รู้จัก พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เจ้าของรหัส “นารายณ์ 1” พลิกมิติ บช.ก.คือทัพหลวง ลั่นหัวไม่ส่าย หางไม่กระดิก

ภายหลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อคืนวันที่ 24 กันยายน พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) ลำดับที่ 36 มีรหัสเรียกขาน “นารายณ์ 1”

พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ หรือที่รู้จักกันว่า “พี่ต่อ” เป็นน้องชาย พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ปฏิบัติภารกิจสำคัญในฐานะราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พล.ต.ท.ต่อศักดิ์เปิดเผยว่า การปฏิบัติหน้าที่ยึดนโยบายตามสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ลำดับแรกการถวายความปลอดภัย 2.ดูแลชีวิต ทรัพย์สินประชาชน และดำเนินคดีผู้กระทำผิดกฎหมาย

สำหรับการมอบหมายงานนั้น ทุกคนที่เลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเคยอยู่ บช.ก.อยู่แล้ว มอบให้ดูแลหน่วยที่ขึ้นมาเพื่อประสานงานดูแลหน่วยเดิมได้ เหมือนรู้งานและนโยบาย ส่วนการเลือกผู้ใต้บังคับบัญชาจะให้หัวหน้าหน่วยเป็นคนเลือก

เรื่องไล่ดูผลงานเริ่มจากรอง ผบช.ก. เชื่อว่าการบริหารงานไม่น่ามีปัญหา ภายใต้วิสัยทัศน์ “รับคำสั่ง ทวนคำสั่ง ทำทันที รายงานผล”

กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ สังกัด บช.ก. พล.ต.ท.ต่อศักดิ์บอกว่า การค้ามนุษย์ บุคลากรที่อยู่เป็นผู้ที่ทำในหน้าที่อยู่แล้ว พยายามให้หลุดการจัดอันดับไทยที่ “เทียร์” ให้ได้

โดยประสานการทำงานกับเอ็นจีโอและหน่วยรับผิดชอบ ทำงานเรื่องที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์จริงๆ มีการสืบสวนสอบสวนผู้เสียหายไว้ก่อน ป้องกันการวิ่งเต้นคดี หรือล็อบบี้ผู้เสียหาย จะทำให้เสร็จเรียบร้อยตามกระบวนการ เพื่อให้มีผลการปฏิบัติส่งให้กระทรวงการต่างประเทศและสถานทูต เพื่อให้ไทยหลุดเทียร์ให้ได้

แต่ขณะเดียวกันงานปราบปรามผู้มีอิทธิพล มือปืนรับจ้าง “หน่วยหนุมาน” กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) และกองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ (บก.ปพ.) จะทำงานร่วมกัน ด้านงานการสืบสวนสอบสวน บก.ป.จะเป็นแม่งาน การใช้โอเปอเรชั่น ปราบปรามผู้มีอิทธิพล มือปืนรับจ้างในพื้นที่ จะรื้อฟื้นยุทธการ “ยุทธการไพร่ฟ้าหน้าใส” หรือ “ยุทธการฟ้าสาง” กลับมา ไม่ว่าเรื่องยาเสพติด มือปืนรับจ้าง เสียงปืนยิงผู้บริสุทธิ์ที่เป็นคดีอุกฉกรรจ์ อุกอาจมาก บก.ป. และ บก.ปพ.จัดกำลังลงพื้นที่

พร้อมเอ่ยถึง พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ อดีต ผบช.ก.ที่เคยบอกไว้ บช.ก.คือทัพหลวง หมอเฉพาะทาง ถ้าเกินขีดความสามารถของพื้นที่ ทัพหลวงลงไป ขอให้ประชาชนอยู่ดีกินดี บช.ก.ลงไปต้องนิ่ง ตำรวจลงแล้วอุ่นใจ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน

“พี่ต่อ” เน้นว่า นโยบาย บช.ก.จะไม่ไปเด็ดยอดโรงพักเด็ดขาด จะเป็นหน่วยสนับสนุนกำลัง รวมทั้งการปราบปรามผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ จะทำงานร่วมกับตำรวจพื้นที่ หากการจับกุมเกินขีดความสามารถการสอบสวนดำเนินคดี บก.ป.จะรับเข้ามาดู พร้อมประสานงาน ปปง., ป.ป.ท. เป็นต้น

“เราจะต้องปฏิบัติหน้าที่เชิงรุก ใช้มาตรการปกป้องคุ้มครองสวัสดิการให้แก่ประชาชนก่อนที่เหตุร้ายจะเกิด ป้องกันไม่ให้บุคคลหรือองค์กรอื่นใดละเมิดกฎหมาย ประการต่อมา การป้องกันความเสียหายหรือความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นกับชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของประชาชน บางกรณีตำรวจอาจต้องเข้าไปช่วยแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ และสุดท้ายการปราบปราม เป็นหน้าที่ของตำรวจ เมื่อมีเหตุร้ายแรงหรืออาชญากรรมเกิดขึ้น ต้องติดตามจับกุมคนร้าย บรรเทาความเดือดร้อนเสียหาย หรือผลร้ายที่เกิดขึ้น ถ้าสามารถดำเนินการอย่างรวดเร็ว จะสร้างความเชื่อมั่นศรัทธา อบอุ่นใจให้กับประชาชนที่มีต่อการทำงานของตำรวจมากขึ้น การทำงานแบบนี้จะบ่อยขึ้น เป็นการทบทวนผู้ใต้บังคับบัญชาฝึกด้านการปฏิบัติในตัวเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของหน่วยต่อต้านการก่อการร้าย”

