จักรกฤษณ์ สิริริน : เปิดงานวิจัย Gen Z แยกแยะ Fake News ได้ดีกว่าทุก Gen

ความที่ Gen Z หรือ Generation Z ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ที่จะได้ก้าวขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญของสังคมในวันเวลาอีกไม่ไกลนับจากนี้

ทุกภาคส่วนของสังคม ทุกชาติ ทุกภาษา กำลังจับจ้องมองดูบทบาทการขับเคลื่อนองคาพยพในวงการต่างๆ ของชาว Gen Z ที่ ณ วันนี้ มีอายุอยู่ในช่วง 10 ขวบ จนถึง 25 ปี

เพราะดังที่ทราบกันดี ว่า Generation Z นั้น เกิดและเติบโตมาในระหว่างปี ค.ศ.1995-2010 นั่นเองครับ

และก็เป็นที่ทราบกันดีอีกเช่นกัน ว่าในช่วงปี ค.ศ.1995-2010 นั้น ถือเป็นห้วงเวลาทองของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT : Information and Communication Technology) หรือที่รู้จักกันดีว่า ยุค Digital

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงทำให้ชาว Gen Z นั้น มีชีวิตโลดแล่นอยู่ในโลก Online กันเป็นส่วนใหญ่

แน่นอนว่า ยุคทองของ ICT หรือโลก Online นั้น สวนทางกับยุคโรยราของโลกเก่า โดยเฉพาะความเหี่ยวเฉาของสื่อกระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์

เพราะทิศทางข่าวสาร ทั้งรูปแบบและเนื้อหา ได้โยกย้ายตัวเองออกมาจากสื่อเก่า เพื่อเข้าสู่สื่อใหม่ คือสื่อ Online

 

เห็นได้จากผลการวิจัยของสำนักข่าว Axios ที่ได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างชาว Gen Z ในสหรัฐอเมริกา ที่เป็นนักเรียน-นิสิต-นักศึกษา จำนวน 868 คน

ผลการศึกษาระบุว่า มีจำนวน Gen Z มากถึง 83% ที่เปิดรับข้อมูลข่าวสาร ผ่านช่องทางสื่อ Online ไม่ว่าจะเป็น Website หรือ Social Media

สำทับด้วยผลการสำรวจของสำนักวิจัยพิว (Pew Research Center) ผ่าน Social Media ได้แก่ Facebook Twitter และ Instagram ระบุว่า 95% ของชาว Gen Z ที่มีอายุระหว่าง 13 ถึง 17 ปี นั้น สามารถเข้าถึง Smartphone ได้ทุกคน

และในจำนวนนั้น มีชาว Gen Z มากถึง 97% ที่ใช้งาน Social Media เจ้าใดเจ้าหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น Facebook Twitter และ Instagram หรืออื่นๆ

หากเราหันไปพิจารณาคำจำกัดความของ สื่อ Online ก็จะพบว่า สื่อ Online นั้น มีความรวดเร็ว คล่องตัว มีอิสรภาพ และเสรีภาพ ในการสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใครก็เป็นสื่อได้

ด้วยคุณสมบัติเช่นนี้นี่เอง ที่ทำให้หลายครั้งเกิดปัญหาขึ้นกับความน่าเชื่อถือของสื่อ Online

เนื่องจากความรวดเร็ว คล่องตัว อิสรภาพ เสรีภาพ ในการสื่อสาร และใครก็เป็นสื่อได้นี้เอง ที่ทำให้การส่งข่าว หรือการสื่อสาร ไม่มีบรรณาธิการ หรือคนคอยคัดกรอง

ดังนั้น ปัญหาความน่าเชื่อถือของสื่อ Online จึงเกิดขึ้นในรูปแบบของ Fake News หรือ “ข่าวปลอม”

 

วารสารวิชาการ Science Advances ได้เปิดเผยผลการวิจัยที่ระบุว่า ชาวอเมริกันกลุ่มที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป หรือที่รู้จักในนาม Baby Boomer นั้น มีการ Share ข่าว และ Link ปลอม หรือ Fake News ผ่านทาง Facebook มากกว่า Gen อื่นๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Generation Z

Science Advances ได้ชี้ตัวเลขที่สร้างความตกใจให้กับเราต่อไปอีกว่า Baby Boomer เชื่อถือ Fake News สะท้อนผ่านการ Share ข่าว และ Link ปลอม มากกว่าชาว Gen Z ถึง 7 เท่าด้วยกัน!

John Gable เจ้าของสำนักข่าว Allsides.com พูดถึงกรณีนี้ว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้น ล้วนเต็มไปด้วยอคติ ความโน้มเอียง และต่างก็มีความลำเอียงอยู่ในตน

“ผู้คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะเปิดรับข้อมูล และทำความเข้าใจเรื่องต่างๆ จากประสบการณ์ และการกระบวนตีความเฉพาะตัว” John Gable กระชุ่น

ประเด็นดังกล่าวมักทำให้เกิดปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบางช่วงเวลาที่อาจมีสถานการณ์สำคัญบางอย่างเกิดขึ้น

“แน่นอนว่า โมงยามที่เปราะบางเช่นนั้น จะต้องมีข่าวสารข้อมูลพรั่งพรูออกมาเป็นจำนวนมาก และหลายครั้ง ข้อมูลข่าวสารเหล่านั้น มักเป็น Fake News” John Gable กล่าว และว่า

