“เพลงการเมือง” จากยุค 90 | คนมองหนัง

คนมองหนัง

“อยากบอกคุณสักนิดสักหน่อย เรื่องนายพลน้อยเที่ยวเดินทางไกล ค้นคว้าสิ่งใหม่นานา เจอะกับคนปะปนคลุกคลี ทำให้มีความรู้แกมเศร้า ว่าพวกเขาล้วนแสนยากจน…”

(เพลง “นายพลน้อย” ประกอบรายการ “สโมสรผึ้งน้อย” คำร้องโดย “ประชา พงศ์สุพัฒน์”)

ท่ามกลางความตื่นเต้นกับการเคลื่อนไหวของเหล่า “แฮมทาโร่” ตลอดจนการประยุกต์ใช้บทเพลง/กิจกรรมสันทนาการอื่นๆ ของบรรดาคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน ซึ่งกำลังตื่นตัวทางการเมืองถึงขีดสุด

สื่อมวลชนและนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มักมองหรือประเมิน “การเมืองวัฒนธรรม” เหล่านี้ในสองแง่มุม

แง่มุมแรกคือ การมองความเคลื่อนไหวข้างต้นเป็นพัฒนาการอีกลำดับขั้นหนึ่ง นับจาก “การเมืองวัฒนธรรม” ในรุ่นคนเดือนตุลามาจนถึงยุคความขัดแย้งระหว่างเสื้อสี

แง่มุมต่อมาคือ การมองว่า “การเมืองวัฒนธรรม” ของเยาวชนรุ่นนี้ เป็นขบวนการที่ปริแยกตัดขาดออกจากวิธีการต่อสู้ของนักเคลื่อนไหวยุคก่อนๆ จนไม่สามารถอธิบายด้วยกรอบคิดเดิมๆ ได้อีกต่อไป

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะมองในมุมไหน ก็ดูเหมือนว่า “แฮมทาโร่” และกิจกรรมการประท้วงร่วมสมัยอื่นๆ จะยังคงมีสถานะเป็นคู่สนทนากับการเมืองเดือนตุลา การเมืองเดือนพฤษภาคม 2535 และเหตุการณ์ความขัดแย้งปี 2552-2553-2554 อยู่ไม่เสื่อมคลาย

คำถามของผมก็คือ “แฮมทาโร่” และกิจกรรมสันทนาการแบบ “เด็กเกียมอุดม” เป็นต้น ยังสามารถย้อนกลับไปสนทนากับ “ผลงานทางวัฒนธรรม” หรือยุคสมัยอื่นใดได้อีกบ้าง?

น่าสนใจว่า “ประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรม” จำนวนไม่น้อย ที่คนรุ่นใหม่ตอนนี้หยิบยืมเอามาใช้ห่อหุ้มกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้น มิได้เป็นนวัตกรรมหรือของใหม่มากๆ อย่างที่หลายคนคาดคิดหรือรู้สึก

ตรงกันข้าม “แฮมทาโร่” คือเพลงพากย์ไทยประกอบภาพยนตร์การ์ตูนญี่ปุ่นที่เดินทางเข้ามาถึงเมืองไทยตั้งแต่กลางทศวรรษ 2540 ส่วน “ยินดีไม่มีปัญหา” ที่ถูกนักเรียนเตรียมอุดมฯ รุ่นหลังนำมาแปลงเนื้ออย่างเมามัน ก็เป็นเพลงจากปี 2532 โน่นเลย

ทั้งสองเพลงถือเป็น “ผลงานทางวัฒนธรรม” ระหว่างปลายทศวรรษ 1980 ถึงต้นทศวรรษ 2000 ซึ่งอาจถูกผนวกรวมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ “วัฒนธรรมเพลงยุค 90” ได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจ

เป็น “เพลงยุค 90” ที่คนจำนวนหนึ่งโหยหาในฐานะภาพฝันอันฟุ้งลอย และเหมือนจะไม่มีอะไรเชื่อมโยงกับสังคมการเมืองไทยมากนัก

หากถามว่า “(วงการ) เพลงยุค 90” นั้นแปลกแยกกับการเมืองไทยในช่วงสองทศวรรษหลังหรือไม่?

