จรัญ มะลูลีม : จากอาหรับราตรีถึงฮัยย์ อิบนุ ยักษาน

จรัญ มะลูลีม

บทกวีมีบทบาทสำคัญอยู่ในวัฒนธรรมของบรรดาผู้ปกครองและผู้มั่งคั่ง เมื่อใดก็ตามที่มีผู้อุปถัมภ์ เมื่อนั้นก็มีกวีที่ยกย่องพวกเขา

มีอยู่บ่อยครั้งที่การสรรเสริญจะใช้รูปแบบที่คุ้นเคย นั่นคือ กอศิดะฮ์ (qasida) ซึ่งได้ถูกแต่งขึ้นโดยนักกวีแห่งสมัยอับบาสิยะฮ์

อย่างไรก็ตาม ในอันดาลุส (สเปนภายใต้การปกครองของรัฐมุสลิม) นั้น ภายในและรอบๆ ราชสำนักของราชวงศ์อุมัยยะฮ์และผู้สืบทอดบางคน รูปแบบใหม่ของบทกวีได้ถูกสร้างขึ้นมา ที่สำคัญที่สุดคือมุวัชชะฮ์ (muwashshah) ซึ่งปรากฏขึ้นในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่สิบ และยังคงถูกปลูกฝังต่อมาเป็นเวลานับร้อยๆ ปี ไม่เฉพาะในอันดาลุสเท่านั้น แต่ในแถบมัฆริบด้วย

มันเป็นบทกวีแบบโคลงสำหรับอ้อนวอนหรือร้อง ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นบทกวีทุกๆ บรรทัดมิได้สิ้นสุดลงด้วยคำสัมผัสอันเดียวกัน แต่มีลีลาของคำสัมผัสในทุกๆ บรรทัดที่ไม่ตรงกัน หรือบรรทัดที่ตามกันมาและคำที่กล่าวซ้ำๆ กันจนตลอดบท

จังหวะและภาษาที่ใช้ไม่ตรงกันจะจบลงด้วยคำปิดท้าย (ค็อรญา – kharja) เกี่ยวกับต้นกำเนิดของบทกวีนั้นนักวิชาการมีการคาดเดากันอย่างมาก

ภาษาที่ใช้เขียนใกล้เคียงกับภาษาพื้นเมือง และบางครั้งก็มิใช่ภาษาอาหรับ แต่เป็นภาษาพื้นเมืองของสมัยนั้น บ่อยครั้งแสดงออกถึงความรักแบบประโลมโลกย์ด้วยภาษาที่ถูกใส่เข้าไปในปากของคนบางคนที่มิใช่กวี

เรื่องราวของมุวัชชะฮ์ ยังรวมทั้งการเอาบทกวีภาษาอาหรับทั้งหมดไว้ด้วย เช่น การบรรยายธรรมชาติ สดุดีผู้ปกครอง ความรัก ความสูงส่งของพระผู้เป็นเจ้า และหนทางไปสู่ความรู้อันลี้ลับของพระองค์

ยิ่งกว่านั้นในระยะหลังได้ปรากฏกวีอีกรูปแบบหนึ่งขึ้นมาคือ ชะญัล (zajal) ซึ่งเป็นบทกวีแบบโคลงอ้อนวอนหรือร้องเช่นกัน แต่แต่งด้วยภาษาอาหรับที่เป็นภาษาพื้นเมืองอันดาลูเซีย

 

วงจรของนิทานที่รู้จักกันในนาม พันหนึ่งทิวา (Thousand and One Nights) หรือรู้จักกันในยุโรปว่าอาหรับราตรี (Arabian Nights) แม้ว่าจะแตกต่างจากนิทานประโลมโลกย์อยู่หลายวิธีด้วยกัน แต่ก็สะท้อนถึงแนวเรื่องของพวกเขาและดูเหมือนจะเจริญเติบโตในแบบที่คล้ายคลึงกัน ไม่ใช่เรื่องแบบประโลมโลกย์ซึ่งถูกสร้างขึ้นรอบๆ ชีวิตและการผจญภัยของคนคนเดียวหรือกลุ่มคน แต่เป็นการรวมเรื่องราวต่างๆ หลายชนิดซึ่งค่อยๆ นำมาผูกเข้าด้วยกันโดยการใช้คนคนเดียวที่เล่าเรื่องต่างๆ ให้แก่สามีของนางคืนแล้วคืนเล่า

เค้าเชื้อแห่งการรวบรวมนี้คิดกันว่าได้วางไว้ในกลุ่มของเรื่องราวต่างๆ ที่แปลมาจากภาษาปาห์ลาวีเป็นภาษาอาหรับในตอนต้นศตวรรษของอิสลาม

ได้มีการอ้างถึงมันอยู่บ้างในคริสต์ศตวรรษที่สิบ ซึ่งเป็นเศษของต้นฉบับแรกๆ ที่มีอยู่ แต่ต้นฉบับสมบูรณ์ที่เก่าแก่ที่สุดมีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่สิบสี่

วงจรของนิทานต่างๆ ดูเหมือนจะก่อร่างขึ้นในกรุงแบกแดด (บัฆดาด) ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่สิบและสิบสอง โดยขยายออกไปยังกรุงไคโรในระหว่างสมัยมัมลู้ก และเรื่องราวต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นมาหรือถูกแต่งขึ้นมาในเวลานั้น ไปถึงกรุงแบกแดดในสมัยเคาะลีฟะฮ์ราชวงศ์อับบาสิยะฮ์ ฮารูน อัร-รอซีด (Harun al-Rashid)

