คุยกับทูต : ซาราห์ เทย์เลอร์ ไทย-แคนาดา เตรียมฉลองครบรอบ 60 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต ตอน 4 “PPP”

“อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับประเทศแคนาดา คือเรื่องสิทธิและความเสมอภาคของผู้หญิง รัฐบาลปัจจุบันของเราถือเป็นเรื่องสำคัญในการมีคณะรัฐมนตรีที่มีความสมดุล ดังนั้น เราจึงมีรัฐมนตรีชายและหญิงจำนวนเท่าๆ กัน ซึ่งเราพยายามทำงานมาสองสามปีแล้วเพื่อให้มีทูตที่เป็นผู้หญิงมีเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ”

ดร.ซาราห์ เทย์เลอร์ (Her Excellency Dr. Sarah Taylor) เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย กล่าวถึงเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศ

“ทูตของเราเกือบครึ่งเป็นผู้หญิง มีหลายประเทศที่เราไม่เคยมีทูตหญิง แต่ตอนนี้เรามีแล้ว ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ตอนที่ดิฉันเริ่มทำงานในกระทรวงต่างประเทศนั้น เรามีทูตหญิงเพียงไม่กี่คน ปัจจุบัน เริ่มมีมากขึ้น เราจึงพยายามที่จะส่งเสริมให้ผู้หญิงได้มีโอกาสเข้าทำงานในกระทรวงต่างประเทศให้มากขึ้น”

 

ถามเรื่องสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ท่านทูตให้ข้อมูลว่า

“กษัตริย์แห่งสยามมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับอังกฤษที่ลงนามกันในปี ค.ศ.1911 ตอนนั้นแคนาดายังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ แคนาดาได้รับการยอมรับในสิทธิการปกครองตนเองในปี ค.ศ.1867 จึงได้มีการจัดตั้งอาณาจักรแคนาดา (Dominion of Canada) แต่อังกฤษก็ยังคงเป็นผู้ดำเนินนโยบายต่างประเทศ”

“ปี ค.ศ.1931 แคนาดาได้รับสถานะเป็นประเทศที่เท่าเทียมกับอังกฤษโดยมีกษัตริย์อังกฤษเป็นพระประมุข แคนาดาจึงได้เริ่มดำเนินนโยบายต่างประเทศเอง”

“เราได้สืบทอดสนธิสัญญาบางอย่างที่อังกฤษลงนาม เราแค่รักษาสนธิสัญญา ดังนั้น สนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนของเราจึงเป็นเรื่องระหว่างสหราชอาณาจักรและราชอาณาจักรสยาม”

สนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกันในระหว่างกรุงสยามกับอังกฤษปี 1911 หรือ ร.ศ.130 (ประมาณ พ.ศ.2455 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) จัดทำขึ้นที่กรุงลอนดอน โดยมีตัวแทนฝ่ายไทย ได้แก่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศฝ่ายสยาม ส่วนตัวแทนฝ่ายสหราชอาณาจักรคือ อาเธอร์ปิลเอสไควร์ อัครราชทูตพิเศษ เป็นผู้ลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้

แม้ว่าสนธิสัญญาฉบับนี้จะจัดทำขึ้นเมื่อกว่า 100 ปีก่อน สมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ตาม แต่การบังคับใช้ของสนธิสัญญาฉบับนี้ยังมีผลอยู่จนถึงปัจจุบัน

 

“นอกจากนี้ เรายังมีสนธิสัญญาให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ซึ่งหมายความว่าตำรวจและระบบตุลาการของทั้งสองฝ่ายสามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ เมื่อต้องการความชัดเจนมากขึ้นในการสอบสวน โดยอยู่ภายใต้สนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน เราร่วมมือกันมากมายเพื่อช่วยสนับสนุนประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในอาเซียนในการจัดการชายแดนและการต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเราด้วย”

“และเรายังมีคณะผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร ประจำสถานเอกอัครราชทูตแคนาดาที่กรุงเทพฯ”

คณะผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร มีหน้าที่รายงานสถานการณ์ด้านการทหารในประเทศเจ้าบ้านต่อรัฐบาลแคนาดา อีกทั้งยังทำหน้าที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงกลาโหมของแคนาดาและประเทศไทย

“ระหว่างสามกองทัพของแคนาดา กองทัพเรือแคนาดามีขนาดใหญ่ที่สุด เนื่องจากเราครอบคลุมถึงสามมหาสมุทร คือมหาสมุทรแอตแลนติก แปซิฟิก และอาร์กติก ส่วนใหญ่เป็นน้ำลึก ดังนั้น สถานการณ์ของเราจึงแตกต่างจากประเทศไทย และนั่นคือเหตุผลที่เรามีกองทัพเรือขนาดใหญ่เช่นนั้น”

หากจะกล่าวถึงกองทัพแคนาดา หรือ Canadian Forces (CF) แล้ว คงต้องยอมรับว่ากองทัพดังกล่าวเป็นกองทัพของประเทศที่เต็มไปด้วยความสงบ สันติ ผู้คนเป็นกลุ่มชนที่มีความศิวิไลซ์ มีการศึกษาสูง มีความอยู่ดีกินดี

และเป็นประเทศที่ไม่เคยมีสงครามเข้ามากล้ำกรายในดินแดนของตนเลยเลยนับตั้งแต่สิ้นสุดยุคอาณานิคมเป็นต้นมา

 

