นิ้วกลม | เหตุใด “รวันดา” จึงฆ่ากันเป็นล้าน

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

1เมื่อพูดถึง “รวันดา” เรื่องที่ปรากฏขึ้นในหัวคนส่วนใหญ่คือเรื่องราวของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ระหว่างสองเผ่าคือ ทุตซีและฮูตู

แม้ตัวเลขไม่เป็นที่แน่ชัด แต่โดยรวมแล้วอาจมีผู้เสียชีวิตไปจากการเข่นฆ่ากันไปมาหลายครั้งรวมแล้วเป็นจำนวนล้านราย

ความเกลียดชังระหว่างสองเผ่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงและเรียนรู้จากประเทศอื่นๆ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกขึ้นในประเทศนั้นๆ และในโลกใบนี้

กระนั้น ยังมีเหตุผลอื่นที่น่าสนใจและน่าเรียนรู้ไม่แพ้กัน

ในหนังสือ Collapse ของจาเร็ต ไดมอนด์ ได้แจกแจงทั้งสองสาเหตุนี้ไว้อย่างน่าคิดตาม โดยเฉพาะปัจจัยที่สอง

2รวันดานับเป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ในทวีปแอฟริกา และติดอยู่ในกลุ่มที่มีอัตราความหนาแน่นของประชากรมากที่สุดในโลกด้วย

ประชากรในประเทศประกอบด้วยสองกลุ่มหลักๆ คือ ชนเผ่าฮูตู (Hutu) ประมาณร้อยละ 85 และทุตซี (Tutsi) ประมาณร้อยละ 15

ฮูตูส่วนใหญ่ทำเกษตร ส่วนทุตซีเลี้ยงสัตว์

ผู้คนมักกล่าวว่า สองเผ่านี้มีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกัน

ฮูตูโดยทั่วไปจะเตี้ยกว่า ล่ำ บึกบึน ผิวคล้ำกว่า จมูกแบน ริมฝีปากหน้า ขากรรไกรเหลี่ยม

ขณะที่ทุตซีสูงกว่า เพรียวกว่า สีผิวอ่อนกว่า ริมฝีปากบางกว่า และคางแหลมกว่า

ตอนรัฐบาลเยอรมนี (1897) และเบลเยียม (1916) มายึดครองบริเวณนี้ก็พบว่า เป็นเรื่องง่ายกว่าที่จะให้ชนเผ่าทุตซีทำหน้าที่เป็นคนกลางในการปกครอง เพราะคิดว่ามีลักษณะที่เหนือกว่าพวกฮูตู

ในทศวรรษ 1930 พวกเบลเยียมกำหนดให้ทุกคนต้องทำบัตรประจำตัวที่ระบุว่าใครเป็นเผ่าไหน ยิ่งทำให้ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ชัดเจนขึ้นไปอีก

เมื่อตอนใกล้ได้รับเอกราช ใกล้ๆ ปี 1962 ชนเผ่าฮูตูต่อสู้เพื่อโค่นล้มพวกทุตซีที่เป็นฝ่ายครองอำนาจ และเริ่มเข้ายึดครองประเทศแทน จากเหตุการณ์รุนแรงเล็กๆ หลายครั้งเริ่มค่อยๆ ขยายวงเป็นการเข่นฆ่ากันและกัน

พวกฮูตูเป็นฝ่ายชนะและสังหารชาวทุตซีไปราว 20,000 คน

สองทศวรรษถัดมา ชาวทุตซีนับล้านอพยพลี้ภัยไปยังประเทศอื่น

กระทั่งปี 1973 นายพลฮาบียาริมานา ชาวฮูตูทำรัฐประหาร แล้วปล่อยให้ชาวทุตซีอยู่อย่างสันติ

