ขอแสดงความนับถือ / ฉบับประจำวันที่ 4 ธ.ค. – 10 ธ.ค. 2563

ขอแสดงความนับถือ

มติชนออนไลน์ อ้างถึงสำนักข่าวรอยเตอร์ส ที่รายงานเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ระบุ ทวิตเตอร์ได้ระงับบัญชี @Jitarsa_school หรือโรงเรียนจิตอาสาเนื่องจากพบว่า บัญชีดังกล่าวเชื่อมโยงกับบัญชีทวิตเตอร์อีกหลายพันบัญชีที่สร้างขึ้นเพื่อแพร่กระจายข่าวสารให้บางหน่วยงาน”พบข้อความที่ถูกทวีตนับหมื่นทวีต…เพื่อตอบโต้การประท้วงที่กินเวลายาวนาน” รอยเตอร์สระบุและว่า ได้ตรวจสอบเอกสารภายในของกองทัพบก
แสดงให้เห็นหลักฐานปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่สร้างขึ้น
เพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับกองทัพและดิสเครดิตฝั่งตรงข้าม
สอดคล้องกับโลกออนไลน์ในไทย
มีการแชร์ข้อความจากผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่ง ซึ่งเป็นโปรแกรมเมอร์ ได้โชว์หลักฐานของกองทัพบกที่เชื่อมต่อไปยังโดเมนบริษัทแห่งหนึ่ง
ที่มีการรับงานฝึกอบรมจากรัฐอยู่บ่อยครั้ง โดยเน้นที่ IO หรือปฏิบัติการด้านข่าวสาร
เผยแพร่แนวคิดสนับสนุนทหารและรัฐบาล รวมทั้งโจมตีฝั่งตรงข้ามทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก ชี้แจงในเวลาต่อมา
กองทัพบกไม่ได้มีการว่าจ้างบริษัทเอกชนไปดำเนินการปฏิบัติการข่าวสารตามที่มีความพยายามกล่าวหา
เพราะวัตถุประสงค์ในการสื่อสารทางโซเชียลมีเดียของกองทัพบก
คือมุ่งเน้นการสื่อสาร สร้างการรับรู้ อย่างสร้างสรรค์ เท่าทันสถานการณ์
ทหารและกองทัพต้องมีการเรียนรู้พัฒนาเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มต่างๆ ให้ทันกับสภาพสังคม
จึงจัดอบรมบรรยายและให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าวกับกำลังพลทุกระดับ
โดยมีกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนที่มีทักษะความรู้ด้านการตลาดดิจิตอลและในการใช้สื่อออนไลน์ที่ทันสมัย มาเป็นผู้ให้คำแนะนำการใช้งาน
ไม่มีการว่าจ้างแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม น.ส.พรรณิการ์ พานิช แกนนำคณะก้าวหน้า ออกมาแถลงตอบโต้กองทัพบกเบิ้มๆ
ตอกย้ำ IO และเชื่อมโยงบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างตรงไปตรงมา

ก็คงต้องรับฟังข้อมูลไว้ทุกด้าน
เท่าทันและเอาใจใส่
ด้วยขณะนี้ เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และสลับซับซ้อน
ทั้งเป็นคุณ และเป็นโทษ
ยึดหลักเช่นนี้ไว้จะทำให้เราเสพสื่อในโลกโซเชียลอย่างระมัดระวังรอบคอบ

ในคอลัมน์ Cooltech ของจิตต์สุภา ฉิน ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้
นำเสนอเนื้อหา
เตือนภัยการขโมยภาพของคนอื่นมาใช้สร้างโปรไฟล์ปลอมบนโซเชียลมีเดีย
แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่
แต่การสร้างภาพคนปลอมที่ไม่มีอยู่จริงขึ้นมาจากศูนย์
นับวันเทคโนโลยีที่สามารถทำเช่นนั้นได้ก็เก่งกาจขึ้นเรื่อยๆ
จนแทบจะแยกไม่ออกแล้วว่าคนในภาพเป็นคนที่มีตัวตนเดินดินอยู่บนโลกใบนี้จริงๆ
หรือเป็นเพียงภาพที่ปัญญาประดิษฐ์ประดิษฐ์ขึ้นกันแน่

ภาพคนปลอมที่สร้างขึ้นโดยเอไอดูผิวเผินเหมือนคนปกติธรรมดาทุกประการ
แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะตามหาตัวตนให้เจอ
เพราะคนในภาพไม่เคยมีอยู่จริง
เอไอสามารถสร้างภาพคนปลอมขึ้นมาได้ก็ด้วยฐานข้อมูลภาพใบหน้าจำนวนมหาศาล แล้วใช้อัลกอริธึ่มในการสร้างภาพคนภาพใหม่ที่ไม่เคยมีอยู่จริงบนโลกใบนี้ขึ้นมา
ไม่ใช่แค่ภาพนิ่งเท่านั้น
แต่สามารถทำเป็นภาพแบบเคลื่อนไหว
หรือจะทำให้พูดด้วยก็ยังได้
จึงต้องระวังและเฉลียวใจไว้เสมอ
คนที่เข้ามาคุย หรือมีปฏิสัมพันธ์กับเราทุกวัน
อาจจะไม่มีตัวตนจริง
แต่เป็นอวตารที่ถูกเอไอสร้างขึ้นมา
หากทำเพื่อหลอก หรืออำสนุกๆ คงไม่กระไร
แต่ถ้าเป็นอาชญากรคอมพิวเตอร์
หรือถ้าคิดให้ฟุ้งซ่าน หากเป็นหน่วยงานรัฐสร้างขึ้นมา
มันจะน่ากลัวขนาดไหน!