็ได้เห็นดอกไม้บานอย่างสวยงามในคุก ซึ่งก็เป็นมรดกอีกส่วนของพี่ 26 มีนาฯ

ความฝันและความหวัง

ภายใต้สถานการณ์การเมืองที่ทวีความเข้มข้นมากขึ้นหลังจากชัยชนะของรัฐบาลในการ “ล้อมจับ” คณะรัฐประหาร 26 มีนาฯ แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับผู้นำรัฐบาลดูจะเป็นไปในทิศทางที่เสื่อมถอยลง

แน่นอนว่าสภาวะเช่นนี้เป็นข่าวดีอย่างยิ่งสำหรับบรรดาพี่ 26 มีนาฯ และรวมทั้งพวก 6 ตุลาฯ อย่างเราด้วย

ดังได้กล่าวแล้วว่าอย่างน้อยความหวังเฉพาะหน้าก็คือการเอารัฐบาลธานินทร์ออกไปจากอำนาจก่อน แม้เงื่อนไขเช่นนั้นอาจจะไม่นำไปสู่อิสรภาพสำหรับพวกเราก็จริง แต่อย่างน้อยก็หวังว่าอาจจะเป็นโอกาสของการ “ผ่อนปรน” กับฝ่ายนักศึกษาได้บ้าง

ชีวิตในคุกการเมืองนั้น บางวันก็มีข่าวมากมาย แต่บางวันก็ไม่มีข่าวอะไรมากนัก ร้อยตำรวจเอกเดชาจึงมีคำขวัญสำหรับทุกคน และเป็นที่เรียกเสียงฮาได้เสมอก็คือ “No news is good news.” ซึ่งก็ประมาณว่า “การไม่มีข่าวก็เป็นข่าวดีอย่างหนึ่ง”

เพราะในความเป็นจริงก็เป็นไปไม่ได้ที่จะมีข่าวทุกวัน

แต่จากปรากฏการณ์ของข่าวสารที่เข้ามา และบางครั้งพี่ๆ เขาเล่าให้พวกเราฟังบ้าง ก็พอจะบ่งบอกถึงความเปราะบางของอนาคตรัฐบาลอยู่พอสมควร

อีกทั้งการมาเยี่ยมของนายทหารหลายคนดังปรากฏในบันทึกของพลตรีสนั่นก็เท่ากับบอกว่าพวกเขาไม่ได้กลัวว่าจะมีการรายงานถึงรัฐบาล หรือบรรดานายทหารเหล่านี้พอจะคาดได้ว่าชีวิตของรัฐบาลอาจจะอยู่ไม่นาน จึงไม่ได้กลัวกับการถูกรายงานแต่อย่างใด

สิ่งเหล่านี้สะท้อนภาพความขัดแย้งระหว่างทหารกับรัฐบาลชัดเจนขึ้น

ชีวิตของนักโทษการเมืองขึ้นอยู่กับอารมณ์ของข่าวสารอยู่มาก วันใดถ้ามีข่าวการล้มของรัฐบาลเข้ามา พวกพี่ๆ ก็ดูจะคึกคักกันเป็นอย่างยิ่ง

และหากวันใดที่ไม่มีข่าวอะไร หรือบางทีกลับมีข่าวว่ารัฐบาลเข้มแข็งขึ้น พวกพี่ๆ ก็ดูหงอยเหงาอย่างเห็นได้ชัด

และยิ่งถ้าวันไหนข่าวดูจะชัดเจนถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายนอก พี่เหล่านี้ก็ดูจะมั่นใจมากขึ้นถึงการเดินทางที่ใกล้ถึงอิสรภาพมากขึ้น

และก็มีคำสัญญาว่า “ถ้าออกไปได้จริงก็จะหาหนทางช่วยพวกเราให้ได้”

พี่หนั่นพูดกับผมเสมอว่าถ้าพี่ออกไปก่อนแล้วก็จะมาเอาพวกเราออกด้วย

ผมเองก็ไม่กล้าที่จะฝันมากกับสภาพเช่นนี้ เพราะตระหนักดีว่าสถานะของคดีของพี่ๆ กับของพวกเราแตกต่างกันอย่างมาก

จำนวนของข้อหาที่พวกเราถูกตั้งจากฝ่ายรัฐก็มากกว่าของพวกพี่เหล่านั้นเสียอีก

และยังพ่วงตามมาด้วยคดีคอมมิวนิสต์อีกด้วย

ต้องบอกว่าในสถานการณ์เช่นนั้น ผมไม่กล้าที่จะฝันถึงอิสรภาพเลย เพราะรู้สึกว่ายังอยู่ห่างไกลอีกพอสมควร

