โลกมุสลิม หลังไบเดนก้าวสู่ผู้นำสหรัฐอเมริกา จะเป็นอย่างไร?

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

8 พฤศจิกายน 2563 สำนักข่าวทุกสำนักทั่วโลกต่างรายงานว่า “โจ ไบเดน” หัวหน้าพรรคเดโมแครตได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 46 ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ด้วยผลอิเล็กโทรัลโหวต 273-213 และได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ

หลังจากทราบผล โจ ไบเดน แถลงข่าวผ่านสื่อ ที่หลายสื่อเอามาย้ำคำพูดของเขาคือ

“ผมจะเป็นประธานาธิบดีของทุกคน ทั้งคนที่เลือกผมและคนที่ไม่ได้เลือกผม ผมจะเป็นผู้นำที่สร้างเอกภาพ ไม่ใช่ความแตกแยก อเมริกาเป็นสังคมที่ให้โอกาส เราจะร่วมมือกันสร้างสังคมที่ให้โอกาสกับทุกคน ให้พวกเขาได้ไขว่คว้าความฝันของพวกเขา ให้ไปให้ไกลที่สุดเท่าที่ศักยภาพของเขาจะไปได้”

สําหรับมุสลิมทั่วโลกตามที่ติดตามจากสื่อโลกมุสลิม ไม่ว่ามาเลเซีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน อาหรับ และมุสลิมในยุโรปและอเมริกา แม้แต่ไทย มีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่า

“ตามประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกาต่อโลกมุสลิมไม่ว่าใครเป็นผู้นำนโยบายต่อโลกมุสลิม ไม่ต่างกันมาก อีกทั้งโน้มเอียงเข้าข้างอิสราเอลมากกว่าอาหรับ เพียงแต่โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต ซึ่งสุภาพ นิ่มนวล ดีกว่าการได้ทรัมป์จากรีพับลิกัน ที่ก้าวร้าว อาจได้ใจมุสลิมมากกว่า”

ทั้งคลิปและข้อความที่ถูกแชร์มากที่สุดในหมู่ประชาคมมุสลิมคือ โจ ไบเดน ได้กล่าวต่อมุสลิมกลุ่มหนึ่งว่า “…คนมุสลิมทุกคนในประเทศอเมริกา จะมีสิทธิ์มีเสียงเหมือนศาสนาอื่น ฉันขอสัญญา…ประมาณนี้”

และเมื่อดูสถิติคนมุสลิมอเมริกันซึ่งลงคะแนนให้ไบเดนก็พบว่า “มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 69”

จึงไม่แปลกที่คนมุสลิมเองแอบหวังลึกๆ ให้ไบเดนปรับเปลี่ยนนโยบายที่แข็งกร้าวต่อมุสลิมสมัยทรัมป์

หากดูนโยบายต่างประเทศของโจ ไบเดน ตอนหาเสียงก็คือ เขาต้องการกลับไปใช้รูปแบบทางการทูตซึ่งอาศัยความร่วมมือกับนานาประเทศมากกว่า พร้อมเน้นคุณค่าประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ตามลักษณะเด่นของเดโมแครต

กล่าวคือ เขายึดมั่นในการรักษาสัมพันธภาพกับพันธมิตรประเทศ รักษาเวทีพหุภาคีต่างๆ และประกาศว่าจะไม่ดำเนินนโยบายแบบ “ข้าไปคนเดียว” (American First) และจะกระชับความสัมพันธ์กับประเทศประชาธิปไตยทั้งหลาย เพราะมีอุดมการณ์ร่วม และคงจะดำเนินความสัมพันธ์ด้วยวิธีทางการทูตที่นุ่มนวล ไม่ก้าวร้าว ฉีกหน้าหรือไม่ไว้หน้ากันดังแบบอย่างที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ใช้มาโดยตลอด

ซึ่งนายโจ ไบเดน มองว่าสหรัฐควรใช้ความยิ่งใหญ่เพื่อการนำพา มากกว่าใช้การบีบบังคับ หรือบีบคั้นให้ประเทศอื่นๆ ยอมโอนอ่อน

โลกมุสลิมกำลังจับตาว่าเขาจะทำตามนโยบายที่หาเสียงไหม? (จากรายงานข่าวของบีบีซี) เช่นอิหร่าน

นายไบเดนระบุว่า เขาเตรียมจะนำสหรัฐกลับเข้าร่วมในข้อตกลงระหว่างประเทศอีกครั้ง หลังทรัมป์ถอนตัวออกมา นั่นคือข้อตกลงที่ผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านเพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่อิหร่านจะจำกัดโครงการพัฒนานิวเคลียร์ให้มีขนาดเล็กลง

เยเมน นายไบเดนประกาศจะยุติการที่สหรัฐให้การสนับสนุนสงครามในเยเมนที่ซาอุดีอาระเบียเป็นแกนนำในการสู้รบ ซึ่งยอดพลเรือนที่เสียชีวิตเป็นจำนวนมากในสงครามครั้งนี้ ทำให้เกิดเสียงคัดค้านอย่างหนักในการที่สหรัฐเข้าไปมีส่วนร่วม ทั้งจากสมาชิกฝ่ายซ้ายในพรรครีพับลิกันและจากสมาชิกคนอื่นๆ ในสภาคองเกรส

