ศัลยา ประชาชาติ : แฉ 6 กลซิกแซ็กกรรมาธิการ ส.ส.-ข้าราชการ-ผู้รับเหมา เบียดบังงบประมาณแผ่นดิน

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวงาบ “หัวคิว” ระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ถูกนำมาแฉนอกสภา

เริ่มต้นจากเหตุการณ์ในห้องประชุมคณะอนุกรรมาธิการแผนบูรณาการ 2 ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ที่มี “น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย” ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน

ขณะที่คณะอนุกรรมาธิการกำลังรุก-ไล่ ในโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล ที่มีราคาขุดบ่อน้ำสูงเกินจริง เอกชนขุดบ่อใช้เงินแค่ 6 หลัก แต่เหตุใดกรมถึงใช้งบฯ 7 หลัก

“ศักดา วิเชียรศิลป์” อธิบดีกรมน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ทนไม่ไหว แฉกลางห้องประชุมว่ามีอนุกรรมาธิการบางคนโทรศัพท์เรียกเงิน 5 ล้านบาท ไม่เช่นนั้นจะถูกปรับลดงบประมาณ

อีกเหตุการณ์เกิดขึ้นระหว่างการประชุมคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ICT รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียนที่มี “สุพล ฟองงาม” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานอนุกรรมาธิการ

ซึ่งกำลังพิจารณางบประมาณของกรมเจ้าท่ากว่า 300 ล้านบาท อันเกี่ยวกับการจัดซื้อเรือยางติดเครื่องยนต์ จำนวน 7 ล้านบาทต่อลำ งบฯ สำหรับการซ่อมบำรุงประมาณ 36 ล้านบาท มี “วิทยา ยาม่วง” อธิบดีกรมเจ้าท่า เข้ามาชี้แจง

ระหว่างที่อนุกรรมาธิการหลายคนกำลังรุมซักถามรายละเอียดโครงการ กลับมี ส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็นแขก “ที่ไม่ได้รับเชิญ” และไม่มีชื่อเป็นอนุกรรมาธิการ เข้ามาโต้แย้งการซักถามของอนุกรรมาธิการ

ว่ากันว่า ส.ส.เพื่อไทยรายนี้ได้ “ต่อสาย” ไปยังบุคคลระดับเบอร์ใหญ่ในพรรคพลังประชารัฐ แกนนำรัฐบาลให้มา “ช่วยเคลียร์” เรื่องการผ่านงบฯ ให้

 

การ “กินหัวคิว” ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ที่เกิดขึ้นกับกลไกในสภาผู้แทนราษฎร เพราะวิธีการ-ตำราหากินระดับก้นหีบเช่นนี้มีมาช้านาน และนานๆ ครั้งถึงจะเรื่องแดง ปรากฏเป็นข่าว เพราะไม่สมประโยชน์กันทั้ง 3 ฝ่าย ข้าราชการ-นักการเมือง-นายทุน ผู้รับเหมาในพื้นที่

กลวิธีหาประโยชน์จากงบประมาณทั้ง “เงินในกฎหมายงบประมาณ” และ “เงินนอกงบประมาณ” ที่ผ่านมามีมากมายหลายรูปแบบ แบ่งได้ 6 วิธีใหญ่ๆ ดังนี้

1. จะใช้วิธีบลั๊ฟฟ์หน่วยราชการว่าจะตัดงบประมาณ แล้วเรียกข้าราชการไปเคลียร์หลังห้องว่าจะไม่ตัดงบฯ แล้วนำส่วนที่ไม่ตัดมาแบ่งให้ ส.ส.ในพื้นที่

ซึ่ง “นักการเมืองเขี้ยวลากดิน” ที่เป็น “เบอร์ใหญ่” จะส่ง “นักการเมืองนอมินี” ที่ไว้ใจได้ หรือขุนพลที่มีความ “กล้า” มากพอ เข้าไปเป็นกรรมาธิการงบประมาณ แล้วแปรญัตติมาแบ่งเพื่อน ส.ส.ด้วยกัน

