เรื่องเล่าฤดูร้อน : ดวงใจ-แผ่นดินคุณหญิงทูต

ข่าวการแต่งตั้งเอกอัครทูตสหรัฐอเมริกาประจำกรุงพนมเปญคนใหม่เมื่อกันยายนปีกลาย นับว่าเป็นข่าวใหญ่ที่สร้างความสนใจต่อชาวกัมพูชารวมทั้งฉัน นั่นก็คือ

เมื่อทราบว่าคุณหญิงทูตท่านนี้ เธอเกิดที่กัมพูชาและเคยถือสัญชาติเขมรมาก่อนที่ เด็กหญิงกำพร้า ที่หนีไปอาศัยค่ายอพยพเขาอีด่าง กระทั่งมีโอกาสไปตั้งรกรากที่สหรัฐ

เด็กหญิง(เกน)มาโน โสธี ที่สูญเสียบิดามารดาจากเหตุการณ์เขมรแดงคนนั้น บัดนี้เธอได้หวนคืนกลับสู่มาตุภูมิอีกครั้งอย่างน่ารมเพบ/ปลาบปลื้มปีติ

โดยครั้งแรกที่เธอกลับมากรุงพนมเปญนั้น เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2540 และคราวนั้นเอง ที่มีเหตุการณ์ให้ มาโน โสธี ต้องกลับไปสหรัฐ แต่ 17 ปีให้หลัง โสธีก็กลับมาอีกครั้ง คราวนี้เธอได้เปลี่ยนนามสกุลเป็น โสธี ไฮดท์ สุภาพสตรีผู้กลายเป็นคุณหญิงทูต (สหรัฐ) คนแรกที่มีเชื้อสายกัมพูชา

นับเป็นเทพนิยายเพ้อฝัน “จุมเตียว” เวอร์ชั่นฉบับการทูต ที่น่าหลงใหล

สําหรับเด็กสาวรุ่นกัมพูชา ซึ่งเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้วนี้เอง พวกเธอต่างจดจำสุภาพสตรีหมายเลข 1 สหรัฐที่มาเยือนประเทศในโครงการ “Let Girls Learn”

กัมพูชาคือจุดหมายปลายทางโครงการรณรงค์เพื่อให้เด็กผู้หญิงได้มีโอกาสเรียนหนังสือ ซึ่งในกัมพูชาเอง นับว่ามีความก้าวหน้าไปมาก กระนั้น ก็ยังมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ยังขาดโอกาสในการศึกษา

“Let Girls Learn” จึงเป็นโครงการที่ผู้นำสตรีอย่าง จุมเตียวบุน รานีฮุนเซน ให้การสนับสนุน

แม้ว่าเมื่อจุมเตียวโอบามาคล้อยหลังไปแล้ว โครงการ (หรือการมาเยือน) ดังกล่าว จะดูไม่เป็นที่สบอารมณ์ของ สมเด็จฮุน เซน สักเท่าใด

ตามสุ้มเสียงวิจารณ์ที่ออกรายการโทรทัศน์แห่งชาตินั้น พอจะจับความว่า สมเด็จประสงค์จะเห็นการลงทุนเชิงเมกะโปรเจ็กต์ด้านการศึกษา มากกว่าการแสดงออกทางอุดมคติ ที่ปราศจากเม็ดเงินให้เปล่า

แต่แล้วก็พบว่า นายกรัฐมนตรีกัมพูชาดูจะสมมาตรปรารถนาจากเพื่อนบ้านรายหนึ่งซึ่งให้ความช่วยเหลือโครงการด้านนี้ไปเมื่อต้นปีนี้เอง

จบข่าว

กระนั้นก็ตาม ก็พอจะจัดได้ว่า การมาถึงของ จุมเตียวโสธี ไฮดท์ นี้ ด้านหนึ่งได้ช่วยสานต่อโครงการ “Let Girls Learn” ที่สุภาพสตรีสหรัฐเคยริเริ่มไว้

และอาจจะราบรื่นต่อไปในภายภาคหน้าก็เป็นได้ เนื่องจาก จุมเตียวโสธี ไฮดท์ เองก็พูดภาษาเขมร ภาษาเดียวกับ ท่านผู้หญิงบุน รานีฮุนเซน

ความสัมพันธ์ในอดีตที่ไม่ค่อยจะอบอุ่น ก็อาจจะกลับแนบแน่นกันมากขึ้น หลังจากไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ ปล่อยให้นักการทูตหญิงของปักกิ่งเดินแต้มนำหน้าไปหลายไมล์ทะเลจีนใต้

ประกายความหวังต่อสังคมกัมพูชานี้ จึงเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นที่จะเห็นบทบาทสตรีกัมพูชามีความเข้มแข็งและพัฒนาประเทศที่เจริญรุดหน้าขึ้นเป็นลำดับ

แรงขับเคลื่อนดังกล่าวนี้ดูจะมีแรงหนุนจากองค์กรเอกชนทั้งในและต่างแดน โดยเฉพาะด้านการศึกษา

