คุยกับ “มารีญา” นางงามหัวใจประชาธิปไตย เลือกจะยืนตรงนี้ ไม่ต้องหวั่นไหว

“นางงามหัวใจประชาธิปไตย” ตำแหน่งนี้คงยกให้ใครไปไม่ได้นอกจาก “มารีญา พูลเลิศลาภมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2017 นางงามที่ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างชัดเจนกรณีนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย

ย้อนกลับไป “มารีญา” ก็แสดงจุดยืนในการสนับสนุนเยาวชนคนรุ่นใหม่มาตั้งแต่การประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2017 ที่ “สตีฟ ฮาร์วีย์” พิธีกรในการประกวดถาม “มารีญา” นางงามจากประเทศไทยที่เข้ารอบ 5 คนสุดท้ายว่า “คุณคิดว่าขบวนการขับเคลื่อนทางสังคมที่สำคัญที่สุดในยุคสมัยของคุณคืออะไร และเพราะอะไร”

“มารีญา” ได้ตอบคำถามนี้ว่า “เรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยก็จริง แต่ขบวนการขับเคลื่อนทางสังคมที่สำคัญที่สุดในยุคสมัย คือเยาวชนคนรุ่นใหม่ พวกเขาคืออนาคต พวกเขาคือกลุ่มคนที่เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญ เพราะคนรุ่นใหม่คือคนที่ต้องดูแลโลกที่พวกเราอาศัยอยู่”

จากคำตอบในวันนั้นสู่การแสดงความเห็นในวันนี้ของ “มารีญา” ซึ่งตั้งแต่มีการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษา “มารีญา” ก็ได้โพสต์ข้อความขออยู่เคียงข้างเยาวชนมาโดยตลอด

เช่น การโพสต์ไอจีสตอรี่ เป็นภาพการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก พร้อมข้อความ “#Thailand #Change #PeacefulProtest ขอให้ปลอดภัยนะคะ ถ้ารู้สึกไม่สบายให้อยู่บ้าน และสวมหน้ากากเมื่อเข้าที่ชุมนุม ฉันอยากจะอยู่ตรงจุดนั้น”

หรือการเข้าร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา พร้อมโพสต์ภาพผ่านอินสตาแกรมเกี่ยวกับการชุมนุมดังกล่าว ระบุข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า “Do You Hear the People Sing?” หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า

“ได้ยินเสียงของประชาชนไหม”

หลังจากโพสต์ดังกล่าว “มารีญา” ก็ยังแสดงจุดยืนทางการเมืองผ่านโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง แต่ในบริบทของสังคมไทยการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของดารา บุคคลในวงการบันเทิง โดยเฉพาะนางงามมักถูกมองว่าต้องทำตัวให้เป็นกลาง ไม่ควรมีปากมีเสียงหรือแสดงความเห็นในเรื่องนี้ ซึ่งมันมีราคาที่ต้องจ่าย หรือมีสิ่งที่ต้องแลกเสมอ

“มารีญา” ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า ก่อนจะเขียนข้อความเผยแพร่ไป รู้สึกกลัวมาก แต่ก็คิดได้ว่าทำไมต้องกลัวในเมื่อเราทำสิ่งที่เราเชื่อว่าถูกต้อง เราไม่อยากกลัวแบบนี้อีกแล้ว เราไม่อยากให้เพื่อนเรากลัวแบบนี้อีกแล้ว และเราไม่อยากให้คนไทยกลัวแบบนี้อีกแล้ว

ทุกคนมีสิทธิความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน สามารถแสดงความเห็นทางการเมืองได้เหมือนกันเพราะการเมืองเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราโดยตรง หากเราเห็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องเราจะอยู่เฉยๆ ได้อย่างไร

“ถ้าเราเห็นคนถูกบูลลี่ ถูกซ้อม ถูกทำร้าย เราจะเดินหนีเหรอ หรือว่าเราจะไปหยุดมัน มันเป็นการอยู่ร่วมกันในสังคมของมนุษย์ แล้วถ้าเราเป็นคนที่ถูกทำร้ายเราจะอยากให้คนอื่นเดินผ่านไปหรือว่าหยุดช่วยเหลือเรา ดังนั้น เราอยากให้คนอื่นทำกับเราอย่างไร เราก็ต้องทำแบบนั้นกับคนอื่นด้วย มันคือเหตุผลง่ายๆ เลย”

“มารีญา” ยังบอกว่า ถ้าตนเองไม่ก้าวข้ามความกลัวในวันนั้น แล้วออกมาแสดงจุดยืนเมื่อเห็นความไม่ถูกต้อง ความไม่ยุติธรรม ตนเองในฐานะ Influencer คนหนึ่งที่ไม่ลงมือทำอะไรสักอย่างวันนี้จะอยู่กับตนเองได้อย่างไรแม้จะมีราคาที่ต้องจ่ายก็ตาม

“มันมีราคา มีราคาจริงๆ ก็ถูกยกเลิกงาน ถูกต่อว่า ถูกวิจารณ์ แต่มารีญาคิดว่าฝั่งที่เขาว่าเราที่วิจารณ์เราเพราะเขาไม่เข้าใจเรา บางครั้งคำพูดของเราก็ถูกบิดเบือนมันก็เป็นสิ่งที่เราต้องแลก เพราะว่าเราอยู่ในจุดที่เป็น Influencer เราจะ influence อะไร เราจะ influence สิ่งของเหรอ เราต้อง influence สิ่งที่มันจะช่วยสังคมของเราสิ”

