อนุช อาภาภิรม : อุตสาหกรรมอาหารในช่วงการระบาดใหญ่

วิกฤตินิเวศ สงครามและการยับยั้งสงคราม (26)
สมรภูมิต่อสู้กับไวรัสในระบบอาหาร

เมื่อมนุษย์เปลี่ยนการตั้งถิ่นฐานมาสู่ชุมชนเมือง พวกเขาไม่ได้เข้ามาอยู่ในเมืองตามลำพัง หากได้นำพืชและสัตว์บางชนิดเพื่อการใช้งานและเป็นอาหารมาด้วย

ถือเป็น “การปฏิวัติเกษตรกรรมยุคหินใหม่” เรียกอย่างสั้นว่า “การปฏิวัติยุคหินใหม่”

การปฏิวัติเกษตรกรรมและการอาหารนี้ เป็นรากฐานอารยธรรมของมนุษย์ มีส่วนสำคัญในการกำหนดความเป็นไปทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสงคราม ความอดอยากและข้าวยากหมากแพง และการค้า

โดยจะกล่าวถึงการค้าเป็นตัวอย่าง

การค้าสมัยโบราณเกือบทั้งหมดเป็นสินค้าเกษตรและของป่า เช่น แพรภัณฑ์ ขนสัตว์ หนังสัตว์และเครื่องเทศ ไปจนถึงแร่ธาตุ ได้แก่ เงิน ทอง อำพัน ดีบุก และเกลือ

นอกจากนี้ ก็มีการค้ามนุษย์เพื่อใช้ทำงานหนักและเสี่ยงอันตรายด้วย

การแข่งขันเพื่อควบคุมเส้นทางค้าเครื่องเทศ ได้แก่ พริกไทย กานพลู อบเชย เป็นต้น มีมาแต่สมัยโบราณ

โดยในช่วงแรกพ่อค้าชาวอาหรับและประเทศทางตอนเหนือของแอฟริกาเป็นผู้ควบคุมเส้นทางนี้

แต่เครื่องเทศที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งและอำนาจ ได้ยั่วยวนใจให้ประเทศใหญ่ในยุโรปคิดหาทางสำรวจเส้นทางเดินเรือใหม่ของตนเองขึ้น

กล่าวกันว่าจุดประสงค์อย่างหนึ่งในการเดินทางของโคลัมบัสเอง เป็นไปเพื่อหาเส้นทางค้าเครื่องเทศ

การชิงกันเพื่อควบคุมเส้นทางค้าเครื่องเทศนี้ กล่าวกันว่าช่วยขับเคลื่อนให้เกิดกระบวนการโลกาภิวัตน์ในขั้นแรก

และก่อให้เกิดการแสวงหาอาณานิคมและการสงครามระหว่างดัตช์และอังกฤษยาวนานกว่า 100 ปี (1652-1783)

การสงครามอันเนื่องมาจากสินค้าเกษตรที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง เกิดขึ้นระหว่างอังกฤษกับจีน คือสงครามฝิ่น (1839-1842 และ 1856-1860) เมื่ออังกฤษต้องการนำฝิ่นไปค้าแลกกับใบชาจากจีน โดยไม่ใช้เงินซื้อชา

(ดูรายงานข่าวของ John Mikytuck ชื่อ Spices were an early engine of globalization, says Tagliacozzo on New York City panel ใน news.cornell.edu 18/01/2010)

 

ระบบอาหารปัจจุบัน (นับจากหลังสงครามโลกครั้งที่สอง) มีลักษณะเด่น 2 ประการ

ได้แก่ การแปรการเกษตรให้เป็นเชิงอุตสาหกรรม

และเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ หรือธุรกิจการเกษตร (Agribusiness)

การแปรเกษตรกรรมเป็นเชิงอุตสาหกรรมเริ่มต้นในยุโรปและแพร่สู่สหรัฐซึ่งเป็นอาณานิคมของคนผิวขาว มีลักษณะเด่น ได้แก่

ก) การใช้สารเคมีในรูปของปุ๋ย (เดิมใช้ปุ๋ยอินทรีย์/ปุ๋ยคอก) สารกำจัดศัตรูพืชและสัตว์

ข) การใช้เครื่องจักรกล ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างเห็นชัด เนื่องจากงานการเกษตรเป็นงานหนักและซ้ำซาก