คำตอบชัดเจนก็คือ “ไม่”

เพราะสมัยม็อบพันธมิตรฯ ก็เคยมีคนขึ้นไปร้องเพลง “นางแมว” ของ “หิน เหล็ก ไฟ” บนเวทีเสื้อเหลือง

นอกจากนี้ ครั้งหนึ่ง “อัญชะลี ไพรีรัก” ยังเคยเขียนเล่าเป็นนัยผ่านคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์เมื่อหลายปีก่อนว่า ผู้ประพันธ์เพลง “ไอ้หน้าเหลี่ยม” นั้นคือคนดนตรีฝีมือดีภายใต้นามแฝง “ลูกชายกัปตันเอมส์”

สำหรับคนยุค 90 ผู้คุ้นชินกับการพลิกอ่านเครดิตชื่อนักแต่งเพลงบนปกเทป ย่อมพอจะเดาออกได้ไม่ยากว่าเจ้าของนามแฝงดังกล่าวคือใคร

มาถึงยุค กปปส. กิจกรรมอาร์ตเลนนั้นก็เกิดขึ้นได้ด้วยบทเพลงจากศิลปินยุค 90 จำนวนหนึ่ง

แม้กระทั่ง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้า คสช. ก็ยังโปรดปรานเพลง “ศรัทธา” และ “คนดีไม่มีวันตาย” ซึ่งเป็น “ประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรม” ในยุค 2000 และ 2010 จากฝีมือคนดนตรียุค 90

เอาเข้าจริง ดูจะมีเพียงกลุ่ม นปช. หรือเสื้อแดง ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านต่างจังหวัดจากภาคอีสานและเหนือเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เชื่อมร้อยอัตลักษณ์ของพวกตนเข้ากับ “เพลงป๊อป/ร็อกยุค 90” อันตอบสนองจริตแบบคนเมืองมากกว่า

เมื่อกิจกรรมต่อต้านอำนาจรัฐระลอกล่าสุดคือการรวมตัวของคนรุ่นใหม่ในเมือง จึงไม่ใช่เรื่องผิดฝาผิดตัวเสียทีเดียว ที่เพลงอย่าง “แฮมทาโร่” หรือ “ยินดีไม่มีปัญหา” (สองเพลงนี้มีอายุเก่าแก่กว่าเพลงโปรดของ “ลุงตู่” เสียอีก) จะถูกมาใช้สอยประกอบการเคลื่อนไหว

ทว่าเป็นเรื่องน่าบังเอิญและน่าประหลาดใจพอสมควร ที่ทั้งสองเพลงข้างต้นนั้นมีจุดร่วมกันบางประการ

ยินดีไม่มีปัญหา” เป็นเพลงของ “อัสนี-วสันต์” ซึ่งแต่งทำนองโดย “อัสนี โชติกุล” และเขียนคำร้องโดย “ประชา พงศ์สุพัฒน์”

“ประชา พงศ์สุพัฒน์” หรือ “น้าประชา” ของคนในวงการเพลง เป็นอดีตครูสอนวิชาศิลปะและดนตรี ซึ่งเริ่มต้นทำงานเพลงก่อนอุตสาหกรรมดนตรีไทยจะลงหลักปักฐานมั่นคง โดยมีผลงานน่าจดจำคือการแต่ง “เพลงเด็ก” ให้แก่วง “เอ็กซ์วายแซด” และรายการ “สโมสรผึ้งน้อย”

ก่อนที่ “น้าประชา” จะผันตัวเองมาเป็นเจ้าพ่อ (เนื้อ) เพลงเร็วในยุคทศวรรษแรกของค่ายแกรมมี่ ซึ่งฝากผลงานไว้ในบทเพลงของ “อัสนี-วสันต์” “แหวน ฐิติมา” “คริสติน่า อากีล่าร์” “ใหม่ เจริญปุระ” “มาช่า วัฒนพานิช” “ทาทา ยัง” และ “สามารถ พยัคฆ์อรุณ” เป็นต้น