จากนั้นรวันดาเจริญรุ่งเรืองอยู่นาน 15 ปี แต่แล้วด้วยปัญหาภัยแล้งและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างปู้ยี่ปู้ยำมาเป็นเวลานานทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ บวกกับราคาสินค้าส่งออกอย่างชา กาแฟในตลาดโลกตกลงอย่างมาก ส่งผลต่ออำนาจของท่านผู้นำ

ฮาบียาริมานาจึงถือเอาความพยายามของพวกทุตซีที่จะบุกจากอูกันดาเข้ามาในรวันดาในปี 1990 มาเป็นข้ออ้างในการจับกุมและสังหารฝ่ายตรงข้ามทั้งชาวฮูตูและทุตซีทั่วประเทศ

สงครามกลางเมืองส่งผลให้ชาวรวันดาหนึ่งล้านคนถูกไล่ต้อนไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย

สิ่งที่ประธานาธิบดีฮาบียาริมานาทำกับพวกทุตซีสร้างความไม่พอใจให้พวกฮูตูหัวรุนแรงอย่างมาก เพราะเกรงว่าอำนาจของฮาบีนาริมานาจะยิ่งเข้มแข็ง จึงเริ่มสร้างกองกำลังของตนเอง และเตรียมสังหารพวกทุตซี

เหตุการณ์มาพีกเมื่อเครื่องบินไอพ่นประจำตำแหน่งของท่านประธานาธิบดีถูกจรวด 2 ลูกยิงตกขณะลงจอด ส่งผลให้ทุกคนในเครื่องบินเสียชีวิต

จากนั้นก็เกิดการยึดอำนาจโดยพวกฮูตูที่มีแนวคิดสุดขั้ว และทำการสังหารชาวทุตซีไปอีกหนึ่งล้านคน

หลังจากนั้นมีการแจกอาวุธให้พลเรือนทั่วไปแล้วเรียกร้องให้ชาวฮูตูฆ่า “แมลงสาบ” ทุกตัว ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกพวกทุตซี มีการประเมินว่าอาจมีพลเรือนชาวฮูตูมากถึง 1 ใน 3 เข้าร่วมการสังหารพวกทุตซี

ผลคือชาวทุตซี 3 ใน 4 ที่ยังอยู่ในรวันดาถูกฆ่า คิดเป็นร้อยละ 11 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในรวันดา

นี่คือผลลัพธ์ของความเกลียดชังที่ถูกโหมกระหน่ำจากฝ่ายการเมือง ทำให้ผู้คนรู้สึกต่อกันราวกับไม่ใช่มนุษย์ โดยเชื่อว่าการรณรงค์ให้ทำลายล้างทุตซีจะช่วยรื้อฟื้นความเป็นปึกแผ่นของฮูตูขึ้นมาใหม่

เมื่อเส้นแบ่งถูกขีดให้ชัดขึ้นเรื่อยๆ และโหมความเกลียดชังไปถึงจุดหนึ่ง คนกลุ่มหนึ่งก็สามารถใช้อาวุธไล่ล่าเอาชีวิตจากคนอีกกลุ่มหนึ่งในชาติเดียวกันได้โดยไม่รู้สึกว่าเป็นสิ่งน่ารังเกียจ

3จาเร็ต ไดมอนด์ ชี้ว่า อันที่จริงฮูตูกับทุตซีไม่ได้แตกต่างกันอย่างที่ถูกวาดภาพให้เป็น

คนทั้งสองชาติพันธุ์พูดภาษาเดียวกัน เข้าโบสถ์เดียวกัน เรียนโรงเรียนเดียวกัน ดื่มที่บาร์เดียวกัน ทำงานที่เดียวกัน อยู่หมู่บ้านเดียวกัน และมีการแต่งงานกันระหว่างฮูตูและทุตซีอยู่เสมอๆ

