ฉัตรสุมาลย์ : สำนึกผิด

ความผิดพลาดบางอย่างในชีวิต ใช้เวลากว่า 50 ปีที่จะกล้าพูด กล้ายอมรับผิด และคิดว่าจริงๆ แล้วเราทุกคนก็ย่อมเคยทำความผิดพลาดมาด้วยกันทั้งสิ้น ยิ่งมีเวลาเดินทางเข้าไปภายในมากก็ยิ่งจะเห็นเรื่องราวที่ไม่เข้าท่า ยังอยู่ปากอ่าว ของตัวเราเองมากมาย

ความผิดพลาดบางอย่างที่เราสำนึกผิดนั้น เป็นบาดแผลที่เป็นรอยแผลเป็นในใจ ใหญ่บ้างเล็กบ้าง

บาดแผลบางอย่างยังไม่ได้รับการเยียวยา ยังเจ็บอยู่ก็มี

เรื่องราวที่ผู้เขียนอยากเล่า เป็นความสำนึกผิด ที่หากได้พูด ได้บอก ได้เล่า ก็เป็นการเยียวยาอย่างหนึ่ง

ท่านผู้อ่านกลายเป็นพยานบุคคลสำคัญที่จะช่วยให้การเยียวยานั้นเป็นไปได้จริง และที่สำคัญ หากการสำนึกผิดของเรา เป็นตัวอย่างให้กับคนอื่นได้สำนึกผิด คลี่คลายและเยียวยาตนเองได้ด้วย

อันนี้ก็จะเป็นคุณูปการมหาศาล

 

ปีนั้น พ.ศ.2506 ผู้เขียนเป็นนักศึกษาเรียนปริญญาตรีปีสอง อายุเพิ่ง 19 กำลังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิศวภารตี รู้จักกันทั่วไปในนามศานตินิเกตัน ที่ท่านมหากวี คุรุเทพ รพินทรนาถ ฐากูร เป็นคนก่อตั้งในประเทศอินเดีย

และเพราะผู้เขียนกำลังเรียนอยู่ที่อินเดีย บิดาของผู้เขียน ก่อเกียรติ ษัฏเสน ก็เลยถือโอกาสไปทัวร์สังเวชนียสถานในอินเดีย เพื่อถือโอกาสเยี่ยมลูกสาวไปด้วย

สมัยนั้น พ.ศ.2506 ทัวร์ไปอินเดียที่รู้จักมีทัวร์เดียว คือทัวร์ของคุณสุวรรณ การเดินทางไปสังเวชนียสถานตามลำพังคนเดียวสมัยนั้น เลิกพูด แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เมื่อพ่อมากับทัวร์ ผู้เขียนก็เลยเป็นติ่งไปกับพ่อ

มีนักศึกษาชาวไทยอีก 3 คน ที่เป็นติ่งไปกับทัวร์ครั้งนี้

การเดินทางข้ามเมืองสมัยนั้น ยังไม่มีรถโค้ช หรือรถบัส เพราะถนนยังไม่ได้พัฒนา ใช้ได้เพียงรถไฟ ที่เป็นผลพวงที่อังกฤษมาทำไว้ให้ในสมัยที่เข้ามาปกครองอินเดีย ไม่ได้คิดจะพัฒนาอินเดียมากนัก แต่การมีเส้นทางรถไฟเพื่อขนส่งสินค้าพื้นเมืองได้สะดวกขึ้น

ทัวร์จึงเน้นการเดินทางให้ลูกทัวร์ใช้เวลากลางคืนบนรถไฟ ทุ่นค่าที่พักไปได้อีกแบบหนึ่ง

 

การเดินทางสมัยนั้นจึงเน้นการเดินทางโดยรถไฟ ทัวร์คุณสุวรรณใช้บริการชั้นหนึ่งตลอด

ผู้นำของคณะนั้น คือท่านเจ้าคุณปัญญานันทะ ต่อมาท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดชลประทานฯ ที่ จ.นนทบุรี สมัยนั้น ท่านเป็นพระนักเทศน์ที่ดังมาก ลูกทัวร์ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ที่ศรัทธาท่านเป็นพิเศษ

ที่ต้องเล่าถึงท่านเจ้าคุณปัญญานันทะ เพราะทัวร์เขาจัดให้พ่อนอนห้องเดียวกับท่าน รถไฟชั้นหนึ่งในสมัยนั้นเป็นโบกี้ที่ตัดขาดจากโบกี้อื่นๆ ไม่มีทางเดินถึงกัน มีที่นั่งสองข้าง ที่ปรับเป็นเตียงเดี่ยวขนาดใหญ่ได้สบายๆ มีห้องน้ำห้องส้วมในตัว

