การศึกษา / ส่อวุ่น ‘เลิก-ไม่เลิก’ โอเน็ต โจทย์ใหญ่ท้าทาย รมว.ศ

การศึกษา

 

ส่อวุ่น ‘เลิก-ไม่เลิก’ โอเน็ต

โจทย์ใหญ่ท้าทาย รมว.ศธ.

 

กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในวงการศึกษา

หลังนักเรียนสะท้อนปัญหาว่าการเรียนการสอนท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ทำให้นักเรียนไม่ได้รับความรู้อย่างเพียงพอ และเท่าเทียมกันทั่วประเทศ ถ้านำความรู้มาใช้สอบ โดยเฉพาะการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ซึ่งนักเรียนจะต้องนำมาใช้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการคัดเลือกเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย

จึงเรียกร้องว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะ “เลื่อน” หรือ “ยกเลิก” การสอบโอเน็ตออกไปก่อน

จากการสำรวจของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ผ่านทางเว็บไซต์ nataphol.com ที่สำรวจความคิดเห็นเรื่องเห็นด้วยหรือไม่กับการยกเลิกการสอบโอเน็ต โดยข้อมูล ณ วันที่ 9 กันยายน มีผู้ร่วมโหวต 12,292 คน ไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิก 9% เห็นด้วยที่จะให้ยกเลิก 80% และเห็นด้วยที่จะยกเลิกบางระดับชั้น 11%

ซึ่งนายณัฏฐพลได้เตรียมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะปีนี้การศึกษาไม่เท่าเทียมกัน เนื่องจากการแพร่ระบาด จึงต้องพิจารณาว่าการสอบโอเน็ตยังจำเป็นหรือไม่ แต่หากยกเลิก หรือปรับเปลี่ยนการสอบโอเน็ต จะต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบก่อน

“ผมยังไม่อยากเคาะว่าการสอบโอเน็ตจะยกเลิกหรือไม่ เบื้องต้นได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่าชั้น ม.6 มีข้อจำกัดเรื่องการใช้ผลคะแนนโอเน็ตมาวัดความสามารถในการเข้ามหาวิทยาลัย ฉะนั้น เรื่องนี้จึงเป็นคำตอบในตัวว่าคงจะยากหากยกเลิก ส่วนระดับชั้นอื่นๆ ขอให้มีการตกผลึกที่ชัดเจนก่อนว่าความเหมาะสมในการสอบจะเป็นอย่างไรในช่วงวิกฤตโควิด-19”

นายณัฏฐพลกล่าว

 

แม้นายณัฏฐพลระบุว่าการยกเลิกสอบโอเน็ตใน ม.6 เป็นเรื่องยาก แต่ยังไม่ฟันธง 100% ว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงการสอบโอเน็ต ทั้งนี้ ต้องจับตาความเห็นทางฟากฝั่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ผู้ออกแบบ และจัดการระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส

นายพีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้จัดการระบบทีแคส กล่าวว่า ทปอ.ยังไม่ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการจาก ศธ.ว่าจะปรับการสอบโอเน็ต โดยหลักการแล้ว ทปอ.ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งการออกเกณฑ์การสอบคัดเลือก หากเปลี่ยนแปลง จะต้องแจ้งให้นักเรียนทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ปี เพราะนักเรียนจะได้มีเวลาเตรียมตัวตั้งแต่ชั้น ม.4 และหากปีนี้จะเปลี่ยนแปลงการสอบโอเน็ต หรือไม่สอบโอเน็ต จะส่งผลกระทบต่อระบบทีแคส รอบ 4 หรือแอดมิสชั่นส์ 2 แน่นอน เพราะเกณฑ์การคัดเลือกส่วนใหญ่ใช้คะแนนสอบโอเน็ต ซึ่ง ทปอ.ต้องรอความชัดเจนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก่อน

“อย่างไรก็ตาม สพฐ.ได้เกริ่นกับ ทปอ.ว่าในปีการศึกษา 2566 สพฐ.จะปรับเปลี่ยนวิธีการสอบโอเน็ต จากที่นักเรียนทุกคนต้องสอบ จะกลายเป็นการสุ่มสอบ เหมือนการสอบของ PISA จะทำให้นักเรียนไม่มีคะแนนโอเน็ตทุกคน ดังนั้น ระบบทีแคสในรอบแอดมิสชั่นส์ 2 ซึ่งใช้คะแนนโอเน็ต 30% เป็นองค์ประกอบ จึงใช้ไม่ได้ และต้องยุติ”

