อดีตจมใต้น้ำ : เขื่อนกับผลต่อแหล่งมรดกทางอารยธรรม

โลกปัจจุบันมีแหล่งมรดกทางอารยธรรมที่บอกเล่าเรื่องราวในอดีตซึ่งยังคงหลงเหลือจนถึงทุกวันนี้ ได้สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และการศึกษาทางประวัติศาสตร์ได้ทำให้รู้ความเป็นมาของชีวิตผู้คน เศรษฐกิจและวัฒนธรรมความเชื่อของผู้คนที่ใช้ชีวิตในยุคก่อน

แต่รุกคืบของการพัฒนาความเจริญ ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อม ยังสร้างความเสียหายและทำให้ซากอารยธรรมถูกกลืนจมหายจนไม่มีโอกาสได้ยลโฉมให้เห็นอีก

การทำลายมรดกทางวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานาน ทั้งโดยเจตนาซึ่งต้องยกกรณี การระเบิดพระพุทธรูปหินสลักบามิยันในอัฟกานิสถานโดยกลุ่มทาลิบันที่เคร่งอิสลามแบบสุดโต่ง

แต่ก็ยังมีการทำลายโดยอ้อมซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ อย่างการสร้างสิ่งก่อสร้างที่ส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ หนึ่งในนั้นคือการสร้างเขื่อน

ล่าสุดงานศิลปะยุคพุทธศาสนาอย่างจารึกสลักบนหินในกิลกิต-บาลิสถานในแคว้นจัมมู-แคชเมียร์ กำลังถูกกลืนหายจากโครงการสร้างเขื่อนเดียเมอร์-บาชาร์ บนแม่น้ำสินธุ โดยอิมราน ข่าน นายกรัฐมนตรีปากีสถาน ได้ประกาศเริ่มการก่อสร้างเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

เขื่อนนี้เป็นโครงการที่รัฐบาลปากีสถานได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลจีนในการก่อสร้างเพื่อกักเก็บน้ำขนาด 6.4 ล้านลูกบาศก์ฟุต ไว้ใช้ในการชลประทานให้กับชุมชนเกษตรกรรมและผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 4,500 เมกะวัตต์ เพื่อป้อนกระแสไฟเข้าไปในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เหล็กกล้าเพื่อสร้างงานให้กับชุมชนโดยรอบกว่า 16,000 ตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม การสร้างเขื่อนนี้ จะทำให้รูปปั้น งานสลักหิน และสิ่งปลูกสร้างที่หลงเหลือในยุคอารยธรรมแม่น้ำสินธุ ซึ่งมีความสำคัญในทางโบราณคดีและการศึกษาประวัติศาสตร์อารยธรรมแรกเริ่มของมนุษย์ในแถบนี้ต้องจมอยู่ใต้น้ำ

รวมถึงมรดกทางพุทธศาสนาซึ่งดึงดูดผู้แสวงบุญจากจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มาสักการะทุกปีด้วย

 

อย่างไรก็ตาม การสร้างเขื่อนเดียเมอร์-บาชาร์ นอกจากส่งผลคุกคามต่อระบบนิเวศและความเสียหายต่อมรดกทางอารยธรรมแล้ว จุดที่สร้างเขื่อนในจังหวัดไคเบอร์-ปัคตุนควา ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน ยังเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้งด้วยพื้นที่อยู่แนวรอยเลื่อนเอเชียกลาง

ดร.กุลัม ซัฟดาร์ บุตต์ ผู้ออกแบบเขื่อนนี้กล่าวว่า หากแผ่นดินไหวส่งผลต่อเขื่อนจนแตก มวลน้ำมหาศาลจะกวาดพื้นที่ตาร์เบอร์ร่าและทุกส่วนในสินธุ จนพาเรากลับไปสู่ยุคหิน

แต่ถึงกระนั้น นายกรัฐมนตรีปากีสถานขนานนามการสร้างเขื่อนนี้เป็นเสาหลักเริ่มต้นการพัฒนาประเทศครั้งประวัติศาสตร์

 

