คุยกับอดีตผู้การกองปราบฯ-ส.ส.ก้าวไกล เตือนสติตำรวจน้องๆ คุมม็อบต้องมี “อารยะ”

อดีตผู้การแมว พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะอดีตผู้บังคับการกองปราบปราม และเคยปฏิบัติงานด้านการควบคุมฝูงชนมาตั้งแต่เป็นสารวัตร กล่าวในฐานะรุ่นพี่ที่เคยทำหน้าที่ผู้ควบคุมกองร้อย ควบคุมฝูงชนมาตั้งแต่ยุคที่ตำรวจไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือแบบนี้ มีแต่กระบองและโล่ธรรมดาๆ ว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ผมอยากจะฝากน้องๆ ตำรวจไว้ก็คือ การปฏิบัติตามคำสั่ง เหตุการณ์ที่ต้องเผชิญหน้าในพื้นที่เผชิญเหตุ เราจะต้องมีขันติ อดทนอดกลั้น การกระทำ และพิจารณาถึงการแจ้งสถานการณ์ ที่ต้องชัดเจนจากพื้นที่ภาคสนาม ถึงผู้สั่งการโดยเฉพาะที่นั่งอยู่ในห้องแอร์ หรือคอยดูจากกล้อง CCTV การไลฟ์สดจากฝั่งเจ้าหน้าที่แค่นั้น

ตำรวจชั้นผู้น้อยที่อยู่ในกองร้อยควบคุมฝูงชนต้องรู้สำนึกในหน้าที่ และสิ่งสำคัญคือต้องรายงานสถานการณ์ที่เป็นจริงให้กับผู้บังคับบัญชาเพื่อทราบในการตัดสินใจ ไม่ใช่ปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยไป และมีคำสั่งมันขัดต่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏ เช่น ไล่ตีไล่ทุบผู้ชุมนุมให้ออกจากพื้นที่โดยใช้กำลัง เช่น สมมุติว่ามี 2 กองร้อย เจ้าหน้าที่ 300 นายไล่ปะทะกับกลุ่มนักเรียนที่ตกค้าง แบบนี้มันเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุอันสมควร แต่ถ้าเป็นการปะทะมีการก่อเหตุจลาจลเกิดขึ้น มีการใช้อุปกรณ์เครื่องมือ หรือเจ้าพนักงานถูกทำร้ายอย่างรุนแรงเอง อันนั้นเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่ขั้นตอนต่างๆ

ผู้ที่อยู่แถวหน้าที่คาดว่าจะต้องเผชิญหน้าฝ่ายผู้ชุมนุม หรือคาดว่าจะปะทะแน่ เขาต้องมีอุปกรณ์ป้องกันให้อยู่แล้วในระดับหนึ่ง แต่ไม่สำคัญเท่าตัวเจ้าพนักงานที่ต้องควบคุมสติและมีความระมัดระวังในการกระทำ หรือควรที่จะหยุดยั้ง

ยิ่งหากมีผู้หญิงตัวน้อยๆ เด็กตัวเล็กๆ ควรปฏิบัติให้เหมาะสมแก่เหตุการณ์และไม่ต้องใช้อุปกรณ์-เครื่องมือในการทำร้ายคนที่ไม่มีอาวุธนี่คือสิ่งสำคัญมากที่สุด เจ้าพนักงานควรจะต้องพึงระวังไว้

ยิ่งเห็นว่าเหตุการณ์ที่เห็นอยู่ตรงหน้ากับคำสั่งมันขัดกันจนเกินเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าพนักงานควรจะขันติ อดกลั้นและหยุดการกระทำนั้น

เป็นการนิ่งเฉยๆ เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายหรือให้เวลามันเลยไปสักระยะหนึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการปะทะอย่างรุนแรง สถานการณ์ตรงนั้นมันก็จะไม่มีใครบาดเจ็บ

นี่คือสิ่งสำคัญ

ผู้การแมวบอกว่า แต่ถ้าถามความรู้สึกลึกๆ ในใจ ถ้าเป็นไปได้ ในใจในฐานะสำนึกของความเป็นรุ่นพี่ มันคงทำได้ยากที่จะขัดคำสั่ง หยุดการกระทำนั้นเสีย แต่คงไม่ถึงขั้นหยุดกลับหลังหันแล้วบอกผมไม่ทำแล้วเดินทางขึ้นรถกลับ ถ้าเป็นขนาดนั้นเรียกว่าคือความฝันของประชาชนที่อยากจะเห็น