ค) การทำฟาร์มแบบเฉพาะอย่าง หรือแบบเชี่ยวชาญขึ้น เป็นการเกษตรเชิงเดี่ยว จากเดิมที่เกษตรกรมักทำงานเกษตรหลายอย่างพร้อมกัน

การแปรเกษตรกรรมเป็นเชิงอุตสาหกรรมแม้ว่าจะดูเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่เนื่องจากพื้นฐานทางสังคมของชาติต่างๆ ตั้งอยู่บนการเกษตร มีวัฒนธรรมการเกษตรหรือวัฒนธรรมชาวนา จึงต้องใช้เวลาพอสมควรในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

เช่น กรณีสหรัฐ ในปี 1920 ซึ่งมีการทำสำมะโนเกษตรครั้งแรก พบว่าประชากรสหรัฐมากกว่าครึ่งหนึ่งดำเนินชีวิตในชนบท ที่เป็นเกษตรกรมีร้อยละ 30.2 ของประชากรทั้งหมด (ขณะนั้นมีราว 106 ล้านคน)

เกษตรกรเหล่านี้มีทักษะในด้านการเลี้ยงสัตว์และการเพาะปลูก กับทั้งมีความคิดที่จะประสานการทำฟาร์มของตนเข้ากับการมีสุขภาพดี การทำงานในฟาร์มใช้แรงงานคนและสัตว์

การแปรเป็นเชิงอุตสาหกรรมก่อผลกระทบต่อการเกษตรโดยตรงคือทำให้จำนวนฟาร์มลดลง ขณะที่ขนาดฟาร์มใหญ่ขึ้นและจำนวนคนงานและสัดส่วนของผลิตภัณฑ์การเกษตรในจีดีพีของชาติลดลงอย่างรวดเร็วด้วย

ตัวอย่าง ในกรณีสหรัฐ ในปี 1900 ร้อยละ 41 ของการจ้างงานอยู่ในภาคเกษตร ปี 1930 ร้อยละ 21.5 ของการจ้างงานอยู่ในภาคเกษตร จีดีพีภาคการเกษตรคิดเป็นร้อยละ 7.7 ของทั้งหมด ปี 1970 ร้อยละ 4 ของการจ้างงานอยู่ในภาคเกษตร จีดีพีภาคการเกษตรคิดเป็นร้อยละ 2.3 ของทั้งหมด ปี 2000/2002 แรงงานรับจ้างร้อยละ 1.9 ทำงานในภาคเกษตร จีดีพีของการเกษตรคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.7 ของทั้งหมด

กรณีของสหรัฐที่เกิดการแปรการเกษตรเป็นเชิงอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเกิดจากการได้แรงเสริมจากกระแสการเคลื่อนไหว “ธุรกิจการเกษตร” ซึ่งมีหลักปรัชญาสำคัญ คือลดทอนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรเดิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ วัฒนธรรม หรือสิ่งแวดล้อม ให้มาอยู่ในร่มธงหรือแนวคิดด้านธุรกิจ ได้แก่ เรื่องกลไกตลาด การแทรกแซงของรัฐ บทบาทสถาบันการเงิน การบริหารจัดการฟาร์ม

เหล่านี้ ด้านหนึ่ง เร่งการแปรเกษตรกรรมเป็นเชิงอุตสาหกรรมและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น เช่น ใช้การกำหนดตำแหน่งจากดาวเทียม ใช้การเซ็นเซอร์ ใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ และการดัดแปรทางพันธุกรรม เป็นต้น

อีกด้านหนึ่ง เร่งการรวมศูนย์กิจกรรมทางการเกษตรตั้งแต่การผลิต การกระจาย การแปรรูปและการบริโภค เกิดเป็นห่วงโซ่มูลค่าแนวตั้งสร้างการเกษตรพันธสัญญาและการเกษตรแนวตั้งขึ้น

เหล่านี้ยิ่งทำให้เกษตรกรรายย่อยดำรงอยู่ด้วยตนเองยากขึ้น ต้องเข้าเป็นเครือข่ายของบรรษัทการเกษตรขนาดใหญ่

 

กระแส “การปฏิวัติเขียว” ในประเทศกำลังพัฒนาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ได้ทำให้การแปรเกษตรกรรมเป็นเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์แพร่ไปทั่วโลก โดยมีรายละเอียดการปฏิบัติต่างกันไป เช่น ในยุโรปยังคงนิยมการเกษตรอินทรีย์ และไม่ต้องการบริโภคพืชและสัตว์ดัดแปรพันธุกรรมเหมือนสหรัฐ แต่กระแสหลักเป็นไปตามที่กล่าวแล้ว