“มารีญา” ยังเล่าว่า ที่ผ่านมาเห็นปัญหาหลายๆ อย่างในบ้านเรา อย่างเช่นปัญหาความยุติธรรม ความเท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ การคุกคาม การสร้างความเกลียดชัง ที่ต้องยอมรับว่ามันยังมีอยู่ในสังคมจริงๆ

พร้อมยกตัวอย่างความไม่เท่าเทียมในสังคมว่าประเด็นนี้ทุกคนมองเห็นปัญหาได้ง่ายๆ เพียงแค่เดินออกไปนอกบ้าน ก็สามารถพบเห็นได้ตามท้องถนนทั่วไป รวมไปถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมในด้านต่างๆ เช่น การส่งเสริมทางการศึกษา การส่งเสริมทางอาชีพ หรือคำว่าสองมาตรฐาน ควรหมดไปจากสังคมเสียที

“คิดว่าเป็น Double standard ที่อยากจะเปลี่ยนแปลง เพราะเราก็เห็นในข่าวที่เพิ่งผ่านไปไม่นาน เช่น กรณีขับรถชนคนตายแล้วมันเกิด Double standard ขึ้น มันเกิดขึ้นได้อย่างไร บางคนได้สิทธิ บางคนไม่มีสิทธิ บางคนทำผิดแล้วเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น บางคนไม่ได้ทำอะไรผิดเลยแต่โดนคุกคามมันไม่ใช่”

“นี่มันเป็น Double standard มันต้องไม่มีแบบนี้อีกแล้ว”

ส่วนสาเหตุที่ให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่มาโดยตลอดเพราะ “มารีญา” เห็นว่าเด็กรุ่นใหม่คืออนาคตของโลกใบนี้ พวกเขาคือกลุ่มคนที่ต้องอยู่บนโลกใบนี้ต่อไปจากเรา และการออกมาชุมนุมของเด็กรุ่นใหม่มันสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาใส่ใจต่ออนาคตของตัวเอง

“เด็กสมัยนี้มีความคิดสร้างสรรค์ มีเหตุผล และมีความรู้เยอะมาก การออกมาชุมนุมเพราะพวกเขาอยากจะเปลี่ยนแปลงโลกในอนาคตแสดงว่าเขาใส่ใจ และมันชัดเจนมากเลยว่าตอนนี้เราหลอกเด็กไม่ได้ เขารู้เรื่อง ถ้าเขาไม่รู้เรื่องเขาก็จะหาทางรู้จนได้ หากใครคิดว่าเด็กมันหลอกง่ายแสดงว่าเขาอาจจะยังไม่เข้าใจเรื่องนี้มากพอ จะบอกว่าพวกเขาไม่ได้ออกมาโง่ๆ นะ เขาออกมาพร้อมพลังกับเหตุผลที่สร้างสรรค์มาก”

“มารีญา” ยังเห็นว่าการคุกคามและทำร้ายเด็กที่ออกมาแสดงความคิดเห็นของตนเอง หรือออกมาแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง มันคือความผิดของผู้ใหญ่ หากผู้ใหญ่สามารถตอบคำถามหรือข้อสงสัยของเด็กได้เด็กคงไม่แสดงออกแบบนี้

“คิดว่ามันผิดตรงผู้ใหญ่ถ้าปล่อยให้เด็กถูกคุกคาม ถูกทำร้าย รวมไปถึงการที่คุณครูคุกคามเด็กมันก็เป็นอะไรที่ผิดมากๆ ผิดหลายระดับมากเลย ตั้งแต่ระดับของมนุษย์ ระดับของคุณครู พ่อ-แม่อยากให้ลูกไปโรงเรียนแล้วถูกทำร้ายจากคุณครูเหรอ ไม่มีหรอก มันมีวิธีการที่จะแก้ปัญหา มันมีทางออกที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรง”

ส่วนที่หลายคนตั้งคำถามว่าอาจจะมีผู้อยู่เบื้องหลังเด็กเหล่านี้ หรือการออกมาชุมนุมเป็นกระแสที่เด็กเลียนแบบกันนั้น “มารีญา” เห็นว่าหากใครที่คิดแบบนั้นแสดงให้เห็นว่าเขาไม่เคยเข้าใจ และไม่ยอมรับฟังด้วยเหตุผลเลย

นอกจากนี้ “มารีญา” ยืนยันว่าตนเองไม่สนับสนุนการชุมนุม หรือการแสดงความคิดเห็นที่ใช้คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง คำหยาบคาย และความรุนแรง ทุกอย่างสามารถแก้ไขได้ด้วยการลดทิฐิ ร่วมมือ และรับฟัง พร้อมฝากถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นให้รับรู้ว่าพวกเขากำลังทำสิ่งที่สำคัญ และกำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับอนาคตของตนเอง

“อยากให้น้องๆ รู้ว่าสิ่งที่ทำมันสำคัญมาก และให้พลังกับมารีญามากๆ ด้วย รวมไปถึงการให้ความหวังกับคนทั่วประเทศว่าน้องๆ กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลง หรือว่าพยายามทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น มันเปิดมุมมองของมารีญาด้วยว่ามันมีหลายสิ่งที่ยังต้องการการเปลี่ยนแปลงอยู่ในตอนนี้”

“มารีญา” กล่าวทิ้งท้ายว่า การต่อสู้ทุกครั้งไม่ว่าคุณจะสู้กับอะไร ข้อควรระวังที่สำคัญที่สุดคือ “ระวังว่าเราจะกลายเป็นสิ่งนั้นที่เรากำลังสู้อยู่ แค่ระวังเตือนตัวเองไว้เรื่อยๆ แล้วพร้อมฟังเหตุผลของทุกฝ่าย สู้กับความรักอย่าสู้กับความเกลียด”