จากข่าวต่างๆ ที่ทยอยเข้ามาในช่วงหลังๆ ดูจะมีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ จนเห็นได้ชัดถึงกำลังใจและความคึกคักของบรรดาพี่ๆ…

พี่หนั่นดูจะยิ้มได้มากกว่าเพื่อน เช่นเดียวกับที่พี่บุญเลิศและพี่อัศวินเองก็ส่งเสียงดังกันอย่างสนุกสนานในวงตะกร้อ

หรือในวงหมากรุกที่พี่มาโนชกับบรรดาพี่ทหารจากกาญจนบุรีก็โขกกันอย่างสนุกสนานไม่แตกต่างกัน

ไม่มีอะไรจะเป็นข่าวดีสำหรับนักโทษการเมืองเท่ากับข่าวที่บอกว่ารัฐบาลอาจจะถูกโค่นล้มในเร็ววัน

รัฐประหารมิถุนายน 2520

อีกส่วนผมได้รับทราบจากพี่หนั่นและพี่ๆ ทหารที่อยู่ร่วมกันว่า มีการเคลื่อนไหวทางทหารอย่างผิดปกติในวันที่ 3 มิถุนายน 2520 ทั้งๆ ที่รัฐประหารของพลเอกฉลาดเพิ่งประสบความล้มเหลวไปเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2520 เท่านั้นเอง เพียงช่วงระยะเวลา 2 เดือนเศษ กลุ่มทหารได้เปิดปฏิบัติการอีกครั้ง

ความพยายามในการรัฐประหารครั้งนี้ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว แต่ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองที่นายทหารชั้นผู้ใหญ่ในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็น พลเอกเสริม ณ นคร หรือ พลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ไม่พร้อมที่จะแบกรับภารกิจของการเป็น “ผู้นำรัฐประหาร” รัฐประหารมิถุนายน 2520 จึงจบลงแบบไม่คาดคิดคือ “ไม่มีอะไรเกิดขึ้น” เป็นชัยชนะทางยุทธวิธี แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จทางยุทธศาสตร์ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ (จะขอนำมาเขียนถึงในตอนหน้า)

ข่าวความสำเร็จของการรัฐประหาร แต่ไม่ถึงขั้นที่จะล้มรัฐบาลได้นั้น กลายเป็นอาการ “ฝันค้าง” สำหรับพี่ 26 มีนาฯ ในทางทหารไม่มีใครคิดว่ารัฐประหารที่ดำเนินไปจนถึงขั้นยึดทุกอย่างแล้ว จะหยุดชะงักลงแบบค้างๆ คาๆ

ค่ำคืนของวันที่ 3 มิถุนายน 2520 จึงเป็นอีกหนึ่งรัฐประหารที่กลายเป็น “ประวัติศาสตร์บอกเล่า” ไม่ปรากฏอยู่ในทำเนียบประวัติศาสตร์รัฐประหารไทย… ยึดสวนรื่นฯ และทำการจัดตั้งกองบัญชาการของคณะรัฐประหารแล้วก็ถอยออกมาราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

พร้อมกับหลักประกันจากคำพูดของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งดังที่ปรากฏในบันทึกของพันโทรณชัยว่า “ผมรับผิดชอบเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เอง”

และเมื่อถูกสอบถามจากทางรัฐบาล นายทหารชั้นผู้ใหญ่ท่านนี้ก็ตอบว่า “ไม่มีอะไร…ผมเชิญผู้บังคับหน่วยมากินข้าวเย็นด้วยกัน…”

ปรากฏการณ์เช่นนี้บ่งบอกอย่างดีว่า แม้รัฐประหารมิถุนายน 2520 จะประสบความสำเร็จแค่ในระดับทางยุทธวิธี แต่ก็ดูจะบอกถึงอนาคตที่ชัดเจนมากขึ้นว่า รัฐประหารน่าจะเกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน

เป็นแต่เพียงจะเกิดขึ้นเมื่อใด เกิดภายใต้สถานการณ์ใด และจะมีนายทหารท่านใดยอมรับเป็นผู้นำ

ผมมีความรู้สึกว่าพี่หนั่นและพี่ 26 มีนาฯ เริ่มนับถอยหลังกับการมีชีวิตในแดนพิเศษแล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคำสัญญาของพี่นูญว่า “ไม่เกินหนึ่งปีได้ออกแน่”!