นายพีระพงศ์กล่าว

ขณะที่นายชูศักดิ์ ลิ่มสกุล ประธานคณะกรรมการดำเนินงานทีแคส กล่าวว่า ทปอ.ได้รับการเกริ่นมาจาก สพฐ.ว่ามีแนวโน้มยกเลิกการสอบโอเน็ต หรืออาจเปลี่ยนวิธีการสอบ โดยจะสุ่มสอบแทน ซึ่ง ทปอ.วางแผนไว้ว่าจะมี หรือไม่มีการสอบโอเน็ตก็ตาม จะไม่ใช้โอเน็ตเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกในระบบทีแคสแล้ว แต่จะใช้คะแนน 9 วิชาสามัญ มาเป็นองค์ประกอบแทน

ส่วนคะแนนโอเน็ตจะกลายเป็นเกณฑ์หนึ่ง ที่บางคณะ/สาขาวิชา นำมาใช้ได้

 

ด้านนายอรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเด็นที่ควรถาม ไม่ใช่เรื่องยกเลิกหรือไม่ยกเลิก แต่ควรถามว่าจะทำอย่างไรให้ข้อสอบดีมีคุณภาพ และจะนำผลสอบไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาการเรียนการสอนได้อย่างไร

นอกจากนี้ นายอรรถพลได้เสนอ 3 ข้อเสนอเพื่อเปลี่ยนแปลงการสอบโอเน็ต คือ

  1. เปลี่ยนจากข้อสอบวัดตามตัวชี้วัดที่ยังยึดสาระความรู้ มาเป็นข้อสอบวัดสมรรถนะบางเรื่องที่วัดได้ด้วยข้อสอบปรนัย เช่น การอ่าน การคำนวณ การแก้ปัญหา การใช้เหตุผล ส่วนสมรรถนะอื่นให้ไปวัดระดับชั้นเรียน
  2. เปลี่ยนจากการวัดส่งท้ายช่วงชั้น ป.6, ม.3 และ ม.6 เป็นการวัดตอนกลางเทอมต้น ชั้น ป.4, ม.1 และ ม.4 เพื่อให้ได้ผลเป็นข้อมูลพื้นฐานมาใช้ในการพัฒนาผู้เรียน
  3. เปลี่ยนจากการเอาคะแนนมาใช้ผูกโยงกับการประเมิน ทั้งประเมินโรงเรียน และผู้อำนวยการโรงเรียน เพื่อนำผลมาใช้ในการวางแผนพัฒนาให้โรงเรียนจัดการสอน และประเมินสมรรถนะผู้เรียนระหว่างเรียน 3 ปี เปลี่ยนมาใช้การประเมินผู้อำนวยการ ครู และโรงเรียน จากรายงานการวิเคราะห์ผู้เรียน กำหนดแผนรายปี ราย 3 ปี ในการพัฒนาผู้เรียน และการสรุปรายงานการติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียน

 

ขณะที่นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เห็นควรจะยกเลิกการสอบโอเน็ต เพราะโอเน็ตทำให้การศึกษาไม่เท่าเทียมกัน และตัวข้อสอบก็มีปัญหาไม่น้อย อีกทั้งยังกดทับสิทธิเด็กอย่างรุนแรง เพราะเด็กไม่สามารถเรียนรู้ตามพัฒนาการของตนเองได้ เนื่องจากต้องมุ่งเรียนพิเศษ

นอกจากนี้ ผลการสอบโอเน็ตถูกนำไปใช้อย่างไม่เหมาะสม และผิดวัตถุประสงค์อย่างมาก เพราะถูกนำมาเป็นตัวชี้วัดผู้บริหาร ถูกนำมาใช้ประกอบการขอวิทยฐานะครู

สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดผลลบมากกว่าผลดี ถือเป็นการผิดพลาดครั้งใหญ่ของระบบการศึกษา ที่ผลการสอบของเด็กถูกนำไปเปรียบเทียบ และทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้อำนวยการโรงเรียนที่ต้องให้ได้คะแนนโอเน็ตในระดับที่ดี และส่งผลให้ครูได้รับความกดดันที่จะต้องสอน หรือจัดติวให้กับนักเรียน หรือเสียเงินจ้างองค์กรเอกชนมาจัดติวให้กับนักเรียนอีก ซึ่งเด็กไม่มีสิทธิพูด หรือบ่น หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ได้เลย

“อยากให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ผู้กำหนดนโยบาย ลงพื้นที่สำรวจความต้องการ หรือสอบถามนักเรียนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ว่าต้องการสอบโอเน็ตหรือไม่ เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจว่าควรจะยกเลิกโอเน็ตหรือไม่” นายสมพงษ์กล่าว

ถือเป็นโจทย์ยาก และท้าทายอย่างยิ่ง ซึ่งนายณัฏฐพลในฐานะผู้ดูแลภาพรวมการศึกษาทั้งหมด จะต้องกลับมาคิดถึง “ข้อดี” และ “ข้อเสีย” ของการปรับสอบโอเน็ต พร้อมกับเปิดรับฟังทุกความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน

โดยเฉพาะ “นักเรียน” ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง!!