“สุชาติ” ห่วงคลัง-แบงก์ชาติแก้เศรษฐกิจไม่ถูกหลัก-หลงผิด ทำประชาชนไม่เห็นอนาคต

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความเห็นว่า ตามที่เป็นข่าวกระทรวงการคลังโต้แย้งกับธนาคารชาติ เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าเกินไป และเรื่องธนาคารชาติกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยอาการหนักแก้ยากกว่าที่คิด เพราะเจอทั้งมรสุมโควิดและหนี้ครัวเรือนที่สูงนั้น นอกจากปัญหาโควิดที่มีผลกระทบทั่วโลกแล้ว ประเทศไทยในขณะนี้ ยังมีปัญหาคือ (1) การไม่มีความเชื่อมั่น และ (2) ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งเกินไปมากๆ

ในด้านความเชื่อมั่นที่หายจากประเทศไทยไปหมดเลย เนื่องจากมีการปฏิวัติรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจปฏิวัติต่อเนื่องมากว่า 6 ปีแล้ว นักลงทุนที่อยู่ในประเทศไทยมานานได้ถอนตัวออกไปเรื่อยๆ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเช่น EEC ก็ไม่ได้รับความสนใจนัก จากนักลงทุนไทยและต่างชาติ อันเนื่องมาจากประเทศไทยไม่มีอนาคต

ก่อนเกิดปัญหาโควิดเมื่อต้นปี 2563 ประเทศไทยก็เจริญเติบโตต่ำมาก​ เฉลี่ยเพียง 2-3% ซึ่งต่ำกว่าทุกประเทศในอาเซี่ยน เนื่องจากการเป็นรัฐบาลกึ่งเผด็จการ และเนื่องจากค่าเงินบาทแข็งมากๆ คือใน 7 ปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งขึ้นกว่าค่าเงินริงกิตของมาเลเซีย​ถึง​ 27% (เมื่อ 7 ปีที่แล้ว 1 ริงกิต เท่ากับ 10 บาท ปัจจุบัน 1 ริงกิต เท่ากับ 7.3 บาท) ทั้งๆ ที่ประเทศไทยไม่ได้มีการพัฒนาอะไรดีกว่ามาเลเซีย ที่จะทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นได้

มีเพียงประเทศไทยดูดปริมาณเงินบาทออกจากระบบเศรษฐกิจไปมากขึ้นเรื่อยๆ โดยหากเทียบให้มาเลเซีย มีปริมาณเงินริงกิต 100% ในระบบเศรษฐกิจเขา ประเทศไทยก็มีปริมาณเงินบาทเพียง 75% ในระบบเศรษฐกิจไทย

การที่เงินบาทแข็งค่าอย่างมากมาย จึงทำให้สินค้าส่งออกไทยราคาแพง​กว่าปท.อื่นๆ มากขึ้นเรื่อยๆ จึงผลิตไม่เต็มความสามารถที่มีอยู่ (under capacity utilization rate) ต้นทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น คนว่างงานก็เพิ่มขึ้น มีรายได้น้อยลง​ ประเทศเจริญเติบโตช้ามาก มาเป็นเวลากว่า 6 ปีแล้ว ดูแล้วจึงไม่มีทางที่รัฐบาลจะฟื้นเศรษฐกิจได้ และประชาชนจะยากจนลงอีกมาก​ หลังจากคนที่อยู่ใต้เส้นความยากจน​ เพิ่มขึ้น​ 2 ล้านคนแล้วใน​ 5 ปีทึ่ผ่านมา​ เป็นประเทศเดียวในอาเซี่ยนที่คนจนเพิ่มขึ้น

อาจกล่าวได้ว่า ตราบใดที่รัฐบาลยังกำหนดนโยบายการเงิน และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ให้ธนาคาร​ชาตินำ​ไปปฏิบัติไม่ได้ ก็เหมือนมี​รัฐบาล 2 รัฐบาล​ โดยธนาคารชา​ติ​ มีอำนาจต่อระบบเศรษฐกิจมากกว่ามาก​ โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน​ และประชาชนก็ไม่รู้ที่มา​ การที่รัฐบาลใช้นโยบายการคลังในปัจจุบัน ก็เป็นเพียงการย้ายเงินจากมุมหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ ไปยังอีกมุมหนึ่งเท่านั้น ปริมาณเงินบาทในมือประชาชนโดยรวมไม่ได้เพิ่มขึ้น

