จิตต์สุภา ฉิน : แชร์เส้นทางวิ่งออนไลน์ อันตรายหรือเปล่า

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ในยุคที่อะไรที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันแต่ไม่ได้แชร์ลงบนโซเชียลมีเดียก็ถือว่าสิ่งสิ่งนั้นไม่เคยเกิดขึ้น ก็ทำให้เป็นเรื่องยากมากที่เราจะต้านทานแรงยั่วยุในการที่จะโพสต์ทุกความคิดที่ผ่านเข้ามาในหัวหรือภาพทุกภาพที่เราถ่ายด้วยกล้องสมาร์ตโฟน

แต่หลายๆ กิจกรรมก็ไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมที่จะแชร์ให้คนอื่นได้เห็นแม้ว่าเราจะรู้หรือไม่รู้ตัวก็ตาม

เรื่องพื้นฐานที่สุดที่เรามักจะได้รับคำเตือนก็คืออย่าเช็กอินด้วยโลเกชั่นบ้านของตัวเอง หรือการไม่เช็กอินตามสถานที่ต่างๆ ในระหว่างที่เรายังอยู่ที่นั่น

แต่แนวทางเหล่านี้ก็จะต้องคอยอัพเดตเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เหมือนกัน เพราะนับวันเราก็จะมีลูกเล่น มีกิจกรรมต่างๆ ให้ทำบนโซเชียลมีเดียเพิ่มมากขึ้น

อย่างเช่น การแชร์เส้นทางการวิ่งออกกำลังกายของเรา

 

การแชร์เส้นทางการวิ่งบนแผนที่ดูจะเป็นเทรนด์ที่มาแรงมากนับตั้งแต่การวิ่งได้กลายเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมไม่ว่าจะทั้งในต่างประเทศหรือในบ้านเราเอง

นาฬิกาสมาร์ตวอตช์หลายรุ่นที่มาพร้อมฟังก์ชั่น GPS จะช่วยบันทึกเส้นทางการวิ่งโดยแสดงเป็นเส้นที่ลากอย่างเด่นชัดอยู่บนแผนที่จริง ไปจนถึงข้อมูลอย่าง เวลา ระยะเวลารวมของการวิ่ง และเวลาที่ใช้ในการวิ่งต่อ 1 กิโลเมตร

ซึ่งสำหรับคนวิ่งออกกำลังกายแล้วนี่ถือเป็นรางวัลที่ได้รับในตอนท้าย มันคือภาพสรุปของความสำเร็จในการวิ่งแต่ละวันและเป็นความภาคภูมิใจที่อยากจะแชร์ออกไปให้คนอื่นบนโซเชียลมีเดียได้รับรู้

ไม่ใช่เรื่องที่จะเข้าใจไม่ได้เลยว่าการแชร์ข้อมูลแบบนี้เป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกดี รู้สึกถึงความภาคภูมิใจในตัวเองเวลาที่เราสามารถทำสถิติใหม่ๆ ได้ และเป็นแรงผลักดันให้อยากจะวิ่งให้มากขึ้น

แต่การแชร์ข้อมูลเหล่านี้ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่จะต้องทำความเข้าใจไว้ก่อนเหมือนกัน

หากเราแชร์โดยไม่ตัดข้อมูลสำคัญบางอย่างออก สิ่งที่คนทั่วไปจะได้เรียนรู้จากภาพรวมการวิ่งของเราก็จะมีตั้งแต่เวลาที่เราเริ่มออกวิ่ง ไปจนถึงสถานที่ที่เราวิ่งผ่าน

ซึ่งเมื่อแชร์ติดต่อกันบ่อยๆ ก็จะกลายเป็นแผนผังการวิ่งที่คาดเดาได้ง่ายว่าวันไหนเรามีแนวโน้มจะออกวิ่งตอนกี่โมงและจะผ่านจุดไหนบ้าง เพียงพอที่จะทำให้มีใครที่ไม่หวังดีไปดักรอเพื่อก่อการอะไรบางอย่าง