ซาอุดีอาระเบียถือเป็นพันธมิตรชาติอาหรับที่ใกล้ชิดกับนายทรัมป์มากที่สุด อีกทั้งยังเป็นแกนนำในกลุ่มพันธมิตรต่อต้านอิหร่าน บรรดานักวิเคราะห์มองว่านายไบเดนจะถอยห่างออกจากนโยบายอ้าแขนรับสมาชิกราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียของนายทรัมป์

ความขัดแย้งอาหรับ-อิสราเอล นายไบเดนเห็นด้วยกับการที่นายทรัมป์เป็นตัวกลางให้เกิดข้อตกลงสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (แม้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะถูกโลกมุสลิมวิจารณ์หนัก) เพราะนายไบเดนเป็นผู้ให้การสนับสนุนอิสราเอลมายาวนาน

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เชื่อว่านายไบเดนไม่น่าจะหยิบแนวนโยบายของรัฐบาลนายทรัมป์มาใช้ โดยเฉพาะในเรื่องที่อิสราเอลเข้ายึดครองเขตเวสต์แบงก์ ซึ่งรวมถึงการประกาศว่าการเข้าไปตั้งอาณานิคมของชาวยิวในเขตเวสต์แบงก์ไม่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ หรือนิ่งเฉยต่อแผนการที่อิสราเอลจะเข้าไปผนวกพื้นที่บางส่วนในเขตเวสต์แบงก์เข้าเป็นของตนเองตามอำเภอใจเพียงฝ่ายเดียว

ขณะที่สมาชิกฝ่ายซ้ายของพรรคเดโมแครตในปัจจุบันกำลังผลักดันนโยบายด้านการต่างประเทศที่จะสนับสนุนสิทธิของชาวปาเลสไตน์มากขึ้น

อัฟกานิสถานและอิรัก สงครามที่ยืดเยื้อในอัฟกานิสถานและอิรัก แม้เขาจะต้องการให้คงทหารอเมริกันกลุ่มเล็กๆ ไว้ในทั้งสองประเทศ (โดยอ้าง) เพื่อสู้กับภัยก่อการร้ายก็ตาม

นอกจากนี้ ก็เชื่อว่านายไบเดนจะไม่ตัดลดงบประมาณด้านกลาโหม หรือระงับการโจมตีด้วยโดรน แม้จะมีแรงกดดันจากฝ่ายซ้ายก็ตาม

อย่างไรก็แล้วแต่ ด้วยนโยบายที่เน้นคุณค่าประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน อาจจะส่งผลดีต่อพรรคการเมืองอุดมการณ์อิสลามที่จะใช้แนวทางสันติวิธีเข้าสู่การบริหารประเทศในหลายๆ ประเทศที่พรรคอิสลามชนะเลือกตั้งในอดีต แต่ในทางกลับกันอาจจะสร้างความวุ่นวายทางการเมืองในโลกอาหรับ และพลวัตที่มากกว่าอาหรับสปริง

อีกประการ แน่นอนที่สุดการที่โลกมุสลิมเองก็ทราบดีว่า จะสลัดจากมหาอำนาจอเมริกาได้ โลกมุสลิมเองก็จะต้องสร้างพลังอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและการทหารให้ยิ่งใหญ่เหมือนอาณาจักรออตโตมันในอดีต ซึ่งตุรกีกำลังพยายามทำอยู่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีแอร์โดอาน

แต่มันก็เป็นดาบสองคมที่อเมริกาไม่ยอมแน่ๆ ไม่ว่าใครเป็นผู้นำโดยสนับสนุนพันธมิตรอียิปต์ ซาอุดีอาระเบียยักษ์ใหญ่โลกมุสลิมในการทำสงครามตัวแทน ทั้งทางการทูตและทางทหาร

อีกส่วนหนึ่งก็คือ การหนุนฝ่ายเห็นต่างจากรัฐบาลตุรกี โดยเฉพาะการใช้เหตุผลว่ารัฐบาลตุรกีละเมิดสิทธิมนุษยชน การกวาดล้างฝ่ายเห็นต่าง ตามที่รัฐบาลอเมริกาและตะวันตกกล่าวหาตุรกีมาตลอด ซึ่งไม่นับรวมกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนที่สหรัฐอเมริกาหนุนมาตลอดไม่ว่าใครเป็นรัฐบาล

ประการสุดท้ายที่โลกมุสลิมโดยเฉพาะสตรีกำลังจับตามองคือ การที่นางกมลา หรือคามาลา แฮร์ริส ก้าวขึ้นเป็นรองประธานาธิบดีหญิงสหรัฐคนแรก ที่เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองกว่า 200 ปีของสหรัฐไปโดยสิ้นเชิง เพราะไม่เพียงแต่เป็นผู้หญิง แต่ยังมาจากคนผิวสีลูกผสมอินเดียจากเอเชียกับจาเมกาแอฟริกัน เธอเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนตัวยงร่วมกับแม่ของเธอ

ดังนั้น ด้วยสถานการณ์โลกอาหรับและมุสลิมถูกมองว่าสุภาพสตรีถูกลิดรอนสิทธิ (ความจริงเป็นการมองมิติคุณค่าสตรีต่างกัน) ประเด็นนี้น่าจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะทำให้สหรัฐอเมริกาเข้าไปสนับสนุนการเคลื่อนไหวของสตรีในโลกอาหรับและมุสลิมเพิ่มขึ้น อันนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมการเมือง

เพราะมิติการมองคุณค่าทางวัฒนธรรมด้านนี้ต่างกันระหว่างสองโลก