พิศณุ นิลกลัด : แบ่งเค้กก้อนใหญ่ในพรีเมียร์ลีก

พิศณุ นิลกลัด

วันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคมนี้ ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษฤดูกาล 2016/2017 ก็จะปิดฉากลง โดยทีมเชลซีคว้าแชมป์ไปครอง

ประมาณรายได้อย่างไม่เป็นทางการของทีมฟุตบอลพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้ ทีมแชมป์จะได้เงินรามทั้งสิ้น 146 ล้านปอนด์ หรือ 6,500 ล้านบาท มากกว่าแชมป์ฤดูกาลที่แล้ว คือเลสเตอร์ ซิตี้ ที่ได้เงินรวม 93 ล้านปอนด์ หรือ 4,150 ล้านบาท

อันดับที่ 20 หรือบ๊วยสุดของฤดูกาลนี้คือซันเดอร์แลนด์ได้เงินประมาณ 97 ล้านปอนด์ หรือ 4,328 ล้านบาท มากกว่าแชมป์เมื่อฤดูกาลที่แล้วซะอีก

ฤดูกาลนี้ทั้ง 20 ทีมในพรีเมียร์ลีกได้เงินส่วนแบ่งจากทางลีกก้อนมหึมาเพราะผู้บริหารพรีเมียร์ลีกเซ็นสัญญาขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันเป็นเงินมหาศาล

โดยฤดูกาลนี้เป็นฤดูกาลแรกของแพ็กเกจสัญญารวม 3 ฤดูกาลที่ทางพรีเมียร์ลีกเซ็นกับช่อง SkySports และ BT Sports ที่ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันเฉพาะในสหราชอาณาจักร เซ็นสัญญา 3 ปีเป็นเงิน 5,136 ล้านปอนด์ หรือ 230,000 ล้านบาท ในการถ่ายทอดสดการแข่งขัน รวม 168 นัด

ส่วนลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ฤดูกาลนี้ก็เป็นฤดูแรกของแพ็กเกจสัญญา 3 ปี ราคา 3,300 ล้านปอนด์ หรือ 147,000 ล้านบาท

รวมแล้วพรีเมียร์ลีกมีรายได้จากการขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกในสหราชอาณาจักรและทั่วโลก เป็นเงินถึง 377,000 ล้านบาท

เมื่อเทียบกับแพ็กเกจขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฉบับก่อนหน้านี้ที่รวมการถ่ายทอด 3 ฤดูกาลเท่ากันแพ็กเกจปัจจุบันขายได้เงินมากกว่าเดิมถึง 71%

 

ฤดูกาลนี้สัดส่วนเงินปันผลที่แต่ละทีมได้รับมีที่มา 3 ทางดังต่อไปนี้

1. ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด

ทุกทีมในพรีเมียร์ลีกจะได้เงินจากการขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นเงินเท่ากัน ไม่ว่าจะได้อันดับ 1 หรืออันดับโหล่สุดคืออันดับที่ 20

โดยแต่ละทีมจะได้เงินทีมละ 38 ล้านปอนด์ หรือ 1,700 ล้านบาท จากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดภายในสหราชอาณาจักร

สำหรับลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดในต่างประเทศทั่วโลก แต่ละทีมจะได้ 47 ล้านปอนด์ หรือ 2,100 ล้านบาท

2. เงินรางวัลจากการทำอันดับได้ในลีก

อันดับสุดท้ายของลีก คืออันดับที่ 20 จะได้เงินรางวัล 2 ล้านปอนด์ หรือ 90 ล้านบาท

จากนั้นแต่ละอันดับที่ดีขึ้น จะได้เงินรางวัลเพิ่มขึ้นอันดับละหนึ่งเท่าตัว

นั่นหมายความว่าทีมอันดับ 19 ได้ 180 ล้านบาท และทีมแชมป์จะได้เงินรางวัลมากกว่าทีมอันดับสุดท้าย 20 เท่า โดยได้เงินรางวัล 40 ล้านปอนด์หรือ 1,800 ล้านบาท

เพิ่มจากฤดูกาลที่แล้ว ที่ทีมเลสเตอร์ ซิตี้ เป็นแชมป์ ได้เงินรางวัล 1,100 ล้านบาท เพราะฐานเงินรางวัลฤดูกาลที่แล้วเริ่มต้น 55 ล้านบาท

3. เงินจากการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ในสหราชอาณาจักร

จำนวนการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ในสหราชอาณาจักรของแต่ละทีมไม่เท่ากัน

ทีมใดได้ออกอากาศถ่ายทอดสดก็จะได้เงินนัดละ 1 ล้านปอนด์ หรือ 45 ล้านบาท

หากทีมใดก็ตามได้ออกอากาศถ่ายทอดสดน้อยกว่า 10 นัด ก็จะได้รับเงินแบบเหมาจ่ายไปเลย 10 ล้านปอนด์ (450 ล้านบาท)

 

ไม่ว่าเศรษฐกิจโลกจะทรงตัวหรือถดถอย เงินรางวัลและรายได้ของพรีเมียร์ลีกเพิ่มขึ้นทุกฤดูกาล แสดงให้เห็นว่าฟุตบอลพรีเมียร์ลีกเป็นธุรกิจที่ “Recession Proof” หรือ “ทนทานต่อการตกต่ำทางเศรษฐกิจ” เช่นเดียวกับธุรกิจด้านการรักษาพยาบาล และธุรกิจด้านการศึกษา

นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ถึงเหตุผลที่แต่ไหนแต่ไร พรีเมียร์ลีกและลีกกีฬาใหญ่ๆ ไม่ได้รับผลกระทบทางลบเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ ก็เพราะแฟนๆ พันธุ์แท้ให้ความสำคัญกับทีมรักว่าเป็นสิ่งสำคัญระดับต้นๆ ในชีวิต

หากเศรษฐกิจไม่ดี ก็ใช้การเชียร์ทีมกีฬารักเป็นเหมือนที่ระบายความเครียด ยอมประหยัดเงินค่าอาหาร ตัดการท่องเที่ยว และสิ่งฟุ่มเฟือยอื่นๆ แต่ไม่ยอมตัดค่าใช้จ่ายในการซื้อตั๋วชมทีมกีฬาโปรดที่สนามจริง หรือจ่ายค่าเคเบิลทีวีดูการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์

ตราบใดที่แฟนพรีเมียร์ลีกยังจงรักภักดีต่อทีมรักไม่เสื่อมคลาย รายได้ของพรีเมียร์ลีกก็จะไม่มีวันลดลงไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร

เอ็ดวาร์โด้ กาเลอาโน่ (Eduardo Galeano) นักเขียนระดับตำนานชาวอุรุกวัย ได้เขียนถึงความจงรักภักดีที่แฟนฟุตบอลมีต่อทีมรักได้อย่างซึ้งตรึงใจว่า

“In his life, a man can change wives, political parties or religions but he cannot change his favorite soccer team.”

“ในชีวิตของผู้ชาย เขาสามารถเปลี่ยนภรรยา, เปลี่ยนพรรคการเมือง หรือเปลี่ยนศาสนา แต่เขาไม่สามารถเปลี่ยนทีมฟุตบอลทีมโปรดได้”