ไม่ทับซ้อน! ‘ณัฏฐพล’ แจงเมียลงผู้ว่าฯกทม. สามีนั่งรมต. ชี้ทำงานแยกกัน แค่บังเอิญอยู่ครอบครัวเดียวกัน

วันที่ 22 มกราคม 2564 เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม โดยย่องเงียบขึ้นด้านหลังตึกไทยคู่ฟ้า โดยใช้เวลานั่งรอประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนจะเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ และใช้เวลาประมาณ 15 นาที

จากนั้น นายณัฐพล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นางทยา ทีปสุรรณ อดีตรองผู้ว่า กทม. เสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่ากทม. โดยปฏิเสธว่าไม่ได้เรียกมาพูดคุยเรื่องดังกล่าว ซึ่งการลงสมัครผู้ว่ากทม.ของทยา ทีปสุวรรณ ภรรยา เป็นการเสนอตัวให้ประชาชนคนกรุงเทพฯเลือก แค่นั้น ไม่ได้มีอะไร แค่แสดงเจตจำนงสนใจที่จะเป็นตัวเลือก ส่วนแผนงานที่จะทำให้ได้รับการเลือกก็ต้องมานั่งดูว่าจะไปทางไหน สำหรับตนมีความเป็นพรรคอยู่ก็ต้องระมัดระวังในการที่จะขับเคลื่อน เพราะมีเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ต้องระมัดระวังพอสมควร

ผู้สื่อถามว่าได้พูดคุยกับผู้ใหญ่ในพรรคพปชร.แล้วหรือไม่ นายณัฐพล กล่าวว่า ก็เรียนให้ทราบ เมื่อคนในครอบครัวเสนอตัวตนก็ต้องเรียนผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อขออนุญาต ถือเป็นมารยาททางการเมือง ส่วนความเหมาะสมที่พรรคจะเลือกใครก็เป็นเรื่องของพรรค เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับทางการเมืองโดยตรง พรรคก็ต้องมองถึงผลประโยชน์ของพรรคสูงสุดว่าใครจะลงในนามพรรคหรือไม่ลงในนามพรรค จะเป็นประโยชน์สูงสุดของพรรคและประเทศ

เมื่อถามว่าช่วงที่ผ่านมามีชื่อของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ประกาศลงสมัครผู้ว่ากทม.อย่างชัดเจน ซึ่งสังคมมองว่าพรรค พปชร.ให้การสนับสนุนอยู่ ถือเป็นการแข่งคะแนนกันหรือไม่

นายณัฐพล กล่าวว่า ถ้าเอาข้อเท็จจริงมาพูดกัน การสนับสนุนเป็นการพูดกันในสื่อมวลชนเฉยๆ พรรคยังไม่ได้มีการประชุม ซึ่งจะต้องมีการประชุมคณะกรรมการสรรหา การเลือกตั้งขนาดใหญ่แบบนี้พรรคจะต้องมีกระบวนการสรรหาหรือกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) อาจจะมองว่ามีความเสี่ยงเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ใหญ่ถูกจับตามองเยอะจะเป็นปัญหาในการตีความอะไรต่างๆ

ไม่อยากเอาการบริหารจัดการประเทศมาเกี่ยวข้องกับการที่จะมีปัญหาทางกฎหมายต่างๆ ก็อาจจะไปทางออกเหมือนกับที่หัวหน้าพรรคได้พูดไว้ในเรื่องการไม่ส่งใครลงสมัครในนามของพรรค เหมือนกับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่ผ่านมา ตรงนี้เป็นแนวทางที่น่าจะพอมองเห็นแนวทาง

เมื่อถามย้ำว่านางทยา ในฐานะที่เป็นภรรยาของท่าน ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีจะทำอย่างไรให้สังคมไม่มองว่ามีความเกี่ยวโยงเอื้อประโยชน์กันและจะขัดกับกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น มาตรา 34 นายณัฐพล กล่าวว่า ถ้าภรรยาลงสมัคร ผู้ว่า กทม.จริง จนก็คงไปหาเสียงไม่ได้อันนี้เป็นปกติ ส่วนจะไปห้ามคนๆหนึ่งไม่ให้เสนอเป็นตัวแทนประชาชนในขณะที่เขาเป็นนักการเมืองและทำงานการเมืองมา

และถ้าดูกันจริงๆตนก็ทำงานแยกกันมาตลอดในด้านท้องถิ่นหรือระดับชาติ ฉะนั้นเป็นสิ่งที่ต้องดูถึงพื้นฐานด้วยไม่ใช่อยู่ๆตนจะผลักดันภรรยามาเป็นนักการเมือง มันไม่ใช่ แต่เขาเป็นนักการเมืองอยู่แล้ว แค่บังเอิญอยู่ในครอบครัวเดียวกันเท่านั้น และใน กทม.ก็อาจจะมีครอบครัวแบบนี้ไม่ได้เยอะมาก