คุยกับทูต : อาซิม อิฟทิคาร์ อาห์หมัด ให้แคชเมียร์ได้พูดบ้าง ตอนจบ

“เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมของปีที่แล้ว อินเดียพยายามที่จะเปลี่ยนสถานะของดินแดนที่ตนยึดครองอย่างผิดกฎหมายแต่เพียงฝ่ายเดียว ด้วยการให้กองกำลังทหารกว่า 900,000 นาย เข้าปิดล้อมชาวแคชเมียร์ 8 ล้านคน จองจำผู้นำทางการเมืองของแคชเมียร์ทั้งหมด รวมถึงการลักพาตัวและกักขังเยาวชนชาวแคชเมียร์หลายพันคน โดยที่ผู้คนเหล่านี้ไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอกได้”

“ซึ่งเรื่องนี้ อรุณธตี รอย (Arundhati Roy) นักเขียนและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพชาวอินเดียเรียกวันนี้ว่าเป็นวันแห่งความอัปยศของอินเดีย (India”s Day of Shame)”

“ทั้งยังประกาศเคอร์ฟิว ปิดกั้นการสื่อสารโดยสิ้นเชิง และปฏิเสธการเข้าถึงของสื่อต่างประเทศ รวมทั้งผู้สังเกตการณ์ การสร้างวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด (culture of impunity) ต่อการใช้กำลังที่โหดเหี้ยมทารุณ การละเมิดสิทธิมนุษยชน การกำหนดบทลงโทษต่อผู้มีส่วนร่วม การบังคับบุคคลให้สูญหายหรือที่เรียกว่าการอุ้มหาย และการสังหารชาวแคชเมียร์ผู้บริสุทธิ์นอกกระบวนการยุติธรรมโดยไม่มีการพิจารณาคดี ซึ่งยังคงดำเนินอยู่แบบนี้อย่างต่อเนื่อง”

นายอาซิม อิฟทิคาร์ อาห์หมัด (H.E. Mr. Asim Iftikhar Ahmad) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานประจำประเทศไทย เล่าต่อจากบทความในสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

“สื่อแคชเมียร์และเหล่าผู้หาญกล้าที่ออกมาส่งเสียงเรียกร้องได้ถูกคุกคามและข่มขู่อย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตาม ความป่าเถื่อนดังกล่าวได้รับการบันทึกไว้เป็นอย่างดีโดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) กลไกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ภาคประชาสังคม รวมถึงองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Watch – HRW) และองค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ซึ่งประกาศยุติภารกิจในอินเดียเมื่อไม่นานมานี้

“ยิ่งไปกว่านั้น การปิดล้อมทางทหารกำลังตามมาด้วยความเคลื่อนไหวของอินเดียในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของแคชเมียร์อันเป็นความพยายามอย่างโจ่งแจ้งที่จะลบล้างอัตลักษณ์ของแคชเมียร์ที่แตกต่างออกไปและบ่อนทำลายข้อเรียกร้องของสหประชาชาติ การกระทำทั้งหมดนี้ถือเป็นการละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติและมติของคณะมนตรีความมั่นคง รวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศโดยเฉพาะอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 4 (4th Geneva Convention) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงประชากรของดินแดนที่ถูกยึดครองนั้นถือเป็นอาชญากรรมสงคราม”

“เห็นได้ชัดว่าชาวแคชเมียร์จะไม่ยอมอยู่ภายใต้การยึดครองและการกดขี่ของอินเดีย การต่อสู้ของพวกเขาเป็นไปเพื่อความยุติธรรม ในเรื่องสิทธิของประชาชนในการเลือกรูปแบบการปกครองและรัฐบาลของตน (self-determination) ที่ได้รับการอนุมัติจาก UN”

 

ท่านทูตกล่าวว่า

“เรามักถูกถามเกี่ยวกับจุดยืนของปากีสถานในจัมมูและแคชเมียร์ ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลและประชาชนในปากีสถานมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะสนับสนุนชาวแคชเมียร์ตามเจตนารมณ์ที่ชอบธรรมของพวกเขาสำหรับการตัดสินใจเลือกรูปแบบการปกครองและรัฐบาลของตนเอง”

“ยิ่งไปกว่านั้นจุดยืนของปากีสถานในเรื่องแคชเมียร์ยังสอดคล้องกับจุดยืนของสหประชาชาติที่จะให้ดำเนินการไปตามทำนองคลองธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศ นั่นคือสิ่งที่ทำให้แนวทางของปากีสถานแตกต่างออกไปจากอินเดียในประเด็นนี้ โดยที่อินเดียไม่สนใจ และฝ่าฝืนมติของ UNSC ที่เกี่ยวกับแคชเมียร์”

“ผลที่ตามมาของข้อพิพาทแคชเมียร์ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เป็นเรื่องร้ายแรงและมีหลายมิติ ตั้งแต่ภัยคุกคามสันติภาพและความมั่นคง ไปจนถึงวิกฤตด้านมนุษยธรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งยังเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับความร่วมมือและการพัฒนาในระดับภูมิภาคซึ่งถือเป็นสัญญาที่ยิ่งใหญ่ของเอเชีย”

“เพื่อสันติภาพและเสถียรภาพที่ยั่งยืนในเอเชียใต้ ข้อพิพาทจัมมูและแคชเมียร์จักต้องได้รับการแก้ไขอย่างสันติบนพื้นฐานของความชอบธรรมระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจึงต้องแบกรับความรับผิดชอบของกฎบัตรและรับรองการปฏิบัติตามมติของตน”

