ย้อนฟัง Another Brick in the Wall ท่ามกลางสถานการณ์แฟลชม็อบ

ข่าวคราวจากโรงเรียนหลังจากนักเรียนจัดแฟลชม็อบเรียกร้องประชาธิปไตย 3 ข้อ คือบทบาทของครู-อาจารย์ในการสกัดขัดขวางการแสดงออกของศิษย์ตัวเอง

ก่อนที่ตัวแทนนักเรียนเข้าไปร้องกระทรวงศึกษาธิการว่า มีนักเรียนจาก 109 โรงเรียนระบุว่า โดนอาจารย์ข่มขู่ คุกคาม จากการแสดงออกทางการเมือง

เสียงตะโกนคุ้นๆ ก็ดังข้ามมาจากปลายยุคเจ็ดสิบว่า Hey Teachers! Leave Them Kids Alone!!

เป็นเสียงเตือนโรงเรียนที่จะเข้าไปครอบงำบังคับเด็กๆ จากเพลง Another Brick in the Wall ที่แบ่งเป็น 3 พาร์ต ในคอนเซ็ปต์อัลบั้มปี 1979 หรือปี 2522 คือ The Wall ผลงานชุดที่ 11 ของวงจากอังกฤษ

อัลบั้มนี้เข้าอันดับ 1 ในชาร์ตบิลบอร์ดของปีนั้น และขายดิบขายดีเป็นอมตะมา 40 กว่าปี

ผู้แต่งเพลงนี้คือโรเจอร์ วอเตอร์ส มือเบส เนื้อหาสะท้อนปัญหาของระบบโรงเรียน ที่พยายามควบคุมเด็กมากกว่าจะให้เติบโตทางความคิดและแสดงออก

มีวงประสานเสียงของเด็กๆ ที่ร้องแล้วโอเวอร์ดับหรืออัดทับ ที่บ๊อบ เอซริน โปรดิวเซอร์ดึงเข้ามา ทำให้เพลงมีชีวิตชีวา และเป็นเสียงจากฟากฝั่งของเด็กมากขึ้น

สำหรับเอซรินเคยทำงานโปรดิวซ์ให้วงอลิซ คูเปอร์ และนำเอาเสียงร้องของเด็กมาใส่ใน School”s Out เพลงฮิตปี 1972 ของอลิซ คูเปอร์

ในระยะต่อมา เมื่ออลิซ คูเปอร์ นำ School”s Out ขึ้นแสดงคอนเสิร์ตก็จะนำเอาบางตอนจาก Another Brick in the Wall มาใส่ไว้ด้วย

วอเตอร์สชื่นชอบไอเดียของเอซรินที่นำวงประสานเสียงเด็กเข้ามา เพลงที่มีเนื้อหาไม่ยาวมากนัก ถูกยืดออกไปด้วยเทคนิคต่างๆ ขณะที่วอเตอร์สนำเอาเสียงของดิสโก้เข้ามา

จาก 3 พาร์ต Another Brick in the Wall Part 2 หรือ “Part 2” ของเพลงนี้ กลายเป็นซิงเกิล และเป็นซิงเกิลเดียวของวงนี้ ที่เข้าชาร์ตอันดับ 1 ทั้งในอเมริกา อังกฤษ และอีกหลายประเทศ ขายไป 4 ล้านชุด เข้าชิงแกรมมี่ และเป็น 1 ในบัญชี 500 เพลงยิ่งใหญ่ตลอดกาลจัดโดยนิตยสารโรลลิ่งสโตน

โดยกาลเวลา เพลงนี้ออกเมื่อ 1979 หรือ 2522 สมัยคุณพ่อยังหนุ่ม บรรดา ผอ.โรงเรียน ลุงๆ ป้าๆ ทั้งหลายในวันนี้ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว แต่ย้อนกลับไปสมัยนั้น หลายคนอาจจะ “แรง” อาจเป็นกบฏ อาจเคยชื่นชอบเพลงของวง “ครุชน” อันเป็นวงเพื่อชีวิตของนักศึกษาครู

ก่อนจะเปลี่ยนผ่านมาคาบนกหวีด แล้วมาติดกับดักแหง็กอยู่ด้วยกันทั้งประเทศในขณะนี้

วง Korn วงนูเมทัล ที่มาแรงมากกว่าเมื่อกว่า 10 ปีก่อน นำเอาเพลงนี้ไปคัฟเวอร์ เพิ่มความหนักหน่วงตามแบบของเมทัลเข้าไป

ทำให้เพลงนี้ยิ่งเป็นที่รู้จักมากขึ้นของเจเนอเรชั่นต่อๆ มา

ชื่อ The Wall ยังสื่อถึงระบบ หรือสัญลักษณ์ของการกีดกัน ปิดกั้น ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพ สิทธิและคุณค่าอันดีงามอีกหลายอย่างของมนุษย์

10 ปีต่อมาหลังจากอัลบั้มนี้ออกมา กำแพงเบอร์ลินถูกรื้อทำลายในปี 1989 หรือ 2532 ไม่กี่เดือนจากนั้น วอเตอร์สซึ่งแยกจากพิงก์ฟลอยด์แล้ว ไปเปิดคอนเสิร์ต บริเวณที่เคยเป็นกำแพงเบอร์ลิน

สถานการณ์เรื่องสิทธิ เสรีภาพ มีผลขยายความหมายของเพลงนี้ นักต่อสู้นักกิจกรรมหลายขบวนการ ใช้บริการเพลงนี้กันอย่างกว้างขวาง

ในอัลบั้มเดียวกันนี้ ยังมีเพลงน่าฟังอีกมาก คุ้มค่าหากจะย้อนกลับไปฟัง ประกอบการติดตามข่าวคุณครูและแฟลชม็อบของคนเจเนอเรชั่นใหม่

เป็นอีกเสียงที่ช่วยประคับประคองการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในขณะนี้