สุจิตต์ วงษ์เทศ /ต้นข้าวในทุ่งนา ถูกฆ่าด้วยเคียวเกี่ยวข้าว

ลงแขกเกี่ยวข้าว เมื่อ 50 ปีมาแล้ว (ภาพของโสมนิมิตต์ พ.ศ.2512)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ต้นข้าวในทุ่งนา

ถูกฆ่าด้วยเคียวเกี่ยวข้าว

 

ช่วงเวลาเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมของทุกปี ต้นข้าว “นาปี” ออกรวงเต็มท้องนา แต่ละรวงมีเมล็ดข้าวแน่นหนา และกำลังสุกเต็มที่เป็นสีเหลืองแก่ก่ำ

บรรดาชาวนาแต่โบราณกาลรู้ว่าถึงเวลาต้องเกี่ยวข้าวด้วยเคียวเพื่อเอาเมล็ดข้าวเปลือกเก็บไว้หุงหาพากันกินตลอดปี และเลือกสรรรวงที่มีเมล็ดข้าวงามๆ เก็บไว้เป็นพันธุ์ “ข้าวปลูก” ปีต่อไป

 

ฤดูกาลใหม่ ปีนักษัตรใหม่

ข้าวใหม่ที่ได้จากเกี่ยวข้าวเป็นผลผลิตใหม่ของชาวนาในสังคมเพาะปลูกยุคดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว คนสมัยนั้นนับเป็น “ขึ้นฤดูกาลใหม่” และมี “ปีนักษัตรใหม่” จึงพร้อมกันยกเป็น “เดือนอ้าย” (หมายถึงเดือนลำดับที่ 1 ของปฏิทินทางจันทรคติ) ถือเป็นเริ่มความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาข้าวปลาอาหาร

“อ้าย” แปลว่าลำดับแรก หรือลำดับที่ 1 ตามประเพณีการนับของคนในตระกูลภาษาไท-ไต (ต้นตอภาษาไทย)

“ปีนักษัตร” เปลี่ยนตอนเดือนอ้ายซึ่งเป็นขึ้นฤดูกาลใหม่ของแต่ละปี เป็นปฏิทินดั้งเดิมของอุษาคเนย์รับจากจีน และตรงกับปฏิทินสากลราวเดือนธันวาคม (จึงไม่ได้เปลี่ยนปีนักษัตรช่วงสงกรานต์ตามที่เข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะแท้จริงแล้วสงกรานต์เป็นวัฒนธรรมอินเดียช่วงเปลี่ยน “ศักราช”)

 

ต้นข้าวถูกฆ่า

เกี่ยวข้าว คือการฆ่าแม่ข้าวตายเป็นผีด้วยเคียวเกี่ยวต้นข้าวขาดจากกัน ตามความเชื่อว่าเมื่อถูกเคียวเกี่ยวขาดจะทำให้เลือดแม่ข้าวคลุกเคล้าดินแล้วหล่อเลี้ยงต้นข้าวเติบโตในการปลูกข้าวครั้งต่อไป (แม่ข้าว คือขวัญของต้นข้าวที่ถูกฆ่าตายเป็นผีด้วยเคียวเกี่ยวขาดจากต้นข้าว แล้วได้รับยกย่องเป็นเจ้าแม่)

ต้นข้าวสุดท้ายที่ถูกเคียวเกี่ยวขาดแล้วเอารวงข้าวไป ทำให้ขวัญข้าวไม่มีที่อยู่ จึงต้องอาศัยสิงสู่ข้าวตก (คือต้นข้าวที่ชาวนามองไม่เห็นหรือมองข้ามไป เกี่ยวไม่หมด จึงไม่ถูกเกี่ยว แล้วตกๆ หล่นๆ เหลือค้างคาท้องนา) ทั้งนี้ เป็นไปตามความเชื่อดั้งเดิมว่าต้นข้าวมีชีวิต (เหมือนคน) ต้นข้าวตาย ส่วนขวัญข้าวไม่ตาย เพียงเคลื่อนไหวเหมือนมีชีวิตอยู่ต่างมิติซึ่งจับต้องไม่ได้และมองไม่เห็น

