รอนับมือ สนช. โหวต 2 กม.ลูก ทำอย่างไรไม่ให้ขัด รธน. เดินหน้าต่อหรือถูกตีตก ? : ในประเทศ

เดินเครื่องตามหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต้องร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูก ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน หลังจากรับร่างกฎหมายมาจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ภายหลังการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่มี พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สนช. เป็นประธาน และคณะ กมธ. เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มี นายตวง อันทะไชย เป็นประธาน โดยมีการประชุม กมธ. ที่รัฐสภาอย่างต่อเนื่องทุกวัน

นอกจากนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สนช. ยังได้จัดเสวนา “ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง”

เป็นการเสวนานอกสถานที่ครั้งแรกของ สนช. โดยจัดขึ้นที่โรงแรมนิวแทรเวิลลอด์จ จังหวัดจันทบุรี

ซึ่งการจัดเสวนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ให้สมาชิกได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ ก่อนที่จะเข้าสู่ที่ประชุมในวาระ 2 และ 3 ตามกำหนดการ 60 วัน

และเดตไลน์ของกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ จะต้องสิ้นสุดภายในวันที่ 16 มิถุนายนนี้

แม้บางช่วงที่อยู่ระหว่างการสัมมนาจะเปิดให้สื่อมวลชนได้เข้ารับฟังการบรรยายได้ แต่ทว่าในช่วงการแสดงความคิดเห็นของสมาชิกเกี่ยวกับประเด็นสำคัญของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ จะไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปรับฟัง

อย่างไรก็ตาม นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ได้ชี้แจงถึงหลายประเด็นของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับที่ยังถูกแขวนไว้หลายมาตราว่า การสัมมนาจะเป็นการอธิบายหลักการทั่วๆ ไปให้สมาชิก สนช. ทราบถึงความคืบหน้า และหลักการต่างๆ ที่ กมธ. ได้ไปศึกษา

การพิจารณาร่างกฎหมายนี้จะมีหลักการที่แตกต่างจากร่างกฎหมายทั่วไป เพราะไม่ได้เสนอโดยรัฐบาล แต่เสนอโดย กรธ. เพราะฉะนั้น สนช. จึงไม่ได้มองเสียงข้างน้อยหรือเสียงข้างมาก แต่จะทำกฎหมายให้ดีที่สุด

การพิจารณาของ กมธ. จะดูให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และเมื่อพิจารณาเสร็จแล้วต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าสอดคล้องหรือผิดหลักการของรัฐธรรมนูญหรือไม่

ส่วนที่หลายฝ่ายอาจมีความกังวลเรื่องตีตกกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับนั้น ส่วนตัวมองว่า อย่าไปสมมติและมองว่า สนช. จะตีตก เพราะ กมธ. ต้องพยายามหาข้อตกลงกันให้ได้

ขณะที่ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่หนึ่ง ระบุว่าเวทีสัมมนาครั้งนี้ไม่ได้หาคำตอบสุดท้าย แต่อยู่ที่การตัดสินใจของสมาชิกตามกระบวนการ เพราะเป็นดุลพินิจของสมาชิกแต่ละคนอย่างอิสระ

แต่อยากให้ตัดสินใจบนพื้นฐาน บนข้อมูลที่เพียงพอ

สําหรับการสัมมนามีประเด็นที่สมาชิกถกเถียงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เช่น ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต. ที่เห็นว่า สมควรที่จะมี กกต.จังหวัดหรือผู้ตรวจการเลือกตั้งหรือไม่ โดยทาง กกต. ยังยืนยันว่าควรมี กกต.จังหวัด แต่ กรธ. เห็นควรที่จะปรับปรุงรูปแบบให้มีผู้ตรวจการการเลือกตั้ง

ส่วนประเด็นการคงอยู่ของ กกต. มีสมาชิกบางส่วนเสนอว่าควรจะให้ กกต. ชุดปัจจุบันอยู่ต่อไปตามวาระเดิม และสมาชิกอีกบางส่วนเห็นว่าควรเซ็ตซีโร่ทั้งคณะ และเสนอให้ตรวจสอบคุณสมบัติ กกต. บางราย โดยประเด็นนี้ยังคงถูกแขวนการพิจารณาไว้ในชั้น กมธ. ยังไม่ได้บทสรุปที่ชัดเจน

ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง มีการแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องทุนประเดิมการจัดตั้งพรรคการเมือง ค่าสมาชิกพรรคการเมือง ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้สมาชิกมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยมีสมาชิกพรรคการเมืองแย้งว่า ทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนลดน้อยลง โดยประเด็นที่ยังคงแขวนการพิจารณาไว้ได้แก่

1. ทุนประเดิมของพรรคการเมือง

2. การจ่ายค่าบำรุงพรรคของสมาชิกพรรคการเมือง กมธ. เห็นว่าจำนวนเงินไม่สำคัญ แต่ที่สำคัญคือกระบวนการจัดเก็บ กมธ. ได้ประสานธนาคารต่างๆ ของรัฐในการจัดเก็บค่าบำรุง

และ 3. การให้สมาชิกมีส่วนเข้ามาคัดเลือกตัวแทนลงสมัครที่ชัดเจน กมธ. เห็นว่า ควรให้สมาชิกพรรคเป็นผู้เลือกผู้สมัคร ส.ส.แบบเขต และเป็นผู้เลือกผู้จัดลำดับแบบบัญชีรายชื่อ

สําหรับการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนั้น สนช. ยืนยันว่าได้จัดทำตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในมาตรา 77 ที่ต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องกับกฎหมายนั้นๆ โดย สนช. ได้นำความเห็นจากสถาบันวิจัยมาพิจารณาประกอบ รวมทั้งรายงานการรับฟังความเห็นของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และความเห็นของ กรธ. มาเป็นองค์ประกอบในการร่างกฎหมาย

รวมทั้งการแถลงข่าวที่ถือเป็นการสื่อสารกับประชาชน จึงถือว่าเป็นกระบวนการที่กระทำตามมาตรา 77 อย่างครบถ้วนแล้ว

อย่างไรก็ดี การร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งหมด สนช. จะต้องเขียนออกมาให้ตอบโจทย์การปฏิรูปด้านการเมือง 4 เรื่อง คือ

1. ทำอย่างไรให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปบริสุทธิ์และยุติธรรม

2. จะทำอย่างไรที่จะพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นพรรคการเมืองของประชาชนโดยแท้จริง

3. ต้องมีกฎหมายส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

และ 4. จะทำอย่างไรจะได้กฎหมายที่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ใช่ผูกขาดโดยนักการเมือง เป้าหมายเหล่านี้ต้องทำให้เกิดขึ้น

การจะปฏิรูปการเมือง ต้องอาศัยกฎหมาย 2 ฉบับนี้ที่จะทำให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปบริสุทธิ์ ยุติธรรม การปฏิรูปการเมืองไม่อาจสำเร็จได้ หากไม่ทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง กฎและกติกาเป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้

สุดท้ายแนวคิดของ กรธ. ที่ร่างกฎหมายลูกมาถูกต้องแล้วหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสมาชิก สนช. จะต้องตรวจสอบ ส่วน กมธ. ที่พิจารณามีหน้าที่เพียงกลั่นกรองเท่านั้นเอง

เป้าหมายของการจัดสัมมนาในครั้งนี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อยุติประเด็นที่ค้างคา แต่เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสมาชิก และเพื่อเป็นข้อมูลการตัดสินใจของสมาชิก สนช. ในการประชุม สนช. เพื่อโหวตร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับอีกด้วย

เพราะฉะนั้น การจัดทำร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต. จึงเป็นกฎหมายสำคัญที่ สนช. จะต้องเร่งเดินเครื่องให้มีบทสรุปที่แล้วเสร็จภายในวันที่ 16 มิถุนายน ซึ่งในประเด็นที่ยังคงค้างคาและแขวนอยู่จะมีบทสรุปอย่างไร ในบางประเด็นจะเป็นไปตามร่างเดิมของ กรธ. หรือไม่ สิ่งสำคัญคือ การร่างกฎหมายลูกนั้น จะต้องไม่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น การกำหนดกฎกติกาของบ้านเมืองที่อยู่ในมือของ สนช. จึงเป็นสิ่งที่จะต้องเร่งเดินหน้าให้ทันตามกรอบเวลา

และจะต้องไม่ขัดต่อสิ่งที่รัฐธรรมนูญกำหนด

มิเช่นนั้นแล้ว อาจเป็นไปได้ว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างออกมาแล้ว แต่ส่อขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ อาจจะต้องเป็นร่างกฎหมายที่ถูกตีตกไป

ทำให้คนทั้งประเทศต้องเสียเวลาในการเดินหน้าปฏิรูปตามโรดแม็ปสู่การเลือกตั้ง อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นานาอารยประเทศยอมรับ