‘เรืองไกร’ ร้อง ป.ป.ช.สอบ ‘ชวน’ ในฐานะประธานสภา ปมตั้ง รมช.กห.เป็น กก.สมานฉันท์ ชอบหรือไม่

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า วันนี้ตนได้ส่งจดหมายขอให้ ป.ป.ช. สอบ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ว่ามีพฤติการณ์เข้าข่ายจงใจใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ สืบเนื่องจากกรณีที่นายชวน ในฐานะประธานรัฐสภา ออกประกาศตั้ง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ไปเป็นกรรมการสมานฉันท์ ตามประกาศรัฐสภา ลงวันที่ 11 มกราคม 64 ซึ่งเป็นประกาศของฝ่ายนิติบัญญัตินั้น จะเป็นการใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญ หรือไม่

นายเรืองไกรกล่าวว่า ทั้งนี้ จากตามประกาศดังกล่าว อ้างว่าอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 วรรคสี่ แต่เมื่อไปพิจารณาเนื้อหาที่บัญญัติในมาตราดังกล่าว ไม่มีข้อความใดที่ให้อำนาจไว้โดยตรงเพื่อตั้งกรรมการแต่อย่างใด

นายเรืองไกรกล่าวต่อว่า ประกาศดังกล่าวก็ไม่ได้อ้างถึงมาตราอื่นของรัฐธรรมนูญไว้ด้วย การตั้งกรรมการใดๆ จะมีแต่ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ซึ่งให้อำนาจประธานฯตั้งกรรมการได้ตามที่กฎหมายบัญญัติเท่านั้น พล.อ.ชัยชาญ ไม่ใช่ ส.ส. และตามแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 10/2551 เคยวางบรรทัดฐานไว้แล้วในเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ที่ห้าม ส.ส.ไปเป็นกรรมการในฝ่ายบริหาร ตามหลักการดังกล่าว รัฐมนตรีที่ไม่ใช่ ส.ส.ก็ต้องไม่ไปดำรงตำแหน่งในฝ่ายนิติบัญญัติด้วย

“การที่นายชวนตั้งรัฐมนตรีที่ไม่ใช่ ส.ส.ให้มาเป็นกรรมการในฝ่ายนิติบัญญัติ จึงอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 186 ดังนั้น การอ้างมาตรา 80 วรรคสี่ จึงอาจเข้าข่ายมีพฤติการณ์จงใจใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา 234 (1) ซึ่งอยู่ในอำนาจ ป.ป.ช.” นายเรืองไกรกล่าว

นายเรืองไกรกล่าวอีกว่า เว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎรได้เผยแพร่ว่า กรรมการสมานฉันท์ได้ประชุมไปแล้วสองครั้งเมื่อวันที่ 18 และ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา การประชุมดังกล่าวคงมีการจ่ายเบี้ยประชุมด้วย ซึ่งเป็นการใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน หากไม่ชอบ ก็ต้องมีการเอาผิดตามกฎหมายและเรียกคืนเงินที่รับไปแล้ว ซึ่งถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว ด้วยเหตุนี้ตนจึงมีเหตุที่ต้องร้องขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบนายชวนว่ามีพฤติการณ์เข้าข่ายจงใจใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญตามมาตราที่เกี่ยวข้องดังกล่าวหรือไม่