โฆษกกต.แจงประเภทสถานที่กักกันของผู้เดินทางเข้าไทย

นายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการสถานที่กักกันเชื้อโรคซึ่งทางราชการกำหนด (Quarantine) สำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศไทย ดังนี้

ในขณะนี้ ประเภทของสถานที่กักกันซึ่งทางราชการกำหนด แบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ​ ดังนี้ ได้แก่

(1) State Quarantine แบ่งย่อยออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1.1 State Quarantine (SQ) สถานที่กักกันเชื้อโรคผู้เดินทางชาวไทยที่เข้าประเทศไทย โดยใช้สถานที่ที่รัฐกำหนด โดยต้องกักตัว 14 วัน และทางการไทยออกค่าที่พัก

1.2 Alternative State Quarantine (ASQ) ต่างจาก SQ ในส่วนที่ผู้เดินทางชาวไทยหรือชาวต่างชาติยินยอมชำระค่าใช้จ่ายเองทั้งหมดระหว่างกักกันตนโดยสมัครใจ โดยต้องกักตัว 14 วัน

(2) Local Quarantine แบ่งย่อยออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

2.1 Local Quarantine (LQ) สถานที่กักกันเชื้อโรคสำหรับผู้เดินทางชาวไทยที่เข้ามาในพื้นที่ปกครองระดับจังหวัด โดยกักกันตนในสถานที่ที่รัฐกำหนด และทางการไทยออกค่าที่พัก

2.2 Alternative Local Quarantine (ALQ) แตกต่างกับ LQ เฉพาะส่วนการชำระค่าใช้จ่ายเช่นกัน ซึ่งแตกต่างจาก SQ ในส่วนที่ผู้เดินทางชาวไทยหรือชาวต่างชาติยินยอมชำระค่าใช้จ่ายเอง

(3) Hospital Quarantine แบ่งย่อยออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

3.1 Hospital Quarantine (HQ) สถานพยาบาลที่รัฐกำหนดให้เป็นสถานที่กักกันเชื้อโรค โดยต้องเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโควิด-19 ในระหว่างการรักษาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน สำหรับกลุ่มคนไทยที่ป่วยหรือมีโรคประจำตัว ทำให้ไม่สามารถกักตัวที่ SQ ได้

3.2 Alternative Hospital Quarantine (AHQ) สถานพยาบาลที่รัฐกำหนด สำหรับกลุ่มคนต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล โดยต้องเฝ้าระวังโควิด-19 ในระหว่างการรักษาไม่น้อยกว่า 14 วันเช่นกัน

(4) Organizational Quarantine (OQ) คือ สถานที่กักกันเชื้อโรคสำหรับผู้เดินทางเข้าไทยซึ่งเป็นบุคลากรขององค์กรหรือหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน​ สถาบันการศึกษา​และสถานทูตต่างประเทศในไทย โดยใช้โรงแรม หรือสถานที่ที่รัฐกำหนด ซึ่งองค์กรหรือหน่วยงานนั้น ๆ จะเป็นผู้บริหารจัดการและรับผิดชอบค่าใช้จ่าย โดยต้องกักกันตน 14 วัน

โดยในส่วนของ OQ ที่จะเพิ่มเข้ามาล่าสุดนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาดำเนินการให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม เนื่องจากจะเป็นทางเลือกสำหรับผู้เดินทางเข้าไทย ซึ่งจะมีจำนวนมากขึ้นสำหรับมาตรการผ่อนคลายในระยะต่อ ๆ ไป รวมทั้งเป็นทางเลือกในการช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ในขณะที่ยังสามารถรักษามาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น ทั้งนี้ สถานที่ที่จะขออนุญาตเป็น OQ ได้ จะต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานโดยกระทรวงสาธารณสุข ทั้งในด้านวิศวกรรมโครงสร้าง และด้านกระบวนการป้องกันควบคุมโรค (ลักษณะ​ detached​ facility)​

ซึ่งในขณะนี้ มีหน่วยงานหรือองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนได้แสดงความสนใจในการขอจัดตั้ง OQ รวมถึงสถาบันการศึกษาที่มีนักศึกษาชาวต่างชาติที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาเพื่อศึกษาในปีการศึกษาใหม่