ทำไม ? “รัฐประหาร” หากทำในครั้งนี้ จะมีผลไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป!

วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน | เงื่อนไขการรัฐประหาร

กระแสข่าวการรัฐประหารเป็นที่กล่าวขวัญกันมากในช่วงระยะนี้ เนื่องจากการเคลื่อนไหวประท้วงของคณะราษฎรหรือขบวนการนักเรียน-นักศึกษายังคงเดินหน้าไม่หยุด แต่ก็ยังเป็นเพียงแค่ข่าวลือ และผู้นำกองทัพก็ยังเสียงแข็งว่าการรัฐประหารมีแต่ติดลบ

แต่ในขณะเดียวกัน เริ่มมีคำถามว่า แล้วสถานการณ์อันร้อนแรงในวันนี้จะเดินไปสู่จุดไหน อย่างไร รวมทั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยังคงนิ่งเฉย ไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องของม็อบคนรุ่นใหม่ไปเช่นนี้เรื่อยๆ ได้หรือไม่

เพราะพลังของเด็กนักเรียน-นักศึกษา พลังคนหนุ่ม-สาวในวัยเรียน วัยเพิ่งทำงาน ไม่มีทางจะเหนื่อยล้าง่ายๆ

จึงเชื่อได้ว่าสถานการณ์จะต้องเดินไปถึงจุดจุดหนึ่ง ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนแปลง อาจจะนุ่มนวลหรือแตกหักก็ได้

“ดังนั้น กระแสข่าวลือรัฐประหารก็จะต้องเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ไม่สิ้นสุด”

เพียงแต่การตัดสินใจก่อรัฐประหารคราวนี้ คงต้องคิดกันมากๆ หน่อย ด้วยมีปัจจัยหลายประการที่เป็นแรงกดดันทำให้ต้องลังเลมากๆ

ประการแรก สถานการณ์วันนี้ เป็นการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ ที่เรียกร้องประชาธิปไตยแท้จริงและมีเสรี ไม่ต้องการรัฐบาลที่มาด้วยกติกาไม่เป็นธรรม อาศัยรัฐธรรมนูญที่สร้างความเหลื่อมล้ำทางการเมือง มี ส.ว.โหวตตั้งนายกฯ และรัฐบาล

การชุมนุมดำเนินมายาวนาน 4 เดือนแล้ว มีแต่เพิ่มความร้อนแรงมากขึ้น

ขณะที่การรัฐประหารถ้าหากเกิดขึ้นในเวลานี้ แน่นอนว่าจะเป็นรัฐประหารเพื่อปกป้องอำนาจปัจจุบันเอาไว้ เท่ากับจะยืนตรงกันข้ามกับฝ่ายนักเรียน-นิสิต-นักศึกษา

หากเกิดขึ้นจริงจะต้องเผชิญแรงต่อต้านจากคณะราษฎร นักเรียน-นักศึกษา ซึ่งมีแต่ความร้อนแรง และเต็มไปด้วยความคิดอันแหลมคม จะต้องมีการตอบโต้คณะรัฐประหารอย่างจริงจังและด้วยหลากหลายวิธีการ จะเป็นการรัฐประหารที่ไม่ง่ายดาย ม้วนเดียวจบ สงบเรียบร้อย

“ประเด็นนี้เชื่อว่าผู้ที่มีศักยภาพจะก่อรัฐประหารย่อมตระหนักดี!”

ปัจจัยที่ทำให้ผู้จะก่อรัฐประหารต้องคิดหนัก นั่นคือแรงกดดันจากต่างประเทศ แต่จะไม่ใช่แค่การแสดงท่าทีแอนตี้รัฐบาลและคณะรัฐประหารจากชาติตะวันตกแบบเดิมๆ อีก จะเป็นแรงกดดันจากต่างประเทศที่มีผลเป็นรูปธรรมจริงๆ

ประเด็นนี้ก็เชื่อว่าคงต้องคิดหนักกันมากๆ

เชื่อว่าหากมีใครคิดจะก่อรัฐประหารจริงๆ จะต้องประเมินแรงต่อต้านทั้งในและนอกประเทศดังกล่าวอย่างจริงจัง