สิ่งที่เพิ่มเข้ามาได้มีขึ้นในสมัยหลัง นิทานบางเรื่องถูกแปลเป็นภาษายุโรปในระยะต้นที่สุดก็คือในคริสต์ศตวรรษที่สิบแปด และตีพิมพ์เป็นภาษาอาหรับเป็นครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่สิบเก้านั้น มิได้มีปรากฏอยู่แต่อย่างใดในต้นฉบับของสมัยต้นๆ

 

การเล่าเรื่องที่ค่อนข้างจะแตกต่างจากสิ่งเหล่านี้ ได้ผลิตขึ้นในสมัยสุดท้ายอันยิ่งใหญ่ของวัฒนธรรมอันดาลูเซียน นั่นคือสมัยราชวงศ์อัลโมฮาดียะฮ์คือ เรื่องฮัยย์อิบนุยักษาน (Hayy ibn Yaqdhan) โดยอิบนุ ตุฟัยล์ (ibn Tufayl – เสียชีวิต ค.ศ.1185/1186) เป็นตำราทางปรัชญาที่เขียนในรูปของนิทาน

โดยเล่าถึงเด็กคนหนึ่งที่เติบโตขึ้นบนเกาะที่โดดเดี่ยวแห่งหนึ่ง เขาใช้เหตุผลตามลำพัง และเติบโตขึ้นตามขั้นตอนต่างๆ ของความเข้าใจถึงสากลโลก แต่ละขั้นตอนใช้เวลาเจ็ดปีและมีรูปแบบความคิดที่เหมาะสมของมัน

ในที่สุดก็บรรลุถึงจุดสุดยอดแห่งความคิดของมนุษย์ เมื่อเขาเข้าใจกระบวนการซึ่งเป็นลักษณะสุดท้ายของจักรวาล จังหวะอันเป็นนิรันดรของการเกิดและการกลับคืน

การมีอยู่ของผู้ทรงเอกะจากระดับหนึ่งไปสู่อีกระดับหนึ่งลงมาจนถึงดวงดาวต่างๆ อันเป็นจุดซึ่งจิตวิญญาณจะอยู่ในรูปวัตถุ และจิตวิญญาณจะต่อสู้ดิ้นรนเพื่อจะเคลื่อนขึ้นไปสู่ผู้ทรงเอกะ

อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจดังกล่าวเป็นไปสำหรับคนไม่กี่คนเท่านั้น เมื่อในที่สุดฮัยย์ได้พบมนุษย์อีกคนหนึ่ง และทั้งสองได้เดินทางจากเกาะไปยังโลกที่มีมนุษย์อาศัยอยู่ในระยะเวลาหนึ่ง เขาก็ได้เข้าใจว่ามีระดับขั้นแห่งปัญญาของมนุษย์เพียงบางคนเท่านั้นที่สามารถรักษาความจริงไว้ด้วยการใช้เหตุผลแต่เพียงอย่างเดียว

คนส่วนน้อยอื่นๆ สามารถรักษาสัจธรรมไว้ด้วยการใช้เหตุผลของพวกเขาเพื่อถอดรหัสสิ่งที่ได้ถูกมอบให้พวกเขาโดยอาศัยสัญลักษณ์แห่งการวิวรณ์ทางศาสนา คนอื่นๆ ยอมรับกฎหมายต่างๆ ที่วางอยู่บนสัญลักษณ์เหล่านั้น แต่ไม่สามารถตีความสัญลักษณ์เหล่านั้นโดยใช้เหตุผลได้

มนุษย์จำนวนมากไม่ใส่ใจทั้งต่อสัจธรรมที่เป็นเหตุผลหรือกฎหมายของศาสนา แต่สนใจเฉพาะสิ่งต่างๆ ในโลกนี้เท่านั้น

 

ในสามกลุ่มแรกนั้นแต่ละกลุ่มมีความสมบูรณ์และมีข้อจำกัดของมันเอง จึงไม่ควรต่อสู้ดิ้นรนมากไปกว่านั้น

จากการเดินทางไปยังแผ่นดินผืนใหญ่ เขาได้พูดกับคนกลุ่มที่สามว่า ฮัยย์บอกพวกเขาว่าเขามีความคิดเห็นเหมือนคนพวกนั้น และยอมรับว่ามีความจำเป็นที่พวกเขาจะอยู่ในขอบเขตของกฎหมายของพระเจ้าและการปฏิบัติภายนอก

ละเว้นจากการถลำลึกในสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับพวกเขา

มีศรัทธาในสิ่งที่เข้าใจได้อย่างคลุมเครือและยอมรับมัน

หลีกเลี่ยงสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ๆ และสิ่งที่คิดนึกเอาในใจเอง สร้างแบบอย่างตัวของพวกเขาเองตามบรรพบุรุษที่มีความศรัทธานั้น

และละทิ้งความคิดต่างๆ ที่สร้างขึ้นมาใหม่ๆ

เขาได้รบเร้าคนเหล่านั้นให้หลีกเลี่ยงแนวทางของชาวบ้านธรรมดาๆ ผู้ละทิ้งหนทางแห่งศาสนาและยอมรับทางโลก นี่เป็นเพียงหนทางเดียวสำหรับผู้คนอย่างพวกเขา และหากว่าพวกเขาพยายามที่จะขึ้นสูงเหนือมันไปสู่ความสูงส่งของความเข้าใจลึกซึ้งในสิ่งที่พวกเขามี พวกเขาก็จะเดือดร้อน พวกเขาจะไม่สามารถไปถึงระดับของผู้ได้รับการอำนวยพรได้แต่จะระส่ำระสายและตกต่ำลง (Qur”an 8:85)