2. ใช้วิธีเจรจา ส.ส.ในกรรมาธิการที่ซอยย่อยออกเป็นอนุกรรมาธิการต่างๆ ว่าอย่าไปยุ่งกับงบฯ ของหน่วยงานนี้มาก เดี๋ยวจะตัดงบฯ ไปให้ใช้ในพื้นที่

3. นักการเมืองที่ถูกเสนอชื่อไปเป็นกรรมาธิการชุดใหญ่ หรืออนุกรรมาธิการ จะ “แย่ง” กันไปเป็นคณะอนุกรรมาธิการที่พิจารณางบฯ ที่เกี่ยวกับครุภัณฑ์ ฝึกอบรม สิ่งก่อสร้าง ในลักษณะงบประมาณปีเดียว ไม่ใช่งบฯ ผูกพัน โดยงบประมาณนี้ในอดีตตอนรัฐธรรมนูญ 2550 เรียกว่า “งบประมาณ ส.ส.” ทุกคนจะมาตัดงบประมาณไปลงพื้นที่ ส.ว.เลือกตั้งที่ไม่มีอำนาจในการแปรญัตติงบประมาณก็มาของบฯ ลงพื้นที่จาก ส.ส.

4. ในกรณีที่ข้าราชการที่ไม่อยากให้ ส.ส.เข้ามายุ่งกับงบประมาณ ข้าราชการก็มาเจรจากับ ส.ส. ว่าผมเป็นพวกคุณ ดูแลคุณ อย่าตัดงบฯ ผมได้ไหม เช่น ที่เกิดข่าวเรื่องเรือยางของกรมเจ้าท่า ซึ่งมี ส.ส.เพื่อไทยเป็นแขกที่ไม่ได้รับเชิญเข้ามาป้องกันงบประมาณให้

5. เป็นการเปิดเกมโดย ส.ส.ที่ไปเป็นกรรมาธิการ โดยบอกว่าหน่วยงานราชการได้งบฯ ตรงนี้เยอะ ขอแบ่งได้ไหม มีการโทร.ไปขอแบ่งงบประมาณ ถ้าข้าราชการไม่แบ่งก็ยื้อไว้แล้วตัดงบประมาณ

6. ส.ส. ข้าราชการ และผู้รับเหมา บูรณาการทุจริตเชิงนโยบายร่วมกัน โดยหน่วยงานราชการจะของบฯ โครงการที่มีตัวเลขงบฯ กลมๆ แต่มีรายละเอียดโครงการไม่มากนัก เปิดโอกาสให้กรรมาธิการบางรายเข้าแทรกแซงการจัดสรรงบประมาณไปให้ผู้รับเหมาซึ่งถูกล็อกสเป๊กไว้แล้ว จากนั้นเมื่อได้งบฯ มา 100 ทำ 15 หรือ 20 ส่วนใหญ่เป็นงบฯ ภัยแล้ง งบฯ น้ำท่วม งบฯ ขุดเจาะบาดาล ทำถนน

หรืองบฯ ฝึกอบรม ที่เป็นงานอีเวนต์ ค่าจัดงาน 50 ล้าน ทำจริง 10 ล้าน

 

งบฯ ครุภัณฑ์ เช่น งบฯ จัดซื้อเครื่องมือ อุปกรณ์ ระบบคอมพิวเตอร์ จากงบฯ 50 ล้านก็เพิ่มขึ้นไปเป็น 100-150 ล้าน ซ่อนไว้โดยอ้างว่าเป็นเรื่องของระบบ พวกนี้จะไม่ซื้อเป็นกล่อง แต่จะเป็นระบบ ซึ่งสามารถ top up ได้ ส.ส.ที่ผ่านงบฯ ก็ได้ค่าหัวคิว

ส่วนงบประมาณที่เป็น “ก้อนใหญ่” เมื่องบฯ ลงพื้นที่จะมีการซอยงบประมาณออกเป็นโครงการละไม่เกิน 5 แสนบาท เพื่อหลีกเลี่ยงการประมูลงานแบบอีบิดดิ้ง และเรียกรับผลประโยชน์กัน ระหว่างนักการเมือง-ข้าราชการ-นายทุนผู้รับเหมา