แคนาดาเป็นประเทศ G 8 ที่มีมหาสมุทรสามแห่งและมีชายฝั่งทะเลที่ยาวที่สุดในโลก กองเรือของกองทัพเรือแคนาดา (RCN) แบ่งระหว่างชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก (Halifax, N.S.) และมหาสมุทรแปซิฟิก (Esquimalt, B.C.) ประกอบด้วยเรือรบ เรือดำน้ำ และเรือป้องกันชายฝั่ง 33 ลำ รวมทั้งเรือเสริมและสนับสนุนอื่นๆ อีกมากมาย

ในปี ค.ศ.2017 กองทัพเรือแคนาดามีเรือรบ 12 ลำ เรือดำน้ำโจมตี 4 ลำ เรือป้องกันชายฝั่ง 12 ลำ และเรือลาดตระเวน/ฝึก 8 ลำ รวมทั้งเรือเสริมอีกหลายลำ

“ดิฉันคิดว่ามีสามพื้นที่ที่แคนาดาและไทยสามารถทำงานร่วมกันได้ในระหว่างการฟื้นฟูจากสถานการณ์โควิด-19 ประการหนึ่งที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มีการค้าในพื้นที่ที่มีกฎเสรีซึ่งเราปกป้องห่วงโซ่อุปทาน และเรายังคงดำเนินการต่อไปดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้”

“วิธีหนึ่งคือ นวัตกรรม (innovation) เป็นพื้นที่ใหม่ทางเศรษฐกิจ เพราะดิฉันทราบมาก่อนว่าประเทศไทยให้ความสนใจกับ Thailand 4.0 เป็นอย่างมาก โดยพยายามขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่พื้นที่ใหม่ อันเป็นจุดแข็งที่ยิ่งใหญ่สำหรับแคนาดา เราทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมากมาย ซึ่งดิฉันเคยพูดถึงการเรียนทางไกลก่อนหน้านี้ และจริงๆ แล้วเรามีโครงการในแคนาดาเพื่อสนับสนุน “คลัสเตอร์” ที่แตกต่างกัน คือการมีศูนย์กลางที่ยอดเยี่ยมสำหรับนวัตกรรมต่างๆ เหล่านี้ ดังนั้น ดิฉันจึงคิดว่า อาจเป็นบางอย่างที่แคนาดาสามารถทำให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศไทยได้จริง”

คลัสเตอร์ คือ กลุ่มของธุรกิจและสถาบันที่เกี่ยวข้อง มารวมตัวดำเนินกิจการอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน (Geographic Proximity) มีความร่วมมือเกื้อหนุน เชื่อมโยงและเสริมกิจการซึ่งกันและกันอย่างครบวงจร (Commonality and Complementary) ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน โดยความเชื่อมโยงในแนวตั้ง (Vertical Linkage) เป็นความเชื่อมโยงของผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม ตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และความเชื่อมโยงในแนวนอน (Horizontal Linkage)

เป็นความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมสนับสนุนด้านต่างๆ รวมทั้งธุรกิจให้บริการ สมาคมการค้า สถาบันการศึกษาและฝึกอบรม สถาบันวิจัยพัฒนา ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน

ด้วยการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และสร้างนวัตกรรมร่วมกัน

 

“การเกษตรอัจฉริยะ (smart agriculture) ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แคนาดาและไทยต่างก็เป็นผู้ผลิตการเกษตรรายใหญ่ เราเริ่มใช้โดรนเทคโนโลยีใหม่ๆ (technology drones) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence : AI) การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อให้คุณสามารถทำสิ่งต่างๆ เช่น ลดการใช้ปริมาณน้ำและปุ๋ย แต่ยังคงได้รับพืชผลเท่าเดิม หรือการใช้พื้นที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก นี่คือสิ่งที่ดิฉันคิดว่า แคนาดาและไทยสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี”

“และสุดท้ายคือ การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership : PPP) เป็นแบบของวิธีการในการจัดหาโครงสร้างพื้นฐาน เพราะดิฉันคิดว่า รัฐบาลของเราอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน เราต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อพยายามช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 แต่รัฐบาลของเราจะไม่มีเงินจำนวนมากพอสำหรับใช้จ่ายในการจัดหาโครงสร้างพื้นฐาน เรารู้เพียงว่าเราต้องการโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เหล่านั้นเพื่อมาช่วยให้เศรษฐกิจของเราก้าวไปข้างหน้า”

“รูปแบบที่แคนาดาได้ดำเนินการไปแล้วเป็นอย่างมากคือ การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ซึ่งรัฐบาลและภาคเอกชนทำงานเพื่อจัดหาโครงสร้างพื้นฐาน อันเป็นทางที่สามารถสร้างความยั่งยืนทางการเงินได้ เราคิดว่าความเชี่ยวชาญบางอย่างที่เรามี จะเป็นประโยชน์มาก และเราได้เริ่มพูดคุยกับรัฐบาลไทยและนักธุรกิจไทยเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว”

ท่านทูตซาราห์ เทย์เลอร์ เสริมว่า

“เดือนพฤศจิกายนของทุกปี จะมีการประชุมใหญ่เกี่ยวกับการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ที่เมืองโตรอนโต แคนาดา โดยปีนี้จัดในรูปแบบการประชุมเสมือนจริงผ่านระบบออนไลน์ (Virtual Conference) และพูดคุยได้ในเวลาเดียวกัน เราหวังว่า จะมีตัวแทนจากรัฐบาลไทยเข้าร่วมด้วย ซึ่งเราคิดว่า จะเป็นประโยชน์อย่างแน่นอนสำหรับประเทศไทย”