เสพสารพัดทัวร์ลง – ข้อเสนอถึง “ประยุทธ์” – จัดการโควิดเหลว โยนบาปประชาชน ทำคนหมดหวัง

อนุสรณ์ ชี้ ปัญหาบ่อนพนัน-ค้าแรงงานเถื่อน พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถโทษใครได้

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึง กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยอมรับ บ่อนพนัน-ค้าแรงงานเถื่อน เป็นปัญหามานาน วันนี้ต้องดำเนินการเฉียบขาด ชี้อาจมีเจ้าหน้าที่ไม่ดีรับผลประโยชน์ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องไปคุยกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้เข้าใจตรงกันก่อนว่า ตกลงมีบ่อนหรือไม่มีบ่อน เพราะยิ่งพูดยิ่งสับสน ย้อนแย้ง สวนทางกันเอง พล.อ.ประยุทธ์ พูดเหมือนกับเพิ่งยึดอำนาจเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีเดือนแรก ทั้งที่อยู่ในตำแหน่งมานานเกือบจะครบ 7 ปี นานจนพล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถหันหลังกลับไปกล่าวโทษรัฐบาลใดได้ ที่ผ่านมา รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ทำอะไรบ้าง นอกจากกู้กับแจก แม้แต่แจกเงินก็เกิดปัญหา สร้างเงื่อนไข ไร้ประสิทธิภาพ ไม่ทั่วถึง ถ้าเวลา 6-7 ปี แก้ปัญหาบ่อนพนัน-ค้าแรงงานเถื่อนไม่ได้ ต้องใช้เวลาอีกนานเท่าใด ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แก้ปัญหาวิกฤติประเทศเหล่านี้ได้หรือไม่ แสดงว่าเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาเหล่านี้เลย ทั้งที่ใช้งบประมาณไปเป็นจำนวนมากกว่า 20 ล้านล้าน สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ หนี้สินประเทศที่เกิดขึ้นมาในช่วงที่พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามา ใครบังคับให้กู้ กู้จนได้ฉายา รัฐบาลเวรี่กู้ แล้วจะไปโทษใคร บ้านเมืองวิกฤติขนาดนี้ทีมเศรษฐกิจหาย เหลือแต่พล.อ.ประยุทธ์ ที่ออกมาแนะนำถ้าไม่อยากติดโควิด ให้อยู่บ้านเฉยๆ 2 สัปดาห์ หวังว่ารัฐบาลคงไม่ใช้ยุทธศาสตร์อยู่ทำเนียบเฉยๆแล้วปัญหาบ่อนพนัน-ค้าแรงงานเถื่อน จะหมดไป

“รัฐบาลกำลังเผชิญกับวิกฤติศรัทธาอย่างหนัก จากความไร้ประสิทธิภาพแทบทุกด้านของรัฐบาลเอง” นายอนุสรณ์ กล่าว

“ชนก”ผิดหวังรัฐจัดการโควิดเหลวโยนบาปประชาชนหมดหวังรัฐปล่อยประชาชนอดตายใช้อำนาจปิดช่องทางทำกิน

ด้าน นางสาวชนก จันทาทอง ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ การท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า จากวิกฤติโควิด-19 รอบใหม่ และแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เพราะรัฐขาดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพไร้แนวทางชัดเจน สร้างผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างหนัก หลายครอบครัวประสบปัญหาไม่มีรายได้ เพราะไม่สามารถออกไปทำมาหากินได้ ทั้งนี้มาตรการรัฐที่ออกมาโดยไร้ความรับผิดชอบ การสั่งปิดสถานประกอบการอ้างเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส

ที่ผ่านมาได้รับร้องทุกข์จาก สมาคมจารวีเพื่ออนุรักษ์นวดแผนไทย จากมาตรการควบคุมของทั้ง 28 จังหวัดในกลุ่มเสี่ยง สั่งปิดกิจการนวดแผนไทย ส่งผลกระทบกับรายได้ของพนักงานนวดแผนไทย ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ ที่หาเช้ากินค่ำ หน่วยงานของรัฐเลือกวิธีการควบคุมแทนที่จะเลือกวิธีการป้องกัน และไม่มีมาตรการให้ความช่วยเหลือแรงงานนอกระบบกลุ่มนี้

นางสาวชนก กล่าวด้วยว่า รัฐบาลโยนความผิดไปให้กับประชาชนใน 28 จังหวัด แต่กลับไม่เปิดช่องทางให้เขาสามารถที่จะทำมาหากินได้ รวมทั้งไม่มีมาตรการช่วยเหลือ ปล่อยให้ประชาชนอดตายเพราะไร้เงินไร้งาน เงินเยียวยาจากรัฐก็ไม่มี รัฐบาลเลือกที่จะปล่อยให้ประชาชนใน 28 จังหวัดเสี่ยงอดตาย ช่วยเหลือตัวเองไร้แนวทางช่วยเหลือประชาชน