ไม่ใช่แค่เส้นทางการวิ่งเท่านั้น แต่ข้อมูลของการวิ่งเหล่านี้ท้ายที่สุดแล้วก็จะสามารถนำไปคาดการณ์ได้ด้วยว่าบ้านของคนที่วิ่งน่าจะอยู่บริเวณไหน

 

เวลาได้ยินคำเตือนอะไรแบบนี้ ฉันก็เชื่อว่าปฏิกิริยาแรกของหลายๆ คนก็น่าจะไปในแนวทางว่า โอ๊ย คิดมากไปหรือเปล่า ข้อมูลแค่นี้ใครจะเอาไปใช้ทำอะไรได้

แต่ที่ผ่านมาก็มีข่าวมาไม่น้อยว่าเกิดอุบัติเหตุและการก่ออาชญากรรมในระหว่างเส้นทางการวิ่งออกกำลังกายมาแล้ว และส่วนใหญ่เหยื่อก็มักจะเป็นผู้หญิงที่วิ่งคนเดียว

แต่ก็ไม่ได้แปลว่าผู้ชายจะตกเป็นเหยื่อไม่ได้ โดยปกติภัยที่เกิดขึ้นกับคนที่ออกไปวิ่งออกกำลังกายคนเดียวก็มาได้ในหลายรูปแบบอยู่แล้ว ยิ่งถ้าเราแชร์ข้อมูลออกไปเกินความจำเป็นก็จะยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสให้คนที่น่ากลัวสามารถเข้าถึงตัวได้ง่ายขึ้น

ผู้เขียนบทความใน Gizmodo ลองไปเปิดแอพพลิเคชั่น MapMyRun และไล่ดูว่ามีข้อมูลอะไรบ้างที่เราสามารถสกัดออกมาจากข้อมูลการวิ่งของคนแปลกหน้าที่อยู่ห่างไกลกันโพ้นทะเลแต่แชร์เอาไว้บนแอพพ์เดียวกันนี้ได้บ้าง

ปรากฏว่าแค่ไม่ถึงหนึ่งวินาที เลื่อนฟีดลงมานิดเดียวก็เจอทั้งภาพเซลฟี่พร้อมทั้งแผนที่ GPS ของผู้ใช้งานคนหนึ่ง

ที่หากเสิร์ชต่อไปก็จะหาข้อมูลเจอทั้งหมด ตั้งแต่ประวัติการออกกำลังกาย กิจวัตรการออกกำลังกายในแต่ละวันย้อนหลังไปสองปี

เห็นแม้กระทั่งว่าผู้ใช้คนนี้เพิ่งจะย้ายบ้านเพราะรูทีนการวิ่งเริ่มเปลี่ยนไป ยิ่งเมื่อมีภาพเซลฟี่ใบหน้าที่เปื้อนเหงื่อหลังวิ่งเสร็จมาจับคู่กับข้อมูลโลเกชั่นสถานที่ก็ยิ่งทำให้มั่นใจได้ว่าถ้าขุดต่อไปก็น่าจะหาตัวตนกันเจอได้ง่ายๆ

 

แอพพ์ตัวช่วยออกกำลังกายหลายแอพพ์จะกระตุ้นให้ผู้ใช้ลงทะเบียนและเพิ่มเพื่อนเพื่อแข่งขันกันว่าใครจะเป็นที่หนึ่งบนลีดเดอร์บอร์ดในแต่ละวันหรือแต่ละสัปดาห์ ซึ่งก็จะยิ่งเป็นการกระตุ้นให้เราอยากแชร์ข้อมูลเหล่านี้ให้มากขึ้น บางแอพพ์ก็อาจจะตั้งค่าเริ่มต้นเอาไว้ให้แชร์ข้อมูลการวิ่งของเราเป็นสาธารณะด้วย

แอพพ์วิ่งอย่าง MapMyRun ระบุว่ามีผลวิจัยที่ยืนยันแล้วว่าการมีคนร่วมวิ่งไปด้วยจะช่วยให้เราวิ่งได้เร็วขึ้น

