อุรุดา โควินท์ / ทางรอดอยู่ในครัว : ไม่สิ้นคิดและไม่หมดฝีมือ

ชีวิตตลกดี พอเศรษฐกิจแย่ลง รายได้ของเราลดลง แต่กลับมีค่าใช้จ่ายจำเป็นมากขึ้น

หมาแพ้อะไรก็ไม่รู้ ต้องหยอดหู ต้องไปหาหมอล้างหูสัปดาห์ละครั้ง ถ้าเกิดสัปดาห์ไหนหูแดง ต้องกินยาด้วย

ตัวฉันเองท้องผูกมานาน นานจนเริ่มมีปัญหา พบว่าสิ่งที่แก้ได้คือการกินโปรไบโอติก ซึ่งแก้ได้จริง แต่เราผลิตเองไม่ได้ ต้องซื้อ และราคาของมันก็ไม่เบา

สุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่ากับหมา หรือกับคน ดูเหมือนเมื่อวัยเพิ่มขึ้น เราก็ต้องใช้เงินกับสุขภาพมากขึ้น

“เราจะพยายามนิ่งที่สุด ในแง่การใช้จ่าย” ฉันบอก

เราแปะมือกัน

“แต่บางอย่างก็ยากที่จะเลี่ยง อย่างเช่นต้องซ่อมบ้าน” เขาว่า

ฉันหัวเราะ “และซ่อมปั๊มน้ำ ซ่อมแล้วยังไม่ดี สรุป ต้องซื้อใหม่”

 

เราไม่ใช่ช่าง เราทั้งสองคนไม่มีทักษะทางช่าง เขาเรียนดนตรีคลาสสิค ฉันเรียนบัญชี ความรู้ความสามารถนอกเหนือจากการเรียนในระบบของเราคือการเขียน ซึ่งได้มาจากการอ่าน เราอ่านเก่ง เราชอบเขียน และเราพอมีทักษะเกี่ยวกับศิลปะด้านอื่น รวมทั้งงานฝีมืออยู่บ้าง

แต่ไม่ใช่งานช่าง

บังเอิญว่าเราย้ายมาอยู่ในบ้านเก่า ซึ่งโครงสร้างหรือระบบไม่ค่อยได้มาตรฐานนัก

เราเปลี่ยนก๊อกน้ำไม่เป็น โอเค เราหัดจนทำได้ ทาสีบ้านเราพอไหว ถางหญ้า แต่งต้นไม้ เรามีแรง ก็ลุยทำกันไป

แต่หลังคารั่ว เสาบ้านทรุด ต้นไม้ต้องตัด หรือปั๊มน้ำพัง เราไม่สามารถ

เริ่มต้น เราไม่รู้จักช่างเลย ตอนนี้ฉันมีเบอร์โทร.ของทุกช่าง ตั้งแต่ช่างไฟ ช่างแอร์ ช่างมุ้งลวด ไปจนถึงช่างก่อสร้างที่รับงานเล็กงานน้อย

บ้านยังต้องซ่อม ค่าเช่าไม่ต้องเสีย แต่มีค่าซ่อมแซม อยู่ไปซ่อมไปเท่าที่มีกำลัง สนุกดีที่ได้เห็นมันน่าอยู่ขึ้นวันละน้อย

บางทีเราประหยัดเงิน อดออม ตัดใจไม่ซื้อกระทั่งเสื้อผ้ามือสอง ไม่กินข้าวนอกบ้าน

แต่ครั้นต้องเปลี่ยนปั๊มน้ำ เงินครึ่งหมื่นก็หายวับไปจากบัญชี

นี่ละที่เขาว่า หากินนั้นไม่เท่าไร แต่หาให้พอใช้มันไม่ง่าย

 

หลายครั้งที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ ฉันประชดชีวิตด้วยการไปกินอาหารอร่อยๆ ที่ฉันชอบ อ้าว ไหนๆ ก็ต้องจ่ายให้กับเรื่องไม่คาดคิดแล้ว จ่ายให้กับแกงถั่ว นาน และชาอินเดียด้วยเถิด นั่นเราก็ทำไม่เป็นเหมือนกัน

“ไปกินอาหารอินเดียกันดีมั้ย” ฉันถามเขา

เขาอมยิ้ม “ก็ได้นะ” วางมือบนไหล่ “แน่ใจนะ”

อืม…ไม่แน่ใจ ไม่แน่ใจว่าตัดสินใจถูกต้อง ความจริงก็คือ ในฐานะนักการบัญชี ต้องตอบว่าไม่ได้