“รัฐต้องมีการบริหารจัดการที่ดีกว่านี้ ควรใช้มาตรการป้องกันมากกว่าควบคุม ประชาชนทุกคนพร้อมที่จะปกป้องตัวเอง หากเปิดให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจในบางประเภทได้ แต่รัฐคิดไม่เป็นใช้อำนาจที่มีตัดเส้นทางทำมาหากินของประชาชน แต่ในทางกลับกัน ร้านค้านายทุน บ่อนการพนัน กลับไม่ควบคุม หน่วยงานรัฐเลือกบังคับควบคุมประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ แต่กับร้านค้านายทุน บ่อนการพนันกลับปล่อยปะละเลยในขณะที่ประชาชนอดตายใครรับผิดชอบ นางสาวชนก กล่าว

ประชุมสภาหยุด แต่ความเดือดร้อนของประชาชนไม่หยุดตาม ! ส.ส.พรรคก้าวไกล ร่วมกันทำหน้าที่ตัวแทนประชาชน ปรึกษาหารือไปยังประธานรัฐสภาผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าใจปัญหาและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

วันที่ 9 มกราคม 2564 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ได้ทำหน้าที่ปรึกษาหารือผ่านช่องทางออนไลน์ไปยังประธานรัฐสภาแทนการปรึกษาหารือก่อนเริ่มประชุมสภาเป็นเวลา 3 นาทีในรูปแบบเดิม เนื่องจากในปัจจุบันที่มีปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ประธานรัฐสภาสั่งยกเลิกการประชุม แต่ทางพรรคก้าวไกลเห็นว่าปัญหาของพี่น้องประชาชนไม่ได้หยุดตามการประชุมรัฐสภาไปด้วย จึงทำให้ต้องทำหน้าที่ดังกล่าวเช่นเดิมแม้จะไม่มีการประชุมในสภาก็ตาม

ส.ส.พรรคก้าวไกล ร่วมกันทำหน้าที่ตัวแทนประชาชน ปรึกษาหารือไปยังประธานรัฐสภาผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าใจปัญหาและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อ สัดส่วนผู้ใช้แรงงาน ได้กล่าวว่า ในสถานการณ์เช่นนี้พี่น้องแรงงานได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน 1.แรงงานในระบบ ที่มีอยู่เกือบ 17 ล้านคน หลายคนถูกสั่งให้หยุดงาน หลายคนยังไม่ได้กลับเข้าทำงาน 100% เนื่องจากวิกฤตโควิดระบาดในรอบแรก หลายคนถูกเลิกจ้างโดยไม่รับค่าชดเชย แม้จะมีมาตรการออกมาบ้างแล้ว แต่มาตรการยังไม่ครอบคลุม จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานมีมาตรการและแผนเยียวยาดูแลให้คนกลุ่มนี้ เพื่อให้มีการรักษางานรักษารายได้ 2.แรงงานนอกระบบ ที่ในปัจจุบันมีอยู่กว่า 21 ล้านคน รวมทั้งยังเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด กลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีสวัสดิการอะไรมารองรับเลย แม้รัฐบาลจะไม่ใช้คำว่าล๊อคดาวส์ แต่ผลกระทบได้เกิดขึ้นกับคนเหล่านี้แล้ว จึงเรียกร้องให้รัฐบาล โดยกระทรวงแรงงานและกระทรวงการคลัง เร่งดำเนินการเยียวยาประชาชนเหล่านี้โดยเร็วที่สุด 3. แรงงานข้ามชาติ กลุ่มคนเหล่านี้ถูกตกเป็นจำเลยของสังคม และได้รับการปฏิบัติเสมือนเป็นบุคคลชั้นล่างของสังคม ทั้งๆที่ทุกคนก็มีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน จึงอยากเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้นำกลุ่มคนเหล่านี้กลับเข้าไปสู่ระบบให้ได้มากที่สุด โดยลดค่าธรรมเนียม ลดขั้นตอนที่ยุ่งยากจากการลงทะเบียนและต่อทะเบียน ลดการนำเข้าจากนายหน้าเอกชนที่กดขี่ ขูดรีดค่าจ้าง รวมทั้งมีนโยบายจัดการปัญหาโครงสร้างแรงงานด้านนี้อย่างจริงจังให้สอดรับกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล ที่ดิฉันเคยมีข้อเสนอเมื่อการระบาดรอบแรกไปแล้วว่าในระยะเร่งด่วนจำเป็นต้องมีการเยียวยาประชาชนถ้วนหน้า และระยะยาวต้องมีเงินเดือนพื้นฐานถ้วนหน้า หรือ UBI จำเป็นต้องมีรัฐสวัสดิการที่แท้จริงเสียที เพราะประชาชนไม่ใช่ภาระของประเทศ แต่เป็นหน้าที่ที่รัฐต้องดูแลจากเงินภาษีของประชาชน

