เศรษฐกิจ / สทนช.มอง ‘ภัยแล้ง’ ข้ามช็อตปี 2564 หวั่นซ้ำเติม ศก.ไทยซมพิษโควิด …ยิ่งโงหัวไม่ขึ้น

เศรษฐกิจ

 

สทนช.มอง ‘ภัยแล้ง’

ข้ามช็อตปี 2564

หวั่นซ้ำเติม ศก.ไทยซมพิษโควิด

…ยิ่งโงหัวไม่ขึ้น

 

แม้ว่าช่วงนี้จะเห็นภาพฝนตกถี่ๆ และยังไม่สิ้นสุดปี 2563

แต่นักวิชาการจากหลากหลายองค์กรก็ส่อเค้าเป็นห่วงสถานการณ์แล้งของปี 2564 เสียแล้ว ไม่เว้นแต่หน่วยงานภาครัฐเองก็ห่วงสถานการณ์ภัยแล้งเช่นเดียวกัน

จากการประเมินสถานการณ์น้ำปี 2563 ของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในปีนี้ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการตามเกณฑ์ทางอุตุนิยมวิทยาตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นมา และจะสิ้นสุดลงในช่วงกลางเดือนตุลาคมในระยะแรกของฤดูปริมาณและการกระจายตัวของฝนจะยังไม่สม่ำเสมอ แต่จะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้

สำหรับช่วงปลายเดือนมิถุนายน-กลางเดือนกรกฎาคม จะมีปริมาณฝนตกน้อย ซึ่งอาจส่งผลให้มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเกษตรหลายพื้นที่ โดยเฉพาะนอกเขตชลประทาน

ส่วนในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน จะเป็นเดือนที่มีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด และมีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน ประมาณ 1-2 ลูก

ส่วนบริเวณภาคใต้นั้น จะมีฝนตกต่อไปอีกจนถึงกลางเดือนมกราคม 2564 แม้ปริมาณฝนรวมทั้งประเทศในปีนี้ จะน้อยกว่าค่าปกติประมาณ 5%

แต่เมื่อเทียบแล้วปริมาณของฝนปี 2562 ก็ยังมากกว่า เพียงแต่ยังไม่ดีมากเมื่อเทียบกับปี 2560

เนื่องจากในปีดังกล่าวได้รับอิทธิพลของเอลนินโญจึงทำให้มีปริมาณฝนตกลงมาน้อย ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ฝนในประเทศไทยยังเป็นไปตามการคาดการณ์ของกรมอุตุฯ

 

แม้ว่าจะมีความกังวลในเรื่องภัยแล้งอยู่มาก แต่ก็ยังมีบางหน่วยงานรวมถึงประชาชนที่ยังเป็นห่วงปัญหาน้ำท่วม “สมเกียรติ ประจำวงษ์” เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้อธิบายว่า ในช่วงประมาณกลางเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2563 พื้นที่กรุงเทพฯ และภาคใต้จะได้รับผลกระทบจากพายุฝน

แต่จากการคาดการณ์ของ สทนช.เชื่อว่าจะไม่รุนแรงเท่าสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2554 แน่นอน เพราะยังไม่มีสิ่งบอกเหตุ และจากการประเมินสถานการณ์พบว่ามีโอกาสเกิดขึ้นเพียง 2-3% เท่านั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝนที่ตกลงมาไม่ได้มีปริมาณมากพอที่จะเจอภาวะน้ำรอระบาย ซึ่งในเดือนกันยายนนี้ สทนช.วางแผนบริหารจัดการน้ำฝนทั้งเรื่องการระบาย และแผนเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งด้วย

แต่สิ่งที่ สทนช.เป็นห่วงที่สุดตอนนี้ไม่ใช่ปัญหาน้ำท่วม แต่เป็นปัญหาภัยแล้งในปี 2564 เบื้องต้นอยู่ระหว่างประเมินว่าจะมีปริมาณน้ำเหลือใช้ปริมาณเท่าไหร่ ซึ่งทุกหน่วยงานต้องทำการประเมินสถานการณ์น้ำช่วงสิ้นฤดูฝน หรือประมาณเดือนตุลาคม

เพื่อนำข้อมูลมาจัดสรรน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมต่อไป

 

สําหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนหลักปัจจุบันพบว่า เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำในอ่าง 4,541 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 34% ของความจุอ่าง แบ่งเป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 741 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 8%

เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำในอ่าง 5,132 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 54% ของความจุอ่าง แบ่งเป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 2,282 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 34%

เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนมีปริมาณน้ำในอ่าง 269 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 29% ของความจุอ่าง แบ่งเป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 226 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 25%

และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำในอ่าง 61 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 6% ของความจุอ่าง แบ่งเป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 58 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 6%

ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีบางเขื่อนที่มีน้ำใช้การเหลือน้อยแล้ว ทาง สทนช.ได้เตรียมแผนการผันน้ำไว้แล้วบางส่วนหากต้องดำเนินการจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

 

สวนทางกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ที่คาดการณ์ว่า ช่วงปลายปี 2563 สภาพอากาศจะเข้าสู่สภาวะปกติ

ในเดือนพฤศจิกายน ภาคใต้จะน้ำเยอะอาจถึงขั้นท่วม

ส่วนภาคอื่นต้องรอดูอีกครั้ง ว่าช่วงนั้นจะเข้าสู่ภาวะเอลนินโญ หรือลานินญา แต่จะมีโอกาสเป็นลานินญาได้มากกว่า

ดังนั้น ปลายปีที่ไทยจะเจออากาศค่อนข้างเย็น ต้นปี 2564 ฝนจะตกเยอะ คล้ายปี 2560 อาจเจอพายุหลายลูก เพราะความกดอากาศสูงมีกำลังแรง ทำให้เกิดพายุได้ง่ายขึ้น รวมถึงจะส่งผลให้หลายเขื่อนมีน้ำไหลเข้าเพิ่มขึ้นอีกด้วย

จากมุมมองของหน่วยงานรัฐถึงแม้เสียงจะแตก หรือไม่ได้มองเหมือนกัน 100% มีทั้งมองว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะลากยาวไปถึงปี 2564 แต่อีกมุมกลับมองว่าในช่วงต้นปีสถานการณ์น้ำจะดีขึ้น ซึ่งจากการคาดการณ์เหล่านี้ได้กระทบเป็นวงกว้างทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจ

เห็นได้จากการประเมินของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า สภาวะเศรษฐกิจการเกษตร (จีดีพีเกษตร) ในครึ่งแรกปี 2563 อยู่ที่ติดลบ 5.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เป็นผลมาจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นช่วงปลายปี 2562 ต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2563 ทำให้ไม่สามารถปลูกพืชหลักๆ ได้อย่างเต็มที่ อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน รวมทั้งยังมีการระบาดของโรคพืชหลายชนิด และได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลทำให้การส่งออกหยุดชะงัก

และคาดว่าทั้งปีจีดีพีเกษตรจะอยู่ที่ติดลบ 2.3-1.3% ซึ่งลดลงจากเป้าหมายเดิมที่คาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ 2-3%

 

ในส่วนของปัญหาภัยแล้งไม่ได้กระทบต่อภาคเกษตรเพียงอย่างเดียว ยังกระทบต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวมอีกด้วย จากการวิเคราะห์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือลดผลกระทบในระยะสั้น ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว ภาครัฐควรใช้เงินงบประมาณขนาดใหญ่เยียวยาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนให้กระจายไปให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย

รวมทั้งนำเงินทุ่มลงทุนเพื่อให้เกิดคลื่นการลงทุนระลอกใหม่ของประเทศเพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจไปพร้อมกัน อาทิ การพัฒนาโครงการภายใต้แผนบริหารจัดการน้ำ 20 ปี หรือระหว่างปี 2561-2580 ให้เกิดขึ้นจริงเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมที่มักสร้างความเสียหายแก่เกษตรกร เป็นต้น

ถึงแม้ว่าปัญหาภัยแล้งตอนนี้จะไม่รุนแรงเท่าสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ธุรกิจทยอยล้มหายตายจาก ครึ่งปีแรกแรงงานถูกเลิกจ้างกว่า 2.5 ล้านคน หรืออาจจะยังไม่ส่งผลกระทบกับนักลงทุนและประชาชนส่วนใหญ่เหมือนสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน แต่หากภาครัฐเตรียมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งหรือภัยธรรมชาติต่างๆ ไม่ดี ก็จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้เศรษฐกิจแย่ลงไปอีก เพราะตอนนี้สิ่งที่พอหวังพึ่งพาได้ หนึ่งในนั้นคือภาคการเกษตร

  หากไม่สามารถควบคุมได้ รับประกันได้เลยว่าเมื่อนั้น เศรษฐกิจไทยถึงกาลอวสานแน่นอน!