ความคิดเรื่องให้ธนาคาร​ชาติเป็นช้างเท้าหลัง คอยรักษาเสถียรภาพ​ ให้ระวังปัญหาเงินเฟ้อ​ จนอัตราเงินเฟ้อติดลบ ก็ยังไม่เป็นไร จึงไม่ถูกต้อง เพราะเหตุที่อัตราเงินเฟ้อติดลบ ก็เนื่องมาจากปริมาณเงินบาทในระบบเศรษฐกิจมีน้อยเกินไป เป็นอย่างนี้มานานแล้ว ทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเรื่อยๆ​ สินค้าออกแพงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เศรษฐกิจไม่เจริญเติบโต คนไม่มาลงทุนเพราะค่าเงินบาทแข็งเกินไป เมื่อนำเงินต่างประเทศมาแลกก็ได้เงินบาทน้อยลงไปเรื่อยๆ ทำให้ต้องใช้เงินต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อซื้อวัตถุดิบภายในประเทศ และเพื่อจ้างงาน นักลงทุนจึงย้ายไปเวียดนาม พม่า อินโดนีเซีย ที่ใช้ต้นทุนต่ำกว่า

ธนาคารชาติกล่าวว่าประชาชนเป็นหนี้ครัวเรือนมากเกินไป ทำให้เศรษฐกิจไทยมีปัญหาแย่กว่าที่คิด ความจริงหนี้ครัวเรือนของประชาชนโดยรวม นำไปเทียบกับ​ GDP​ นั้นไม่ถูกต้องนัก หากผู้วิเคราะห์ไม่เข้าใจมากพอ​ก็อาจเกิดการหลงผิดได้​ (misleading) หนี้ครัวเรือนต้องหักจากทรัพย์สินครัวเรือนก่อน หากประชาชนเป็นหนี้มากขึ้นเพื่อนำไปซื้อบ้านซื้อทรัพย์สินไว้ ก็ถือว่าเป็นการลงทุนชนิดหนึ่ง

การที่เศรษฐกิจประเทศไทยไม่เจริญเติบโต ก็จะทำให้หนี้ครัวเรือนต่อ​ GDP เพิ่ม​ขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งไม่ได้หมายความว่า​ประชาชนกู้เงินมากไป​แต่อาจหมายความว่ารัฐบริหารเศรษฐกิจแย่เกินไป จนทุกคนในประเทศมีรายได้ลดลง และไม่เห็นอนาคต

กระทรวงการคลังและธนาคารชา​ติ​ มีหน้าที่บริหารระบบเศรษฐกิจมหภาค​ ต้องใช้นโยบายภาพรวม การพูดเรื่องหนี้ครัวเรือนว่าสูงมาก แล้วกล่าวว่าเป็นปัญหา​ของระบบจึงไม่ถูกต้อง เพราะเป็น​การกล่าวหาพฤติกรรมของประชาชน (people consumption behavior) ที่เป็นอยู่ปกติ​ มาเป็นปัญหา การพูดเป็นจุดๆ​ เป็นเรื่องระดับย่อย (Microeconomics)

เราต้องเข้าใจว่า เราบริหารเศรษฐกิจระดับภาพรวม​ (Macro) จึงไม่ไม่ควรเอา​ระดับ Micro​มาเป็นปัญหา​ เพราะปัญหาระดับ ​Micro​ เหล่านี้​มาจาก​การบริหารระดับ​ Macro​ ที่ผิดพลาด

หากคิดกันอย่างนี้​ เรื่องอะไรต่างๆ​ก็จะเป็นปัญหาไปหมด แต่หากกระทรวงการคลังและ ธนาคารชาติ​ปล่อยให้มี​ปริมาณเงิน (money supply) มากกว่านี้​ ประชาชนก็จะมีเงินหมุนเวียนในมือมากขึ้น ค่าเงินบาทก็จะอ่อนค่าลง รายได้จากการส่งออกก็จะมากกว่านี้​ เศรษฐกิจ​ก็จะเจริญเติบโตมากกว่านี้​ ปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือน เรื่องรายได้ภาษีลดลง และปัญหาอื่นๆ ก็จะลดลง​ไปเอง

“จึงรู้สึกเป็นห่วงอนาคตของประเทศและประชาชนไทย และหวังว่ารัฐบาลจะบริหารประเทศให้ถูกต้องตามหลักวิชา” ศ.สุชาติ กล่าว