ต่างประเทศอินโดจีน : ขแมร์แร็พเปอร์

“เกีย โสกุน” กับ “ลอง พุธีรา” ถูกทางการเสียมราฐจับกุมตัวไปตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา จนป่านนี้ทั้งคู่ยังคงรอคอยการดำเนินคดีอย่างเป็นทางการอยู่ในเรือนจำ

ทั้งคู่ถูกจับกุมในข้อหาเดียวกันคือ “ยุยงเพื่อให้เกิดอาชญากรรม หรือก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในสังคม” ซึ่งถือเป็นการกระทำผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 495 ของกัมพูชา

ที่น่าสนใจก็คือ เหตุแห่งการกระทำผิดตามคำกล่าวหาของทั้งสองยังเหมือนกันอีกด้วย

ทั้งเกียและลองเป็นแร็พเปอร์ ทำเพลง ทำดนตรีทั้งหมดด้วยตัวเอง เผยแพร่ผ่านยูทูบ แล้วก็ถูกจับกุมเพราะรัฐบาลอ่อนไหวกับเพลงของพวกเขา

 

เกีย โสกุน อายุ 22 ปี ถูกจับกุมก่อน สาเหตุหลักมาจากความไม่พอใจของเจ้าหน้าที่ต่อ “ดีย์ ขแมร์” หรือ “แผ่นดินเขมร” เพลงแร็พที่ปล่อยออกมาเมื่อเดือนเมษายนนี้

“ดีย์ ขแมร์” ร่ายยาวเต็มไปด้วยอารมณ์ปลุกเร้า ความรู้สึกคับแค้นถึงปัญหาเรื้อรังบริเวณชายแดนกัมพูชา-เวียดนาม ประเด็นอ่อนไหวอย่างยิ่งของรัฐบาลฮุน เซน

“ถ้าหมดแผ่นดิน แล้วเราจะเหลืออะไร? ฟังผมดีๆ ตื่นเถอะ เราทุกคนคือวีรบุรุษ จับขโมยผู้รุกราน ฉกฉวย ทำลาย ยัดใส่คุก ปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้น ยึดเสรีของพวกเราคืนมา…” คือส่วนหนึ่งในถ้อยดนตรีของแร็พเปอร์คนนี้

เพลงนี้ดังมากในกัมพูชา เฉพาะยอดรับชมผ่านยูทูบมีไม่น้อยกว่า 1.3 ล้านวิว ก่อนที่จะถูกลบออกไปโดยไม่มีใครรู้ต้นสายปลายเหตุ

ไม่นานให้หลัง ลอง พุธีรา ก็ถูกจับกุมตามมา ด้วยเหตุที่ว่า บทเพลงซึ่งบันทึกในนาม “เทกเซรา-กัมพูเจีย” ของเขา เนื้อหาส่วนใหญ่เน้นหนักให้ความสำคัญไปที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ความไม่เสมอภาคของรายได้ ที่นับวันจะถ่างกว้างมากยิ่งขึ้นทุกที

 

“พล เกีย” พ่อของเกีย โสกุน ยืนยันว่า ลูกชายเขียน “ดีย์ ขแมร์” ทั้งเพลงด้วยตัวเองเพียงลำพัง ไม่เคยพูดคุยหรือรับอิทธิพลมาจากนักการเมืองรายไหนหรือพรรคการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น

เมื่อถูกนำตัวไปสอบ พล เกีย บอกว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเอาแต่ตั้งคำถามซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าใครอยู่เบื้องหลัง เขาสังกัดพรรคการเมืองพรรคไหน ทำเพลงอย่างนี้ออกมาให้ใคร

สะท้อนให้เห็นความหวั่นกลัวอยู่ลึกๆ ต่อพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ไม่มีตัวตนอยู่อีกแล้วอย่างพรรคกู้ชาติกัมพูชา (ซีเอ็นอาร์พี)

 

โสส มัช นักร้องดังชาวกัมพูชา ซึ่งในอดีตเคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมศิลปินเขมร บอกว่า เรื่องอย่างนี้ไม่ควรเกิดขึ้นกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ทั้งหลาย ที่รักและเป็นห่วงประเทศชาติ

เพลงของพวกเขาแค่ปลุกเร้า ชี้ให้เห็นข้อเสีย ความผิดพลาดบกพร่องที่ผ่านมา ควรถือว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์เชิงสร้างสรรค์

พวกนั้นไม่ควรจับกุม คุมขัง “ศิลปิน” เหล่านี้ โสส มัช ระบุ

ชิน มาลิน โฆษกกระทรวงยุติธรรมกัมพูชา ยืนยันว่า ชาวกัมพูชาสามารถโพสต์อะไรก็ได้ ตราบเท่าที่ไม่ได้ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น ไม่ส่งผลกระทบต่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่จงใจใส่ความหมายในเชิงลบ ที่สามารถก่อให้เกิดการถกเถียงแตกแยกขึ้นในสังคม

คำตอบที่เหมือนกับท่องจำมาจากตำรา ปราศจากความใส่ใจไยดีต่อข้อเท็จจริง

 

สถานการณ์เช่นนี้ ทำให้กัมพูชากลายเป็นจุดสนใจของสํานักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (โอเอชซีเอชอาร์)

ล้วน โสวัธ พระสงฆ์กัมพูชาซึ่งลี้ภัยอยู่นอกประเทศ เคยถูกเชิญตัวเข้าให้ข้อเท็จจริงต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ คำให้การก็คือ ยิ่งนับวัน สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในกัมพูชายิ่งเลวร้ายลงเรื่อยๆ

ไม่มีการเลือกตั้งเสรี, ไม่มีเสรีในการแสดงออก, ไม่มีเสรีในการชุมนุม

ประชาธิปไตยกำลังถูกฆ่าที่กัมพูชา