ชาวนาเก็บข้าวตกซึ่งมีขวัญข้าวสิงอยู่โดยรวมเป็นพุ่มเป็นมัด แล้วเชิญไว้ในที่พิเศษสำหรับทำพิธีกรรม และเป็นพันธุ์ข้าวปลูกในฤดูทำนาต่อไป

 

แม่ข้าว คือ “รวงข้าวตก”

รวงข้าวตก หมายถึง รวงข้าวที่ถูกชาวนาเกี่ยวแล้ว แต่ถูกทำตกทิ้งในท้องนา เพราะเก็บไม่หมด จึงต้องทำพิธีเรียกขวัญเพื่อเชิญแม่ข้าวไปในพิธีนวดข้าวและในพิธีขนข้าวขึ้นเก็บในยุ้งฉาง (หรือเล้า) แล้วเรียก “ข้าวขวัญ” มีคำบอกเล่าโดย “เสฐียรโกเศศ” สรุปดังนี้

เมื่อชาวนาเกี่ยวข้าวออกจากรวงแรก ตอนนั้นขวัญของข้าวหนีไปสิงอยู่ในรวงที่สองซึ่งยังไม่ถูกเกี่ยว แต่เมื่อรวงข้าวที่สองถูกเกี่ยวอีกเมื่อนั้นขวัญข้าวหนีไปสิงรวงที่สามเป็นอย่างนี้ต่อเนื่องไป ฯลฯ ในที่สุดหนีไปจนมุมอยู่รวงสุดท้าย แต่แล้วรวงสุดท้ายก็ถูกชาวนาเกี่ยวไปจนหมด ทำให้ขวัญข้าวหนีไปสิงอยู่รวงข้าวตกก็รอดจากถูกเกี่ยวขาด ชาวนาเลยพร้อมใจกันยกย่องรวงข้าวตกเป็นแม่ข้าว

การเกี่ยวข้าวของชาวนา เท่ากับชาวนาฆ่าแม่ข้าว หรือทำให้แม่ข้าวตาย เพื่อเอาเลือดกับเนื้อแม่ข้าวคลุกเป็นเนื้อดินท้องนาเป็นอาหารต้นข้าว เมื่อเพาะปลูกปีต่อไปต้นข้าวจะได้จำเริญงอกงามอุดมสมบูรณ์ เพราะได้รับการหล่อเลี้ยงเอี้ยงดูจากเลือดและเนื้อของแม่ข้าว ขณะเดียวกันขวัญของแม่ข้าวจะสิงสู่อยู่ในต้นข้าวที่ปลูกใหม่ ครั้นถึงฤดูเก็บเกี่ยวแม่ข้าวจะถูกทำให้ตายเหมือนปีก่อนๆ จึงต้องมีพิธีทุกปี

[สรุปมาเรียบเรียงใหม่จากบทความเรื่อง “แม่โพสพ” ของเสฐียรโกเศศ พิมพ์ในศิลปากร นิตยสารของกรมศิลปากร ปีที่ 4 เล่มที่ 1 (มิถุนายน 2492) หน้า 84]

 

ข้าวหนีเคียว

“ขวัญข้าวหนีเคียวเกี่ยวข้าว” ต่อมาถูกเรียกสั้นๆ เป็นที่รู้กันต่อมาจนทุกวันนี้ว่า “ข้าวหนีเคียว” ยังมีความทรงจำสืบเนื่องความเชื่ออยู่ในถ้อยคำทำขวัญข้าว (ร่ายยาว) มีตอนหนึ่งว่า