เกิดปลายปี “60 ที่หมู่บ้านกันดาล อำเภอโกโกก จังหวัดโพธิสัตว์ ในครอบครัวข้าราชการกรมอุตุนิยม บิดาของเธอซึ่งสนับสนุนด้านการศึกษา และเป็นความทรงจำเดียวที่อยู่ในใจโสธี นั่นคือ ความพยายามเล่าเรียนให้มากที่สุด

“ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในชีวิต การศึกษาเท่านั้น ที่จะช่วยทำให้เราพ้นจากความยากลำบาก และเป็นทางเดียวที่ทำให้เรา “เหลือรอด” ถ้าเรามีพื้นฐานการศึกษาที่ดี อย่างน้อยก็จะเป็นต้นทุน ให้เรารอดพ้นจากปัญหาทั้งหมด การศึกษาเท่านั้นที่จะส่งเสริมให้เราไปสู่สิ่งที่ต้องการได้ในที่สุด”

นั่นคือแรงผลักดันหนึ่งซึ่งทำให้โสธี มุ่งมั่นฝึกฝนภาษาอังกฤษทั้งที่ค่ายอพยพชายแดนไทยและฟิลิปปินส์ จนเธอสามารถทำงานเป็นล่ามตั้งแต่ยังมีคำนำหน้าเป็นเด็กหญิง จนในที่สุด ก็ได้อพยพไปตั้งรกรากที่สหรัฐในช่วงปี “80

มาโน โสธี ศึกษาจนสำเร็จระดับมหาบัณฑิต สาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ ที่ได้มาจากการทำงานนอกเวลา และการเงินหลวงเป็นค่าเล่าเรียน โดยช่วงเวลาหนึ่งในการศึกษาระดับวิทยาลัยนั้น โสธียังทำงานในชุมชนผู้อพยพอีกด้วย

ในปี 2540 โสธีตัดสินใจกลับบ้านเกิดกัมพูชาในทันทีที่เธอได้งานในโครงการหนึ่ง ซึ่งที่นี่เองที่ทำให้เธอได้พบกับ วิลเลี่ยม ไฮดท์ นักการทูตหนุ่มซึ่งเพิ่งมาประจำการที่กรุงพนมเปญ

“ก็แปลกดีอยู่ที่อเมริกาก็ไม่เจอเนื้อคู่ แต่กลับมาเจอที่เขมร”

เมื่อหมดสัญญาที่กัมพูชาในปี 2542 ทั้งสองตัดสินใจแต่งงานแบบประเพณีเขมรที่สหรัฐ และการเริ่มชีวิตภริยาข้าราชการกระทรวงต่างประเทศที่ต้องไปประจำการในต่างแดนของสมาชิกตระกูลไฮดท์ พ่อ-แม่-ลูก ก็ดูจะไม่แตกต่างจากครอบครัวอื่นทั่วไป

เพียงแต่ 17 ปีให้หลังการหวนคืนแผ่นดินกัมพูชาอีกครั้ง ก็เป็นวาระที่ทำให้พวกเขาตื้นตันและภาคภูมิใจ

“มันเป็นความสุขเหลือเกินที่เราได้กลับมาที่นี่…” คุณหญิงโสธีกล่าวให้สัมภาษณ์สื่อท้องถิ่น

“ธรรมดาเวลาที่เราไปประจำการประเทศอื่นๆ ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้อง เราก็ทำหน้าที่เหมือนนักการทูตทั่วไป… แต่สำหรับที่นี่ มันพิเศษตรงที่เป็นบ้านเกิดของดิฉัน มันเป็น 2 ความรู้สึกที่ซ้อนกันเข้ามาสำหรับดิฉัน คือทั้งฝ่ายกัมพูชาที่ฉันเกิดและสหรัฐอเมริกา (ที่ฉันเป็นพลเมือง) คงไม่มีอะไรที่เราอยากจะเห็นไปมากกว่านี้…

“…และสิ่งนั้นก็คือ ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันทั้ง 2 ประเทศ”

ดูเหมือนตั้งแต่ปีใหม่สากลที่ผ่านมา ทั้งโลกจุมเตียวและท่านทูตวิลเลี่ยม ไฮดท์ ได้ร่วมกันส่งสารความสุขแก่ชาวกัมพูชาในแบบต่างๆ โดยเฉพาะการทำกิจกรรมทางสังคมร่วมกัน การสื่อสารกับประชาชนกัมพูชาด้วยภาษาเขมร ซึ่งถูกเผยแพร่ในสื่อท้องถิ่นและโซเชียลอย่างบ่อยครั้ง

ภาพทูตวิลเลี่ยมเดินทางไปเยือนถิ่นกำเนิดภริยาที่จังหวัดโพธิสัตว์ พบปะกับชาวบ้านในชนบทและพูดคุยด้วยภาษาถิ่นอย่างเป็นกันเองนี้ ดูจะไม่เคยเห็นภาพชัดเจนที่ใกล้ชิดในปฏิบัติภารกิจการทูตยุคใดมาก่อน

“สำหรับผมแล้ว มันน่าตื่นเต้นเสียยิ่งกว่า ที่เราได้มีโอกาสกลับมาเห็นความเจริญรุ่งเรืองกัมพูชาอีกครั้ง เมื่อเทียบกับ 17 ปีก่อน” ฯพณฯ ไฮดท์ กล่าว

พร้อมคำมั่นสัญญาว่าจะเดินสายพบปะประชาชนให้ครบทุกเขตแคว้น ทั้งนี้ เพื่อรับฟังความต้องการ และหาทางช่วยเหลือในกิจการใดที่ตนจะทำได้

เมื่อถูกถามว่า “ในฐานะนักการทูต ท่านตกหลุมรักภริยาเพราะชาติกำเนิดเดิมของเธอหรือเปล่าที่เป็นอนุสรณ์ดลใจ?”