แต่เจ้าพนักงานนี้เป็นชั้นผู้น้อย ถ้าทำเช่นนั้นกลับไปก็คงโดนลงโทษ ยกเว้นแต่ทำกันทั่วประเทศจนทำให้ผู้สั่งการหรือระดับบนไม่สามารถอยู่รอดได้

ส่วนภาพใหญ่การดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐ และหัวหน้าผู้รับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ คือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะต้องรู้ไว้ว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งเป็นปัจเจกชนต่างคนต่างไป ไม่ใช่เป็นการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน ขนกันมาเป็นคันรถแบบในอดีต

จะเห็นได้ว่าคนที่มารวมตัวกัน บางคนเดินเท้า บางคนเดินมาคนเดียว แอบพ่อแอบแม่มาเพื่อมาแสดงออกหรือมารับฟังเฉยๆ โดยไม่ได้พูดอะไรเลยด้วยซ้ำ คนที่มีหน้าที่ปราศรัยก็ทำหน้าที่ไป ส่วนพวกคนที่ต้องดูแลความปลอดภัย หรือในส่วนดูแลความสะอาด เก็บขยะ เขาก็ทำหน้าที่ของเขาไป

นี่คือความสงบเรียบร้อยที่น่าจะเห็นว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะทำให้ประชาชนใช้สิทธิอันชอบธรรมได้อย่างเปิดเผย

และที่สำคัญคือ รัฐบาลต้องรีบเจรจาคือตั้งแต่หน้างาน ในพื้นที่ภาคสนาม ถึงแม้จะรู้อยู่แล้วว่าข้อเรียกร้องหรือความต้องการบางข้ออาจจะทำให้ไม่ได้

แต่ถ้าข้อใดปฏิบัติได้ คุณจะต้องพูดคุยกันก่อนเพื่อลดอุณหภูมิ

จากนั้นนำเรื่องต่างๆ เข้ามาสู่สภา พวกผมในฐานะเป็นสมาชิกสภาคนหนึ่ง มองว่า สภาถือว่าเป็นที่หนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาในภาพรวมประชาธิปไตยของประเทศได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นระบบสัดส่วน มี ส.ส.จากรัฐบาลอยู่ แต่เขาก็ยังมีการนำเอาข้อมูลหรือข้ออธิบายมาปรึกษาหารือกัน

ถือเป็นการแก้ปัญหาลดดีกรีความร้อนแรงลงไป

อีกหนึ่งความฝันที่ “อดีตผู้การแมว” อยากเห็นคือ ที่มาของ ผบ.ตร.ที่ยึดโยงกับประชาชน และนายกรัฐมนตรีที่ชอบธรรมนั้น มองว่าองค์กรตำรวจขณะนี้ที่อยู่ภายใต้กำกับของนายกรัฐมนตรี ด้านดีนี้แต่มี 2 ส่วนที่ยังจะต้องมีการปรับปรุง คือ

1.ที่มาของผู้มีอำนาจสูงสุด ก็คือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ซึ่งผมในฐานะ ส.ส.กำลังจะเข้าไปมีโอกาสผลักดันแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ตำรวจที่กำลังจะเข้าสู่สภาในประเด็นที่มาของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่มองว่าควรจะมาจากสัดส่วนความเป็นประชาธิปไตยโดยใช้เสียงของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย โดยให้ตำรวจระดับผู้กำกับการขึ้นไปทั่วทั้งประเทศ เป็นคนเลือกสรรรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจำนวน 2 คน แล้วเสนอเข้าบอร์ด กตช.แล้วให้นายกรัฐมนตรีเป็นคนเลือก