พล.ต.ท.ต่อศักดิ์กล่าว

ปัญหา บช.ก. “นารายณ์ 1” ชี้ว่า พี่น้องประชาชนร้องเรียนปัญหาจราจรเป็นหลัก ดังนั้น ในส่วนกองบังคับการตำรวจทางหลวง (บก.ทล.) จะไม่เน้นตั้งด่าน เพราะจะเกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างตำรวจกับประชาชน เน้นไปในหลักฐานกล้องวงจรปิดจับความเร็วหลักฐานชัดเจน ตัดเรียกรับผลประโยชน์ ใครผิดก็ว่าไปตามผิด ไม่ให้มีซุ่มดักจับออกใบสั่งอย่างเด็ดขาด บางวันอาจไปนอกเครื่องแบบสุ่มตรวจเอง เน้นแก้อาชญากรรม

ที่สำคัญ ถ้าพบตำรวจกระทำผิดจะดำเนินการผู้กำกับก่อน ผบก. และรอง ผบช.ก. หากแก้ไม่ได้ก็ย้าย เพราะถือว่าเตือนแล้ว ครั้งแรกให้อภัย ครั้งสองไม่มี ผกก.ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี อยู่ปฏิบัติหน้าที่คอยแนะนำ แก้ไขปัญหาให้ผู้ใต้บังคับบัญชา หากเข้าพื้นที่ไหน ผกก.ไม่อยู่เป็นเรื่อง ขอบอกว่าการออกตรวจจะไม่มีการจับผิด แต่จะพัฒนาสร้างจิตสำนึกการบริการประชาชน เพื่อให้เปลี่ยนทัศนคติระหว่างตำรวจกับประชาชน

ส่วนการป้องกันชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน พล.ต.ท.ต่อศักดิ์กล่าวว่า ตำรวจเป็นความคาดหวังสังคม คาดหวังว่าตำรวจป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรม เมื่อมีอาชญากรรมเกิดขึ้น ตำรวจต้องจับกุมคนร้ายให้ได้ หรือทรัพย์สินถูกโจรกรรมไปนำกลับมาคืนให้ได้ บางคนสมหวัง บางคนผิดหวัง การปฏิบัติหน้าที่เชิงรุก ทำงานแบบมืออาชีพ เน้นงานสนับสนุน ให้ท้องที่เป็นพระเอก ไม่ใช่เราเป็นพระเอกเอง เมื่อคดีสิ้นสุด ถ้าไม่มีอะไรก็ถอนให้ สน.ท้องที่ดำเนินการต่อ จะไม่ไปเด็ดยอด การทำคดีต่างๆ ให้แต่ละ บก.เกาะติดตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการที่ประชาชนเดือดร้อนมาก อย่างเช่น คดีฉ้อโกง อาชญากรรมต่อเนื่องหลายพื้นที่

ไม่จับแบบขี้หมูราขี้หมาแห้ง

“ต้องยอมรับว่าปัจจุบันอาชญากรรมไซเบอร์ ต้องติดตาม เฝ้าระวัง ทั้งเฟกนิวส์ตอนนี้เร็วมาก เกิดผลกระทบเยอะ บก.ปอท.มีกำลังประมาณ 150 นาย ดูเรื่องไซเบอร์ทั้งประเทศ เลยต้องรอประสานงานกับกองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่เป็นหน่วยตั้งขึ้นมาใหม่ว่าจะแบ่งงานกันอย่างไร อยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลเพื่อมิให้ทำงานซ้ำซ้อน เพราะสื่อโซเชียลรัฐบาลและ ตร.ให้ความสำคัญมาก เช่น คดีที่ล่อแหลมสถาบัน ต้องนำมาวิเคราะห์ ก่อนส่งให้ ตร. ซึ่งมีคณะกรรมการการดำเนินคดี นโยบายจะไม่ดำเนินคดีมาตรา 112 จะมีเจ้าหน้าที่พูดคุย ปรับทัศนคติ”

ผบช.ก.กล่าว

ด้านภาพลักษณ์ตำรวจ บช.ก.

ผู้บัญชาการคนใหม่ยืนยันว่า เมื่อหัวไม่ส่าย หางก็ไม่กระดิก

เป็นนโยบายที่ห้ามเรียกรับผลประโยชน์ เพราะแทบทุก บก.มีเงินค่าตอบแทนทำหน้าที่ถวายความปลอดภัยที่อยู่ในระเบียบอยู่แล้วแต่ไม่เคยมอง ซึ่งผู้บังคับบัญชาเห็นความสำคัญกับผู้ใต้บังคับบัญชาจึงจัดสิทธิประโยชน์พึงได้รับ เช่น เงินประจำตำแหน่ง บวกค่าโอที เบี้ยเลี้ยง พอกับค่าครองชีพ ต้องไม่งอแง

“ที่สุดการทำงานของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ปฏิบัติหน้าที่เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน”

ผบช.ก.กล่าวทิ้งท้าย