กาแฟดำ | บทสนทนากับรัฐมนตรีดิจิตอล ไต้หวัน : เบื้องหลังการสู้โควิด

สุทธิชัย หยุ่น

เธอเป็นรัฐมนตรี “ข้ามเพศ” (transgender) คนแรกและคนเดียวของไต้หวัน

เธอเคยเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์และ Civic Hacker มาก่อน

จึงเป็นเรื่องฮือฮาไม่น้อยที่เมื่อ 4 ปีก่อนรัฐบาลไต้หวันแต่งตั้ง Audrey Tang เป็นรัฐมนตรีดิจิตอล (Digital Minister) ดูแลนโยบายของรัฐด้วยวัยเพียง 35 ปี

เธอจึงกลายเป็นบุคคลที่อายุน้อยที่สุดในตำแหน่งรัฐมนตรี

และเป็นบุคคลแรกในรัฐบาลที่แสดงตัวชัดเจนว่าเป็นหญิงข้ามเพศ จากชื่อเดิม Autrijus Tang

เมื่อผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์เธอในงาน Techsauce Virtual Summit ผ่านระบบออนไลน์เมื่อเร็วๆ นี้หัวข้อสำคัญจึงเป็นเรื่องราวที่ไต้หวันสามารถจัดการบริหารเรื่องโควิด-19 ได้ดีจนเป็นที่กล่าวขวัญกันทั่วโลก

และออเดรย์ก็มีส่วนสำคัญในการใช้เทคโนโลยีและสูตร Fast, Fair, Fun เพื่อให้ประชาชนทั้งเกาะร่วมมือกับทางการอย่างได้ผลอย่างน่าประทับใจ

ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งหน้าที่หลักของเธอคือการทำให้รัฐบาลมีความโปร่งใสมากขึ้น

เธอชูประเด็นข้อมูลที่เปิดเผย ที่เรียกว่า Open Data ให้ทุกคนสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้

ตั้งเป้าให้ไต้หวันเป็น Asian Silicon Valley และเน้นด้าน Internet of Things (IoT) อย่างคึกคักในทุกรูปแบบ

ได้สนทนากับเธอแล้วยิ่งทึ่งเมื่อย้อนกลับไปดูประวัติของเธอตั้งแต่ยังเป็นเด็ก

เพราะเธอเริ่มเรียนรู้การเขียนโปรแกรม Perl ตั้งแต่อายุ 12

อีก 2 ปีต่อมาก็ลาออกจากโรงเรียนเพราะทนใช้ชีวิตในรูปแบบของนักเรียนไม่ได้

อายุเพียง 15 เธอเก่งขนาดพัฒนา Search Engine เป็นภาษาจีนแมนดาริน

ถึงปี 2000 เธอก็ได้ประสบการณ์เป็นนักพัฒนาที่ Silicon Valley

จุดผันเปลี่ยนชีวิตที่สำคัญคือการตัดสินใจแปลงเพศจากชายเป็นหญิง และเปลี่ยนชื่อในวัย 24 ปี

บางนักวิเคราะห์บอกว่าเธอมี IQ สูงถึง 180

ในตำแหน่งรัฐมนตรีดิจิตอล เธอปฏิรูปประเทศด้วยการเชื่อมการบริหารของรัฐกับประชาชน

ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของประเทศ

เพราะเน้นความเป็นประชาธิปไตยที่มากับเทคโนโลยี

นั่นหมายความว่าจะใช้เทคโนโลยีผลักดันให้เกิดความโปร่งใสในการบริหารของรัฐบาล

นั่นแปลว่าจะต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนสำคัญในการร่วมกำหนดนโยบายระดับชาติ

วันที่ผมต่อสายไปคุยกับรัฐมนตรีออเดรย์ เหตุเพราะโควิด-19 เราจึงต้องคุยกันออนไลน์ คุยแบบเสมือนจริง แบบดิจิตอล ซึ่งเป็นแนวทางที่เธอคล่องแคล่วอยู่แล้ว

ต่อไปนี้เป็นบางตอนของบทสนทนาวันนั้น

ถาม : รัฐมนตรีออเดรย์ ถัง รู้ไหมว่าในประเทศไทยเรา มัวแต่คุยกันเรื่องการเปลี่ยนผ่านทางดิจิตอลเป็นปีๆ ไม่ค่อยได้ทำจริงจัง แต่พอโควิด-19 มาเท่านั้นแหละ เราก็ถูกบังคับให้ต้องลงมือทำจริงๆ เลย

ตอบ : ใช่ โควิด-19 คือผู้มาสร้างความเปลี่ยนแปลงตัวจริง

ถาม : ที่ไต้หวัน คุณคงไม่จำเป็นต้องอาศัยโควิด-19 มาผลักดันไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางดิจิตอลใช่ไหมครับ

ตอบ : ใช่เลยค่ะ เรามีความเป็นประชาธิปไตยทางดิจิตอล แล้วมันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะเรามีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นตลอดเวลา เราจึงสามารถพัฒนาเทคโนโลยีดิจิตอลอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างไม่หยุดยั้ง

