อภิญญา ตะวันออก : มัจฉาตนเลสาบกับภาพสลักหินยุคกลาง

อภิญญา ตะวันออก

ทบทวนว่าบทสนทนาระหว่างนครวัด-นครธมในรูปประติมากรรมนูนต่ำใน 2 ปราสาทหินนี้ จะมีอะไรให้พูดหนอ อีกตัวเราเองนั้นก็ช่างไร้มุมมองต่อรูปแบบนานาที่ปราสาทหินแห่งยุคกลางเขมรทั้งสองเคยถูกกล่าวไว้

แต่พอเป็นจริตที่เกี่ยวกับเกษตรกรรม ดิน น้ำ ป่าเขา ฉันก็ชอบมากที่จะอยู่ในโหมดนี้ ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะนำ 2 อาณาจักรต่างยุคมาอยู่ในหมวดเดียวกัน เว้นเสียแต่ตอนเป็นเมืองลับแลที่สาบสูญ

แต่ในบทเล่าตอนนี้ มาจากตอนหนึ่งของเรื่องชั่ง ตวง วัดฉบับบ้านๆ ที่ฉันพบว่า ณ บายนปราสาทแห่งเมืองพระนครนั้น เรื่องเล่าบ้านๆ เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ ที่นี่คือข้าวปลาอาหาร หยูกยาและค้าขาย พบได้ในประติมากรรมนูนต่ำทั่วไป

นับเป็นมูลฐานว่า ฤดูกาลยุคกลางสมัยนั้น น่าจะมีอยู่แค่ 2 ฤดู คือฤดูน้ำหลากกับฤดูแล้ง ครั้นน้ำบ่าน้ำหลาก ปลาไหลมากับน้ำ ผ่านมาตรงไหนก็จับปลากันตรงนั้น

ดังที่ฉันเคยเล่าใน “ชั่ง ตวง วัด” ฉบับบ้านๆ ของชาวเขมรที่ค่อนไปทางพืชไร่ข้าวกล้าและถั่วงาอาณาจักรนครธม ที่มีแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ทั้งบาราย-ตนเลสาบ มีอานิสงส์ให้ปลูกข้าวได้ทั้งปี

อนึ่ง ในฤดูแล้งเล่า? แทบจะกล่าวไว้น้อยมากในยุคนั้น เว้นเสียแต่ 8 ศตวรรษต่อมา เมื่อภาวะโลกร้อนกำลังคุกคามหนักข้อต่อชาวโลก รวมทั้งเหล่าปลาน้ำจืดของทะเลสาบใหญ่ที่เคยมีเป็นจำนวนมาก

กำลังเผชิญกับวิกฤต ที่สูญพันธุ์ไปเป็นจำนวนมาก

 

ชาวเขมรรู้จักปลาหลากหลายจากทะเลสาบใหญ่มานานโบราณแล้ว ทว่าปลาที่อยู่ในภาพสลักหินบนผนังและกำแพงปราสาทนครวัดและนครธมนี่สิ มิได้มีให้ศึกษามานานนัก

กระทั่งในปี พ.ศ.2516 เมื่อจัย ซน (ชัย ซน) ได้ทำวิทยานิพนธ์ด้านโบราณวิทยาในหัวข้อชนิดของปลาบนปราสาทหินเขมรยุคกลาง บัดดลเรื่องราวของปลาคลเรียง ปลาอัญแดง ปลาปรูล ปลากแอก (แกฺอก) ปลาครำ ปลาฉปิน และอื่นๆ ก็ระบุไว้ว่าเป็นสัตว์ที่สมบูรณ์มากสมัยเมืองพระนคร

แม้ไม่ครอบคลุมถึงชนิดและที่มาของแหล่งปลาเหล่านี้ แต่ก็นับเป็นคุณูปการอย่างมากที่จัย ซน ได้ทิ้งผลงานไว้

และกลายเป็นหัวข้อที่ตู้จ เซียงตะนา ผู้เชี่ยวชาญวิจัยปลาในคณะกรรมาธิการลุ่มแม่น้ำโขง (MRC) ได้ร่วมกันศึกษาปลาทะเลสาบใหญ่ กับด๊อกเตอร์บาบาร่า อัลเบร็ชต์ ในปี พ.ศ.2542