Fake News ส่วนใหญ่อาจถูกทำให้ “ดูไม่เหมือน” ว่าเป็น “ข่าวปลอม” เนื่องจากมันได้ผ่านกระบวนการ “บิดเบือนที่แนบเนียน”

“และทุกอย่างขึ้นอยู่กับเจตนาของคนสร้าง Fake News” John Gable ทิ้งท้าย

 

สอดคล้องกับ John Sands ผู้บริหารระดับสูงของมูลนิธิ Knight Foundation ที่กล่าวว่า ในห้วงเวลาของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่ผ่านมา มีชาวอเมริกันมากกว่า 80% กังวลว่า ข้อมูลที่ถูกบิดเบือนจะส่งผลต่อการเลือกตั้งที่ผ่านไป

“ปัญหา Fake News ที่เกิดจากการบิดเบือนข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข่าวสารที่จงใจเลือกมานำเสนออย่างไม่ครบถ้วน-ไม่ตรงกับบริบทที่ควรจะเป็น ได้กระตุ้นให้หลายฝ่ายตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้” John Sands เผย

นำไปสู่การที่มีองค์กรภาคธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีในอเมริกาอย่างน้อย 2 แห่ง ที่พยายามสร้างเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อช่วยคัดกรองให้กับผู้รับสาร เพื่อที่จะสามารถเปรียบเทียบ และแยกแยะ Fake News ได้มากขึ้น John Sands สรุป

นั่นคือ Allsides.com ของ John Gable และ Ground News ของ Harleen Kaur

Harleen Kaur ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว Ground News ในฐานะเจ้าของ Application คัดกรอง Fake News ตัวแรกของโลก บอกว่า Platform ของ Ground News จะช่วยวิเคราะห์ข่าวผ่านระบบประมวลที่เข้มข้น เพื่อค้นหาแหล่งที่มาของรายงานในประเด็นเดียวกันจากที่ต่างๆ

“เพื่อให้ผู้รับข่าวสารได้มีข้อมูลรอบด้าน ที่จะนำไปใช้เปรียบเทียบ จำแนก และระบุจุดยืนของแต่ละสื่อ ทั้งสื่อฝ่ายซ้าย และฝ่ายขวา” Harleen Kaur ระบุ

 

Harleen Kaur กล่าวต่อไปอีกว่า ทาง Ground News ได้จัดให้นิตยสาร The New Yorker และสถานีโทรทัศน์ NBC อยู่ในกลุ่มซ้าย

และจัดให้สถานีโทรทัศน์ CNN และหนังสือพิมพ์ Los Angeles Times อยู่ในกลุ่มค่อนไปทางซ้าย

ส่วนหนังสือพิมพ์ USA Today สถานีโทรทัศน์ CBS News และสำนักข่าว Al Jazeera อยู่ในกลุ่มกลาง

ขณะที่หนังสือพิมพ์ Daily Mail กับสื่อในเครือ Fox News นั้น อยู่ในกลุ่มขวา เป็นต้น

John Gable แห่ง Allsides.com กลับมาสรุปให้เราฟังต่อว่า Allsides.com ของเขา ก็เป็นอีก Platform หนึ่งซึ่งจะมาช่วยระบุจุดยืน หรือแนวคิดทางการเมืองของสื่อต่างๆ ว่าอยู่ในกลุ่มใด

“ต้องยอมรับว่า สื่อในอเมริกานั้นมีหลายกลุ่ม ทั้งซ้าย ค่อนไปทางซ้าย กลาง หรือขวา อย่างที่รู้กัน” John Gable ปิดท้าย

ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Sameer Patil แห่งมหาวิทยาลัย Indiana ได้กล่าวว่า แม้ Application ของทั้ง Allsides.com หรือ Ground News จะมีส่วนช่วยคัดกรอง และจัด Rating สื่อ ได้อย่างละเอียดเพียงใดก็ตาม

“ทว่า ปัญหาที่สำคัญมากกว่าก็คือ การที่ผู้รับสาร ต้องฝึกตั้งคำถามด้วยตัวเอง ก่อนที่จะปักใจเชื่อ หรือก่อนที่จะ Share ข่าว และ Link ปลอม ออกไป”

คำถามที่ว่านี้ อาจเริ่มต้นจากการตั้งข้อสงสัยว่าข่าวชิ้นนั้นๆ มีโอกาสเป็นจริงมากน้อยเพียงใด หรือมีปัจจัยอื่นใดหรือไม่ ที่จะมีผลทำให้ข่าวชิ้นนี้เป็น Fake News

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Sameer Patil ทิ้งท้าย

 

สํานักข่าว Axios ได้กลับมาวิเคราะห์ให้เราฟังว่า จากผลการวิจัยเกี่ยวกับ Fake News ที่พบว่า มีนักเรียน-นิสิต-นักศึกษา ชาว Gen Z แค่ 7% เท่านั้น ที่เห็นว่า ข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่กันใน Social Media นั้น เป็นแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ

Axios ชี้ว่า Gen Z เหล่านี้ กว่า 50% คิดว่า หนังสือพิมพ์ Online และ Website อย่างเป็นทางการของสื่อกระแสหลักสำนักต่างๆ ยังคงเป็นแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถืออยู่

Axios สรุปว่า ด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้ Gen Z มีความสามารถในการแยกแยะ Fake News ได้ดีกว่าทุก Gen นั่นเอง