ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 30 ต.ค. – 5 พ.ย. 2563

The Willoughby children: Barnaby 1 and Barnaby 2 (both voiced by Seán Cullen), Tim (Will Forte) and Jane (Cara), in the Kris Pearn's animated film “The Willoughbys."

ขอแสดงความนับถือ

 

แม้จะบอกว่า “หลายท่านคงไม่สนุก”

แต่คอลัมน์การ์ตูนที่รัก ของนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

ก็ยินดีนำเสนอหนังการ์ตูน

“The Willoughbys ลูกที่พ่อแม่ไม่รัก”

ให้ผู้อ่านได้พิจารณา

 

“ณบ้านเก่าแก่หลังหนึ่ง

ของตระกูลเก่าแก่ตระกูลหนึ่งคือวิลโลบี้

บ้านใหญ่โตโบราณเคร่งขรึมโอ่อ่าน่ากลัว

มีรูปบรรพบุรุษของตระกูลวิลโลบี้ขนาดยักษ์ติดตามกำแพงและบันไดที่งามสง่า

แต่ละคนมีชื่อเสียงด้วยคุณงามความดีหรือความกล้าหาญได้รับการจารึกในประวัติศาสตร์

วันนี้คุณและคุณนายวิลโลบี้ผู้รักกันปานจะกลืนกิน ให้กำเนิดทารกชายหนึ่งคน ชื่อทิม

ทิมกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่ารังเกียจที่สุดที่พวกเขาเคยพบจึงนำออกไปนอกห้องในทันที

ทิมเป็นส่วนเกินของบ้าน…”

 

หนังไม่ได้บอกว่าทิมโตอย่างไร

แต่เขายิ้มแป้นเงยหน้ามองพ่อ-แม่ที่ไม่ต้องการเขา

แถมเขามีชะตากรรมร่วมกับน้องสาวอีกสามคน

คือเป็นลูกทั้งสี่ ที่พ่อ-แม่ไม่รัก

แต่เด็กสี่คนยังคงยิ้มแย้มเป็นส่วนใหญ่

แม้จะไม่ค่อยเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น

ทำไมพ่อ-แม่จึงไม่ต้องการพวกเขา

 

นพ.ประเสริฐบอกว่า หนังให้บรรยากาศแบบหนังสือของโรอัล ดาห์ล บางส่วน

คือ มืดหม่น แต่มีความหวัง

โดยไม่รู้ตัว คนดูเอาใจช่วยเด็กสี่คนหนีออกจากบ้านให้ได้

ผจญภัยไปในโลกกว้างอย่างปลอดภัย

หวังให้ได้พบพ่อ-แม่บุญธรรมที่ใส่ใจพวกเขา

อย่างไรก็ตาม

นพ.ประเสิรฐบอกว่า คนดูอีกหลายคนคงแช่งชักหักกระดูกพ่อ-แม่คล้ายๆ กับเวลาที่อ่านหนังสือของดาห์ลเช่นกัน

“นี่ก็เป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ ทำไมเราชอบอ่านงานของโรอัล ดาห์ล เหตุผลหนึ่งคือเราสามารถปลดปล่อยความเกลียดชังต่อผู้ใหญ่รวมทั้งพ่อ-แม่ได้โดยไม่ผิดบาป เพราะเนื้อเรื่องนำทางเอาไว้เช่นนั้น เด็กๆ ที่อารมณ์ขุ่นมัวได้อ่านแล้วก็สบายใจ การ์ตูนเรื่องนี้ก็น่าจะทำงานแบบเดียวกัน”

เมื่อพ่อ-แม่เป็นพิษ เราอาจจะต้องหนีจริงๆ

นพ.ประเสริฐจึงเชิญชวนท่านที่สนใจลองหาดูนะ

แม้หลายท่านคงไม่สนุก อย่างที่กล่าวในตอนต้นก็ตาม

 

เมื่อพูดถึงเด็ก

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ชี้ถึง “ความอีหลักอีเหลื่อของการศึกษาไทย”

ไว้อย่างน่าสนใจ ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้

โดยระบุว่า

“…การศึกษาไทยในเวลานี้เผชิญกับความอีหลักอีเหลื่อ

คือด้านหนึ่งผู้ปกครองนักเรียนก็อยากให้ลูกหลานรอบรู้ คิดเองเป็น รู้ทันคนและสถานการณ์ต่างๆ

แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการเห็นลูก-หลานแหลมออกมาต่อสู้กับระบบช่วงชั้นของศักดินา เพราะเห็นว่าเป็นอันตราย ไม่ในระยะสั้นก็ระยะยาว

ด้านหนึ่งก็ยอมรับ “วินัย” ของสังคมศักดินา

แต่อีกด้านหนึ่งก็รู้ว่า “วินัย” เช่นนี้เพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถนำพาลูก-หลานให้ประสบความสำเร็จไปได้ไกลนัก ในสังคมอุตสาหกรรมของไทย แม้เป็นอุตสาหกรรมโบราณก็ตาม

ครั้นจะให้ฝึก “วินัย” ของสังคมอุตสาหกรรมแทน

ก็เกรงว่าจะทำให้ลูกหลานต้องเผชิญอันตรายต่างๆ ในชีวิตข้างหน้า

เป็น “ความเป็นไทย” ที่ไม่อยากเป็นไทยเหมือนเดิม แต่ก็ไม่กล้าเป็นไทยแบบใหม่

จึงเป็นความอีหลักอีเหลื่ออยู่ตอนนี้”

อันทำให้เราหาทางออกจากปัญหาพันลึกทั้งหลายทั้งปวงไม่ได้

แถมเด็กบางส่วน กลายเป็นลูกที่พ่อ-แม่ไม่รักด้วย!