“ขวัญเอ่ยอย่าเลยหนีไปห่างไกล ขวัญแม่อย่าตกใจให้ฉุนเฉียว เมื่อเวลาเขาตรงลงเคียวเกี่ยวกระหวัด แล้วมัดควบรวบรัดผูกเป็นกำ” (จากหนังสือ ประชุมเชิญขวัญ รวบรวมโดย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นายกราชบัณฑิตยสภา พิมพ์ในงานปลงศพฯ พ.ศ.2474 หน้า 63)

เมื่อเกี่ยวเสร็จแล้ว เดือนอ้าย (ธันวาคม) จึงได้ “แม่ข้าว” ตามความเชื่อดั้งเดิม ซึ่งจะเกี่ยวข้องกิจกรรมต่อเนื่องไปอีกโดยไม่มีกำหนดเวลาตายตัว แต่จะเหลื่อมหรือทับซ้อนเวลากันก็มี ตลอดราว 3 เดือน คือ เดือน 1, 2, 3 เป็นงานเกี่ยวข้าว, นวดข้าว, เก็บข้าวใส่ยุ้งแล้วทำขวัญข้าว

ชาวนาภาคกลางกำลังลงแขกเกี่ยวข้าว สมัย ร.5 พ.ศ.2450 (ภาพจาก Twentieth Century Impressions of Siam. Arnold Wright (edit.). London : Lloyd’s Greater Britain Publishing Co. Ltd., 1908, p. 147.)

 

เกี่ยวข้าว

การเกี่ยวข้าวมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อมนุษย์ ดังนี้

  1. เมล็ดข้าวเต็มรวง หมายถึงการกำเนิดของข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักเลี้ยงคนให้มีชีวิตตลอดปี
  2. การออกรวงของต้นข้าวตามกำหนดปีครั้งละอย่างสม่ำเสมอ เท่ากับเป็นช่วงเวลาได้ผลผลิตใหม่ที่จะเลี้ยงคนให้มีชีวิตตลอดฤดูกาล จึงถูกกำหนดเป็นเดือนแรกเรียก “เดือนอ้าย” (แปลว่า เดือน 1) ขึ้นฤดูกาลใหม่ ที่ต่อไปเรียก “นักษัตรใหม่” ส่วนคำว่า “เข้า” (คำเดิมของข้าว) มีความหมายว่า “ปี” (มี 12 เดือน หรือ 365 วัน)

 

เพลงเกี่ยวข้าว ไม่เล่นขณะเกี่ยวข้าว

ถ้าการเล่นเพลงเกี่ยวข้าวมีจริงสมัยนั้น ชาวนาทุกคนก็เล่นร่วมกันทั้งชุมชนหลังเกี่ยวข้าวเสร็จหมดทุกแห่งแล้ว (ไม่ใช่การแสดงให้คนดูอย่างที่เข้าใจทุกวันนี้)

หญิงชายทุกคนร่วมกันเล่นเป็นพิธีกรรมเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์และจำเริญพืชพันธุ์ธัญญาหารตามความเชื่อในศาสนาผี เพราะเกี่ยวข้าวคือการฆ่าแม่ข้าวเอาเลือดหล่อเลี้ยงต้นข้าวเติบโตที่จะมีกำเนิดอีกในปีต่อไป ดังนั้น ต้องร่วมกันเล่นเพลงโต้ตอบแก้กันด้วยถ้อยคำเชิงสังวาส แสดงสัญลักษณ์การสมสู่เพื่อการกำเนิด (ถ้าไม่มีสมสู่ ก็ไม่มีกำเนิด)

ตำราบางเล่มบอกว่าเมื่อถึงหน้าเกี่ยวข้าว ชาวนาสมัยก่อนเล่นเพลงเกี่ยวข้าวหรือเต้นกำรำเคียวขณะ “ลงแขก” เกี่ยวข้าว เพื่อความสนุกสนานร่วมกันตามวิถีชาวนา แต่ชีวิตจริงของชาวนาไม่พบว่าเป็นอย่างตำราบอกไว้