“ดังนั้น ประชาคมระหว่างประเทศจึงต้องมีบทบาทในการเน้นย้ำให้อินเดียยกเลิกการกระทำอันผิดกฎหมาย ยุติการปิดล้อมทางการทหารและการละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งการทำให้อินเดียยินยอมที่จะแก้ไขข้อพิพาทจัมมูและแคชเมียร์ให้เป็นไปตามมติของ UNSC ในทุกๆ เรื่องที่เกี่ยวข้อง”

 

“ชาวแคชเมียร์ได้เผชิญกับความทุกข์ทรมานมามากเกินไปแล้ว พวกเขารอคอยมานานแสนนาน ถึงเวลาแล้วที่จะต้องยุติการยึดครองอันผิดกฎหมายที่มีมากว่าเจ็ดทศวรรษ วิธีปฏิบัติอย่างสันติและถูกต้องตามกฎหมายที่ดีที่สุดที่จะทำได้ คือให้ชาวแคชเมียร์ได้มีสิทธิในการเลือกรูปแบบการปกครองและรัฐบาลของตนเอง ตามที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ให้สัญญาไว้กับพวกเขา”

“ทั้งนี้ เราต้องปล่อยให้ประชาชนตัดสินใจอนาคตของตัวเอง ประชาคมระหว่างประเทศต้องปล่อยให้แคชเมียร์พูดด้วยตัวเอง ในสภาพแวดล้อมที่ปราศจากการกดขี่ของรัฐต่อการปราบปรามและการละเมิดสิทธิมนุษยชน”

“ตามที่นายกรัฐมนตรีอิมราน ข่าน (Imran Khan) กล่าวในคำปราศรัยต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2020 ว่า ชาวแคชเมียร์ผู้กล้าหาญจะไม่ยอมอยู่ภายใต้การยึดครองและการกดขี่ของอินเดีย การต่อสู้ของพวกเขาซึ่งเป็นของคนท้องถิ่นกำลังต่อสู้เพื่อความยุติธรรม โดยที่คนรุ่นแล้วรุ่นเล่าได้สละชีวิตเพื่อกำจัดการยึดครองของอินเดีย”

“นายกรัฐมนตรีได้ยืนยันว่า ปากีสถานได้เรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาอย่างสันติมาโดยตลอด ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว เขาย้ำว่า อินเดียต้องยกเลิกมาตรการที่กำหนดไว้ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2019 ยุติการปิดล้อมทางทหารและการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงอื่นๆ รวมทั้งตกลงที่จะแก้ไขข้อพิพาทจัมมูและแคชเมียร์ตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องและความปรารถนาของชาวแคชเมียร์”

“นั่นคือเสียงแห่งเหตุผลและการบรรยายเรื่องสันติภาพที่แท้จริงซึ่งได้รับความสนใจและได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากประชาคมระหว่างประเทศ”

“ขออย่าทำให้ชาวแคชเมียร์ผิดหวัง ขอให้เรารักษาสิทธิของพวกเขาและส่งเสริมให้พวกเขาตระหนักถึงความสำคัญของแรงบันดาลใจ อุดมคติประชาธิปไตย และหลักนิติธรรมที่เป็นสากล”

 

ประวัติ
นายอาซิม อิฟทิคาร์ อาห์หมัด
เอกอัครราชทูตปากีสถานประจำประเทศไทย
เกิด : วันที่ 27 พฤศจิกายน 1966 ที่เมืองละฮอร์ (Lahore)การศึกษา

1991 : สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี (University of Engineering and Technology, Lahore) สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า (เหรียญทอง)

1988 : สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยปัญจาบ (University of the Punjab, Lahore) (เหรียญทอง)

ประสบการณ์การทำงาน

2017 : เอกอัครราชทูตปากีสถานประจำราชอาณาจักรไทย และผู้แทนถาวรประจำคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP)

2014-2017 : อธิบดี (สหประชาชาติ) กระทรวงต่างประเทศ กรุงอิสลามาบัด

2012-2014 : ผู้ประสานงานทางการเมืองของ ปากีสถานในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

2010-2011 : ผู้อำนวยการ (สภาความมั่นคงและสิทธิมนุษยชน) แผนกสหประชาชาติ กระทรวงต่างประเทศ กรุงอิสลามาบัด

2009-2010 : ผู้ช่วยเลขานุการของประธานการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ 64 สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

2009 : ผู้อำนวยการกระทรวงต่างประเทศ กรุงอิสลามาบัด

2003-2009 : ที่ปรึกษาคณะผู้แทนถาวรของปากีสถานประจำสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

2002 : เจ้าหน้าที่ส่วนงาน สหประชาชาติ กระทรวงต่างประเทศ กรุงอิสลามาบัด

2000-2002 : เจ้าหน้าที่ส่วนงานบุคคล กระทรวงต่างประเทศ กรุงอิสลามาบัด

1997-2000 : เลขานุการโท / Cd”A a.i สถานเอกอัครราชทูตปากีสถาน เมืองนีอาเม (Niamey) ประเทศไนเจอร์ (Niger)

1996-1997 : เจ้าหน้าที่ส่วนงานแอฟริกา กระทรวงต่างประเทศ กรุงอิสลามาบัด

1995-1996 : เจ้าหน้าที่ส่วนงานยุโรป กระทรวงต่างประเทศ กรุงอิสลามาบัด

สถานภาพ: สมรสกับนางแอสมา (Mrs. Asma) มีธิดาสามคน

กีฬา : กอล์ฟ เทนนิส สนุ้กเกอร์ และคริกเก็ต