โอเค ทำอะไรกินในบ้าน ไม่ควรประชดชีวิตด้วยการจ่ายเงินเพิ่ม

เขาจับต้นแขนฉัน “ถ้าจะเอาสะดวก เราออกไปกินอะไรง่ายๆ กันได้นะ”

อะไรที่ว่าง่ายและไม่แพงนั้นน่ะ มีแน่ แต่ถ้าไม่อร่อย เราจะกินทำไม

ฉันเปิดตู้เย็น มีหมูสับ มีแตงกวาเหลือนิดหน่อย มีกะเพราหนึ่งมัด และเรามีข้าวเย็น

“ผัดกะเพราคลุกมั้ย” ฉันถาม

เขารีบพยักหน้า เป็นของโปรดเขา แต่ส่วนใหญ่แม่ค้ามักทำแบบมันไปนิด หวานไปหน่อย ไม่ค่อยเผ็ด และไม่มีพริกน้ำปลาแบบที่เขาชอบ

สำหรับเราสองคน กะเพราคลุกอร่อยที่สุดคือฝีมือฉัน

 

เราใช้ข้าวเย็นเท่านั้น ซึ่งเราต้องมีอยู่แล้ว ฉันเก็บข้าวก้นหม้อใส่กล่องพลาสติกไว้ทำข้าวผัดหรือข้าวคลุกกะปิ ย่าของฉันเป็นชาวนา ต่อให้ฉันกินข้าวไม่เก่ง แต่ฉันก็ทิ้งข้าวไม่ลง

อย่างแรกที่ฉันจะทำคือพริกน้ำปลา ไหนๆ ก็ต้องล้างพริกขี้หนู ล้างเสียทีเดียว คัดเม็ดงามๆ มาซอยทำพริกน้ำปลา ใช้ให้ครบทุกสี ทั้งเขียว ส้ม แดง ใส่กระเทียมไทยเยอะๆ

พริกขี้หนูส่วนใหญ่ ฉันเอามาตำกับกระเทียมไทยให้ละเอียด (เพื่อความเผ็ด) แอบใส่รากผักชีลงไปนิดหน่อย จะได้มิติของกลิ่นเพิ่มขึ้น

สิ่งที่เตรียมก็มีแค่นี้ ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันน้อย ใช้ไฟอ่อนๆ ตักกระเทียมกับพริกใส่ลงไป ผัดให้หอม แล้วค่อยใส่หมูสับ ผัดให้หมูสุก ค่อยเทข้าวลงไป พร้อมเร่งไฟแรง

ฉันปรุงรสด้วยน้ำมันหอยนิดหน่อย ซีอิ๊วขาว เกลือ และน้ำตาลปลายช้อนชา ผัดให้ข้าวร้อนฉ่า จึงจะใส่กะเพรา

กะเพรานั้น ถ้าเลือกได้ ฉันใช้กะเพราดำ และใส่ให้มากที่สุด วันนี้มีหนึ่งมัด ฉันเด็ดใส่ทั้งหมด ก่อนเอากะเพราลงกระทะ ตบให้มันช้ำสักหน่อย ว่ากันว่ากลิ่นจะหอมฉุนขึ้น

ควงตะหลิวต่อ ให้กลิ่นของกะเพราแทรกซึมอยู่ในข้าว แล้วฉันก็ปิดเตา

ตักใส่จานสองจาน วางบนโต๊ะกินข้าว บอกเขา “ขาดไข่ดาว”

ฉันไม่ได้ลืม แต่ไข่หมดพอดี และขี้เกียจเสียเงิน

“ไม่เป็นไร ไม่ต้องมีไข่ดาวก็ได้” เขารีบบอก

พอข้าวเข้าปากหนึ่งคำ เขาก็ว่า “โอย…อร่อย” ยิ้ม “ไม่ได้กินนานแล้วนะ”

“บางทีเพราะมันง่าย เราก็เลยไม่ค่อยนึกถึง ชอบคิดว่าเป็นเมนูสิ้นคิด”

เขาส่ายหัว “ไม่ใช่เลย เป็นเมนูที่ถ้าอะไรไม่อร่อย ก็เข้าครัวทำผัดกะเพราคลุกนี่ละ สุดสิ้นสุดของความอร่อย”

 

หลังกินหมดจาน ฉันดีใจที่ไม่ผลีผลามประชดชีวิตด้วยการไปกินอาหารอินเดีย เพราะแบงก์พันต้องปลิวออกจากกระเป๋าอยู่แล้วละ

ไม่ใช่แค่ได้เก็บเงิน แต่ได้จัดการกับวัตถุดิบ และได้ใช้ฝีมือการครัวด้วย

เยี่ยมจริงๆ เยี่ยมจริงๆ เยี่ยมจริงๆ ฉันชมตัวเองในใจสามครั้ง