ทั้งนี้ ปากีสถานไม่ใช่ที่เดียว ที่การสร้างเขื่อนจะส่งผลกระทบต่อมรดกทางอารยธรรมและระบบนิเวศ ยังมีหลายประเทศซึ่งมีที่ตั้งแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ต้องถูกจมอยู่ใต้น้ำแล้ว

ฮาซันเคฟ เมืองโบราณในหุบเขาอันสวยงาม ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำไทกริสในเขตแดนของประเทศตุรกี อายุกว่า 12,000 ปี ซึ่งมีสถานที่ทั้งป้อมปราการสมัยยุคจักรวรรดิโรมัน หรือซากสะพานยุคกลางที่ย้อนกลับไปสมัยการค้าอันรุ่งเรืองของเส้นทางสายไหม และยังเป็นที่อาศัยของประชาชนหลายหมื่นชีวิต ต้องจมอยู่ใต้น้ำจากระดับน้ำที่สูงขึ้นอันเป็นผลจากเขื่อนอิลิซู โครงการขนาดใหญ่อันล่าสุดของรัฐบาลประธานาธิบดีเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน

หลังชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 เมื่อปี 2550 แอร์โดอานประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวเคิร์ดอาศัย โดยผลักดันหลายโครงการรวมถึงการสร้างเขื่อนดังกล่าว ที่ไม่เพียงการสร้างความมั่นคงพลังงานแต่ยังรวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่อีกด้วย

ตลอดการเคลื่อนโครงการก็มีเสียงต่อต้านจากกลุ่มคัดค้านซึ่งประสบความสำเร็จในตอนแรก จนทำให้ชาติยุโรปถอนการสนับสนุนทางการเงิน แต่แล้วรัฐบาลตุรกีกลับไม่หยุดและสั่งให้ธนาคารในประเทศอนุมัติงบฯ โครงการแทน

แม้จะมีการสร้างเมืองขึ้นใหม่ให้กับผู้ไร้ที่อยู่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน แต่สำหรับชาวเมืองฮาซันเคฟที่ยังคงอาศัยอยู่เมืองนี้ ต้องมองระดับน้ำที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นและไม่ได้เห็นแนวต้นวอลนัทหรือทับทิมที่ปลูกริมฝั่งน้ำเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว

 

อีกแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อใกล้ไทยอย่างหลวงพระบาง ที่ยูเนสโกยกให้เป็นเมืองมรดกโลกก็กำลังเผชิญการคุกคามจากการสร้างเขื่อนด้วย แต่การคุกคามกรณีนี้อาจมาจากสิ่งที่คาดเดาไม่ได้

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เอเชีย เซนทิเนล รายงานคำสัมภาษณ์ของนักธรณีวิทยาชาวไทยที่ออกมาเตือนว่า พื้นที่ที่มีการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบาง อยู่ใกล้กับแนวรอยเลื่อนที่ยังคงเคลื่อนตัวเพียง 8.6 กิโลเมตร หากเกิดแผ่นดินไหวขึ้น เขื่อนหลวงพระบางคือความเสี่ยงใหญ่หลวง

ก่อนหน้านี้ สปป.ลาวประสบภัยพิบัติจากเขื่อนแตกมาแล้วเมื่อปี 2561 เมื่อแนวกั้นของเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยเกิดพังทลาย ทำให้มวลน้ำมหาศาลท่วมพื้นที่ทั้งแขวงอัตตะปือและแขวงจำปาสัก จนเสียชีวิต 27 ราย สูญหาย 130 ราย และประชาชนกว่า 6,000 คนต้องไร้ที่อยู่

นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยชื่อดังของไทยท่านนี้ได้แสดงความกังวลว่า จากการลงพื้นที่สำรวจทางตอนเหนือของลาว มีความกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นและความเป็นไปได้ที่จะเกิดความเสียหายต่อเมืองมรดกโลก

ทั้งนี้ นักแผ่นดินไหววิทยาได้เสนอแนะว่า ไม่ควรมีเขื่อนใดดำเนินการก่อสร้างโดยไม่ศึกษาแนวรอยเลื่อน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความปลอดภัย

ถ้ามีการก่อสร้างขึ้นใกล้แหล่งมรดกโลกในไทยเหมือนกับที่หลวงพระบาง ก็จะไม่อนุญาตให้มีการสร้างเขื่อนแน่