เคนมผง : ‘สมศักดิ์’ แจงผลแล็ป พบไดอะซีแพมสูง อันตรายถึงชีวิต! ตร.เผยกลุ่มผู้ค้าย่านสายไหมโยงแก๊งรถซิ่ง

วันที่ 15 มกราคม 2564 ความคืบหน้าของสถานการณ์การระบาดของยาเสพติดชนิดใหม่อย่าง “เคนมผง” ที่กำลังระบาดหนักทั่วกรุงจนนำไปสู่การจับกุมและขยายผลนั้น พล.ต.ต.พีระพงศ์ วงษ์สมาน รอง ผบช.น.เปิดเผยความคืบหน้าการติดตามเครือข่ายยาเสพติดยาเคนมผงที่แพร่ระบาดหนักในหลายพื้นที่รอบกรุงเทพฯ จนมีผู้เสพเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายรายว่า ขณะนี้ยังคงสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อติดตามหาตัวผู้เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายยาเสพติดมาดำเนินคดีอยู่ ซึ่งผู้ต้องหา 4 ราย ในพื้นที่ สน.วัดพระยาไกร ที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้ จัดเป็นกลุ่มคนเดินยอดยา หมายถึงผู้ค้าที่เสพยาเองด้วย แต่เป็นเพียงรายย่อย ซึ่งเชื่อว่ามีผู้ขายรายใหญ่กว่านี้อยู่เบื้องหลังอีก ทั้งนี้ไม่ว่ายาเคนมผง หรือยาเคทะเลทรายที่มีชื่อตามข่าวนั้น ไม่ใช่ยาเสพติดชนิดใหม่ เป็นเพียงยาเสพติดที่ถูกผสมกับสารเสพติดหลายชนิดแล้วตั้งชื่อขึ้นมาตามกลุ่มที่ผลิต อาจจะมีผู้ผลิตรายใหญ่หรือไม่มีก็ได้ ซึ่งตำรวจยังไม่ตัดประเด็นการสืบสวนใดทิ้ง

จากรายงานข่าวจากเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดเปิดเผยว่า ทางการสืบสวนพบว่ากลุ่มผู้ค้ายาเสพติดในพื้นที่สายไหม เชื่อว่าจะเป็นกลุ่มของนายตอ มิคาโดะ ที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้นิยมขับรถซิ่งและผู้ค้ายารายอื่นๆ เบื้องต้นเชื่อว่ากลุ่มนี้ความเชื่อมโยงกับเส้นทางการค้ายาเสพติดย่านลำลูกกา จ.ปทุมธานี กับย่านพระราม 3

สำหรับยอดผู้เสียชีวิตจากการเสพยาเคนมผงในพื้นที่นครบาล เบื้องต้นมีทั้งหมด 9 ราย แบ่งเป็นพื้นที่ สน.วัดพระยาไกร 6 ราย สน.โชคชัย 2 ราย สน.สุทธิสาร 1 ราย และที่เหลือบาดเจ็บอีกประมาณ 11 ราย บางส่วนอาการปลอดภัย แพทย์ให้กลับบ้านได้ บางส่วนยังมีอาการสาหัส

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ภายในวันนี้ พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก รอง ผบ.ตร.ในฐานะ ผอ.ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ผอ.ศอ.ปส.ตร.) จะเป็นประธานการประชุมคลี่คลายคดีดังกล่าวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.)

ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ชี้แจงถึงกรณีแล็บของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้นำตัวอย่างของสารเสพติดมาวิเคราะห์ โดยมีผลออกมาว่ามีส่วนผสมของสารไดอะซีแพมเกือบร้อยเปอร์เซ็น หรือแวเลียม โดย 1 เม็ดตามมาตรฐานจะมีไดอะซีแพมประมาณ 2 มิลลิกรัม แต่ผู้เสพและผู้ขายทำขึ้นมาจะมีอยู่ประมาณ 1 กรัม ในราคา 450-600 บาท หากนำไปผลิตเป็นแวเลียมจะได้ประมาณ 500 เม็ด

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ที่บรรจุในถุงพลาสติกที่นำไปเสพส่วนใหญ่จะเสพประมาณ 5 คน เท่ากับเสพ 5 คน 1 กรัม ก็เปรียบเทียบได้ว่าเสพแวเลียมไปคนละ 100 เม็ด โดยปกติในทางการแพทย์ ถ้าเสพ 5 มิลลิกรัม ก็เป็นอันตรายต่อร่างกายแล้ว แต่ตามปริมาณเทียบเท่าแวเลียมที่เสพแล้วเสียชีวิตอยู่ที่ 100 เม็ด จากตัวอย่างที่ป.ป.ส. ได้ดำเนินการพิสูจน์ทั้งของเขตสายไหมและมักกะสันออกมาแล้ว 5 ตัวอย่าง มีความเข้มข้นของไดอะซีแพมตั้งแต่ 93-99 เปอร์เซ็นต่อเม็ด

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ไดอะซีแพมไม่มีขายตามท้องตลาดทั่วไป เป็นโรงงานที่ถูกควบคุมโดยองค์การอาหารและยา (อย.) ในขณะนี้ปปส. ได้ประสานงานไปยังอย. เพื่อขอข้อมูลแต่ละโรงงานที่เก็บไดอะซีแพมไว้เพื่อตรวจสอบการใช้ต่อไป และเป็นการห้ามปรามผู้ใช้ให้ระมัดระวังในการเก็บ อาจจะมีคนแอบนำออกมาใช้เป็นประโยชน์ในด้านอื่นดังที่เกิดเหตุดังกล่าวนี้ได้ เพราะฉะนั้นปปส. ต้องเร่งรัดดำเนินการ และตนก็ได้เร่งไปแล้ว