ท่านทูตไฮดท์ถึงกับอึ้ง รำพึงว่า ช่างเป็นคำถามที่ดีมาก

“แต่จริงๆ แล้ว ไม่ใช่เพราะประเทศกัมพูชาหรอกนะที่ทำให้ผมรักเธอ แต่บังเอิญว่าเราได้มาพบกันที่นี่ ตกหลุมรักและแต่งงานกัน ผ่านไป 17 ปี เราก็มีความสุขมากจริงๆ ที่ได้กลับมาที่กัมพูชาอีกครั้ง”

“ผมน่ะ จริงๆ แล้วหลงรักกัมพูชามากเลยครับ!” (ขญม ปิ๊ด เจีย สรอลัญ กัมปูเจีย คลัง น่ะ!)

คุณหญิงโสธีนั้น ยืนยันว่า สามีของเธอเพียรพยายามอย่างมากในการศึกษาทั้งภาษาขะแมร์และวัฒนธรรมเขมรตลอดช่วง 15 ปีที่ผ่านมา แม้จะไม่ปะติดปะต่อ

“แต่ท่านก็พยายามเรียนรู้ทุกอย่าง”

ดังความปรารถนาที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับชาวกัมพูชาในทุกสถานะ ตั้งแต่การสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างใกล้ชิด

เท่าที่ทราบ ฯพณฯ วิลเลี่ยม ไฮดท์ ยังให้สัญญาต่อชาวกัมพูชา ในการให้ความสำคัญต่อขบวนการปฏิรูปกฎหมาย และการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี พ.ศ.2561 ไม่เพียงเท่านั้น เอกอัครทูตไฮดท์ก็ยังขึ้นเฮลิคอปเตอร์ร่วมกับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของกัมพูชา บินสำรวจผืนป่าไปรลอง (Prey Lang) เหนือทะเลสาบฝั่งตะวันตก ครอบคลุมพื้นที่ 8 แสนไร่ใน 7 จังหวัดของกัมพูชาที่มีการลักลอบบุกรุกทำลายจนถึงขั้นวิกฤต

นอกจากจะมีภาพลักษณ์ที่แตกต่างจากการทูตยุคก่อนๆ แล้ว

ทั้งสองท่านยังติดดิน เรียบง่าย ผ่อนคลาย แต่ไม่ธรรมดา!

เหตุที่จุมเตียวโสธีได้กลายเป็นตัวอย่างของสตรีกัมพูชาที่สมรสกับชาวอเมริกัน และประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างดงาม

จึงมีสตรีเขมรไม่น้อยที่อยากให้คุณหญิงทูตโสธีออกหน้าช่วยเหลือพวกเธอบ้าง

ตัวแทนสตรีกลุ่มนี้แลที่ร้องขอให้คุณหญิงโสธี ไฮดท์ รับทราบปัญหา ที่พวกเธอต่างเดือดเนื้อร้อนใจต่อกฎหมายเขมรฉบับหนึ่งซึ่งห้ามมิให้ชายต่างชาติสูงวัยที่แก่เกิน 50 ปีแถมมีรายได้ต่ำสามารถสมรสกับสตรีเขมรอย่างถูกกฎหมาย!

โดยไม่ว่า ส.ว. รายนั้น จะเป็นมะกันหรือชาติไหน โครงการกฎหมายเฉพาะกิจแนว “Let Girls Learn” ของกัมพูชาฉบับนี้ ทำออกมาเมื่อ 8 ปีก่อน นัยว่า เพื่อสกัดกั้นขบวนการค้ามนุษย์ และชายแก่ไวอะกร้าที่มีรสนิยมชอบสาวเขมรวัยกระเตาะ

จุมเตียวโสธีขา “Let Girls Learn” ค่ะ

หมายเหตุ : “เรื่องเล่าฤดูร้อน” ฉบับ “ตามล่าลูกพ่อมด” ตามสื่อกัมพูชา ผู้เขียนเทียบตำแหน่ง “เสนาธิการเอก” ของ ฮุน มาเน็ต เท่ากับ พลเอก ซึ่งที่ถูกต้องคือ “พลโทฮุน มาเน็ต รอง ผบ.ทบ./ผบ.หน่วยต่อต้านการก่อการร้ายกัมพูชา”

ขออภัยและซมโต๊ะมา ณ ที่นี้

อภิญญา ตะวันออก