อย่างไรก็ตาม หลังเกิดเหตุอื้อฉาว 2 กรณี คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ไม่อาจ “นิ่งเฉย” ได้ จึงออกกฎเข้ม 5 ข้อ เป็นแนวปฏิบัติในการพิจารณางบประมาณหลังจากนี้

1. หากคณะอนุกรรมาธิการมีปัญหาในการพิจารณางบประมาณของหน่วยงานใด ให้จัดทำรายงานเสนอต่อคณะกรรมาธิการชุดใหญ่ เพื่อขอหารือ และร่วมกันแก้ปัญหาในที่ประชุมของคณะกรรมาธิการ

2. ให้ประธานคณะอนุกรรมาธิการ “เข้มงวด” ในการกำหนดบุคคลที่สามารถเข้าร่วมประชุมเฉพาะอนุกรรมาธิการ ที่ปรึกษา และเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

3. ให้คณะอนุกรรมาธิการดำเนินการตามกรอบหน้าที่และอำนาจที่คณะกรรมาธิการมอบหมายอย่างเคร่งครัด ในกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตจากที่ประชุมของคณะกรรมาธิการไปยังคณะอนุกรรมาธิการ ว่าควรปรับลดงบประมาณของหน่วยงานใด ให้คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาดำเนินการตามข้อสังเกตดังกล่าว หากได้ข้อสรุปประการใด ให้นำกลับมารายงานผลต่อคณะกรรมาธิการ

4. การพิจารณางบประมาณของคณะอนุกรรมาธิการต้องเป็นการพิจารณาที่ถูกต้องตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 และกรอบอำนาจที่คณะกรรมาธิการมอบหมายเท่านั้น

และ 5. การสอบถามและชี้แจงเพื่อพิจารณางบประมาณของคณะอนุกรรมาธิการต้องดำเนินการเฉพาะในห้องประชุมเท่านั้น และห้ามอนุกรรมาธิการหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณางบประมาณในคณะอนุกรรมาธิการ ประสานงาน หรือติดต่อหารือกันส่วนตัวกับหัวหน้าส่วนราชการหรือข้าราชการที่เกี่ยวกับการขอรับการจัดสรรงบประมาณ

 

ด้าน “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร มอบหมายให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการสภาผู้แทนราษฎรรับเรื่องไปพิจารณา ขณะเดียวกันหน่วยงานภายนอกคือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะไปพิจารณาตรวจสอบ

“นายหัวชวน” ยืนยันว่า หากพบว่ามีการกระทำดังกล่าวจริง ก็ต้องดำเนินการเอาผิด และยังสั่งการให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการสอบสวนเรื่องนี้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

“สมมุติว่ามีการยืนยันข้อมูลชัดเจน ถ้าอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลพูดแล้วก็คงจะยืนยันได้ ทีนี้ปัญหาคือเขาไม่ได้ระบุว่าคือใคร จึงต้องสอบให้ชัดเจนว่าคือใคร ดังนั้น กมธ.กิจการสภาผู้แทนฯ ก็ต้องดูว่าเขาสามารถหาข้อมูลได้เพียงใด และรายงานให้สภาทราบ”

นี่คือภาพสะท้อนจากกลเม็ดการโกงของนักการเมืองระดับเขี้ยวลากดิน ผ่านการฝึกฝนกันมาแบบรุ่นต่อรุ่น เมื่อรัฐธรรมนูญคุ้มกัน “ข้าราชการ” และเทคโนโลยีเปิดทางให้ กระบวนการ “แฉ” จึงส่งเสียงดังออกมานอกสภาผู้แทนราษฎร

และน่าติดตามว่า ท้ายที่สุดแล้ว จากกรณีดังกล่าวจะนำไปสู่การเช็กบิล หรือกำจัดขบวนการเบียดบังงบประมาณแผ่นดินได้หรือไม่ในระยะยาว