โดย ปกรณ์วุฒิ  อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้ร่วมปรึกษาหารือไปยังประธานรัฐสภาว่า ขณะนี้ Apple และ Googleได้เปิดให้ใช้ระบบการติดตามกลุ่มเสี่ยงด้วยการเชื่อมต่อแบบไร้สายพลังงานต่ำ (Bluetooth) ที่มีชื่อว่า Covid-19 Exposure Notifications เป็นช่องทางการติดตามกลุ่มเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องเก็บข้อมูลส่วนตัวของประชาชน ปัจจุบันมีกว่า 20 ประเทศที่ได้เข้าร่วมแล้ว แต่การจะเข้าร่วมได้รัฐบาลต้องรับรองด้วย ซึ่งไทยเองยังไม่ได้เข้าร่วม จึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานงานความร่วมมือกับ Apple และ Google เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามกลุ่มเสี่ยงมาตรวจหาเชื้อ และประเด็นต่อมาคือการเปิดเผยไทม์ไลน์ (Timeline) ของผู้ติดเชื้อ การเปิดเผยทีละบุคคลที่หน่วยงานบางหน่วยงานทำ หากมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ประชาชนจะไม่สามารถดูได้ครบ รวมทั้งยังสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชนผู้ติดเชื้ออีกด้วย และอาจส่งผลให้ผู้ติดเชื้อปกปิดข้อมูลการเดินทางได้ จึงขอยกตัวอย่างวิธีการเปิดเผยไทม์ไลน์ที่มีประสิทธิภาพคือ ของกระทรวงสาธารณสุขจังหวัด ชลบุรี ทั้งนี้ประสิทธิภาพสูงสุดไม่ได้ได้มาโดยใช้แต่อำนาจแต่มาจากการใช้ความคิด คิดอย่างละเอียดถี่ถ้วนในการออกมาตรการต่างๆ และอยากให้รัฐตั้งต้นพึงระลึกว่าการระบาดในรอบนี้ไม่ใช่ความผิดของประชาชนสักนิดเดียว

ด้าน วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้ปรึกษาหารือโดยการสะท้อนความเดือดร้อนของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs จำนวนมากที่ต้องต่อสู้ตั้งแต่ล๊อคดาวส์ครั้งที่แล้ว ที่กำลังจะหมดแรง หมดทรัพยากรในการรักษาธุรกิจเอาไว้ได้ จึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลรีบเร่งออกมาตรการโดยเร็ว มี 3 ด้านที่ต้องทำคือ 1.SMEs เข้าถึงเงินกู้ Softloan ได้ง่ายขึ้นด้วยการแก้ไข พ.ร.ก.Softloan เดิมที่มีอยู่แล้ว ยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดว่าต้องเป็นลูกค้าของธนาคารเท่านั้นถึงจะกู้ได้ เพิ่มระยะเวลาการผ่อนชำระให้นานขึ้นจาก 2 ปี เป็น 5 ปี เพิ่มการค้ำประกันหนี้เป็น 80 % เพื่อให้ธนาคารมั่นใจและกล้าที่จะปล่อยสิ้นเชื้อให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก 2.มาตรการพักชำระหนี้ 6 เดือน เพื่อช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการในช่องที่ต้องสูญเสียรายได้ไป 3.ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งห้ามขับไล่ผู้เช่าชั่วคราวเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อบรรเทาภาระค่าเช่าและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถกลับมาเปิดกิจการใหม่ได้ เพื่อผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปแล้ว ให้SMEs อยู่รอดจากวิกฤตนี้ให้ได้มากที่สุด

ธีรรัตน์ แนะรัฐบาล ช่วยเหลือผู้ประกอบการ ออกประกาศแนวปฎิบัติให้ผู้ประกอบการใช้ แทนการสั่งปิด ลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสุขภาพจิตของประชาชน

ด้าน ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส. กทม. พรรคเพื่อไทย ระบุว่า ภาครัฐต้องทบทวนวิธีการแก้ปัญหาที่ปฏิบัติในปัจจุบัน การสั่งปิดสถานที่ต่างๆ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่างๆ ที่ตามมา เช่น สั่งปิดสถานที่ท่องเที่ยวที่เปิดโล่ง หรือ การยกเลิกการอบรมในสถานที่เปิด หรือแม้แต่สนามกีฬาชุมชน ถือเป็นวิธีแก้ปัญหาอย่างขาดการวิเคราะห์และไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบในวงกว้างที่จะตามมา ทั้งทางเศรษฐกิจและสุขภาพจิตของประชาชน

บทเรียนการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบแรกคือ คนตกงานเพิ่มขึ้น คนตัดสินใจจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายเป็นจำนวนมาก แต่ภาครัฐไม่นำบทเรียนในครั้งนั้นมาเรียนรู้ ทำได้เพียงแก้ปัญหาวันต่อวัน ไม่ต่างจากการระบาดครั้งแรก
สิ่งที่รัฐควรประกาศเป็นแนวปฎิบัติเพื่อแก้ปัญหาข้างต้น คือ การอนุญาตให้เปิดสถานที่ต่างๆ ได้ โดยจำกัดจำนวนคน เปิดช่องทางการจอง แจ้งกำหนดเวลาที่ชัดเจนเพื่อเข้าทำกิจกรรมหรือท่องเที่ยว จับจ่ายใช้สอย เป็นประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ และสุขภาพจิตของประชาชนที่ยังสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย แทนที่การสั่งปิดอย่างเดียว
https://www.facebook.com/100002347821176/posts/3708428289245395/?d=n