เราพยายามหาพื้นที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วม หันมาใช้สื่อโซเชียลร่วมกัน แทนที่จะผลักคนออกไป

ถาม : แต่ไต้หวันมีข้อได้เปรียบอะไร นอกเหนือจากที่ต้องให้โควิด-19 มาก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ มีแรงกดดันพิเศษที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้หรือไม่ครับ

ตอบ : มี 3 ด้านที่โควิด-19 ยิ่งเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางดิจิตอล ก็คือ รวดเร็ว เป็นธรรม และสนุก (Fast, Fair and Fun)

ความรวดเร็วเป็นส่วนที่สำคัญ เพราะบอร์ดสนทนาออนไลน์ของเราชื่อว่า พีดีที ที่เทียบได้กับเว็บ เรดดิต (คล้ายพันทิป) เตือนเราว่ามีคนติดโรคซาร์สรายใหม่ปีที่แล้ว เพราะฉะนั้น หลายประเทศเพิ่งจะเริ่มเจอกับไวรัสในปีนี้

แต่เราเริ่มตั้งแต่ธันวาคมปีที่แล้ว เพราะธันวาคมปีที่แล้ว ตอนที่ ดร.หลี่ เหวิน เลี่ยง หมอชาวจีนที่เปิดเผยก่อนใครว่ามีผู้ป่วยมีอาการเหมือนซาร์สรายใหม่ เขาโดนสอบสวน แล้วสุดท้ายก็โดนลงโทษจากตำรวจจีน

แต่ขณะเดียวกันก็มีพลเมืองไต้หวันที่ใช้ชื่อไอดี “โน มอร์ ไพป์” เอาเรื่องนี้ไปโพสต์ต่อในบอร์ดพีดีที

พอเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของเราทราบเรื่องก็ออกคำสั่งทันทีเลย

เราไม่ใช่แค่ถามองค์การอนามัยโลก แต่ออกคำสั่งเลย สั่งให้เที่ยวบินที่มาจากอู่ฮั่นในวันถัดไป ก็คือวันขึ้นปีใหม่ 2020 ให้ตรวจหาโรคเลย

คือมันมี 2 ประเด็นค่ะ

อย่างแรกคือประชาชนของเราเชื่อใจรัฐบาลมากพอที่จะพูดบนเว็บบอร์ดว่าอาจจะเกิดโรคระบาดครั้งใหม่ได้

และเราก็เชื่อมากพอว่ารัฐบาลจะจริงจังกับเรื่องนี้แล้วลงมือเหมือนโรคซาร์สกำลังระบาดอีกครั้ง เพราะเราเตรียมรับมือกับมันทุกปีโดยมีการซักซ้อมประจำปีหรือกิจกรรมทำนองนี้ตั้งแต่ปี 2003 (ตอนซาร์สระบาด)

ถาม : คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างความเชื่อใจร่วมกันระหว่างรัฐบาลและประชาชน แต่คุณทำให้เกิดความไว้ใจนี้ได้อย่างไร

ตอบ : ฮอตไลน์ ฮอตไลน์เลย โทรศัพท์ เทคโนโลยีง่ายๆ

สุทธิชัย (หัวเราะ)

ออเดรย์ (หัวเราะ) : ใครก็ตามที่มีไอเดียใหม่ๆ สามารถมาแบ่งปันกับสังคมทั่วไปได้ตลอดเวลา

ทุกคนก็แค่ยกหูโทร 1922 แล้วเจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์ ที่น่าจะใช้หูฟังแบบเดียวกับที่ฉันกำลังใช้อยู่ ก็จะฟังคุณ แล้วจะเอาความคิดคุณไปบอกกับซีดีซี (ศูนย์ควบคุมโรค)

ยกตัวอย่างเช่น เดือนเมษายน วันหนึ่งมีเด็กผู้ชายโทร.มาบอกว่าไม่อยากไปโรงเรียน เพราะกลัวเพื่อนจะหัวเราะ เพราะเขามีแต่หน้ากากอนามัยสีชมพู อาจจะโดนแกล้ง วันถัดมาทุกคนที่ซีดีซีไปจนถึงรัฐมนตรีสาธารณสุขเริ่มใส่หน้ากากอนามัยสีชมพู…

สุทธิชัย (หัวเราะ)

ตอบ : ไม่เพียงแค่นั้น ต่อมาก็มีการจัดให้ทุกคนที่ออกมาแถลงข่าวสดประจำวัน ตอบคำถามนักข่าวทุกคำถาม แล้วก็เผยแพร่ความคิดเรื่อง (ความเท่าเทียม) ทางเพศให้เป็นกระแสหลัก

นี่เป็นนวัตกรรมทางสังคมอย่างหนึ่ง

เพราะฉะนั้น ถ้าคุณมีความคิดเจ๋งๆ ที่จะนำมากระจายต่อให้สังคมโดยรวมได้ ใช้เวลาแค่ 24 ชั่วโมงเท่านั้น

