อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : ก้าวไปในจุดที่ไม่อาจหวนกลับได้แล้ว

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

หลายคนบอกว่า นี่เป็นการต่อสู้ระหว่างฟันน้ำนมกับฟันปลอม

หลายคนบอกว่า นี่ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างเจเนอเรชั่น แต่เป็นความขัดแย้งระหว่างคนที่ตื่นแล้วกับคนที่ยังไม่ตื่น

ส่วนอีกหลายคนก็บอกว่า โรคโควิดเป็นแล้วเดี๋ยวก็หาย แต่โรคชังชาติไม่หาย

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการถกเถียงทางการเมืองที่น่าสนใจยิ่ง

ด้านหนึ่ง ข้อถกเถียงเหล่านี้ชี้ให้เห็นความแตกต่างทางความคิดทางการเมืองในประเทศไทยเวลานี้ที่ต่อเนื่องมาร่วมทศวรรษ ตั้งแต่ พ.ศ.2550 ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกและอันตรายตรงไหน ถกเถียงกันนับว่าเป็นเหตุเป็นผลและเป็นประเด็นในที่โล่งแจ้ง การถกเถียงในพื้นที่สาธารณะย่อมมีประโยชน์และสะท้อนความเป็นจริง เพราะการเมืองประเทศไหนในโลกก็ไม่ใช่มีแต่ในรัฐสภาและผูกขาดไว้เพื่อคนบางกลุ่มที่เรียกว่า นักการเมือง

ในความเป็นจริง โซเชียลมีเดียก็เป็นพื้นที่สาธารณะด้วยเหมือนกัน ใครๆ ก็อยู่ในโซเชียลมีเดียได้ กลัวเทคโนโลยีทำไม

ทว่า ใครกลัวเทคโนโลยีบ้าง เอาไว้คุยกันในวันหลังนะครับ

แม้ว่า คำการเมือง เวลานี้พรั่งพรูดังสายฝนที่ลาดรดต้นกล้าเสรีภาพทางความคิด ความเสมอภาคและประชาธิปไตยในบ้านเราอีกครั้งหนึ่งหลังจากห่างหายไปนานอยู่พักใหญ่

ทว่า ผมอดชื่นชอบ คำการเมือง อันกระชับ เข้าใจง่ายและให้ภาพอนาคตอันแจ่มแจ้งอยู่ในตัว ดังจะอธิบายเท่าที่คนตัวเล็กอย่างผมจะทำได้ดังนี้

 

เสียงแห่งยุคสมัย

ไม่เฉพาะที่บ้านเรา นานาชาติสนใจอย่างยิ่งต่อการประท้วงทางการเมืองของนักเรียน นักศึกษาและเยาวชนจำนวนหนึ่งโดยที่ความหมายทางการเมืองของเยาวชนไม่ได้อยู่ที่จำนวนของพวกเขา แต่อยู่ที่ เนื้อหา ที่พวกเขาสื่อออกมา

หลายฝ่ายมองว่า นี่เป็นการประท้วงครั้งใหม่ของเยาวชนในประเทศไทย อีกทั้งเป็นการประท้วงที่มีผู้คนร่วมประท้วงมากที่สุดนับตั้งแต่ที่มีการรัฐประหารเมื่อปี 2557 เป็นต้นมา

ที่สำคัญคือสิ่งที่เยาวชนเรียกร้องคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุบสภา ปฏิรูปการเมือง ซึ่งบางฝ่ายก็วิจารณ์ว่าเป็นข้อเสนอที่เป็นไปไม่ได้ นั่นเพราะแก้รัฐธรรมนูญก็มีหลายวิธี (ความจริงคนร่างรัฐธรรมนูญร่างให้แก้ยากอยู่แล้ว)

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็จะบอกว่า แก้รัฐธรรมนูญมาตราไหน และเมื่อแก้ไขแล้ว พวกผู้ใหญ่ก็ว่าเด็กๆ จะยังไม่พอใจ

คนที่เขาไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้ก็บอกว่า เป้าหมายที่แท้จริงของเยาวชนคือ การไล่รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา

ในความคิดของผม จะบอกว่าเยาวชนขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นใช่ครับ แล้วมันผิดตรงไหน พวกเขาไม่ใช่พรรคฝ่ายค้านที่ต้องการเป็นรัฐบาลและมีผลประโยชน์ทางการเมือง

เยาวชนแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยการขับไล่รัฐบาลเป็นเพียงข้อเสนอพื้นฐาน

พร้อมกันนั้น เยาวชนได้เสนอสิ่งที่เป็นปัญหา ทั้งโครงสร้างเอาไว้อีกด้วย โครงสร้างที่ว่านั้น เยาวชนไม่ได้ทำวิจัยและค้นคว้าอย่างลึกซึ้งแบบอาจารย์นิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยจนเอาไปเถียงกับท่านวุฒิสภาผู้ช่ำชองกฎหมายได้

ความจริงความรู้ของพวกเขาก็มาจากสิ่งที่พวกเขารับทราบปัญหาจาก สังคมข่าวสาร อันมีอยู่มากมายตามช่องทางต่างๆ

ความคิดที่เสนอของพวกเขาอาจไม่ได้เป็นระบบ ทว่าเป็น ความจริง ที่ปรากฏอยู่ในบ้านเราเวลานี้ นั่นคือ สิทธิเสรีภาพ การเอารัดเอาเปรียบ ความเสมอภาค ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม

การเอารัดเอาเปรียบ มาจากข่าวสารที่มีอยู่แล้วอันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันด้านความยุติธรรมและกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นทุกวี่ทุกวัน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและสังคมก็มาจากข่าวสารของเหล่า อภิสิทธิ์ชน ทั้งหลาย

โดยปีกหนึ่งคือ เหล่านักการเมืองระดับต่างๆ ทั้งระดับชาติและท้องถิ่นที่แสดงอำนาจทั้งในสภาอันทรงเกียรติ ในจอโทรทัศน์และในสื่อโซเชียลที่แพร่หลายไปทั่ว ข้าราชการในหน่วยงานราชการที่เยาวชนหรือครอบครัวสัมผัสได้ด้วยตัวเอง มิไยต้องพูดถึงเหล่าบรรดาชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ ที่มีจำนวนอันน้อยนิด

รวมทั้ง ท่านเจ้าสัว ที่ใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรีและผู้มีอำนาจ ซึ่งด้วยจำนวนเพียง 20 กว่าเจ้าสัว

แล้วเยาวชนทั้งหลายไม่เพียงรู้สึกว่า พวกเขาได้ใกล้ทำเนียบรัฐบาลเฉพาะตอนวันเด็กเท่านั้น พวกเขายังรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตเสียเหลือเกินเมื่อผู้ใหญ่บางคนเสนอให้มีการจัดทำรายชื่อเยาวชนและนักศึกษาที่เข้าร่วมชุมนุมเพื่อให้บริษัทธุรกิจไม่รับพวกเขาเข้าทำงาน

 

ทำไมไม่ประท้วง?

ความจริงการประท้วงใหญ่ของเยาวชนในประเทศไทยคล้ายกับการประท้วงใหญ่ทั่วโลกในหลายประเด็น

ประเด็นหนึ่งที่คล้ายกันมากคือ ความกังวลต่ออนาคตที่ไม่แน่นอนของพวกเขา ท่ามกลางเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก คนตกงานจำนวนมากและมากขึ้นเรื่อยๆ ร้านค้าขายของไม่ได้ โรงงานปิด ไม่ต้องมีรายงานของทางราชการที่ว่าจะมีนักศึกษาตกงานอย่างน้อย 500,000 คนหรอก พวกเขารู้ดีว่าหากมีรัฐบาลแบบนี้ไปเรื่อยๆ และโครงสร้างการเมืองเป็นอย่างนี้พวกเขาตกงานแน่

ความไม่มั่นคงเรื่องรายได้ อาชีพและรายได้ของพวกเขาจึงเหมือนที่เกิดขึ้นที่ฮ่องกงซึ่งก็มีการประท้วงใหญ่ของเยาวชนเหมือนกัน

เพียงแต่เยาวชนฮ่องกงไม่มั่นคงต่อการปกครองของจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเยาวชนฮ่องกงไปตลอดกาล

เมื่อเยาวชนฮ่องกงประท้วงระบอบการปกครองของจีนและการหมดสิ้นสิทธิเสรีภาพทุกชนิด

แล้วเยาวชนไทยประท้วงระบอบประยุทธ์มันไม่เหมือนกันตรงไหน

 

ที่ตรงไปตรงมาคือ อย่าลืมนะครับ ในบ้านเรา คนที่ประกาศไม่รับเยาวชนเข้าทำงานเพราะว่าพวกเขามีความคิดทางการเมือง (แปลกมีความคิดทางการเมืองก็ผิด) เป็นถึงข้าราชการชั้นนายพล มีธุรกิจด้านการแพทย์

มิหนำซ้ำยังเป็นดารา ประจำในโลกโซเชียลมีเดียอีกด้วย

เด็กๆ จะรู้สึกอย่างไรกับท่าทีของท่านผู้เคยต่อกรกับแกนนำ กปปส.และพระนักการเมืองผู้ทรงพลังมาแล้ว กำลังต่อกรขับเคี่ยวกับพวกเขา

การย้อนพินิจอดีตแห่งการประท้วงเป็นเรื่องดี ทว่า แม้ไม่มีอะไรเหมือนกัน ตุลาคม 2516 การลุกฮือของนักศึกษา (Student uprising) ต่อสู้กับระบอบเผด็จการถนอม ประภาส โดยมีความขัดแย้งภายในชนชั้นนำ ทั้งทหารและชนชั้นนำอำนาจเป็นจุดชี้ขาด หรือเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 กลุ่ม พล.อ.สุจินดา คราประยูร พ่ายแพ้ต่อม็อบมือถือ (Mobile mob) และชนชั้นกลาง โดยมีกลุ่มซอยราชครู จำลอง ศรีเมือง และเครือข่ายเป็นมือที่มองไม่เห็น มือถือไม่สำคัญเท่า

การประท้วงใหญ่ของเยาวชนไทย 2563 โซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์เป็นเพียงเครื่องมือประกอบการประท้วง เสมือนเวทีอภิปราย สำคัญที่สุดอนาคตที่ไม่แน่นอนของเยาวชนต่างหากที่เป็นพลังขับเคลื่อนอันทรงพลานุภาพ

เยาวชนเขาสื่อง่ายๆ ว่า …จะไม่ทน

แล้วคนชั้นกลาง พนักงานบริษัท ธนาคาร สายการบิน โฮสเทล โรงแรม แรงงาน เจ้าของเอสเอ็มอีที่ล้มละลายก็จะไม่ทน

…จะไม่ทนจึงเป็นก้าวย่างไปในจุดที่ไม่อาจหวนกลับได้แล้ว

 


กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2