การก่อรัฐประหารในอดีตที่ผ่านมา ย้อนไปดู 5 ครั้งหลังสุด ได้แก่ รัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ และ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นการรัฐประหารที่เตรียมการเอาไว้แล้ว ต่อเนื่องจากแผนการกวาดล้างนักเรียน-นิสิต-นักศึกษา ด้วยการสร้างสถานการณ์จนเข้าเงื่อนไขเรื่องการหมิ่นสถาบัน ลงมือสังหารหมู่ในธรรมศาสตร์ ลงเอยก็เข้ายึดอำนาจการปกครองในตอนเย็นวันนั้น

เพื่อควบคุมสถานการณ์ให้อยู่หมัด และใช้อำนาจคณะรัฐประหารกวาดจับฝ่ายซ้ายที่หลงเหลือ

ขณะที่ฝ่ายนักเรียน-นักศึกษา-ประชาชน ซึ่งถูกปราบปรามกวาดล้างก็ไม่อยู่ในสภาพที่จะต่อต้านใดๆ ได้อีก เพียงแต่ผลการเข่นฆ่าและรัฐประหารดังกล่าว ทำให้คนที่รอดตายรอดถูกจับแห่เข้าป่าร่วมฝ่ายคอมมิวนิสต์เพื่อจับปืนสู้จำนวนมากมาย ทำให้สงครามคอมมิวนิสต์ยิ่งยกระดับ

จากนั้นคณะรัฐประหารชุดชลอ-เกรียงศักดิ์ ลงมือยึดอำนาจซ้ำอีกครั้งในวันที่ 20 ตุลาคม 2520 เพื่อล้มรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่เข้ามาเป็นรัฐบาลในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ด้วยเห็นว่ารัฐบาลดังกล่าวดำเนินนโยบายขวาจัดสุดโต่งเกินไป

“พอล้มรัฐบาลเสร็จก็พลิกโฉมนโยบาย คืนประชาธิปไตย ปล่อยตัวผู้นำนักศึกษาที่ถูกจับเมื่อ 6 ตุลาคม จึงเป็นการรัฐประหารที่สำเร็จง่ายดาย ไร้การต่อต้าน เพราะเหมือนเปิดรูหายใจให้กับสังคมครั้งใหญ่”

ต่อมาได้เกิดรัฐประหารแต่ล้มเหลวกลายเป็นกบฏอีกคือรัฐประหาร 1-3 เมษายน 2524 โดยกลุ่มทหารหนุ่มหรือยังเติร์ก ด้วยสาเหตุความขัดแย้งภายในกองทัพเอง ซึ่งอันที่จริงเกือบจะชนะม้วนเดียวจบ แต่เพราะความหวาดระแวงว่าจะเป็นคณะรัฐประหารที่ใช้ความรุนแรงในการบริหารประเทศ จึงทำให้ไม่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายผู้มีอำนาจ

แล้วกลุ่มทหารหนุ่มก็พยายามจะก่อรัฐประหารซ้ำอีกในวันที่ 9 กันยายน 2528 เป็นความขัดแย้งในหมู่ทหารต่อเนื่องจาก 1-3 เมษายน แต่คณะก่อการโดนหักหลัง เกิดกรณีนัดแล้วไม่มา จึงพ่ายแพ้อย่างง่ายดาย

จากนั้นมีการรัฐประหารที่สำเร็จง่ายดายคือ รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 โดยคณะ รสช. เพื่อล้มรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ชนวนเหตุเป็นความขัดแย้งระหว่างผู้นำกองทัพกับผู้นำรัฐบาล ที่ไปนำเอาอดีตนายทหารใหญ่คู่อริเข้ามานั่งใน ครม. และกรณีกลุ่มที่ปรึกษานายกฯ ขัดแย้งกับฝ่ายกองทัพ

“มีการสร้างกระแสรัฐบาลคอร์รัปชั่น เป็นบุฟเฟ่ต์ คาบิเน็ต จนทำให้สังคมหลงไปกับกระแส”

เกิดความเกลียดชังรัฐบาลนักการเมือง ทำให้การรัฐประหารสำเร็จง่ายดาย ไร้การต่อต้าน

แต่เนื้อแท้คือความขัดแย้งระหว่างอำนาจกองทัพกับอำนาจของรัฐบาล โดยเอาเรื่องทุจริตโกงกินเป็นข้ออ้าง!?