แปดปีต่อมา เวือน วุดที นักวิชาการโบราณคดีระดับ 6(*) ได้ช่วยไขปริศนางานประติมากรรมที่ปรากฏอยู่ในปราสาทหินและเหล่าปลาชนิดต่างๆ จากทะเลสาบใหญ่แต่ละสายพันธุ์ที่ถูกนำไปแกะสลักเป็นงานนูนต่ำ

โดยพบว่า มีปลาถึง 16 ชนิดที่ถูกนำมาแกะสลักประดับหินในห้องโถงของปราสาทนครวัด

ในจำนวนนี้มีถึง 10 ประเภทที่ถูกนำไปสลักไว้ในปราสาทบายน จากมัจฉาทั้งสิ้น 1,193 ตัว ไม่รวมพวกปลาแหว่งวิ่นที่มีรูปลักษณ์ไม่ชัดเจน

แต่เพราะปลาทะเลสาบใหญ่ยุคนั้นคงมากมายนับไม่ถ้วนแล้ว ที่ผนังบารายสระสรัยก็เป็นอีกแห่งหนึ่งซึ่งมีภาพมัจฉาสลักหิน

 

กลุ่มหลักๆ ของปลาทะเลสาบใหญ่คือวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) หรือกลุ่มปลาไน ปลาทองและปลาซิว หรือตรัยเมียนสรอกาในภาษาเขมร ประเมินว่าในทะเลสาบใหญ่กัมพูชาของปีนั้น น่าจะมีปลาตระกูลนี้ราวร้อยละแปดสิบ

ส่วนอีกสายพันธุ์คือวงศ์ปลากราย (Notopteridae) ปลาน้ำจืดจำพวกปลาไหล ปลาตะพัด หรือตรัยสลาด (ข) ประมาณร้อยละสิบ

แต่ปลาอีกชนิดหนึ่งที่ฉันจะได้ยินบ่อยๆ ในหมู่ชาวเขมรคือตรัยรส่หรือปลาช่อนเขมรที่ฉันคิดว่ามีจำนวนมาก แต่กลับพบว่าเป็นตระกูล Channidae ที่มีอยู่เพียงร้อยละสี่เท่านั้น

ที่เหลือเป็นวงศ์ปลากระทุงเหว (Belonidae) ที่ร้อยละห้า เขมรเรียกว่าตรัยผโตง

อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านในยุคกลางมาแล้ว ให้พบว่า ช่างศิลป์เมืองพระนคร (ธม) ให้ความสำคัญอย่างมากกับปลา 10 ประเภท ในจำนวนนี้มีปลาผโตงมากที่สุด รวมทั้งปราสาทเมืองนครวัด และให้สงสัยว่า ในอดีตกาลน่าจะนิยมบริโภคตรัยผโตงกันมาก

ข้อศึกษาครั้งนี้ มารำลึกอีกที ฉันก็ว่า น่าจะเก่าไปแล้วมากเมื่อเทียบกับภัยแล้งที่คุกคามทะเลสาบใหญ่ในปัจจุบัน จนทำให้ปลาเขมรจำนวนมากลดลงและบางชนิดก็เสี่ยงในการสูญพันธุ์

ก่อนจะปลดเปลื้องจินตนาการจากอดีตด้วยปลาบนภาพแกะสลักราว 800 ปีก่อน แต่ตอนนี้เรากำลังอยู่ในพันธนาการใหม่ของปัญหาภัยคุกคามใหม่ที่ยากจะจินตนาการ แต่กระนั้น ก็พบว่าการถอดรหัสนัยชนิดปลา ณ ปราสาทนครวัด-นครธมนี้ เป็นกรณีภาคสนามการวิจัยที่น่ารื่นรมย์

เมื่อวิจัยภาคสนามต่อมาที่ตลาดปลาพนมเปญ นายวิทูเวือน วุดที ได้ทำการคัดแยกปลาชนิดต่างๆ ตามสายพันธุ์ แต่พบว่ามีเพียง 33 ชนิดเท่านั้นที่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับภาพแกะสลักได้

และในจำนวนนั้นคือ 16 ประเภทที่พบบนประติมากรรมนูนต่ำปราสาทนครวัด-นครธม ซึ่งนอกจากปลาเมียนสรอกา ปลาสลาด ปลารส่ ปลาผโตงแล้ว ยังมีอีก 3 สายพันธุ์ :