จากรูปร่างหน้าตาของผู้คนจำนวนมาก ถือว่ายากมากที่จะระบุว่าคนไหนเป็นฮูตูหรือทุตซี

อันที่จริงแล้วทั้งสองกลุ่มอาจสืบทอดเชื้อสายมาจากแหล่งที่มาเดียวกันเลยด้วยซ้ำ

ในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นั้นจึงอาจมีเหตุผลที่มากไปกว่าความเกลียดชังทางเผ่าพันธุ์ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่ผู้กระทำการเองก็อาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ

ใน Collapse เล่าถึงเรื่องน่าสนใจที่เกิดขึ้นทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของรวันดา ในชุมชนที่เป็นชาวฮูตูทั้งหมด มีทุตซีเพียงคนเดียว การสังหารหมู่ก็ยังเกิดขึ้น คือฮูตูฆ่าฮูตูด้วยกันเอง

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

คำตอบของการสังหารโหดจำนวนมหาศาลที่รวันดาเกิดจากความได้เปรียบเรื่องภูมิประเทศ เทียบกับประเทศอื่นรอบๆ รวันดาได้เปรียบเรื่องปริมาณน้ำฝนที่มากพอ และอยู่ในระดับความสูงที่เกินกว่าการแพร่ระบาดของเชื้อโรคมาลาเรียและแมลงวันเซ็ตสึ

ว่าง่ายๆ คืออุดมสมบูรณ์และสุขอนามัยดีโดยภูมิศาสตร์ จำนวนประชากรจึงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งกลายเป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่น

แต่ด้วยจำนวนประชากรขนาดนี้ กับเทคโนโลยีการเพาะปลูกที่ยังไม่พัฒนานัก ทำให้ต้องขยายพื้นที่เพาะปลูก ถางป่า ระบายน้ำออกจากแหล่งน้ำ พักดินสั้นลงเรื่อยๆ

ผลที่ตามมาคือดินค่อยๆ สึกกร่อนพังทลาย แม่น้ำพัดพาตะกอนดินไปมหาศาล ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ภัยแล้งวิกฤตขึ้นเรื่อยๆ

คนเยอะขึ้น สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ผู้คนต้องแย่งกันกินแย่งกันอยู่มากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อต้องแย่งทรัพยากรกัน ทำให้คนรุ่นใหม่มีปัญหาในการสร้างครอบครัวของตัวเอง จึงอาศัยอยู่กินกับพ่อ-แม่ไปก่อน

ข้อมูลจากชุมชนหนึ่งในรวันดา คนรุ่นใหม่มีอัตราการออกเรือนลดลง

ในปี 1993 ผู้หญิงไม่ออกเรือนถึงร้อยละ 67 ส่วนผู้ชายนั้นร้อยละ 100 คือไม่มีแม้แต่คนเดียวที่แยกตัวออกไปใช้ชีวิตเป็นอิสระจากพ่อ-แม่

แง่มุมนี้น่าสนใจ เพราะสะท้อนถึงทรัพยากรที่ถูกคนรุ่นก่อนยึดครองเอาไว้ และคนรุ่นใหม่ไม่มีโอกาสที่จะสร้างของตัวเองขึ้นมาได้

หากเทียบกับยุคสมัยปัจจุบันอาจสะท้อนออกมาเป็นตัวเลขของการแต่งงานที่น้อยลง การตัดสินใจมีลูกที่ลดลง

นับเป็นความตึงเครียดอย่างหนึ่งในชีวิต

คนที่อายุ 20-29 ปีมีแปลงเกษตรขนาดเกือบๆ 1 ไร่ ขณะที่หัวหน้าครัวเรือนที่อายุมากกว่ามีพื้นที่ทำกินประมาณ 3 ไร่ นอกจากนั้นพวกเขายังมีรายได้อื่นนอกจากการทำเกษตร ขณะที่คนจนกว่าไม่มี

การแบ่งแยกระหว่างคนรวยคนจน คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่จึงยิ่งถ่างกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ

ใครรวยก็จะยิ่งรวยขึ้น ใครจนก็จะยิ่งจนลง เพราะรายได้นอกภาคเกษตรทำให้คนรวยสามารถซื้อที่ดินเพิ่มได้อีก

จาเร็ต ไดมอนด์ บอกว่า อันที่จริงส่วนใหญ่ประชากรในชุมชนนี้ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ยากจน แต่บางกลุ่มนั้นยากจนยิ่งกว่า และสิ้นหวังยิ่งกว่า นำไปสู่ความขัดแย้งที่ถี่ขึ้นเรื่อยๆ ลักขโมยทรัพย์สินกันมากขึ้นเรื่อยๆ ความขัดแย้งทำนองนี้บ่อนทำลายกระทั่งความสัมพันธ์ในครอบครัว เพราะทุกคนต้องแข่งขันแย่งชิงเพื่อเอาตัวรอด

ยิ่งประชากรหนาแน่นก็ยิ่งมีตัวเลขอาชญากรรมสูงตามไปด้วย

4ผลลัพธ์จากปัญหาเรื่องความหนาแน่นของประชากรเทียบกับทรัพยากรจำกัดจำเขี่ยจึงปรากฏออกมาเป็นการสังหารหมู่ที่ไม่เพียงชาวฮูตูกระทำต่อชาวทุตซี หากแต่เป็นกระทำต่อชาวฮูตูด้วยกันด้วย

เมื่อเกิดเหตุ “ล้างบางแมลงสาบ” ในปี 1994 จึงเป็นโอกาสที่ผู้คนปิดบัญชีแค้นระหว่างกัน และแย่งชิงสิทธิในที่ดินจากกันและกัน พวกเขาจึงไม่ได้ลงมือเฉพาะคนที่เขามองเห็นเป็น “แมลงสาบ” เท่านั้น แต่ยังลงมือกับคนร่วมเผ่าด้วย

แน่นอนว่า การสังหารกันครั้งใหญ่ในรวันดาย่อมมิได้เกิดจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเท่านั้น แต่แรงกดดันจากจำนวนประชากร ทรัพยากรจำกัด และความเหลื่อมล้ำในสังคมก็เป็นปัจจัยที่ไม่อาจมองข้าม มันฉายภาพให้เราเห็นว่า ความเกลียดชังไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ และลำพังแค่การปลุกระดมกล่อมเกลาโดยรัฐเพียงอย่างเดียวก็อาจไม่สามารถทำให้คนโกรธเกลียดกันขนาดจะจ้วงแทงเข่นฆ่ากันได้ขนาดนี้

ในสังคมที่มีบรรยากาศของความขัดแย้งแผ่ปกคลุม จึงน่าตั้งคำถามถึงปัจจัยอื่นๆ ด้วยว่า ความกดดัน ความเครียด ความสิ้นหวัง ความน้อยเนื้อต่ำใจ และมองไม่เห็นโอกาสในชีวิต รวมถึงความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของผู้คนในสังคม เป็นสาเหตุให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงด้วยหรือไม่

กรณีรวันดาแสดงให้เห็นว่า ผู้คนไม่ได้ฆ่ากันเพียงเพราะเผ่าพันธุ์แตกต่างกัน หรืออุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกันเท่านั้น เมื่อปัญหาลุกลามไปถึงจุดหนึ่ง คนใส่เสื้อสีเดียวกันก็อาจห้ำหั่นกันได้เช่นกัน จะทำอย่างไรให้สังคมไม่ไปถึงจุดนั้น

ครูชาวทุตซีผู้รอดชีวิตเพราะไม่อยู่บ้านตอนภรรยากับลูก 5 คนถูกฆ่า ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ผู้คนซึ่งลูกๆ ของพวกเขาต้องเดินเท้าเปล่าไปโรงเรียน ได้สังหารผู้ที่พอจะซื้อรองเท้าให้ลูกๆ ใส่ไปโรงเรียนได้”

รวันดาบอกอะไรกับเราบ้าง