บาห์เรนจับมืออิสราเอล ทรัมป์ปลาบปลื้ม ผลงานลูกเขยวางหมาก

วันที่ 12 ก.ย. เอเอฟพี รายงานเบื้องหลังความสำเร็จของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา ทำหน้าที่คนกลางดึงบาห์เรนมาจับมือกับอิสราเอล มหามิตรของสหรัฐ บรรลุข้อตกลงยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตสู่ระดับปกติ เป็นประเทศอาหรับชาติที่สองต่อจาก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ ยูเออี ที่ยอมญาติดีกับอิสราเอล

“ความก้าวหน้าดังกล่าวมีความสำคัญอย่างมาก ไม่เพียงสำหรับภูมิภาคตะวันออกกลางแต่สำหรับโลกด้วย ที่สำคัญยังมาบรรลุได้ในวันครบรอบเหตุวินาศกรรม 11 ก.ย. จึงถือว่าเป็นวันประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง” นายทรัมป์กล่าวอย่างปลาบปลื้ม ขณะที่คนคาดหมายว่าจะเป็นผลงานให้นายทรัมป์หาเสียงศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีได้เต็มที่

สำหรับดีลสันติภาพนี้ยืนยันระหว่างการเจรจาทางโทรศัพท์ระหว่าง 3 ฝ่าย ได้แก่ สมเด็จพระราชาธิบดีฮาเหม็ดแห่งบาห์เรน นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกฯ อิสราเอล และนายทรัมป์ จากนั้นนายทรัมป์จึงเปิดแถลงอย่างแช่มชื่น โดยพิธีลงนามกำหนดไว้วันที่ 15 ก.ย. และจะมีตัวแทนจากยูเออีมาร่วมด้วย

แต่ขณะเดียวกันทำให้ชาติอริของอิสราเอลขุ่นเคืองใจอย่างกว้างขวาง เช่น ปาเลสไตน์โจมตีว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นการ “แทงข้างหลัง” ชาวปาเลสไตน์ ด้านอิหร่านระบุว่า บาห์เรนกำลังเป็นผู้ก่ออาชญากรรมร่วมกับอิสราเอล

เอเอฟพี รายงานตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลนายทรัมป์พลิกท่าทีทางการทูตจากสมัยรัฐบาลบารัก โอบามา ที่มีต่อรัฐบาลบาห์เรน นอกจากขายอาวุธให้ทั้งที่มีปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังสนับสนุนให้หันมาคบหากับอิสราเอล แม้บาห์เรน มีประชาชนส่วนใหญ่นับถือนิกายชีอะห์ แต่ชนชั้นผู้ปกครองนับถือนิกายสุหนี่ และเป็นปรปักษ์กับอิหร่าน จึงมีศัตรูเดียวกันกับสหรัฐและอิสราเอล

การดำเนินนโยบายของรัฐบาลสหรัฐเป็นไปตามการผลักดันของนายจาเร็ด คุชเนอร์ ลูกเขยเชื้อสายยิวของนายทรัมป์ ในฐานะที่ปรึกษาประธานาธิบดี เริ่มวางแผนงานตะวันออกกลาง ที่กรุงมานามา เมืองหลวงของบาห์เรนตั้งแต่ปีก่อน

นายวิล เวชสเตอร์ ผู้อำนวยการโครงการตะวันออกกลาง สภาแอตแลนติก หน่วยงานวิเคราะห์สถานการณ์ตะวันออกกลาง ให้ความเห็นว่า กลุ่มอำนาจในอ่าวเปอร์เซียกำลังวิตกกับอิทธิพลจากฝ่ายที่ไม่ใช่อาหรับ ไม่ว่า อิหร่านที่เป็นผู้นำนิกายชีอะห์ กลุ่มมุสลิมบราเธอร์ฮูดที่เชื่อมโยงกับตุรกี และวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย จึงเกิดแนวร่วมใหม่ที่จะสกัดอิทธิพลเหล่านี้

“อิสราเอลและอาหรับอ่าวเปอร์เซียไม่ใช่พันธมิตรโดยธรรมชาติ พวกเขามีความแตกต่างทางวัฒนธรรม แต่จำเป็นต้องเกาะกลุ่มกันตอนนี้ เพราะมีผลประโยชน์ทางการเมืองและโอกาสร่วมกัน”