E-DUANG : ที่คิดว่า รุก อาจเป็น ตั้งรับ ที่คิดว่า ตั้งรับ อาจเป็น รุก

ถามว่าเป้าหมายของการออก”หมายจับ” นายอานนท์ นำพา นายภาณุพงศ์ จาดนอก นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ คืออะไร

คือการรุก คือการปรามเพื่อสกัดการเคลื่อนไหว

ภายใต้ความคิดที่ว่า เมื่อสามารถเด็ด”แกนนำ”ให้ไปอยู่ในที่คุมขังเสียแล้ว การเคลื่อนไหวก็จะค่อยๆฝ่อลงและก็หมดความหมายไปในที่สุด

คำถามที่ตามมาก็คือ เป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่

สถานการณ์นับแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา เด่นชัดว่าปฏิบัติการรุกอันมาจากอำนาจรัฐในมือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้

ที่คิดว่าเป็นการ”รุก” กลับกลายเป็นการ”ตั้งรับ” ตรงกันข้าม เป้าหมายที่ต้องการทำลาย ต้องการบดขยี้ กลับเติบใหญ่ขยายตัวและพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ

ที่เคยชุมนุมและอยู่ในที่ตั้งกลับเป็นการเคลื่อนขบวน

เห็นได้จากการเคลื่อนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมายังหน้าทำเนียบรัฐบาล การเคลื่อนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมายังหน้าทำ เนียบรัฐบาล

 

อีกรูปธรรมหนึ่งซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าที่คิดว่า”รุก”กลับแปรเปลี่ยนกลายเป็นการ”ตั้งรับ”คือสถานการณ์ในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อคืนวันที่ 24 กันยายน

การขับเคลื่อนโดยการเสนอจัดตั้ง”คณะกรรมาธิการ”เพื่อศึกษาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอาจได้ชัยชนะ

เป็นชัยชนะจากการสนธิกำลังระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับ 250 ส.ว.เพื่อเตะถ่วง หน่วงเวลาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ยืดยาวออกไปอีก

แต่ภายในชัยชนะนั้นกลับสร้างรอยร้าวให้เกิดขึ้นกับพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย อย่างมิอาจปฏิเสธได้

และที่สุดก็นำมาสู่การจำต้องเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม

 

ไม่ว่ากรณีการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรง ไม่ว่ากรณีการสลายการชุมนุม กลไกอำนาจรัฐของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา อาจประเมินว่าเป็นการรุก

แต่สถานการณ์รุกก็แปรเปลี่ยนเป็น”ตั้งรับ”

ตั้งรับจากตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคม สิงหาคม กันยายนกระทั่งเดือนตุลาคมอย่างต่อเนื่องและยาวนาน