ในโบกี้ชั้นหนึ่งนี้ เวลากลางวันก็นั่งข้างละ 2 คน เวลากลางคืน คนหนึ่งก็ปีนขึ้นไปนอนที่นอนข้างบน ที่นั่งข้างล่างก็เป็นเตียงนอนสำหรับอีกคนหนึ่ง พ่อนั่งฟากหนึ่งกับท่านเจ้าคุณปัญญานันทะ ตอนกลางคืน ท่านเจ้าคุณท่านก็ปีนขึ้นไปนอนข้างบน

อีกฟากหนึ่งคุณลุงสง่า มะยุระ ใช่ค่ะ ที่เรารู้จักพู่กันสง่า มะยุระ ที่มีชื่อเสียงสมัยนั้นท่านนอนข้างล่าง แล้วให้คุณอาท่านหนึ่ง ขออภัยจำชื่อไม่ได้แล้ว อายุน้อยกว่า ปีนขึ้นไปนอนข้างบน

ท่านผู้อ่านเห็นภาพตามไหมคะ ผู้เขียนไปกับพ่อ ก็นอนในโบกี้ชายล้วนนี่แหละค่ะ แต่เพราะเป็นติ่งของพ่อ จึงนอนกับพื้นหน้าห้องส้วม

สมัยนั้น ชาวอินเดียเวลาเดินทางจะหอบที่นอนไปด้วย เรียกว่า bedding เป็นกระเป๋าที่ม้วนแบบแยมโรลล์ วัสดุเป็นผ้าใบเนื้อหนา มีสายหนังคาดที่สองข้าง พอคลี่เปิดออกมาก็เป็นที่นอนความหนาแบบผ้านวมสองชั้น มีผ้าปูที่นอนก็ใส่มาด้วยกันในเบดดิ้งที่ว่านี้

เวลาสมาชิกผู้ชายในโบกี้เดินเข้าห้องน้ำก็เฉียดหัวผู้เขียนที่นอนอยู่ที่พื้นละค่ะ

ผู้หญิงนอนในห้องเดียวกับพระภิกษุในปริบทเช่นนั้น ไม่เป็นปัญหา แล้วท่านผู้อ่านจะให้ผู้เขียนไปนอนที่ไหนได้ ลองจินตนาการดูสิคะ

 

ทีนี้ เวลาส่งอาหาร จะมีบ๋อยที่ประจำอยู่ที่สถานีใหญ่ๆ กระโดดขึ้นมาในโบกี้ของเรา เราก็สั่งอาหารไป เช่น เรา 5 คนก็สั่งอาหารที่เป็นมังสวิรัติใส่มาในถาดสเตนเลส มีข้าวและกับชนิดต่างๆ มาในถ้วยเล็กๆ

เรียกอาหารแบบนี้ว่าทาลี คืออาหารถาด

ทางสถานีก็จะโทรศัพท์ไปสั่งอาหารที่สถานีข้างหน้าค่ะ พอรถไฟถึงสถานีโน้น ก็จะมีบ๋อยจากร้านอาหารของสถานีนั้น กระโดดขึ้นมา พร้อมอาหารถาด 5 ถาดซ้อนกัน การบริการอาหารของสถานีจะเป็นแบบนี้ในสมัยโน้น ไม่มีรถเสบียงค่ะ ก็เลยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเดินทะลุโบกี้

ทีนี้ ทัวร์ไทย อย่างที่พอจะรู้กัน ทัวร์ไหนทัวร์นั้น กินอาหารแขกไม่ได้ ทัวร์คุณสุวรรณจึงต้องมีแม่ครัวจากเมืองไทยเดินทางมาด้วยกัน ขนภาชนะหุงหาอาหารมาด้วย อย่างหนึ่งที่ต้องไปหาที่อินเดีย คืออาหารสด ผักหลากชนิด และเนื้อสัตว์

ไอ้ประการหลังนี่แหละค่ะที่เป็นปัญหา เราไม่ต้องพูดถึงจะกินเนื้อวัวหรือเนื้อหมู อินเดียนอกจากไม่กินเนื้อวัวแล้วยังบูชาวัวด้วย

หากทัวร์ไทยที่ไปสังเวชนียสถานไปกินเนื้อวัว ชาวฮินดูจะรับไม่ได้จริงๆ นอกจากนั้น ก็ไม่มีขายในท้องตลาด

ฮินดูไม่กินวัว มุสลิมไม่กินหมู หมูในอินเดีย แม้จนทุกวันนี้ เป็นหมูเทศบาล ให้วิ่งคุ้ยเขี่ยอาหารในถังขยะไปตามสภาพ เนื้อหมูเหนียวแบบหมูป่าไม่นิยม