คือวงศ์ปลาลิ้นหมา/Soleidae (ตรัยอัญแดดฉแก) วงศ์ปลาเนื้ออ่อน/Siluridae (ตรัยเกสกลัน) และวงศ์ปลากด/Bagridae (ตรัยกันโจะ)

อา แล้วปลาตนเลสาบชนิดไหนที่ช่างยุคนั้นเขาเมิน ไม่อยากแกะแบบ

วิเคราะห์กันว่าเป็นปลากด ปลาท้องถิ่นขนาดเล็กที่พบได้ทั่วไป แต่ไม่น่านิยมบริโภคในยุคกลาง (?) ขณะที่ปลาพื้นถิ่นอื่นๆ ซึ่งมีขนาดพอกัน เช่น ปลาเกส (Kes) ปลากราย (ตรัยสลาด) ที่แซงหน้าปลากด-ตรัยรส่ ปลาสุดป๊อปต่อมา

แต่ก็ยังดีกว่าปลาโฉลญฺ ขฌึง เปรียมซอ เฌนียดปรัก กัญทอร์ ที่ล้วนแต่นิยมบริโภคในปัจจุบัน (2543) แต่กลับไม่พบอยู่ในประติมากรรมนูนต่ำเลย

หรือว่าปลาเหล่านี้เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งพบในทะเลสาบยุคหลัง?

 

มันคือสัญลักษณ์ความสมบูรณ์พูนสุขของชาวยุคกลาง-เขมรบายน มันคือปลาคลเรียง ปลาพื้นบ้านอีกชนิดที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่เมื่อถูกนำไปแกะแบบสลักบนปราสาทบายนกลับมีรูปลักษณะที่งดงาม?

นี่คือปลาตนเลสาบอีกชนิดที่รสชาติดีมาก อีกยังพบในตลาดทุกวันนี้ สันนิษฐานว่า ตรัยคลเรียงน่าจะนิยมบริโภคมากในสมัยเมืองพระนคร นายช่างศิลป์บายนก็เป็นอีกคนที่ชอบปลาชนิดนี้ เห็นจากห้องโถงทางทิศใต้และตะวันออกที่ภาพใบหน้าพ่อค้าบายนกำลังขายปลาคลเรียงตัวใหญ่มาก

ข้าวก็มา ปลาก็ครบ วิถีชาวบายนยุคนั้น แต่สำหรับภาพแกะสลักหินเหล่านี้แม้จะไม่มีที่มาที่ไปของเครื่องมือจับปลาเลยก็ตาม แต่ให้เชื่อเถิดว่าการประมงนั้นช่างง่ายมากเช่นเดียวกับมัจฉาตนเลสาบที่ชุกชุม จนให้เชื่อว่า ชาวบายนยุคนั้น แค่แกว่งมือจุ่มเล่นในน้ำ ก็จับปลามากินได้

แต่น่าทึ่งกว่านั้น เมื่อช่างศิลป์เมืองพระนคร โดยนอกจากจะแกะสลักปลาน้ำจืดตนเลสาบ 1,193 ตัวแล้ว ในจำนวนนี้ยังมีปลาฉลามชนิดต่างๆ ทั้งฉลามฟันเลื่อย ฉลามเคี้ยวโง้ง สัตว์สายพันธุ์จากมหาสมุทรที่ไม่มีอยู่ในทะเลสาบใหญ่!

รวมทั้งปลาอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งช่างศิลป์บายนได้อาศัยจินตนาการและแฟนตาซีในความเชื่อที่มีต่อดำไร-พญาสัตว์ป่าช้างศึกแห่งสงคราม ที่ถูกนำมาแกะให้มีลักษณะแปลกประหลาด

คือมีหัวเป็นช้าง-มีตัวเป็นปลา และมีชื่อว่า “ตรัยดำไร”

(*) Bulletin of the students of the Department of Archaeology (ประกาศนิสิตมหาวิทยาลัย แผนกโบราณวิทยา, กรกฎาคม 2004)
1-เครดิต : Bulletin of the students of the Department of Archaeology
2-เครดิต : ฆุด สกคัน