ต่างประเทศอินโดจีน : ซิซาเดน ริเวอร์

ซิซาเดน (Cisadane River) เป็นแม่น้ำหนึ่งในสามสายของเกาะชวาตะวันตก ที่เหลืออีก 2 สาย คือ แม่น้ำทุเรียน (CiDurian) กับแม่น้ำมันเซอูรี (CiManceuri)

ซิซาเดนอยู่ทางตอนเหนือของเกาะ ความยาวทั้งสิ้น 138 กิโลเมตร ต้นน้ำอยู่บนภูมันดาลาวังกี ไหลผ่านที่ราบตังเกรัง ผ่านตัวเมืองอย่างโบกอร์ และตังเกรัง ก่อนออกสู่ทะเลชวา

ลำน้ำสายนี้ในยุคล่าอาณานิคมเคยถูกใช้เป็นพรมแดนธรรมชาติกั้นระหว่างอาณาเขตของบริษัท ดัตช์ อีสต์ อินเดีย (เฟโอเช) กับบาตาวียา หรือปัตตาเวีย ซึ่งในปัจจุบันคือกรุงจาการ์ตานั่นเอง

นับตั้งแต่ยุคอาณานิคมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซิซาเดนกลายเป็นแหล่งน้ำจืดสำคัญของผู้คนจำนวนมากสองริมฝั่ง ทั้งซักล้าง อาบน้ำและอื่นๆ

แต่ในตอนนี้ ซิซาเดนกลายเป็นภัยคุกคาม 2 ชั้น สำหรับผู้คนที่เคยอาศัยพึ่งพาลำน้ำแห่งนี้

 

เพราะนอกจากมันอาจกลายเป็นแหล่งแพร่กระจายของโรคระบาดอย่างที่เคยเป็นเมื่อครั้งอดีตแล้ว ซิซาเดนยังอาจกลายเป็นแหล่งแพร่โควิด-19 สำหรับผู้คนสองฟากฝั่งอีกด้วย

สาเหตุเป็นเพราะทางการอินโดนีเซียยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เหมือนอย่างใจหลายคนต้องการ

อินโดนีเซียยังมีผู้ป่วยใหม่เพิ่มในอัตราวันละสองสามพันคน และยังคงทำสถิติเป็นชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สูงที่สุดอยู่ต่อไป

ยิ่งโควิดระบาดมากเท่าใด ลานขยะที่ซิเปอูคังในตังเกรัง อันเป็นส่วนหนึ่งของเขตมหานครจาการ์ตา ก็ยิ่งเต็มไปด้วยขยะพิษ ขยะทางการแพทย์มากยิ่งขึ้นเท่านั้น

ปัญหาใหญ่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อกำแพงของซิเปอูคังถล่ม ขยะที่กองเป็นภูเขาเลากาจำนวนหนึ่งไหลพรวดผ่านช่องแตกของกำแพง ทิ้งตัวลงสู่ซิซาเดน

นับตั้งแต่บัดนั้นจนถึงบัดนี้ ขยะสารพัดชนิดยังล่องลอย ไหลเอื่อยไปตามกระแสน้ำ

ขยะทั่วไปก่อปัญหาให้กับลำน้ำพอแรงแล้ว ที่ช่วยให้สถานการณ์เลวร้ายมากยิ่งขึ้นก็คือขยะทางการแพทย์

แพขยะของซิซาเดน มีทั้งไซริงก์ หน้ากากอนามัย แล้วก็แผ่นผ้า ชิ้นส่วนของชุดป้องกันเชื้อ ปนเปอยู่กับขยะพลาสติก ขวดน้ำ กล่องอาหาร ไหลเรื่อยกระจะตา

ขยะทางการแพทย์ที่ถูกทิ้งขว้างตามอำเภอใจ กลายเป็นปัญหาชวนวิตกกังวลของหลายประเทศในยามวิกฤตโควิด ตั้งแต่สเปน เรื่อยมาจนถึงไทยและอินเดีย

 

กระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซียเองยอมรับถึงปัญหานี้ ข้อมูลของกระทรวงระบุเอาไว้ว่า ระหว่างเดือนมีนาคมเรื่อยมาจนถึงเดือนมิถุนายน ระหว่างที่โควิด-19 ระบาดหนักทั้งประเทศ ก่อให้เกิดขยะทางการแพทย์ขึ้นมากถึง 1,480 ตัน

ยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานด้วยว่า อินโดนีเซียยังไม่มีแหล่งกำจัดขยะพิเศษจำพวกนี้ แต่กำลังพยายามหาทางแก้ไข

กฎใหม่ที่ออกมาหมาดๆ ก็คือ สถานพยาบาลที่ก่อขยะอันตรายเหล่านี้ จำเป็นต้องหาทางบำบัดขยะเสียตั้งแต่ต้น ไม่ใช่อาศัยว่าจ้างบุคคลที่ 3 กำจัดเหมือนเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้

 

อาดี ยูนุส ผู้ก่อตั้งซิซาเดน ริเวอร์ รับบิช แบงก์ หรือธนาคารขยะแห่งซิซาเดน บอกว่า สมาชิกของธนาคารขยะทำงานอย่างหนักตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา เพื่อคืนความสะอาดให้กับลำน้ำแห่งนี้

ช่วงที่ผ่านๆ มาในอดีต ไม่เคยพบเห็นขยะทางการแพทย์ในลำน้ำแห่งนี้ เพิ่งจะมีมาให้เห็นเป็นครั้งแรกหลังจากเกิดภูเขาขยะถล่มเท่านั้น

“ในตอนเกิดเหตุใหม่ๆ พวกเราเก็บขยะทางการแพทย์ออกจากแม่น้ำได้ถึงวันละ 50-60 ชิ้นทุกวัน”

เอก้า ปูรวันติ แม่บ้านวัย 36 ปี บอกว่า เป็นกังวลทุกครั้งที่นำผ้าไปซักริมแม่น้ำสายนี้ ได้แต่หวังว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะรู้ดีว่าโควิด-19 ร้ายแรงแค่ไหน

ในขณะที่แอสตรี เทวียานี ทำได้ดีที่สุดก็แค่ห้ามลูกๆ ลงเล่นน้ำเหมือนที่เคย

จนกว่าซิซาเดนที่เคยพึ่งพาจะกลับมาเหมือนเดิม!