ในรอบ 10 กว่าปีมานี้ได้เกิดรัฐประหารอีก 2 ครั้ง โดยถือได้ว่าเป็นภาคต่อเนื่องกัน คือรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพื่อล้มรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมาจากความหวาดระแวงของกลุ่มอำนาจ ที่เห็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งชุดนี้ ใช้นโยบายทำให้ประชาชนพึงพอใจอย่างมากมาย และกลายเป็นแรงสนับสนุนรัฐบาลนักการเมืองอย่างกว้างขวาง เป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนอย่างสูง จนเกิดความหวาดระแวงจากกลุ่มอำนาจ

รูปแบบการล้มรัฐบาลคือหยิบเอาความผิดพลาดของทักษิณมาขยาย หยิบเอาประเด็นคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายมาโหม ก่อม็อบเสื้อเหลืองชูอุดมการณ์อนุรักษนิยมการเมือง ลงเอยเรียกร้องทหารให้เข้ามายึดอำนาจ

“ปูทางจนเข้าเงื่อนไข เกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549”

แต่หลังจากนั้นเมื่อกองทัพถอยกลับ เปิดการเลือกตั้ง พรรคการเมืองเครือข่ายทักษิณก็ชนะเลือกตั้งอีกต่อเนื่อง

จนต้องมีรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เพื่อล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ น้องสาวทักษิณ ด้วยรูปแบบเดิมคือเกิดม็อบนกหวีด หยิบเอาประเด็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมช่วยทักษิณ และข้อกล่าวหาโครงการจำนำข้าว ปูทางให้บ้านเมืองเข้าทางตัน จนเกิดการยึดอำนาจในที่สุด

“การรัฐประหาร 2 ครั้งหลังนี้มีการปลุกมวลชนฝ่ายขวาให้ออกมาต่อต้านรัฐบาล และเกิดสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสีเหมือนกัน ทำให้คณะรัฐประหารใช้เป็นข้ออ้างเดียวกันทั้ง 2 หน คือหยุดสถานการณ์ที่คนไทยแตกแยกอย่างหนัก มีม็อบชนม็อบ เตรียมจะฆ่ากันนองเลือด”

ประเด็นนี้เองที่ทำให้คณะราษฎร นักเรียน-นักศึกษาที่ลุกขึ้นมาประท้วงในปี 2563 มองเห็นรูปแบบการใช้ม็อบชนม็อบกลับมาอีกครั้ง จึงเน้นต่อสู้สันติวิธี หลีกเลี่ยงม็อบชนม็อบ เพื่อไม่ให้เข้าสู่เงื่อนไขการรัฐประหาร

“สถานการณ์วันนี้ ยังมีเสียงยืนยันจากผู้นำกองทัพว่ารัฐประหารไม่ใช่ทางเลือก จึงยังเป็นแค่ข่าวลือและการคาดการณ์”

แต่ถ้าหากกลุ่มอำนาจปัจจุบันถูกนักเรียน-นักศึกษาต่อต้านจนฝืนต่อไปไม่ไหว ก็จะต้องดิ้นรนหาทางออกเพื่อรักษาอำนาจเอาไว้

ถ้าเลือกการรัฐประหาร สิ่งที่ต่างจากทุกๆ ครั้ง และโดยเฉพาะ 2 หนหลังก็คือ ขณะนี้ฝ่ายเสรีประชาธิปไตย ฝ่ายนักเรียน-นักศึกษา กลายเป็นพลังที่แข็งแกร่ง

จนเชื่อได้ว่าการรัฐประหารจะต้องเผชิญการต่อต้านอย่างหนัก รวมทั้งยังขึ้นกับการสร้างเงื่อนไขให้สุกงอมให้ได้เสียก่อน!