แต่ในกรณีที่เราไม่ได้มีเพื่อนวิ่ง แอพพ์เหล่านี้ก็มีฟีเจอร์ที่ให้เราสามารถเชื่อมต่อเข้าหานักวิ่งคนอื่นๆ ทั่วโลกเพื่อแชร์และซิงก์ข้อมูลการวิ่งกันตามเวลาจริง ทำให้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเวลาวิ่งและจะได้ขอคำแนะนำเพื่อพัฒนาการวิ่งให้ดีขึ้น

ข้อมูลเหล่านี้ก็จะไม่ได้อันตรายอะไรถ้าหากว่าไม่สามารถเชื่อมโยงเข้าหาตัวตนในโลกความเป็นจริงของเราได้ แต่หากเราผูกแอ็กเคาต์ที่ตามหาตัวกันได้ เราก็ไม่มีทางรู้เลยว่าใครจะแอบสอดส่องรูปแบบการวิ่งของเราอยู่บ้าง

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าเราควรจะปิดฟังก์ชั่น GPS และเลิกเก็บข้อมูลการวิ่งของเราไปเลย เพราะข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์ในการที่เราจะใช้เพื่อติดตามความคืบหน้าในการออกกำลังกายของเราให้เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น แต่ก็มีหลายอย่างที่เราอาจจะต้องระมัดระวังให้มากกว่าเก่า

สำหรับคนที่เดินทางออกจากบ้านเพื่อไปวิ่งตามจุดต่างๆ อย่างเช่น สวนสาธารณะที่มีคนเยอะๆ การแชร์ข้อมูลเหล่านี้บนโซเชียลมีเดียก็จะเสี่ยงน้อยกว่าคนที่เริ่มเส้นทางการวิ่งออกกำลังกายตั้งแต่หน้าบ้านของตัวเอง อย่างน้อยๆ คนที่ได้ข้อมูลการวิ่งไป ก็ไม่สามารถระบุตำแหน่งที่พักอาศัยของเราได้

ตัดข้อมูลบางอย่างที่ไม่จำเป็นต้องแชร์ออก หรือเลือกแชร์เฉพาะกับกลุ่มเพื่อนที่เรารู้จักเป็นอย่างดีเท่านั้น เพราะท้ายที่สุดแล้วคนที่เราอยากอวดความสำเร็จให้ดูมากที่สุดก็น่าจะเป็นเพื่อนๆ ครอบครัว และแวดวงสังคมของเราไม่ใช่หรือ

 

หลักการปฏิบัติแบบเดียวกันนี้ยังสามารถใช้ได้กับกิจกรรมอื่นๆ อีกเหมือนกัน อย่างเช่น การขี่จักรยานที่เราสามารถใช้นาฬิกาและแอพพลิเคชั่นในการแท็กและแชร์ข้อมูลการปั่นและเส้นทางได้อย่างละเอียด หรือการเดินเขา เป็นต้น

ในทางกลับกัน เราสามารถใช้ประโยชน์จากการที่เรามีอุปกรณ์คอยติดตามตัวเหล่านี้เพื่อช่วยให้การวิ่งของเราปลอดภัยมากขึ้น อย่างการเลือกแชร์โลเกชั่นการวิ่งตามเวลาจริงให้กับคนในครอบครัวได้รับรู้ คนที่อยู่ที่บ้านก็จะสามารถดูได้ตลอดเวลาว่าเราวิ่งไปถึงไหนแล้ว และมีระบบการเตือนอัตโนมัติหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น

ครั้งต่อไปที่เราจะสวมรองเท้าวิ่งก่อนออกจากบ้าน ก็อย่าลืมลองวาดแผนเอาไว้ในหัวดูนะคะว่าเราจะออกแบบการวิ่งและการแชร์ข้อมูลของเราอย่างไร

ให้เราได้ประโยชน์จากการวิ่งมากที่สุดและเป็นภัยต่อตัวเราเองน้อยที่สุด