นั่นย่อมทำให้เกิดความเชื่อใจกันและกันแน่นอน

ถาม : วิธีนี้ทำได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมาก

ตอบ : ใช่ค่ะ

ถาม : คุณเริ่มจากความรวดเร็ว แล้วต่อมาก็คือ…

ตอบ : ความเป็นธรรม

ตัวอย่างเช่น ตอนที่เราเพิ่มการผลิตหน้ากากอนามัย เราทำให้แน่ใจว่าทุกคนใช้บัตรประกันสุขภาพแห่งชาติในการเบิกหน้ากากจากร้านขายยาใกล้บ้านได้

นี่เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งของความเป็นธรรม และในหลายประเทศ ตอนที่คุณกระจายหน้ากากแบบนี้ คุณอาจจะให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างเสรีระดับหนึ่ง

อาจจะมีคนถามคุณว่าร้านไหนขายเยอะขายน้อย มีหน้ากากเหลือเท่าไหร่ มีคนต้องการเท่าไหร่ แต่ปกติแล้วคนอาจจะบอกข้อมูลบางทีก็สัปดาห์ละครั้ง บางทีก็ตอนเปิดร้าน แค่ครั้งเดียว แต่เราอัพเดตข้อมูลทุก 30 วินาที

ถ้าคุณแจ้งสต๊อกหน้ากากอนามัยในร้านขายยาทุก 30 วินาที มันจะกลายเป็นบันทึกการกระจายสินค้าที่ทำให้ทุกคนแน่ใจว่าถ้าออกไปร้านขายยา แล้วโชว์บัตรประกันสุขภาพแห่งชาติ แล้วซื้อ 9 ชิ้นถ้าคุณเป็นผู้ใหญ่ หรือ 10 ชิ้นถ้าเป็นเด็ก คุณจะเห็นข้อมูลสต๊อกของร้านขายยานั้นลดลง 9 หรือ 10 ชิ้นทันทีในอีกไม่กี่นาทีถัดมา

และเมื่อคุณเห็นว่าของในสต๊อกเพิ่มขึ้นหลังจากคุณเพิ่งซื้อ คุณก็โทร.หา 1922 ได้ เพื่อแจ้งว่าระบบเสีย

เพราะฉะนั้น เมื่อทุกคนตอบสนองทุกอย่างได้ มันเลยทำให้การร่วมกันสร้าง (ความไว้ใจ) ทั้งสองฝ่าย

นี่เป็นนวัตกรรมทางสังคมอีกอย่างหนึ่ง

มันไม่จำเป็นต้องมีคนนอกแจ้งนักบัญชีหรือพนักงานรัฐ ในเมื่อทุกคนเห็นด้วยตาตัวเองว่าเรามีหน้ากากในตลาดเพิ่มขึ้นจริงๆ แล้วผู้คนก็สร้างเครื่องมือวิเคราะห์ของตัวเองว่าตรงนี้สินค้าล้นตลาด ตรงนี้สินค้าขาดตลาด มันเลยเปลี่ยนวิธีการกระจายหน้ากากของเรา เป็นความเป็นธรรมที่ครบวงจรจริงๆ

ถาม : น่าทึ่งตรงที่คุณเผยแพร่หรืออัพเดตข้อมูลได้ทุก 30 วินาที

ตอบ : มันเป็นระบบอัตโนมัติ 100% เพราะไต้หวันมีอัตราการเข้าถึงสาธารณสุขมากกว่า 99.9%

เพราะฉะนั้น คนที่มีอาการสามารถเบิกหน้ากากอนามัยได้จากร้านขายยาใกล้บ้าน ไปโรงพยาบาลท้องถิ่น โดยไม่ต้องแบกรับภาระทางการเงิน แล้วก็มีบทวิเคราะห์จากบุคคลภายนอก ไม่ใช่จากรัฐบาล เป็นนักนวัตกรรมประชาสังคม

พวกเขาบอกว่า จากการวิเคราะห์ของพวกเขา หน้ากากอนามัยเข้าถึงคนแค่ 70% เพราะว่าคนที่อยู่ในเมืองใหญ่ที่เลิกงานตอน 21.00 น. หรือ 22.00 น. ซึ่งเป็นตอนที่ร้านขายยาปิด คนกลุ่มนี้เลยหาหน้ากากไม่ได้

ตอนนี้เราก็เลยประสานกับร้านสะดวกซื้อ ที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมงให้รับบัตรประกันสุขภาพแห่งชาติ คุณเอาไปรูดได้แล้วค่อยไปรับหน้ากากที่จองไว้ในสัปดาห์ถัดมา

ความเป็นธรรมต้องเกิดขึ้นทุกทาง ไม่ใช่แค่ดีกับคนที่ไม่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีดิจิตอล แต่ยังดีกับคนกลุ่มอื่นๆ ประชาชนสั่งจองผ่านแอพพ์ได้ ผ่านเว็บไซต์ได้ หรือจองที่เคาน์เตอร์ ซึ่งมันไม่ใช่แค่เป็นธรรม แต่สะดวกสบายด้วย