การปฏิวัติการเกษตรที่ต่อเนื่องกันมานาน ก่อผลสำคัญต่ออารยธรรมมนุษย์สองประการ

ประการแรก เป็นการปลดปล่อยผู้คนออกจากงานหนักและซ้ำซากในชนบทมาสู่เมือง จนปัจจุบันประชากรเมืองของโลกมีมากกว่าประชากรในชนบท รวมทั้งในประเทศไทย

ประการที่สอง เป็นการปลดปล่อยสตรีจากงานบ้านซึ่งที่สำคัญคือการทำอาหาร ให้สามารถออกมาทำงานนอกบ้านได้

แต่การปลดปล่อยนี้มีค่าใช้จ่ายที่ต้องแลกหลายประการ

ได้แก่ ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการเกษตรและการจับปลามากไป การมีอาหารอย่างเหลือเฟือขณะที่ผู้คนจำนวนมากแม้ในประเทศพัฒนาแล้วต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารและการอดมื้อกินมื้อ โดยเฉพาะเมื่อเผชิญโรคระบาดโควิด-19

การมีอาหารที่ไม่เอื้อต่อสุขภาพ เกิดโรคอ้วน เป็นต้น

เกิดการผูกขาดและการกระจุกตัวทางอุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรมอาหาร กระทบต่อโซ่อุปทานทางด้านนี้ได้ง่าย

 

การแปรเป็นเชิงอุตสาหกรรมและเชิงธุรกิจ ได้ส่งผลต่อมนุษย์ พืชและสัตว์ที่มนุษย์พาติดตัวมาด้วยคล้ายคลึงกันหลายประการ

ข้อแรก คือสัตว์และพืชเหล่านั้นต้องมาอยู่กันอย่างแออัดในพื้นที่แคบ มนุษย์อยู่ในเมือง และโรงงาน สำนักงาน สัตว์อยู่ในฟาร์มโรงงาน พืชอยู่ในไร่นาเชิงเดี่ยว มีพืชบางชนิด เช่น ยูคาลิปตัส กล้วย มะละกอ เพาะปลูกโดยใช้การขยายพันธุ์แบบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งทั้งแปลงปลูกมาจากต้นเดียวกัน เพื่อสะดวกในการดูแลจัดการ

ข้อที่สอง มนุษย์ สัตว์และพืชเหล่านั้นต้องได้รับการเลี้ยงดูจากอาหารอุตสาหกรรม ปุ๋ยเคมี สารเคมีต่างๆ รวมทั้งยา และได้รับการดูแลหรือความสะดวกสบายจากเครื่องจักร ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถอยู่รอดได้ ภายใต้การมีชีวิตที่ห่างจากสิ่งแวดล้อมธรรมชาติมากนี้ มนุษย์ สัตว์และพืชเหล่านี้มักมีสุขภาพไม่แข็งแรง มีโรคประจำตัวอย่างใดอย่างหนึ่ง เสี่ยงต่อการติดเชื้อและเกิดโรคระบาด

ข้อที่สาม มนุษย์ สัตว์และพืชถูกลดทอนจากการเป็นสิ่งมีชีวิตสู่การเป็นเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ที่ไร้ชีวิต เช่น มนุษย์ถูกมองว่าเป็นเหมือนเครื่องจักรเพื่อกำไร ที่ไม่ทำกำไรจะถูกขจัดทิ้งไป และมักถูกเปรียบเทียบว่าทำงานขยันสู้เครื่องจักรไม่ได้

สัตว์บางชนิด เช่น ไก่และหมู ถูกถือว่าเป็นเพียงเครื่องจักรที่ออกไข่และให้เนื้อ

 

ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้ ไวรัสโคโรนาได้โจมตีไปใน 3 จุด

จุดแรก ได้แก่ ฟาร์มโรงงาน แต่ไม่ใช่ฟาร์มไก่และหมูอย่างที่หวั่นเกรงกัน หากเป็นฟาร์มมิงก์ซึ่งมีการผลิตหนัง/ขนมิงก์ปีละราว 60 ล้านชิ้น ประเทศที่ผลิตขนมิงก์มากในโลก ได้แก่ จีน เดนมาร์ก โปแลนด์ เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐ

การระบาดของโควิด-19 เริ่มขึ้นที่ฟาร์มมิงก์สองแห่งในเนเธอร์แลนด์ช่วงเดือนเมษายน 2020 แล้วแพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็ว พบการระบาดในสเปน เดนมาร์ก และการระบาดนี้ยังลามไปที่ฟาร์มมิงก์ในสหรัฐ เริ่มที่รัฐยูทาห์

การระบาดดังกล่าว ทำให้มีการฆ่าตัวมิงก์จำนวน 1 ล้านตัวในเนเธอร์แลนด์ก่อนเวลาฆ่า โดยการรมแก๊ส รัฐบาลดัตช์ประกาศจะเลิกฟาร์มมิงก์ภายในเดือนมีนาคม 2021 ที่สเปนก็มีการสังหารมิงก์ไปราว 1 แสนตัว

มีรายงานทางวิชาการว่า “ขนาดของประชากรและโครงสร้างการทำฟาร์มมิงก์อยู่ในสภาพที่ว่า เมื่อมีการอุบัติของโรคแล้ว มันจะขยายตัวต่อเนื่องเป็นวงจร …ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานบริการทางการแพทย์ ทั้งของสัตว์และของคน จึงเป็นสิ่งสำคัญป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งเก็บโรคที่จะแพร่จะมาสู่มนุษย์และกลับกัน” (ดูบทรายงานของ Nary Van Beusekom ชื่อ COVID-19 likely spreading from people to animals- and vice versa ใน cidrap.umn.edu 18/09/2020)

จุดที่สอง ได้แก่ โรงงานแปรรูปบรรจุห่อเนื้อสัตว์ มีเนื้อวัวและไก่ เป็นต้น ซึ่งคนงานทำงานหนักในพื้นที่แคบ และเย็นมาก เป็นจุดที่เกิดการระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง จนต้องปิดโรงงานแปรรูปเนื้อเหล่านี้หลายแห่งในสหรัฐ และกักตัวคนงานจำนวนหลายแสนคน สหพันธ์คนงานได้เรียกร้องสวัสดิการและมาตรการความปลอดภัยในการทำงาน

จุดที่สาม ได้แก่ แรงงานเกษตรต่างด้าว ซึ่งจำเป็นสำหรับหลายประเทศพัฒนาแล้ว เช่น แคนาดาที่เป็นประเทศมีพื้นที่การเกษตรกว้างใหญ่ แต่มีประชากรน้อย ต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวมาช่วยทำ เพราะว่าชาวแคนาดาก็ไม่ต้องการทำงานที่หนักและมีรายได้น้อยเหล่านี้ มันเป็นแรงงานจำเป็นที่เดิมถูกมองข้าม แต่โควิด-19 ที่ทำให้ต้องเข้มงวดในการผ่านแดน ได้ชี้ให้เห็นปัญหาที่ซุกซ่อนนี้

(ดูบทรายงานชื่อ The coronavirus reveals the necessity of Canada”s migrant workers ใน theconversation.com 13/05/2020)

 

โดยรวมเฉพาะหน้านี้ โควิด-19 ได้ส่งผลต่อระบบอาหารของผู้คนทั้งหลายสองด้านที่ขัดแย้งกัน

ด้านหนึ่ง ทำให้การบริโภคอาหารลดลง เช่น กิจการร้านอาหารพากันซบเซาเงียบเหงา

อีกด้านหนึ่ง ทำให้ราคาอาหารสูงขึ้น ในเดือนสิงหาคม 2020 ประเทศจีนมีการรณรงค์ “กินข้าวหมดจาน” เพื่อต่อต้านการกินอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย

ขณะเดียวกัน เพื่อการประกันความมั่นคงทางอาหารของประเทศยามวิกฤติ ในสหรัฐมีการศึกษาพบว่า ผลกระทบเบื้องต้นของโควิด-19 ทำให้คนงานที่มีรายได้ต่ำถึงร้อยละ 44 เกิดความไม่มั่นคงทางอาหาร

(ดูบทความของ Julia A. Wolfson และเพื่อน ชื่อ Food Insecurity and COVID-19 : Disparities in Early Effects for US Adults ใน ncbi.nlm.nih.gov 02/06/2020)

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงสงครามยืดเยื้อกับโควิด-19 และความอ่อนล้าของมนุษย์