เนื้อสัตว์ที่พอจะหากินได้คือไก่ ไม่มีไก่ซีพี มีแต่ไก่เป็นๆ ที่เลี้ยงไว้ในกรงสี่เหลี่ยมซ้อนๆ กัน มีขายตามตลาดสด ที่เป็นตลาดเปิด มักจะอยู่ตามสามแยกสี่แยกที่มีผู้คนพลุกพล่าน

คุณน้าที่เป็นแม่ครัวของทัวร์นี้ จำเป็นต้องซื้อไก่มาทำอาหาร นักศึกษาชาวไทยคนอื่นก็ยังไม่ได้ภาษาฮินดีพอที่จะไปตลาด

อ้อ รถไฟหยุดที่ชุมทางใหญ่ คือเมืองโครักข์ปุร์ ในที่สุดคุณน้าแม่ครัวออกปากให้ หนูฉัตร” ช่วยไปซื้อไก่ให้ 10 ตัว

ปรื๊ออออออ!

เป็นหน้าที่ที่ต้องทำ เพราะเขาไม่มีคนอื่นใช้งานได้จริง

 

ตอนนั้นผู้เขียนอยู่อินเดียมาครบปีเต็ม ภาษาอังกฤษใช้ได้ระดับไปซื้อของได้ เมืองที่อยู่ ที่ศานตินิเกตัน ภาษาท้องถิ่นเป็นเบงกอลี แต่ที่เมืองนี้คือเมืองโครักข์ปุร์ เขาใช้ภาษาฮินดี ก็ยังพอสู้ ใช้ภาษากายเข้าช่วย

ไปสั่งไก่ 10 ตัว คือสั่งเขาเชือดนะ

เขาล้วงเข้าไปในกรง คว้าคอไก่มา 10 ตัวส่งให้ลูกน้อง

โอย ตอนนี้ขอไม่ดูนะ รู้สึกผิด รู้สึกเป็นบาปมาก ที่ต้องพรากชีวิตเขา

ที่อินเดีย เขาตัดคอและตีนไก่ทิ้ง ถลกหนังออก ได้แต่ไก่ตัวแดงๆ มา 10 ตัว พร้อมกับบาปที่ตราตรึงในใจ

หิ้วไก่ 10 ตัวขึ้นรถสามล้อกลับมาที่รถไฟที่เราพัก ตรงไปที่โบกี้ของคุณน้าที่ใช้เป็นครัวชั่วคราว

กลับมาหาพ่อที่โบกี้ ที่ท่านเจ้าคุณปัญญานันทะอยู่ด้วย

ผู้เขียนไม่เคยพูดให้พ่อฟัง ไม่อยากให้ท่านรู้สึกไม่ดี เพราะทริปนี้ ท่านตั้งใจมาไหว้พระ ตั้งใจมาทำบุญ

และไม่เคยพูดให้ใครฟังเลย ตอนนั้นอายุ 19 มากล้าพูดเอาตอนนี้ อายุ 76 คิดดูสิว่าเก็บความสำนึกผิดไว้นานแค่ไหน

ความรู้สึกของเด็กวัย 19 รู้ว่า ที่ทำนั้นผิด ก็ศีลข้อแรกเลย ห้ามไม่ให้ละเมิดชีวิตเขา ทางโรงเรียนพาไปรับพุทธมามกะที่วัดมกุฏฯ ตอน ป.3

แล้วทำไมยังทำ ทำไมไม่ปฏิเสธ

รู้ว่าผิดต่อคำสอนในศาสนา แต่ไม่กล้าปฏิเสธ เพราะเห็นว่าเป็นหน้าที่ เพราะเห็นว่าไม่มีคนอื่นทำได้ เพราะสำนึกในบุญคุณว่ามากับทัวร์ โดยที่เราไม่ได้เสียเงินให้เขา ต้องทำงานตอบแทนเขา กลัวเขาจะว่าพ่อว่า ลูกสาวใช้งานไม่ได้

ที่ซับซ้อนกว่านั้นคือ ความรู้สึกที่ต้องพิสูจน์ว่าทำได้

นี่เป็นวิธีคิดของเด็กวัย 19

 

ในการที่จะสำนึกผิดนี้ ผู้เขียนขอขมากรรม โดยถือมังสวิรัติตลอด 20 ปีที่ผ่านมา อุทิศกุศลให้กับไก่ 10 ชีวิตที่ต้องเอาชีวิตมาปลิดปลงที่ตลาดกลางเมืองโครักข์ปุร์

เมื่อได้เล่าความผิดพลาดครั้งนี้แล้ว ก็รู้สึกคลี่คลาย ได้สำนึกผิด สำนึกบาปดังๆ ให้ท่านผู้อ่านได้เป็นพยาน เราเป็นมนุษย์เรามีอะไรกินเยอะแยะ ไม่ต้องเบียดเบียนชีวิตสัตว์ตัวเล็กๆ ที่ไม่มีทางสู้ก็ได้

ใช่ไหม