หมุดคณะราษฎรที่ 2 : อดีตเด็ก พปชร.ลั่น 22 ก.ย.จะไปถอน ‘กรมศิลป์’ แจ้งความพรุ่งนี้

วันที่ 20 กันยายน 2563 การลงหมุดคณะราษฎรที่ 2 โดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่จัดการชุมนุมเนื่องในโอกาส 14 ปีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในชื่อ 19 กันยา ทวงคืนอำนาจราษฎร ยังคงมีปฏิกิริยาตรงกันข้ามออกมาต่อเนื่องโดยล่าสุด นายสนธิญา สวัสดี อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟชบุ๊กระบุถึง กรณีที่เมื่อช่วงเช้าตรู่ที่ผ่านมา แกนนำธรรมศาสตร์และการชุมนุม ทำการปักหมุดคณะราษฏร หมุดที่ 2 ตรงหน้าเวทีปราศรัยสนามหลวง ว่า

“ในวันที่ 22 ก.ย. เวลา 13.00 น. ผมจะไปถอนหมุดที่กลุ่มผู้ชุมนุม จาบจ้วงสถาบันฯ ที่ท้องสนามหลวง และเบื้องต้นจะไปยื่นให้กรุงเทพมหานครทำการถอนหมุดดังกล่าว ในวันที่ 21 ก.ย.นี้ ที่ศาลาว่าการ กทม.เวลา 10.30 น.”

ขณะที่ กรมศิลปากรเอง นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร ให้สัมภาษณ์ ‘มติชน’ ว่า ตามหลักการ การกระทำดังกล่าวมีความผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535) เนื่องจากมีการบุกรุกสนามหลวงซึ่งเป็นโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียน นอกจากนี้ ยังมีการขุดพื้นที่เพื่อฝังหมุด โดยทางกรมศิลปากรจะเข้าแจ้งความในวันที่ 21 กันยายน

“ในฐานะที่กรมศิลปากร ดูแลโบราณสถาน ดังนั้น โดยหลักการ มี 2 เรื่อง เรื่องที่ 1 คือ การบุกรุก ทำให้เสียหาย เสื่อมค่า ซึ่งเมื่อวันที่ 19 กันยายน มีการบุกรุกไปในพื้นที่สนามหลวงซึ่งเป็นโบราณสถานขึ้นทะเบียนโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนกรณีฝังหมุดเมื่อวันที่ 20 กันยายน ซึ่งมีการขุดพื้น แม้เป็นส่วนที่ทำขึ้นเมื่อครั้งงานพระเมรุ แต่เป็นการทำโดยถูกต้อง ได้รับอนุญาต เมื่อทำแล้ว จึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถาน ดังนั้น การฝังหมุด จึงมีความผิดตามกฎหมาย คือการทำลาย และทำให้โบราณสถานเสื่อมค่า โดยจะมีการแจ้งความในวันพรุ่งนี้ นายประทีปกล่าว

ทั้งนี้ มาตรา 32 ใน พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535) ระบุว่า ผู้ใดบุกรุกโบราณสถาน หรือทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำต่อโบราณสถาน ที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับ “สนามหลวง” ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อ พ.ศ.2520 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 94 ตอนที่ 126 ลงวันที่ 13 ธ.ค. พ.ศ. 2520 มีเนื้อที่ 74 ไร่ 63 ตารางวา