ช่วงปี 2541 “น้าประชา” หวนกลับมาแต่งเพลงเด็กอีกหน ด้วยการรับหน้าที่ดูแลคำร้องฉบับภาษาไทยของเพลงประกอบการ์ตูนเรื่อง “ชินจังจอมแก่น” และ “มารุโกะจัง” ซึ่งเป็นบทเพลงที่โด่งดังฮิตติดหูใครหลายคน (แม้จะไม่ได้ตามดูการ์ตูนก็ตาม)

จนถึงบัดนี้ สาธารณชนส่วนใหญ่ที่รู้จักเพลง “แฮมทาโร่” ต่างยังไม่ทราบว่าใครคือคนเขียนเนื้อภาษาไทยต้นฉบับของบทเพลงดังกล่าว (ก่อนจะถูกแปลงเป็น “เพลงการเมือง”)

ตัวผมเองก็ยังค้นคว้าสืบหาข้อมูลส่วนนั้นไม่พบเช่นกัน แต่อยากจะขออนุญาตตั้งข้อสังเกตหยาบๆ เอาไว้ว่า เมื่อการ์ตูน “แฮมทาโร่” เริ่มเข้ามาแพร่ภาพที่เมืองไทยใน พ.ศ.2545

เพลงเพลงนี้จึงกลายเป็น “เพลงประกอบการ์ตูนญี่ปุ่นเนื้อไทย” อีกหนึ่งเพลงในทศวรรษ 2540 ซึ่งแม้ว่าอาจจะไม่ได้แต่งคำร้องโดย “ประชา พงศ์สุพัฒน์”

แต่ก็คงได้รับอิทธิพลมาจาก “เพลงเร็ว/เพลงเด็กแบบน้าประชา” มากพอสมควร

จุดเด่นของ “เพลงแบบน้าประชา” (ที่ปรากฏในเพลง “แฮมทาโร่” ด้วย) ก็คือการใช้ถ้อยคำง่ายๆ ติดหูติดปากมวลชน เนื้อความไม่เยอะ ไม่สลับซับซ้อน ฟังสนุก มองโลกมุมบวก ไม่ค่อยปลุกอารมณ์เร่าร้อน-เกลียดชัง แต่สามารถปลุกพลังร่วมได้

การที่คนรุ่นใหม่วัยมัธยม-มหาวิทยาลัยใน พ.ศ.นี้เลือกใช้ “เพลงแบบน้าประชา” อันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมดนตรียุค 90 อาจแสดงให้เห็นว่าพวกเขาและเธอไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนนโดยตัดขาดตนเองจากอดีตชนิดถอนรากถอนโคน หรือแปลกแยกจากผู้ใหญ่ไปหมดทุกเรื่อง

ตรงกันข้าม เยาวชนเหล่านั้นได้พยายามเลือกสรรอดีตบางอย่างมาปรับใช้กับวิถีทางการต่อสู้ของพวกตน

แน่นอนว่า ความคิด ความใฝ่ฝัน จินตนาการ และอุดมการณ์ของวัยรุ่นยุคนี้ กับของ “ประชา พงศ์สุพัฒน์” ผู้เขียนเนื้อเพลง “ยินดีไม่มีปัญหา” และผู้วางรากฐานการเขียนเพลงเด็ก/เพลงการ์ตูนคนสำคัญเมื่อหลายสิบปีก่อน (ที่ปัจจุบันมีอายุ 67 ปีแล้ว) ย่อมไม่จำเป็นต้องสอดคล้องต้องตรงกันเป๊ะๆ

ทั้งหมดนี้เป็นขั้นตอน กระบวนการ หรือที่มาบางเสี้ยวส่วนของการแปร/แปลงเพลงร้องง่ายฟังง่ายปราศจากพิษภัยเมื่อหลายทศวรรษก่อน ให้กลายเป็นหีบห่อ-บรรจุภัณฑ์ทางการเมืองที่เปี่ยมสีสัน สนุกสนาน และทรงพลังในยุคร่วมสมัย

ส่วนจะมีหลักคิดอะไรแฝงอยู่ภายใต้หีบห่อ-บรรจุภัณฑ์ที่ว่าบ้างนั้น คงต้องอภิปรายถกเถียงกันในโอกาสอื่นๆ