อันนี้คือวิธีการที่จะสะท้อนได้ว่า ผบ.ตร.ผูกติดกับประชากรของตำรวจอย่างเป็นธรรม

ขณะเดียวกัน บริบทของ ผบ.ตร.ที่ต้องอยู่ภายใต้นายกรัฐมนตรี ที่มีที่มาของนายกรัฐมนตรีด้วยกติกาที่บิดเบี้ยว มีการวางอำนาจแบบสืบทอด เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเป็นคนอื่น แล้วนายกรัฐมนตรีคนนี้อยู่ในตำแหน่งมาตั้งแต่ยึดอำนาจเข้าสู่ปีที่ 7 ซึ่งในรัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุไว้ว่านายกรัฐมนตรีต้องครองอำนาจได้ไม่เกิน 8 ปี เราอยากจะตีความตรงนี้ว่าจะต้องครอบคลุมเวลาไปถึงการเป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องมาตลอดไม่ว่าจะอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับไหนก็ตาม โดยไม่ได้ยึดแค่รัฐธรรมนูญฉบับ 2560

เท่ากับว่า ในปีหน้า พล.อ.ประยุทธ์ต้องออกจากตำแหน่ง ต้องหมดอำนาจในการเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพราะว่ามีอายุแค่ 8 ปี ตามที่มีการบัญญัติไว้

ประการต่อมาคือ การสั่งการของนายกรัฐมนตรี ผ่านกลไกสั่งการของ ผบ.ตร. คือกลไกภาครัฐ เป็นปกติของสังคมข้าราชการของรัฐรวมศูนย์ที่อาจต้องทำหน้าที่ตอบแทนผู้มีอำนาจ

แต่เมื่อขึ้นมาดำรงตำแหน่งตรงนี้แล้วต้องชั่งน้ำหนักหน้าที่ และวิกฤตการณ์ การจัดการต่างๆ อย่างมีอารยะ เพราะคนเป็นถึงระดับ ผบ.ตร.ต้องมีประสบการณ์มากมายกว่าจะขึ้นมาถึงตรงนี้ได้ ต้องรู้เรื่องความเป็นหลักสากลเป็นอย่างดี และเชื่อว่าทุกคนที่จะผ่านขึ้นมาตรงนี้จะต้องมีประสบการณ์ดูงานเรียนรู้แบบโตในสายงานต่างๆ มามาก

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ จะต้องยึดโยงกับภาคประชาชนเป็นหลัก โดยเฉพาะการยึดหลักสิทธิมนุษยชน หลักเสรีภาพเสมอภาคและภราดรภาพ ที่มนุษย์ทั่วโลกเขาใช้กันแบบนี้ ในพื้นฐานตรงนี้กัน ซึ่งผู้มีอำนาจต้องใช้ดุลพินิจมากกว่ากฎหมาย

แต่ของเราก็ยึดโยงกับรัฐธรรมนูญที่ถูกอ้างว่าผ่านประชามติมา ซึ่งบิดเบี้ยวมาแต่แรก

คำว่าปฏิบัติหน้าที่ตรงนี้ต้องบอกให้ชัดว่าต้องเป็นไปตามกฎหมาย ถ้าปฏิบัติด้วยการไปฆ่าคนมันต้องฟ้องร้องได้ กฎหมายฉบับนี้เป็นการกำจัดสิทธิเสรีภาพที่ออกมา เพราะม็อบในครั้งนี้ไม่เหมือนยุคเสื้อสีในอดีตที่มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีการจัดตั้ง มีการขนคนออกมาเต็มรถบัส

แต่กลุ่มผู้ชุมนุมยุคใหม่ การจะกล่าวหาว่าเขามีผู้อยู่เบื้องหลังนั้นคือคำกล่าวอ้าง

เพราะในความเป็นจริงแล้วเราก็เห็นอยู่แล้วว่าไม่มีการตั้งเวที มีการพัฒนารูปแบบโดยไม่ต้องใช้เครื่องเสียงขนาดใหญ่ แต่ใช้ความเป็น viral กำหนดทิศทางในการเคลื่อน และการเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ อยู่ระยะเวลาสั้นๆ ไม่สร้างความเสียหาย แถมเก็บกวาดพื้นที่ชุมนุมให้สะอาดเรียบร้อย

มันไม่ใช่เรื่องของการละเมิดกฎหมายเลย เป็นการใช้สิทธิคนละเล็กละน้อยตามที่ต้องการเรียกร้อง

เป็นพลังของปัจเจกชนเข้ามารวบรวมความคิดเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญรัฐจะต้องฟัง